เกร็ดความรู้ เทวะตำนาน เรื่องทั่วไป

สุริยุปราคาแบบวงแหวน

ในวันที่ 26 ธันวาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 09:29:53 น. ถึง 15:05:40 น. (ตามเวลามาตรฐานที่กรุงเทพฯ) จะเกิดสุริยุปราคาแบบวงแหวน (Annular Solar Eclipse) ขึ้นในโลก (โดยจุดศูนย์กลางของคราสจะอยู่ในเวลา 12:17:46 น.)
แล้วข้าพเจ้าก็ได้พูดคุยกับอาจารย์ 2 ท่านที่เป็นมิตรกันว่า เราสามคนมาเขียนเรื่องอุปราคากันตามความเข้าใจของแต่ละคนเพื่อให้ความรู้แก่สาธารณะชนกันสักหน่อยไหม แล้วก็เป็นไปตามนั้นโดยอาจารย์เก้า (ดร. ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว) นั้นได้เขียนโพสขึ้นก่อนเป็นท่านแรก
ส่วนข้าพเจ้าเองก็จะขอพูดเรื่องคราสนี้เช่นกันในอีกมิติหนึ่ง และจะพยายามเขียนให้ท่านผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษาวิชาดาราศาสตร์หรือวิชาโหราศาสตร์ได้เข้าใจได้ง่ายพอสังเขป (ตามที่ข้าพเจ้าได้ศึกษามา ผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ)
อันเรื่องอุปราคาหรือคราสนั้นเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ชนิดหนึ่งที่ผู้คนในโลกจำนวนมากจะสามารถมองเห็นปรากฏการณ์นี้ได้
ถ้าจะว่ากันแบบทางวิทยาศาสตร์หรือดาราศาสตร์ในปัจจุบันแล้ว ปรากฏการณ์อุปราคาของโลกเรานี้ก็จะเกิดขึ้นโดยดาว 3 ดวง คือ ดวงอาทิตย์+โลก+ดวงจันทร์ ที่โคจรมาอยู่ในระนาบองศาเดียวกัน จนทำให้ดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์นั้นเกิดการมืดลงไปชั่วขณะ และจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ
1. สุริยุปราคา ที่ดวงอาทิตย์+ดวงจันทร์+โลก จะเคลื่อนโคจรเข้ามาอยู่ในระนาบองศาเดียวกัน โดยดวงจันทร์นั้นจะเคลื่อนเข้าตัดหน้าบังดวงอาทิตย์ไว้ (ทำให้แสงของดวงอาทิตย์มืดลง) และจะเกิดขึ้นในช่วงวันอมาวัสยาหรือวันอมาวสี (วันแรมสุดท้ายของมาส) เมื่อมองจากโลกเราแล้วก็จะเห็นว่าดวงอาทิตย์นั้นเกิดมืดลงไปชั่วขณะ
2. จันทรุปราคา ที่ดวงอาทิตย์+โลก+ดวงจันทร์ จะเคลื่อนโคจรเข้ามาอยู่ในระนาบองศาเดียวกัน โดยโลกของเรานั้นจะเคลื่อนเข้าตัดหน้าบังดวงอาทิตย์ไว้ (ทำให้แสงของดวงอาทิตย์ไม่ไปตกกระทบดวงจันทร์) และจะเกิดขึ้นในช่วงวันปูรณิมาหรือวันเพ็ญ (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ) เมื่อมองจากโลกของเราแล้วก็จะเห็นว่าดวงจันทร์นั้นมืดลงไปชั่วขณะ
ส่วนปราชญ์ในสมัยโบราณไอ้ครั้นท่านจะอธิบายภูมิความรู้ของท่านแบบนี้ผู้คนทั่วไปก็คงจะไม่ค่อยรู้เรื่องหรืออยากฟังเท่าใดนัก ท่านจึงได้นำปูมความรู้ทางดาราศาสตร์อันถูกต้องนี้ (เชื่อว่าปราชญ์โบราณท่านรู้อย่างถูกต้องอยู่แล้ว แต่เล่าบรรยายออกมาอีกแบบแค่นั้น) มาสร้างเป็นปกรณัมขึ้นเพื่อให้เกิดความสนใจในหมู่ชนมากขึ้น
แล้วท่านรู้เรื่องอะไรบ้าง?
