เทวะตำนาน

พระวิษณุทุรไค

พระวิษณุทุรไค ( ஸ்ரீ விஷ்ணு துர்க்கை ) ( Shree Vishnu Durgai)

พระขนิษฐาแห่งพระวิษณุ และ ทรงเป็นพลังอำนาจแห่งพระวิษณุ กับ ตำนานการถือพรตในวันเอกาทศี

ในกฤดายุคนั้นมีอสูรตนหนึ่งนามว่า มุระ (Demon Mura) มันทรงพละกำลังมาก มันได้สร้างความเดือดร้อนความวุ่นวายไปทั่วทั้งตรีภพ แม้กระทั้ง เทวราชอินทระ, พระกุเวรจอมยักษา, พระยมเทพ, พระวรุณ, พระอัคนี, พระวายุ และ คนธรรพ์ราช ก็ยังมิอาจปราบมันได้

เหล่าเทวะและ มุนีทั้งหลายจึงพากันไปเข้าเฝ้าพระศิวะ (Bhagavan Shiva) ผู้ประทับบนยอดเขาไกรลาส

พระศิวะ ทรงตรัสแก่เหล่าเทวและมุนีทั้งหลายว่า มีแต่ พลังอำนาจของพระวิษณุ (Bhagavan Vishnu ) เท่านั้นที่สามารถปราบมุราสุระได้

พระศิวะ,พระพรหม และ เหล่าเทวดาพร้อมมุนีทั้งหลายจึงต่างพากันเข้าเฝ้า พระวิษณุ ณ ไวกุณฐะ อันเป็นทิพยวิมานของพระองค์ พระวิษณุ ไวกุณฐนาถ

เหล่าเทวะและมุนีทั้งหลายจึงทูลถึงความชั่วร้ายของมุระ ต่อพระองค์ปัทมนาภะ พระวิษณุเมื่อได้สดับฟังจึงทรงตรัสขึ้นว่า “อย่าได้กังวลและเกรงกลัว เมื่อพวกท่านทั้งหลายมาหาเราให้เป็นที่พึ่ง เราจะปราบมุราสุระเพื่อความสุขสันติแก่พวกท่านทั้งหลาย”

บัดนั้น พระวิษณุทรงครุฑ และไปทำสงครามกับมุราสุระ เพียงไม่นานนักพระวิษณุทรงทำลายกองทัพรากษสของมุราสุระจนหมดสิ้น ทรงขว้างสุทรรศนะจักร (Sudarshana Chakra) หวังบั่นคอมุระให้ขาดสะบั้น! แต่สุทรรศนะจักร ก็มิอาจทำอะไรต่อมุราสุระได้

พระองค์จึงขว้างคทาเกาโมทกี (Kaumodaki Gada) หวังทุบมันให้แหลกลาน แต่เกาโมทกีก็มิอาจทำอะไรต่อมันได้ ทั้งสองจึงเริ่มสู้กันตัวต่อตัว โดยไม่มีอาวุธใดๆ โดยการสู้กันระหว่าง พระภควานวิษณุ และ มุราสุระ ดำเนินไปถึงหนึ่งหมื่นปี

เมื่อการต่อสู้ดำเนินไปถึงหนึ่งหมื่นปี ทำให้เหล่าเทวะ และมุนีทั้งหลายต่างกังวลใจและเริ่มเสื่อมความมั่นใจในองค์พระวิษณุ ขณะที่พระพรหม และ พระศิวะทรงทอดพระเนตรการรบนั้นด้วยความเงียบสงบ

ต่อมาพระวิษณุได้อันตรธานหายพระองค์ไปจากสนามรบ ทรงไปปรากฏองค์ประทับบรรทมในถ้ำเหมวตี (Hemavati Caves) ในภัทริกาศรม (Badrikashram) *บ้างก็กล่าวว่าทรงปรากฏประทับบรรทมบนเศษนาค ในเกษียรสมุทรอันเป็นอีกที่หนึ่งที่พระองค์สถิตนอกจาก ทิพยวิมานไวกุณฐะ*

อันแท้จริงแล้ว การบรรทมของพระวิษณุคือ การบำเพ็ญโยคะอย่างหนึ่งเรียกว่า โยคนิทรา (Yoganidra)

