เทวสถาน สำหรับพระนคร โบสถ์พราหมณ์

ประวัติเทวสถานโบสถ์พราหมณ์

ความเป็นมา

               เมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ตามประเพณีการสร้างพระนครแต่โบราณ ต้องมีการประกอบพิธีอย่างหนึ่งเพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านเมือง คือ การยกเสาหลักเมืองขึ้นในมหาชัยภูมิ เพื่อเป็นมิ่งขวัญกำลังใจแก่พสกนิกรยึดถือเป็นหลักชัยทางจิตใจว่าบ้านเมืองมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง ยังให้เกิดความเชื่อมั่นในการดำรงชีพ มีความเชื่อถือว่าหลักเมืองได้ตั้งแล้ว โดยอานุภาพของหลักเมืองจะเป็นหลักชัยให้ประชาชนผู้รวมกันอยู่ในบ้านเมืองนั้นๆ อยู่เย็นเป็นสุข ในการพิธีตั้งหลักเมืองนั้น พราหมณ์จะเป็นผู้นำในการประกอบพิธี ทั้งการกำหนดฤกษ์ กำหนดสถานที่ และเป็นผุ้กล่าวคำประกาศเทวดา ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อที่ว่าพราหมณ์เป็นผู้เดียวที่สามารถติดต่อสื่อสารกับพระผู้เป็นเจ้า รวมถึงเทวดาเทพารักษ์ ให้มารักษาเมืองได้ เพราะหากไม่ใช่พราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีก็จะเสื่อมคลายลง

               พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระโหราธิบดี และเหล่าพราหมณาจารย์ ปลูกโรงพิธีพราหมณ์บูชาพระผู้เป็นเจ้า ตั้งศาลบูชาเทวดาทั้ง ๘ ทิศ ทั้งศาลบูชาพระอินทร์ พระพรหมธาดา พระอิศวร (พระศิวะ) และพระนารายณ์ (พระวิษณุ) อัญเชิญเทวดาเข้าประจำการรักษาพระนคร ประกอบพิธีกลบบัตรสุมเพลิง ป้องกันเสนียดจัญไร ผูกดวงชะตาพระนคร และประกอบพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ฤกษ์เวลาย่ำรุ่งแล้ว ๕๔ นาที ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ เวลา ๐๖.๕๔ น.

               พุทธศักราช ๒๓๒๗ เมื่อขุดคลองรอบกรุง (คลองบางลำพูหรือคลองโอ่งอ่าง) เพื่อขยายอาณาเขตของพระนครและเป็นปราการทางธรรมชาติป้องกันอริราชศัตรูแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการกำหนดจุดศูนย์กลางของพระนครขึ้น โดยวัดจากกำแพงเมืองด้านฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกถึงกำแพงเมืองด้านทิศเหนือฝั่งป้อมมหากาฬริมคลองรอบกรุง ณ ที่แห่งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเทวสถาน สำหรับพระนครขึ้นพร้อมกับเสาชิงช้า เมื่อวันพุธเดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๔๖ ตรงกับวันที่ ๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๗ เพื่อเป็นศาสนสถานบูชาพระผู้เป็นเจ้า และสถานที่ประกอบพิธีสำคัญของบ้านเมืองตามธรรมเนียมการสร้างพระนครแต่โบราณที่ถือคติว่า บ้านเมืองจะมีความมั่นคงแข็งแรงได้นั้นต้องประกอบพระราชพิธีตรียัมปวายและตรีปวาย พิธีโล้ชิงช้า และบูชาพระผู้เป็นเจ้า เทวสถาน สำหรับพระนคร จึงเป็นพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ของกรุงรัตนโกสินทร์นับแต่นั้นเป็นต้นมา

               ตามลัทธิ ความเชื่อ และประเพณีพราหมณ์ โดยเฉพาะคติไศวนิกาย นับถือพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นใหญ่ เชื่อว่า องค์มหาเทพจะสถิตอยู่ ณ ยอดเขาไกรลาส ซึ่งเป็นยอดเขายอดหนึ่งบนเทือกเขาหิมาลัย ด้วยเหตุนี้ การสร้างเทวลัยหรือเทวสถานเพื่อบูชาองค์พระศิวะ จึงมักสร้างขึ้นบนเนินเขาสูงหรือจำลองภูเขาในบริเวณพื้นที่ศูนย์กลางของเมือง เพื่อใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระศิวลึงค์ (Linga) หรือเทวรูปของพระผู้เป็นเจ้า เช่น เทวสถานไกรลาสนาถ เมืองกาญจีปุรัม ในอินเดียใต้ หริหราลัยบนยอดเขาพนมกุเลน ปราสาทเขาพระวิหารหรือเทวาลัยศรีสิขเรศวร ในอาณาจักรขอม รวมทั้งเทวสถานต่างๆ ที่พบในประเทศไทย เช่น แหล่งโบราณคดียอดเขาคงคา จังหวัดนครศรีธรรมราช ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

               อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะทางภูมิประเทศของอาณาจักรสยามเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ไม่มียอดเขาสูงใจกลางพระนคร ด้วยเหตุนี้การสร้างเทวาลัยหรือเทวสถานจึงนิยมสร้างขึ้นบริเวณศูนย์กลางของเมืองหรือบริเวณใกล้กับพระราชวังหลวงศูนย์กลางการปกครองของราชอาณาจักร สันนิษฐานว่าการสร้างเทวาลัยหรือเทวสถานของไทย ได้รักษารูปแบบและองค์ประกอบสำคัญตามธรรมเนียมการสร้างเทวสถานที่สืบทอดต่อกันมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย จะมีเทวสถานประธาน ๓ หลัง เพื่อบูชาพระอิศวร พระนารายณ์ และพระมหาวิฆเนศวร รูปแบบและคติความเชื่อในการสร้างเทวสถานได้รับสืบทอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันโดดเด่น บ่งบอกถึงความสำคัญของลัทธิ ความเชื่อ และประเพณีพราหมณ์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของสังคมไทยจวบจนปัจจุบัน

 

ประวัติการบูรณปฏิสังขรณ์เทวสถานสำหรับพระนคร

               เทวสถานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ในรัชสมัยต่างๆ

พุทธศักราช ๒๓๒๗

               พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเทวสถาน สำหรับพระนคร และเสาชิงช้าขึ้น ณ บริเวณใจกลางกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันพุธเดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๔๖ ตรงกับวันที่ ๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๗ เพื่อเป็นศาสนสถานประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์สักการบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามประเพณีการสร้างพระนครแต่โบราณ

พุทธศักราช ๒๓๕๐

               เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “วัดมหาสุทธาวาส” (วัดสุทัศนเทพวราราม) ขึ้นในบริเวณใกล้เคียง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนี จากพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัยมาประดิษฐาน ณ พระอาราม ในคราวเดียวกันนี้เอง สันนิษฐานว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญเทวรูปต่างๆ จากวัดพระพายหลวง ศาสตาผาแดง และเทวาลัยมหาเกษตรพิมาน เมืองสุโขทัย มาประดิษฐาน ณ เทวสถาน สำหรับพระนคร ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหลวงเขียนรูปพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์ขึ้นที่บานประตูและบานหน้าต่างพระอุโบสถและพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม อีกด้วย

ราวพุทธศักราช ๒๓๕๒ – ๒๓๖๔

               จอห์น ครอฟอร์ด ผู้แทนการค้าจากรัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย ซึ่งเดินทางเข้ามากรุงรัตนโกสินทร์เมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๔ และมีโอกาสเข้าเยี่ยมชมเทวสถานสำหรับพระนคร ในบันทึกการเดินทางของเขาระบุว่า เทวสถาน สำหรับพระนคร เพิ่งได้รับการสร้างขึ้นใหม่ไม่นาน สันนิษฐานว่าอาคารต่างๆ ของเทวสถานที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันล้วนได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หรือสร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พุทธศักราช ๒๔๔๓

               พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัตติวงศ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ดำเนินการย้ายตลาดเสาชิงช้าเดิม (ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ ติดกับเทวสถาน สำหรับพระนคร บริเวณตึกโค้ง ริมถนนบำรุงเมืองเลี้ยวมาถนนดินสอในปัจจุบัน)

พุทธศักราช ๒๔๔๔ – ๒๔๕๑

               พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกำแพงพื้นที่ระหว่างตึกหน้ากับเทวสถานทั้ง ๒ ข้าง นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมอาคารทั้ง ๓ หลัง