ก่อนอื่นก็ต้องบอกเลยว่าปราชญ์ในสมัยโบราณที่เฝ้าสังเกตดวงดาวบนท้องฟ้าท่านก็ต้องรู้ว่า โลกกับดวงอาทิตย์นั้นทำมุมเอียงแก่กันก่อน (โลกของเราทำมุมเอียงกับดวงอาทิตย์ประมาณ 23.5 องศา) ท่านจึงสามารถกำหนดอายันและวิษุวัตในรอบปีทางสุริยคติได้อย่างแม่นยำ
จากนั้นท่านก็ต้องทราบว่าดวงจันทร์นั้นโคจรไปรอบโลกแล้วทำมุมเอียง 5.9 องศากับเส้นสุริยวิถี จนเกิดการคำนวณข้างขึ้น-ข้างแรม (ศุกลปักษ์-กฤษณปักษ์) ขึ้นและเข้าใจซึ่งมุมเอียงของดวงจันทร์ (ตรงจุดที่สว่าง) ว่าจะทำมุมในลักษณะไหน
จากนั้นท่านก็สร้างเส้นวงกลมสมมุตขึ้น 2 เส้นบนท้องฟ้า โดยเอาเส้นวงที่ดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก (เอาโลกเป็นศูนย์กลางในการเฝ้าดู) ขึ้นมาเส้นวงหนึ่ง แล้วเอาเส้นวงที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกขึ้นมาอีกเส้นวงหนึ่ง จากนั้นก็ขยายเส้นทั้ง 2 นี้ให้มีขนาดวงเท่า ๆ กัน (แต่มุมเอียงนั้นไม่เท่ากัน) แล้วใช้ศัพท์ทางโหราศาสตร์ว่า “จันทรปาต (Moon’s Node)”
เมื่อวงกลม 2 วงซึ่งมีมุมเอียงไม่เท่ากันนี้ขยายออกไปเท่ากัน มันก็จะเกิดจุดตัดกันขึ้น 2 จุด ที่ตรงข้ามกัน 180 องศาพอดี ที่จุดหนึ่งเรียกว่า “อุทัยปาต (Ascending Node or North Node)” ซึ่งเป็นจุดตัดที่อยู่ทางด้านเหนือของเส้นสุริยมรรค กับอีกจุดหนึ่งที่เรียกว่า “อัสตปาต (Descending Node or South Node)” ซึ่งเป็นจุดตัดที่อยู่ทางด้านใต้ของเส้นสุริยมรรค
โดยไอ้ 2 จุดตัดนี้เองที่ต่อมาเวลาท่านจะเล่า ท่านก็จะสมมุตหรือสร้างปกรณัมขึ้นโดยเรียกมันว่า ราหุ (राहु – Rahu)กับเกตุ (केतु – Ketu) แล้วยังสมมุตให้มันทั้ง 2 นี้เป็นอุปครหะ (พระเคราะห์สมมุต หรือ พระเคราะห์ฉายา) ด้วย
โดยกล่าวให้ดูง่าย ๆ ว่า ยามหรือเวลาใดก็ตามที่ดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์มาอยู่ในระนาบราศีและองศาเดียวกับองศาของราหูและเกตุแล้วนั้นก็ย่อมจะเกิดอุปราคาขึ้นได้ (สุริยุปราคาอาทิตย์กับจันทร์จะอยู่ในราศีเดียวกัน และ จันทรุปราคาอาทิตย์กับจันทร์จะอยู่ตรงข้ามกัน 180 องศา และถ้าในกรณีเกิดอุปราคาเพียงบางส่วนพระอิตย์กับพระจันทร์ก็อาจจะอยู่ในระยะองศาประชิดราหูและเกตุเท่านั้น)
คราวนี้ก็มาดูการผูกปกรณัมแบบอินเดีย โดยเฉพาะเรื่องเล่าในภาควิชาโหราศาสตร์แบบอินเดียกันว่าเขาสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับอุปราคาในรูปของราหู&เกตุนี้ไว้อย่างไร?