เมื่อพระวิษณุทรงอันตรธานหายไปจากสมรภูมิ จอมอหังการมุระได้ตามหาพระองค์ด้วยความกระหายในสงคราม จนมาถึงที่ซึ่งพระองค์ประทับกระทำโยคนิทราอยู่

เมื่อมุราสุระแลเห็น องค์ปัทมนาภะประทับบรรทมอยู่จึง กระโจนเข้าหาพระองค์พร้อมอาวุธในมือหวังทุบพระองค์ให้แหลกลาน

บัดนั้น เทวีองค์หนึ่งจึงปรากฏขึ้นด้วยความเกรี้ยวกราด เข้าคว้าอาวุธและเหวี่ยงร่างของมันกระเด็นออกไป เมื่อแลเห็นพระเทวี มุราสุระจึงแปลกใจ ที่พระเทวีซึ่งมีความคล้ายคลึงพระวิษณุทุกประการได้ปรากฏขึ้นและได้เหวี่ยงมันด้วยพลังอำนาจอันมหาศาลได้ถึงเพียงนี้

แท้จริงแล้ว องค์เทวีที่ปรากฏขึ้นต่อหน้ามุราสุระ คือ รูปปรากฏของพลังอำนาจแห่งพระวิษณุ อันมีหน้าที่คุ้มครองอารักขาพระวิษณุในขณะกระทำโยคนิทรา

พระเทวีทรงมีหลายพระนามดังนี้ โยคมายา (Yogamaya), โยคนิทรา (Yoganidra), ไวษณวี (Vaishnavi), วิษณุมายา (Vishnumaya), นารายณี (Narayani) และ ทุรคา (Durga) เป็นต้น

พระเทวีทรงปรากฏขึ้นด้วยความเกรี้ยวกราด และ ทรงขว้างจักรบั่นคอมุระจนขาดสะบั้นลงกับพื้น และทรงปลุกพระนารายณ์จากโยคนิทรา

พระวิษณุทรงยินดีต่อการปรากฏขึ้นของพระเทวี ทรงแต่งตั้งให้เป็นพระขนิษฐาของพระองค์ พระนางจึงได้นามว่า วิษณุโสทรี (Vishnusodari) อันหมายถึง พระนางผู้เป็นขนิษฐาแห่งพระวิษณุ และพระองค์ทรงปรารถนาจะมอบของขวัญแก่พระนาง หรือ ประทานพรแก่พระนาง

พระองค์จึงทรงตรัสขึ้น “เทวีเรายินดียิ่งต่อการปรากฏตัวขึ้นของเจ้า เจ้าปรารถนาสิ่งใด เราจักมอบแก่เจ้าเป็นการตอบแทนที่เจ้าได้ช่วยเหลือเราไว้”

พระเทวีเมื่อได้สดับฟังเช่นนั้นจึงทรงตรัสขึ้น “โอ้ข้าแต่ พระผู้แผ่ซ่านไปทั่ว (วิษณุ) พระสี่กร (จตุรภุช) พระผู้ทรงมีฉวีวรรณอันคล้ำ (กฤษณะ/รามะ/ศยามะ) พระผู้มีดวงเนตรดังปทุมชาติ (ปัทมากษ/กมลากษ) พระผู้มีนาภีอ่อนโยนดังปทุมชาติ (ปัทมนาภะ) ข้ามิต้องการสิ่งใด แต่เมื่อพระองค์ปรารถนาจักมอบให้แก่หม่อมฉัน หม่อมฉันขอให้ผู้ถือพรตถวายแก่พระองค์ในวันเอกทศี(11ค่ำ) ให้เขาผู้นั้นได้รับพรจากพระองค์ และหม่อมฉัน ทั้งโภคทรัพย์,พุทธิ,เสาภาคย์,อโรคยา และชำระบาปผู้นั้นไปกึ่งหนึ่ง ขอพระองค์ทรงอำนวยพรแก่หม่อมฉัน”

เมื่อพระวิษณุได้สดับฟังเช่นนั้นจึงพึงพอพระทัยในคำขอของพระเทวีเป็นอย่างยิ่ง จึงอำนวยพรตามที่พระเทวีปรารถนา และประทานพระนามแก่พระนางว่า เอกทศี (Ekadashi) อันหมายถึง ลำดับที่11

