เทวะตำนาน

กุเวร

ท้าวกุเวร หรือที่เรียกนามอีกด้วยว่า “เวสวัน” หรือ “ไพษรพน์” มีกำเนิดเป็นยักษ์และมีบริวารเป็นยักษ์ แต่เหตุใดจึงเข้าข้างฝ่ายเทวดาทุก ๆ คราวที่เทวดารบกับยักษ์?

ข้อนี้ย่อมเป็นข้อฉงนของคนโดยมากแท้จริงในเรื่องรามเกียรติ์ก็มีแถลงประวัติของท้าวกุเวรแต่ในที่นั้นเรียกว่า “ท้าวกุเปรัน” จึงไม่มีใครสำเหนียกว่าเป็นตัวเดียวกันกับท้าวกุเวรรั้นเอง มีนามกลายเป็น “กุเปรัน” ไปนั้น ข้าพเจ้าสันนิฐานว่าคงเป็นไปโดยทางเดียวกับ “เซอร์ เจมส์ บรุก” กลายเป็น “ชีจำปลุ๊ก” เช่นที่กล่าวมาแล้วในคำอธิบายที่ ๑๔ กล่าวคือ พราหมณ์ผู้เป็นครูคงได้ออกนามว่า “กุเพร” ซึ่งตามสำเนียงสันสกฤตก็คล้าย “กุเบรัน” ผู้จดจึงจดลดลงตามที่ตนได้ยินแล้วเมื่อคัดลอกต่อกันมา หางตัว บ ยาวออกจึงกลายไปเป็นเป ส่วนประวัติในต้นรามเกียรติ์กล่าวได้ถูกต้องดีพอประมาณแต่เพราะเหตุที่ “ท้าวกุเปรัน” นับตั้งแต่ถูกทศกัณฑ์แย่งบุษบกแล้วก็มิได้กล่าวถึงอีกคนไทยโดยมากจึงมิใคร่ได้ใฝ่ใจถึง ฉะนั้นที่นี้ข้าพเจ้าขอแถลงประวัติของท้าวกุเวรโดยย่อ ตามที่มีในอุตตรกัณฑ์แห่งรามายณะและเก็บจากที่อื่นประกอบบ้างพอสมควร

ในกฤตยุค พระปุลัสตยะประชาบดี ผู้เป็นมานะสาบุตรของพระพรหมบำเพ็ญฌานอยู่ในป่าหิมพานต์ ให้รับความรำคาญเป็นอันมาก เพราะมีสตรีหลายคนชอบไปขับลำทำเพลงและจับระบำเล่นที่ข้างอาศรม พระปุลัสตยะจึงประกาศคำสาปไว้ว่า ถ้าหญิงใดเข้าไปใกล้อาศรมของเธออีกให้เกิดมีครรภ์ มีนางกษัตริย์องค์ ๑ ซึ่งเป็นบุตรีของท้าวตฤณะวินทุ  มิได้ทราบคำสาปนี้เดินเข้าไปใกล้อาศรม จึงเกิดมีครรภ์ ครั้นท้าวตฤณะวินทุทราบ ดังนั้นก็เลยยกธิดาให้แก่พระปุลัสตยะ และนางมีโอรสชื่อวัสวิศระ หรือ เรียกตามกำเนิดว่า “เปาลัสตยะ” พราหมณ์ผู้แถลงเรื่องรามเกียรติ์คงจะได้ออกนามว่า “เปาลสฺตตย” ผู้เขียนจึงจดลงตามที่ตนได้ยินว่า “ลัสเตียน” ดังปรากฏเขียนในรามเกียรติ์นั้น พระเปาลัสตยะศึกษาและบำเพ็ญตะบะเชี่ยวชาญจนได้เป็นฤๅษี และทำการสมรสกับบุตรีพระภรัทวาชประชาบดี มีโอรสองค์ ๑ ซึ่งพระพรหมประทานนามว่า “ไวศระวัน” (“เกิดแต่วิศระวัส”) และเพราะว่าร่างกายไม่งดงามจึงมีฉายาว่า “กุเวร” (ตัวขี้ริ้ว”) กุเวรได้บำเพ็ญตะบะอยู่หลายพันปี จึงได้รับพรของพระพรหมให้เป็น “ธนะบดี” (เจ้าแห่งทรัพย์ทั้งหลาย) และให้เป็นโลกบาลประจำทิศเหนือด้วย พระวิศระวัสผู้เป็นพระบิดาแนะนำให้กุเวรไปอยู่นครลงกา ซึ่งพระวิศวกรรมได้สร้างขึ้นในปางก่อน เพื่อเป็นที่อยู่ของพวกรากษส แต่พวกรากษสได้ทิ้งร้างไป เพราะเกรงเดชพระนารายณ์