เขาก็เล่าว่าทางบิดาของพระราหูนั้นก็สืบเชื้อสายมาจากพระกัศยปะกับนางทนุ (เป็นสายทานวะ หรือ ทานพ) โดยมีราชาแห่งทานวะที่ชื่อท้าวปุโลมา (पुलोमा – Puloma) ผู้เป็นพ่อตาของพระอินทร์นั้นปกครองพวกทานวะในยุคแรกนี้อยู่ก่อน และท้าวปุโลมานี้ก็มีพระอนุชาตนหนึ่งชื่อ วิประจิตติ (विप्रचित्ति – Viprachitti)
ครั้นท้าวปุโลมาปกครองเหล่าทานวะไปได้ 7 ปีสวรรค์แล้วก็เกิดผิดใจกับพระอินทร์ผู้เป็นลูกเขยเข้าจนถูกพระอินทร์เอาวัชระฟาดจนแดดิ้นสิ้นชีพไป จากนั้นท้าววิประจิตติก็ขึ้นมาเป็นจอมทานวะแทน
ท้าววิประจิตตินั้นมีความอาฆาตแค้นพระอินทร์และเหล่าเทวดาเป็นอย่างมากที่มาสังหารพี่ชายของตน จึงมองหาแนวร่วมเก่าคือพวกอสูรตระกูลไทตยะหรือแทตย์ (ผู้เกิดมาจากพระกัศยปะกับนางทิติ) มาเป็นพันธมิตร
เมื่อพิจารณาแล้วก็เห็นว่าในกาลนั้นเห็นจะมีแต่ท้าวหิรัณยากศะกับท้าวหิรัณยกศิปุเท่านั้นที่มีฤทธานุภาพสูงสุด ถึงขนาดกล้าประกาศต่อกรเป็นศัตรูกับพระวิษณุเลยทีเดียว
ครั้นคิดได้ดังนั้นท้าววิประจิตติจึงทำการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝ่ายของท้าวหิรัณยกศิปุ ด้วยการไปสู่ขอนางสิงหิกา (सिंहिका- Simhika) ผู้เป็นธิดาตนหนึ่งของท้าวหิรัณยกศิปุมาเป็นชายาของตน อันทำให้ฝ่ายทานวะกับฝ่ายไทตยะนั้นกระชับมิตรแน่นเหนียวกันมากขึ้นกว่าเดิมและเริ่มมีกองทัพที่มากกว่าเหล่าเทวดา
เมื่อท้าววิประจิตติได้วิวาห์กับนางสิงหิกาแล้ว ทั้งคู่ก็เฝ้าบำเพ็ญตบะขอบุตรต่อพระกัศยปเทพบิดรอยู่หลายปี ว่าให้บุตรของจนที่จะกำเนิดขึ้นมานั้นจงมีร่างกายที่ใหญ่โต เป็นผู้มีฤทธิ์มาก และเป็นผู้มีปัญญาเล่ห์เหลี่ยมสูง จนในที่สุดพระกัศยปะก็พอใจและประทานพรนี้ให้พวกเขาทั้ง 2 ได้สมดังที่หวัง
ต่อมานางสิงหิกาก็ได้ให้กำเนิดโอรสที่เป็นลูกครึ่งระหว่างแทตย์และทานพขึ้นมาตนหนึ่งในขณะที่ดวงจันทร์เคลื่อนเข้าสถิตอยู่ในนักษัตรภรณี (भरणीBharani) ที่ทางโหราศาสตร์อินเดียกล่าวว่า ผู้ที่เกิดในนักษัตรนี้มักจะทำอะไรไปตามสัญชาตญาณตามธรรมชาติของสัตว์อยู่บ่อยครั้ง, ทำให้เป็นผู้ชอบใช้ชีวิตเพลิดเพลินไปกับโลกวัตถุสูง (แม้รู้ดีว่าจะนำทุกข์มาให้ในภายหลัง) และทำให้เป็นผู้หลงอยู่ในกามสุขได้ง่าย (มีเล่าไว้แล้วในเรื่อง “นักษัตรประวิภาค”)
จากนั้นทารกผู้มีร่างกายใหญ่โตนี้ก็ถูกเรียกว่า “ไสํหิเกย (सैंहिकेय – Sainhikeya)” ซึ่งแปลว่า “ผู้สืบเชื้อสายมาจากนางสิงหิกา” แล้วจึงมาได้นามว่า “ราหู หรือ ราหุ” ในภายหลัง เมื่อทารกผู้นี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่และเริ่มตามจับพระอาทิตย์กับพระจันทร์กิน