พุทธศักราช ๒๔๕๔

               พระราชครูวามเทพมุนี (หว่าง รังสิพราหมณกุล) เจ้ากรมพราหมณ์พิธี กระทรวงวัง ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตซ่อมแซมเทวสถาน สำหรับพระนคร

พุทธศักราช ๒๔๗๒

               เจ้าหน้าที่แผนกพราหมณ์พิธี กระทรวงวัง ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเงินเพื่อซ่อมแซมส่วนต่างๆของเทวสถาน สำหรับพระนคร เช่น กระเบื้อง ตัวไม้ เครื่องบน ฐานเทวรูป เสาหงส์

พุทธศักราช ๒๕๑๔

               เมื่อมีการรื้ออาคารหอเวทวิทยาคมในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระราชครูวามเทพมุนี (สมจิตต์ รังสิพราหมณกุล) หัวหน้าพราหมณ์ นำไปใช้เป็นนามหอเวทวิทยาคมหลังใหม่ที่จะสร้างในบริเวณเทวสถาน สำหรับพระนคร ในการนี้ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงก่อพระฤกษ์ อาคารหอเวทวิทยาคมหลังใหม่ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๔ แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จเพราะพระราชครูวามเทพมุนี (สมจิตต์ รังสิพราหมณกุล) ได้ถึงแก่กรรมลงเสียก่อน

พุทธศักราช ๒๕๓๐

               เนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๖๐ พรรษา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๐ เทวสถาน สำหรับพระนคร จึงได้จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์เทวสถาน ทั้ง ๓ หลัง ในครั้งนี้ ได้ทำการก่อสร้างหอเวทวิทยาคมที่คั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จด้วย

พุทธศักราช ๒๕๔๕

               เทวสถาน สำหรับพระนคร ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารทั้ง ๓ หลัง ซึ่งได้ชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก การบูรณะครั้งนี้ได้ซ่อมแซมโครงหลังคา เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา นอกจากนี้คณะผู้รับผิดชอบโครงการฯ ยังได้จัดสร้างวัตถุมงคลด้วยการนำกระเบื้องที่ชำรุดมาบดและกดเป็นพระพิมพ์เทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์ และพระมหาวิฆเนศวร ให้ผู้ที่มีจิตศรัทธาสมทบทุนเพื่อใช้จ่ายในกิจการของเทวสถาน สำหรับพระนคร

พุทธศักราช ๒๕๕๓

               เป็นการบูรณะฟื้นฟูเทวสถานสำหรับพระนคร ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคล ๔ วาระ คือ

  • ๑. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนาเทวสถาน สำหรับพระนคร
  • ๒. เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๘๔ พรรษา เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔
  • ๓. เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ และ
  • ๔. ในโอกาสอันเป็นมหามงคลที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๘๔ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๒

แผนผังเทวสถาน สำหรับพระนคร โบสถ์พราหมณ์

                เทวสถาน สำหรับพระนคร เมื่อแรกสร้างประกอบด้วยอาคารก่ออิฐถือปูน ๓ หลัง ได้แก่ สถานพระอิศวร สถานพระมหาวิฆเนศวร และสถานพระนารายณ์ ต่อมาได้มีการบูรณปฎิสังขรณ์ตามยุคสมัย

สถานพระอิศวร

               ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าประตูทางเช้าเทวสถาน สำหรับพระนคร เป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวน ๓ หลัง สถาปัตยกรรมของอาคารหลังนี้ มีลักษณะเป็นอาคารไทยประเพณีแบบทรงโรง (คืออาคารที่ทำหลังคา “ทรงจั่ว” โครงสร้างเครื่องไม้ หลังคามุงกระเบื้องมี “ปีกนก” ชักคลุมโดยรอบอาคาร) มีมุขลด ๑ ชั้น เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ภายในประดิษฐานเทวรูปพระอิศวร ทำด้วยสำริดประทับยืน ขนาด ๑.๘๗ เมตร ปางประทานพร โดยยกหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง และยังมีเทวรูปศิลปะสุโขทัย สร้างราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ และยังมีเทวรูปขนาดกลางอีกหลายองค์ ประดิษฐานเหนือพระแท่นเบญจา ซึ่งเป็นฐานแท่นตั้งรองรับวัตถุทรงคุณค่า ในที่นี้หมายถึงการจำลองเขาไกรลาสที่สถิตแห่งพระอิศวร ทั้งหมดอยู่ในซุ้มบุษบกที่กรุกระจกป้องกันอย่างแน่นหนา ถัดไปด้านหลังพระแท่นเบญจา มีพระศิวลึงค์ ๒ องค์ ด้านหน้าพระแท่นเบญจามีชั้นลด ประดิษฐานเทวรูปพระพรหมธาดา ๓ องค์ พระสรัสวดี ๑ องค์ สองข้างแท่นลดมีเทวรูปพระอิศวรและพระอุมาทรงโคนนทิ หรือโคอุสุภราช เป็นศิลปะปูนปั้นโบราณมีมาแล้วก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรงกลางสถานอิศวร มีเสาลักษณะคล้ายเสาชิงช้าจำลอง ๒ ต้น สูง ๒.๕ เมตร สำหรับประกอบพิธีช้าหงส์ในพระราชพิธีตรียัมปวายและตรีปวายในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ เพื่อบูชาพระอิศวร พระแม่อุมา และพระมหาวิฆเนศวร วันแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ เพื่อบูชาพระนารายณ์ และวันแรม ๓ ค่ำ เดือนยี่ เพื่อบูชาพระพรหมธาดา