อยู่มาวัน ๑ ท้าวสุมาลี เจ้ารากษสซึ่งเป็นเชื้อวงศ์รากษสที่หนีจากลงกาไปอยู่บาดาล ได้ขึ้นมาเยี่ยมมนุษย์โลก เห็นท้าวกุเวรขึ้นบุษบกอันเป็นของพระพรหมประทานนั้น ลอยไปในอากาศเพื่อไปเฝ้าพระบิดา ท้าวสุมาลีมีความอิสสา จึงคิดอุบายที่จะเอานครลงกาคืน ด้วยความคิดเช่นนี้ สุมาลีจึงได้นำตัวธิดาชื่อไกกะสีไปถวายให้เป็นชายาของพระวิศรวัส และนางได้เป็นมารดาแห่งท้าวราพณ์ (ทศกันฑ์) ๑ กุมภกรรณ ๑ นางศูรปนขา ๑ พิเภษณ์ ๑ เมื่อนางไกกะสีได้เห็นความสง่าของท้าวกุเวรในเมื่อเธอไปเฝ้าพระบิดา นางนั้นมีความแค้นและยุยงลูกของตนให้คิดแข่งท้าวกุเวร พญาราพณ์ก็ตั้งใจบำเพ็ญตะบะอยู่หลายพันปี จนพระพรหมทรงพระเมตตาแล้วพญาราพณ์ จึงขอประทานพรว่ามิให้แพ้ผู้ใดที่มีอิทธฤทธิ์ยิ่งไปกว่ามนุษย์ พอได้รับพระแล้ว พญาราพณ์ก็ไปแย่งเอานครลงกากับบุษบกได้จากท้าวกุเวร

ฝ่ายท้าวกุเวรพายักษ์บริวารหนีไปเฝ้าพระบิดา พระบิดาจึงสร้างนครให้ใหม่ เรียกนามนครว่า “อลงกา” หรือ “ประภา” บ้าง “วสุสถลี” บ้าง ตั้งอยู่ในป่าหิมพานต์ และมีสวนระโหฐานชื่อเจตระรถ อยู่บนเขามันทร อันต่อเนื่องกับเขาพระสุเมรุ อันนครและสวนของท้าวกุเวรนั้น เป็นรมณียะสถานน่าสำราญยิ่งนัก ทั้งผู้ที่อยู่ในที่นั้นก็ปราศจากโศก ความเหน็ดเหนื่อย ความวิตก ความหิว และความกลัวภัยต่าง ๆ และคงชนม์ชีพอยู่ได้ตั้งหมื่นปี ต้นไม้ในสวนเจตระรถนั้นมีใบเป็นผ้าเนื้อดี มีดอกเป็นมณีมีค่า และมีผลเป็นนารี ปราสาทที่อยู่ของท้าวกุเวรเป็นฝีมือของพระวิศวกรรมสร้างขึ้นอย่างวิจิตรและเสวกในปราสาทนี้คือกินนร และนางกินนรีเป็นนางบำเรอ พวกยักษ์ผู้เป็นบริวารได้ตามท้าวกุเวรจากนครลงกาไปอยู่ในนครอลงกาด้วยเพราะเหตุที่ท้าวกุเวรเป็นผู้ที่อยู่ในศีลธรรม มิได้มีใจพาลสันดานหยาบ จึงเข้าข้างฝ่ายเทวดาทุก ๆ คราวที่รบกับอสูร

ในภาพเขาเขียน ท้าวกุเวรเป็นคนผิวขาว มีสามขา มีฟัน ๘ ซี่ และกายประดับอาภรณ์ต่าง ๆ นอกจากนามที่กล่าวมาแล้วนั้น ท้าวกุเวรมีนามที่เรียกอีกด้วยว่า “กุตะนุ” (ตัวขี้ริ้ว” “อิจฉาวสุ” (ผู้มีทรัพย์ได้ตามจำนง) “ยักษะราช” “มยุราช” (เจ้าแห่งพวกมยุคือกินนร) “รากษะเสนทร์” (เป็นใหญ่เหนือรากษส) “รัตนะครรภ์” (เจ้าแห่งคนหมายความว่าทรัพย์มีอำนาจให้คนต้องเคารพ)