แล้วเมื่อเข้าสู่วัยเรียน เจ้าไสํหิเกยผู้นี้ ก็ไปเข้าโรงเรียนประจำที่โรงเรียนพระศุกร์วิทยาคม และได้รับความเมตตาเอ็นดูจากพระศุกราจารย์เป็นอย่างมาก จนพระศุกร์นั้นได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่เจ้าไสํหิเกยผู้นี้จนแทบจะหมดเปลือก ไม่ว่าจะเป็นวิชาทางด้านการรบ ด้านการเมือง ด้านเล่ห์เหลี่ยม (ไม่สอนก็แต่มนตร์ชุบชีวิตที่พระศิวะประทานมาให้พระศุกร์ที่ชื่อว่า “มฤตสัญชีวินี”)
จากนั้นเมื่อเหล่าไทตยะและเหล่าทานวะยกทัพขึ้นไปทวงคืนสวรรค์นั้นไอ้เจ้าไสํหิเกยก็เป็นแม่ทัพที่สำคัญคนหนึ่งอยู่บ่อยครั้ง จนรบชนะบ้าง รบแพ้บ้าง หรือ ตายลงบ้าง แต่ด้วยเป็นศิษย์รักพระศุกร์ก็ช่วยชุบชีวิตให้มันมาตลอดทุกครั้งที่มันตายไป
คราวนี้เมื่อพระศุกร์คอยชุบชีวิตให้เจ้าไสํหิเกยและเหล่าไทตยะกับเหล่าทานวะเช่นนี้อยู่บ่อยครั้งแล้ว ก็ทำให้ฝ่ายของเทวดานั้นอ่อนแรงลง (บ้างก็ว่าพระอินทร์นั้นถูกฤษีทุรวาสสาปด้วย) เหล่าเทวดาก็เลยต้องไปของพึ่งบุญของพระวิษณุ
พระวิษณุจึงออกอุบายว่าให้เหล่าเทวดาไปเจรจาพักรบกับเหล่าไทตยะ&เหล่าทานวะก่อน แล้วมาช่วยกันกวนทะเลน้ำนมเพื่อให้ทุกฝ่ายนั้นกลายเป็นอมตะ (มีเล่าไว้ในอาทิบรรพของมหาภารตะด้วย)
ครั้นเมื่อพระธันวันตริเทิดหม้อน้ำอมฤตขึ้นมาแล้วฝ่ายไทตยะกับฝ่ายทานวะก็กรูกันเข้าไปชิงเอาน้ำอมฤตนั้นมาครอง จนพระวิษณุต้องรีบแบ่งภาคไปปรากฏเป็นนางโมหินีมาขออาสาทำหน้าที่แจกจ่ายน้ำอมฤตนี้ให้ ซึ่งฝ่ายอสูรที่หลงมนตร์เสน่ห์ของนางก็ยอมทำตามที่นางบอก
แต่ในหมู่อสูรนั้นก็มีเพียงแต่เจ้าไสํหิเกยนี้เพียงแต่ผู้เดียวที่รู้ทันกลของพวกเทวดา มันจึงรีบแปลงร่างของมันให้เปลี่ยนไปเป็นเทวดาแล้วแฝงตัวเข้าไปปะปนในหมู่เทวดา จนได้ดื่มน้ำอมฤตนั้น
แล้วในเวลาเดียวกันนั้นเองที่นางโมหินีกำลังหลั่งน้ำอมฤตให้เจ้าไสํหิเกยได้ดื่ม พระอาทิตย์กับพระจันทร์ก็เกิดผิดสังเกตเข้า (บางตำนานเล่าว่าแม้แปลงร่างแต่เงาของมันปรากฏเป็นรูปเดิมอยู่) จึงรีบฟ้องนางโรหินีให้ยับยั้งการดื่มกินน้ำอมฤตนี้
ในทันทีทันใดนางโมหินีก็เรียกจักรออกมาแล้วปล่อยจักรนั้นไปบั่นเศียรของเจ้าไสํหิเกยนั้นในทันที แต่นั้นก็ไม่ทันเวลาเสียแล้วเพราะเจ้าไสํหิเกยนั้นได้เอาน้ำอมฤตเข้าปากของมันแล้วกลืนลงคอไปแล้วในระดับหนึ่ง (น้ำอมฤตเคลื่อนเข้าไปได้แค่ช่วงต้นคอ) นี่จึงทำให้เศียรของมันที่ขาดลงนั้นเป็นอมตะไป แล้วคืนร่างเดิมลอยขึ้นไปสู่ท้องฟ้า พร้อมคำรามเสียงดังออกมา