สถานพระอิศวร

สถานพระมหาวิฆเนศวร

               ตั้งอยู่ถัดจากสถานพระอิศวรมาทางทิศเหนือ สถาปัตยกรรมของอาคารหลังนี้ มีลักษณะเป็นอาคารไทยประเพณีแบบทรงโรง มีการซ้อนชั้นหลังคาแบ่งเป็น ๒ ตับ หน้าบันก่ออิฐฉาบปูนแต่งกรอบบัว มีหลังคาแบบ “จั่นหับ” คือ ส่วนหลังคาคลุมเฉลียงหน้าและหลังทำเป็นหลังคาลาดลง ซึ่งเป็นศิลปะในสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในประดิษฐานเทวรูปพระมหาวิฆเนศวรทำด้วยหินและโลหะสำริดหลายองค์ โดยเฉพาะเทวรูปพระมหาวิฆเนศวรหินทราย ๑ องค์ เป็นเทวรูปพระมหาวิฆเนศวรที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เทวรูปพระมหาวิฆเนศวรองค์ประธาน เป็นเทวรูปขนาดใหญ่หล่อด้วยสำริดทั้งองค์ ประดิษฐานในซุ้มเบญจา ลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิราบ มี ๒ พระกร ทรงทันตะหรืองา พระกรหนึ่ง อีกพระกรหนึ่งสิ่งที่อยู่ในพระหัตถ์หายไป น่าจะเป็นปาศะหรือบ่วงพาหุรัดทำเป็นนาคสองข้างและศิราภรณ์ตลอดลายผ้าทรงเป็นศิลปะไทยทั้งหมด เป็นเทวรูปที่มีเทวลักษณะงดงาม สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะอยุธยาตอนกลาง มีอายุราวพุทธศตวรรณที่ ๒๑ – ๒๒

สถานพระมหาวิฆเนศวร

สถานพระนารายณ์

               ตั้งอยู่ถัดจากสถานพระมหาวิฆเนศวรมาทางทิศเหนือ สถาปัตยกรรมของอาคารหลังนี้ มีลักษณะเป็นอาคารไทยประเพณีแบบทรงโรง มีการซ้อนชั้นหลังคาแบ่งเป็น ๒ ตับ หน้าบันก่ออิฐฉาบปูนแต่งกรอบบัว มีหลังคาแบบ “จั่นหับ” เช่นเดียวกับสถานพระมหาวิฆเนศวร ซึ่งเป็นศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย ภายในทำชั้นยกตั้งบุษบก ๓ หลัง ประดิษฐานเทวรูปสำคัญ ๓ พระองค์ คือ พระนารายณ์ พระลักษมี และพระมเหศวรี บุษบกหลังกลางประดิษฐานพระนารายณ์ประทับยืนขนาด ๑.๕๑ เมตร หล่อด้วยสำริดมีเทวลักษณะงดงามแบบศิลปะสุโขทัย ส่วนบุษบกอีก ๒ ข้าง ประดิษฐานพระลักษมีและพระมเหศวรี ทำด้วยไม้หุ้มรักประทับยืน เทวรูปทั้ง ๒ องค์นี้ เป็นองค์จำลอง (ของเดิมได้ย้ายไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ ปีพุทธศักราช ๒๔๘๕) ตรงกลางสถานพระนารายณ์มีเสาลักษณะคล้ายกับเสาชิงช้าขนาดย่อม สูง ๒.๕๐ เมตร เรียกว่า “เสาหงส์” สำหรับประกอบพิธีช้าหงส์ในพิธีตรีปวาย