มเหสีของท้าวเกุเวรเป็นธิดาแห่งพญามุรทานพ มีนามว่า “ยักษี” หรือ “จารวี” หรือ “เกาเวรี” ก็เรียก มีโอรสชื่อ “มณีครีพ” หรือ “วรรณกวี” ๑ “นลกุพร” หรือ “มยุราช” ๑ กับมีพระธิดาชื่อ “มีนากษี”

ท้าวกุเวรมีของวิเศษอยู่ ๙ อย่าง เรียกว่า “นิธิ” แต่ไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นอะไรบ้าง และมีลักษณะและคุณวิเศษอย่างไรบ้าง นามแห่ง นิธิทั้ง ๙ นั้นคือ

(๑) กัจฉะปะ แปลตามศัพท์ต่าง ๆ ว่าเต่า
(๒) มุกุนทะ เป็นชื่อแก้วชนิด ๑
(๓) นันทะ แปลตามศัพท์ว่าความปลื้น ความดีใจ
(๔) ขรรวะ แปลตามศัพท์ว่าบกพร่อง ชำรุด (ดูไม่น่าเป็นของมีราคาเลย)
(๕) มกะระ แปลตามศัพท์ตรง ๆ ว่า มังกร หรือ เหรา
(๖) นีละ แปลตามศัพท์ว่า สีน้ำเงินแก่ หรือ พลอยนิล
(๗) ศังขะ แปลตามศัพท์ตรง ๆ ว่า หอยสังข์
(๘) ปัทมะ แปลตามศัพท์ว่าดอกบัวหลวง หรือ พลอยทับทิม
(๙) มหาปัทมะ (ไม่ได้เค้าเลย)

อีกนัยหนึ่งเรียกว่าท้าวเวสวัณ (ไวรศ์วน) โดยเหตุที่สมมุติกันว่าเป็นโอรสพระวิศรวัสมุนี ในพระเวทว่าเป็นอธิบดีในหมู่อสูร ต่อมาว่าเป็นเจ้าแห่งทรัพย์และราชาแห่งยักษ์และคุยหกะ (พวกคุยหกะเป็นอสูรจำนวก ๑ ซึ่งเป็นผู้เฝ้าทรัพย์ที่ฝังไว้ในในแผ่นดิน อย่างปู่โสมของไทยเราเป็นต้น) นัยหนึ่งว่าท้าวกุเวรเป็นโอรสพระวิศรวัสกับนางอิฑาวิฑา แต่อีกนัยหนึ่งว่าเป็นโอรสแห่งพระปุลัสตย์มุนี ผู้เป็นบิดาพระวิศรวัสอีกชั้นหนึ่ง ข้อนี้มหาภารตะอธิบายว่าท้าวกุเวรนั้นเป็นโอรสพระปุลัสต์ย และพระบิดาโกรธเพราะกุเวรมักฝักใฝ่แต่ที่พระพรหม ไม่เอาใจใส่แก่บิดา พระปุลัสต์ยจึงได้แบ่งภาคออกมาเป็นพระวิศรวัส และได้นางนิกะษาปุตรีท้าวสุมาลีรากษสเป็นชายา จึงมีโอรสอีก คือท้าวราพณาสูร กุมภกรรณ และวิภิษณ์ (พิเภษณ์) และมีธิดาคือ สูรปนขา

ในรามเกียรติ์ฉบับไทยเราเรียกท้าวกุเวรว่า “ท้าวกุเปรัน” ข้อนี้คงจะเป็นด้วยผู้จดคำให้การของพราหมณ์ผู้เล่าเรื่องนั้น ฟังพราหมณ์เรียกชื่อ “กุเพรัม” และจดลงไปว่า “กุเบรัม” (เพราะ ตัว “พ” ออกเสียงตามมคธ หรือสันสกฤตเป็นเสยง “บ” ของเรา) ต่อมาหางตัว “บ” นั้นยาวออกตัว “ม” สะกดกลายเป็นตัว “น” ไป ก็ได้การเท่านั้นส่วนกำเนิดว่าเป็นลูก “ท้าวลัสเตียนพรหม” นี่ก็จดผิดอีกคือวิศรวัสมุนีนั้น โดยเหตุที่มีกำเนิดมาจากปุลัสตย์ จึงเรียกว่า “เปาลัสตยัม” เมื่อจดตก “เปา” คงเหลืออยู่แต่ “ลัสตย์ม” ส่วนที่ในที่สุดกลายเป็น “เตียน” ไปได้นั้นเดาได้ไม่ยาก เพราะคำว่า “พยัญชนะเราก็อ่านออกสำเนียงกันอยู่ว่า “เพียนชนะ”” ดังนี้เป็นตัวอย่าง