นอกจากนี้ในทวารปายุค (Dwarpayuga) พระวิษณุได้ทรงอวตารมาเป็น กฤษณาวตาร (Krishnavatara) พระเทวีก็ได้แบ่งภาคอวตารมาเป็น พระขนิษฐานามว่า สุภัทรา (Subhadra) ซึ่งภายหลังได้วิวาห์กับ มหาวีระ อรชุน (Arjuna) และทรงให้กำเนิดโอรสนามว่า อภิมันยุ (Abhimanyu) ซึ่งต่อมาได้เข้าร่วมสงคราม ณ ทุ่งกุรุเกษตร (Kurukshetra) กับพระราชบิดา และได้สิ้นชีพอย่างชาตินักรบในสมรภูมิ

อันการถือพรตในวันเอกาทศีนั้น ผู้ถือพรตต้องตื่นแต่รุ่งสาง กระทำการบูชาต่อพระวิษณุ เช่น การทำอุปจาระซึ่งมีในยามรุ่งอรุโณทัย และ ยามสนทยา การถวายมนตระ เช่น วิษณุสหัสนามาวลี เป็นต้น และทำการอดอาหาร รับประสาท (โภชนาซึ่งถวายแด่พระผู้เป็นเจ้าแล้ว) ในเวลาที่กำหนด(โปรดใช้แอปปฏิทินสำหรับการถือพรตเอกาทศีโดยเฉพาะ หรือ ปฏิทินของทางอิสคอน *สมาคมนานาชาติเพื่อกฤษณะจิตสำนึก*จะมีกล่าวไว้) ในวันรุ่งขึ้นก็เช่นกัน การถือพรตจึงเสร็จสมบูรณ์

โดยประสาทที่จัดขึ้นในวันเอกาทศีจะต้องไม่มีธัญญาหาร แต่ควรเป็น ผัก และผลไม้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

เทวลักษณะ

พระวิษณุทุรไค ปรากฏประติมากรรม และ จิตรกรรมในศิลปะของชาวตมิฬเพียงเท่านั้น ทรงมีสี่กร ทรงจักรในกรขวาบน ทรงสังข์ในกรซ้ายบนเช่นเดียวกับพระวิษณุ

พระกรขวาล่างทรงแสดง อภัยมุทรา อันหมายถึงการคุ้มครอง อย่าได้กังวล

พระกรซ้ายล่างทรงแสดง วรทมุทรา อันหมายถึงการอำนวยพร การให้ บ้างก็ทรงเท้าเอว

บางแห่งทรงประทับยืนบนหัวกระบือ อันมาจากการคุ้นชินกับ เทวปกรณ์ พระทุรคา ทรงปราบอสูรกระบือ (มหิษาสุรมรรทินี) อันปรากฏเรื่องราวทั้งใน คัมภีร์เทวีภาควตปุราณะ และ เทวีมหาตมะยัม

ซึ่งเทวีมหาตมยัม หรือ ศรีทุรคา สัปตศตี นั้นเป็นส่วนแยกย่อยจาก มารกัณเฑยะปุราณะ

*ในคติฮินดูนั้นกล่าวว่าพิภพมีสี่ยุคด้วยกันคือ

ยุคแรกคือ กฤดายุค หรือ สัตยยุค เป็นยุคแห่งความดีงาม

ยุคที่สองคือ เตรตายุค เป็นยุคที่ความดีงามลดหลงมีเพียง สามส่วนสี่ (เรื่องราวในรามายณะเกิดในยุคนี้)

ยุคที่สามคือ ทวารปายุค เป็นยุคที่ความดีงามเหลือเพียงแค่ สองส่วนสี่ (เรื่องราวในมหาภารตะเกิดในยุคนี้)

ยุคสุดท้ายคือ กลียุค ยุคแห่งความมืดมน ยุคที่อธรรมครองพื้นพิภพ ยุคที่ประเพณีจารีตอันดีงามเสื่อมถอยลง ยุคที่ผู้คนต่างหันหลังละทิ้งพระเจ้า ละทิ้งคัมภีร์พระเวทอันถือเป็นศรุติ(คำกล่าวของพระผู้เป็นเจ้า) และหันมาบูชาสรรเสริญภูตผีปีศาจ และ ความเชื่อความงมงายที่เกิดจาก กาม ราคะ และ กิเลสทั้งหลายแพร่สะพัดไปทั่ว