สถานพระนารายณ์

เทวาลัย

               บริเวณลานด้านหน้าสถานพระอิศวรใกล้กับประตูทางเข้า มีเทวาลัยประดิษฐานพระพรหมธาดาตั้งอยู่กลางสระน้ำ พระราชครูวามเทพมุนี (สมจิตต์ รังสิพราหมณกุล) จัดสร้างถวายเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๕

พระศิวลึงค์

               พระศิวลึงค์เป็นรูปเคารพแทนองค์พระศิวะ (พระอิศวร) แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียกว่า พรหมภาค หมายถึง พระพรหม ส่วนกลางเป็นรูปแปดเหลี่ยมเรียกว่า วิษณุภาค หมายถึง พระนารายณ์ และส่วนบนเป็นรูปกลมเรียกว่า รุทรภาค หมายถึง พระศิวะ (พระอิศวร) ในส่วนของ มุขลึงค์นั้นคือ พระศิวลึงค์ที่มีพระพักตร์ของพระศิวะ (พระอิศวร) ประกอบที่ส่วนรุทรภาค ชาวฮินดูเชื่อว่าการสวดมนต์สรรเสริญบูชาพระศิวะและศิวลึงค์ จะส่งผลให้เกิดความสุขและความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะความอุดมสมบูรณ์ในการเกษตรและการเพาะปลูก ภายในเทวสถาน สำหรับพระนคร ประดิษฐานพระศิวลึงค์ ๓ องค์ ด้วยกัน โดยสององค์แรกเป็นพระศิวลึงค์คู่ประดิษฐาน ณ ด้านหลังพระแท่นเบญจาในสถานพระอิศวร อีกองค์หนึ่งประดิษฐานภายในพระเบญจายอดปรางค์ระหว่างสถานพระอิศวรและสถานพระวิฆเนศวร โดยพระศิวลึงค์องค์นี้ได้รับมอบจากสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร มีประวัติเล่าว่า เมื่อสมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศ มีดำริจะปฏิสังขรณ์วัดบวรนิเวศวิหาร ขณะดำเนินการบูรณะลานประทักษิณขององค์พระเจดีย์ด้านหลังพระอุโบสถ พบองค์ศิวลึงค์ที่เป็นโบราณวัตถุประดิษฐานอยู่คู่กับพระอารามมาช้านาน จึงได้กราบทูลขอประทานสมเด็จพระญานสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สุวฑฺฒน มหาเถร) ให้มอบศิวลึงค์ที่เป็นรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์เพื่อเป็นที่สักการะประจำเทวสถาน สำหรับพระนครสืบไป

หอเวทวิทยาคม

               เป็นหอสำหรับเสกทำน้ำเทพมนตร์สรงพระมุรธาภิเษก หรือเสกทำใบสมิตและสายธุลำหรือสังวาลพราหมณ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีอื่นๆ เป็นอาคารเครื่องไม้ทรงไทย ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เพิ่งรื้อลงเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๒ – ๒๕๑๓ ในรัชกาลปัจจุบันเพื่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการ ต่อมาเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระราชครูวามเทพมุนี (สมจิตต์ รังสิพราหมณกุล) นำนามหอเวทวิทยาคมในพระบรมมหาราชวังไปใช้กับหอเวทวิทยาคมซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในบริเวณเทวสถาน สำหรับพระนคร และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๔ และแล้วเสร็จในปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๐ โดยในการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ ได้มีการพัฒนาหอเวทวิทยาคมให้มีคุณประโยชน์มากยิ่งขึ้นสมกาลสมัย โดยแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น ๓ ส่วน

  • ชั้นที่ ๑ เป็นที่ตั้งของสำนักงานเทวสถาน สำหรับพระนคร
  • ชั้นที่ ๒ พัฒนาเป็นห้องสมุดรวบรวมเอกสารสำคัญต่างๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
  • ชั้นที่ ๓ จัดเป็นห้องเก็บสิ่งของเครื่องใช้ในพิธีสำคัญทางศาสนา