จากนั้นมันก็ได้ลั่นวาจาด้วยความโกรธแค้นพระอาทิตย์กับพระจันทร์ว่า อย่าให้มันมีโอกาสนะ ถ้ามีโอกาสเมื่อใดมันจะจับเอาพระอาทิตย์กับพระจันทร์มากลืนกินให้หายแค้น (โดยไม่มีเทพตนใดจะสามารถช่วยพระอาทิตย์กับพระจันทร์ได้เลย)
แต่ทว่า เมื่อมันถูกตัดคอขาเช่นนั้น เวลามันทำการจับฉวยเอาพระอาทิตย์กับพระจันทรมากลืนกินเข้าไปแล้ว พระอาทิตย์กับพระจันทร์จึงหลุดออกมาได้ทุกคราไป และการจับฉวยของมันเช่นนี้นี่เองมันจึงได้ฉายาว่า “ราหุ” มานับแต่นั้น
คำเรียกอุปราคา หรือ คราส ในภาษาสันสกฤต
คฺรห (ग्रह)
คฺรหณ (ग्रहण)
คฺราส (ग्रास)
อุปราค (उपराग)
อุปสรฺชน (उपसर्जन)
ปีฑน (पीडन)
คฺรหปีฑน (ग्रहपीडन)
สมฺปีฑยติ (सम्पीडयति)
ปีฑยติ (पीडयति)
ราหุปีฑา (राहुपीडा)
ราหุคฺรหณ (राहुग्रहण)
ราหุคฺรสน (राहुग्रसन)
ราหุสูตก (राहुसूतक)
ราหุสํสฺปรฺศ (राहुसंस्पर्श)
ราหูปสรฺค (राहूपसर्ग)
ราหุทรฺศน (राहुदर्शन)
ปริธฺวํส (परिध्वंस)
อุปสรฺค (उपसर्ग)
วิมรฺทน (विमर्दन)
ธูมยติ (धूमयति)
อุปฺลวติ (उप्लवति)
อุปคฺรสติ (उपग्रसति)
คฺรสติ (ग्रसति)
คฺรสเต (ग्रसते)
หรเต (हरते)
คฤภฺณาติ (गृभ्णाति)
คฤหฺณติ (गृह्णाति)
ลงฺฆยติ (लङ्घयति)
อุปปีฑยติ (उपपीडयति)
นิปีฑยติ (निपीडयति)***คำเรียกอันเกี่ยวกับการการบดบัง
สราหุ (सराहु)
ธฺวสฺต (ध्वस्त)
อุปราควตฺ (उपरागवत्)
วิธฺวสฺต (विध्वस्त)
สตมสฺก (सतमस्क)
ปีฑิต (पीडित)
อุปสฤษฏ (उपसृष्ट)
สคฺรห (सग्रह)
คฺรสฺต (ग्रस्त)
อุปปฺลุต (उपप्लुत)
โสปปฺลว (सोपप्लव)
คฺรหณคต (ग्रहणगत)
ราหุคต (राहुगत)
ราหุคฺรสฺต (राहुग्रस्त)
สมภิปฺลุต (समभिप्लुत)
อุปรกฺต (उपरक्त)
ติรสฺกฤต (तिरस्कृत)
สมฺปีฑิต (सम्पीडित)
อุปรว (उपरव)
อธรีกฤต (अधरीकृत)***คำเรียกรูปแบบของคราส
วิมรฺท (विमर्द) คราสเต็มดวง
นิมีลน (निमीलन) คราสเต็มดวง
สมฺมีลน (सम्मीलन) คราสเต็มดวง
ปฺรโมกฺษณ (प्रमोक्षण) การสิ้นสุดคราส***สุริยุปราคา
สูรยคฺรหณ (सूर्यग्रहण)
สูรยคฺรห (सूर्यग्रह)
รวิหฺรหณ (रविग्रहण)
อรฺกคฺรห (अर्कग्रह)
ปริคฺรห (परिग्रह)
มิหิราปทฺ (मिहिरापद्)
สูรฺโยปราค (सूर्योपराग)

***จันทรุปราคา
จนฺทฺรคฺรห (चन्द्रग्रह)
โสมคฺรห (सोमग्रह)
ศศิคฺรห (शशिग्रह)
โสมคฺรหณ (सोमग्रहण)
จนฺโทฺรปราค (चन्द्रोपराग)

บทความโดย Amaresh Kalaputra