นอกจากที่ผิดเพี้ยนอยู่ด้วยวิธีเขียนนาม ดังกล่าวมาแล้วนั้นเรื่องราวในรามเกียรติ์ฉบับไทยเป็นอันตรงกับรามายณะเดิม คือ ท้าวกุเวรกับท้าวราพณาสูร เป็นพี่น้องร่วมบิดากันแต่ต่างมารดา และทั้งรามายณะและมหาภารตะเล่าความตรงกันอยู่ต่อไปว่า เดิมท้าวกุเวรครองนครลงกาซึ่งพระวิศวกรรมได้เป็นผู้สร้างให้ แต่นางนะกะษาได้ยุยงให้ท้าวราพณาสูรผู้เป็นบุตรมีความริษยาท้าวกุเวร ท้าวราพณ์จึงแย่งเอานครลงกาจากท้าวกุเวรได้ และบุษบกที่พระพรหมประทาน ท้าวราพณ์ก็แย่งเอาเสียด้วย แต่ท้าวกุเวรนั้นพระพรหมโปรดปรานมาก จึงสร้างนครประทานใหม่ชื่อ อลกา หรือเรียกว่า ประภา บ้าง วสุธราบ้าง อยู่ที่เขาหิมาลัย มีสวนชื่อ เจตรรถ (ไจต์รรถ) อยู่ที่เขามันทรคีรี อันเป็นกิ่งแห่งเขาพระสุเมรุ อีกนัยหนึ่งว่าที่อยู่ของท้าวกุเวรอยู่ที่เขาไกรลาส และพระวิศวกรรมเป็นผู้สร้างสิมานให้ รามายณะและมหาภารตะเล่าต่อไปว่า ท้าวกุเวรได้บำเพ็ญตะบะหลายพันปี เป็นที่โปรดปรานแห่งพรหม จึงขอประทานพรให้เป็นอมฤต (ไม่มีตาย) ให้เป็นโลกบาลและเป็นเจ้าแห่งทรัพย์ ด้วยอำนาจพรนั้นจึงได้เป็นผู้อภิบาลทิศอุดร และได้เป็นเจ้าของทองและเงินแก้วต่าง ๆ ทรัพย์แผ่นดินทั่วไป กับมีทรัพย์ ๙ ประการเรียกวา นวนิธิ ซึ่งไม่สู้จะได้ความชัดนักว่าเป็นของอย่างไรและใช้ทำอะไรบ้าง

นามที่ใช้เรียกท้าวกุเวร มีอยู่เป็นอันมากที่นับว่าใช้อยู่บ่อย ๆ นอกจากกุเวร คือ กตนุ (ตัวขี้ริ้ว) ธนัท (ผู้ให้ทรัพย์) ธนบดี (เป็นใหญ่ในทรัพย์) ธเนศวร (เจ้าแห่งทรัพย์) อุจฉาวสุ (มั่งมีได้ตามใจ) ยักษราช (ขุนแห่งยักษ์) บยุราช (ขุนแห่งกินนร) รากษเสนทร (เป็นใหญ่ในหมู่รากษส) รันครรภ์ (พุงแก้ว) ราชะราช (ขุนแห่งขุน) นรราช ( ขุนแห่งคน) เปาลัสตย์ (ลูกปุลัสตย์) ไอฑาวิฑะ (ลูกอินฑาวฑา) ในส่วนที่เป็นสหาย พระอิศวร (อิศะ) นั้น ได้นามว่า อีศะสขี

รูปท้าวกุเวรที่อินเดียมักเขียนเป็นเนื้อสีขาว รูปพิการ มีขาสามขา ฟัน ๘ ซี่ ตกแต่งเครื่องอาภรณ์อย่างพิจิตร (ที่เราเขียนกันเป็นรูปยืนแย่เท้าตะบองยาวนั้น ก็เข้าใจว่าจะตั้งใจเขียนให้เป็นคนพิการขาโกง และตะบองยาวนั้นกระมังจะเป็นขาที่ ๓ แต่ของเราทำไมทาสีเป็นเขียวไปก็ไม่ทราบ)

มเหสีท้าวกุเวรเป็นยักษิณีชื่อ จารวี หรือ ฤทธีบุตรีมุราสูร มีโอรส ๒ คือ
มณีครีพ หรือ วรรณกวร ๑
นลกุพร หรือ มยุราช ๑
มีธิดา ๑ คือ
มีนากษี (ตาปลา)

 

ที่มา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า)

หมายเหตุ สำนวนทั้งหมดคัดลอกมาจากหนังสือ เทพเจ้า และสิ่งน่ารู้ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า)