เทวะตำนาน

พระแม่ศีตลา พระเทวีผู้ขจัดโรคด้วยความเย็น

พระแม่ศีตลา (शीतला / Sheetala) ทรงเป็นเทวีท้องถิ่นของอินเดียภาคเหนือ และมีการเคารพสักการะอยู่บ้างทางตอนใต้ของอินเดีย
ทรงเป็นเทวีแห่งโรคผิวหนังต่างๆ มีความเชื่อว่า ทรงเป็นผู้ก่อเกิดโรคด้วยความโกรธกริ้วของพระนาง และเป็นผู้รับรักษาโรคเอง เช่นเดียวกับความเชื่อเจ้าแม่ท้องถิ่นต่างๆของอินเดียใต้

ตำนานของพระนางมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่ง ชวราสุระ (ज्वरासुर / Jwarasura) อสูรแห่งความเจ็บไข้ได้ป่วย (ชวระ -การเจ็บไข้ได้ป่วย) ได้สร้างความเดือดร้อนไปทั่วปฐพี่ เหล่ามุนี นักสิทธิ์ทั้งหลายจึงสวดภาวนาถึง พระทุรคา (दुर्गा / Durga) หรือ กาตยายนี (कात्यायनी / Katyayani)ให้ทรงขจัดโรคภัยทั้งปวงที่กำลังระบาด จากชวราสูร
พระทุรคาจึงทรงอวตารมาในนาม ศีตลา อันหมายถึง พระนางผู้ทรงความเยือกเย็น โดยพระนามมาจากศัพท์สันสกฤตว่า ศีตละ หมายถึง ความหนาว,ความเย็น
ทรงขจัดปัดเป่าโรคร้าย และทรงกำราบชวระลงได้.

ส่วนตำนานท้องถิ่นกล่าวว่า พระนางศีตลา ทรงอุบัติขึ้นจากกองเพลิงยัชญะขององค์พรหมา (ब्रह्मा / Brahma) พระพรหมาทรงประทานเมล็ดถั่วแก่พระนาง และอำนวยพรแก่พระนางให้เป็นที่เคารพศรัทธา พระนางทรงตรัสขอมิตรสหายจากพระพรหมา พระพรหมาทรงให้ ชวระ ผู้กำเนิดจากพระเสโทของพระศิวะเป็นมิตรสหาย หรือ บริวารของพระนาง (ในรูปของ ลา เป็นพาหนะ) และทรงให้พำนักในสรวงสวรรค์ หากแต่เมื่อพระนางเข้าพบเทพองค์ใด เทพองค์นั้นก็จะต้องโรคฝีดาษ หรืออีสุกใส เหล่าทวยเทพจึงขอร้องให้พระนางทรงไปพำนักในพื้นปฐพีโลก ซึ่งพระเทวีก็ทรงยินยอมตามคำขอ
พระศีตลาเทวี กับ ชวราสุระ จึงมายังพื้นปฐพี ได้เข้าพบกับกษัตริย์นาม วิราฏ (विराट / Virat) ผู้ทรงมีความภักดีต่อพระศิวะ พระวิราฏทรงให้พระนางพำนักอยู่ในราชอาณาจักรได้ หากแต่มิทรงยินยอมยกพระนางเป็นใหญ่เหนือเทพองค์อื่น พระนางจึงทรงตรัสข่มพระวิราฏว่า หากไม่ทรงนับถือพระนางเทียบเท่าเทพองค์อื่น และพระศิวะ พระนางจะดลบันดาลให้ปวงประชาในอาณาจักรเป็นโรคผิวหนังต่างๆ พระวิราฏทรงไม่แยแสต่อพระเทวี พระศีตลาเทวีจึงดลบันดาลให้ปวงประชาเป็นโรคผิวหนังต่างๆ ด้วยฤทธิ์ของชวระ พระวิราฏจึงทรงยินยอมรับพระนางเป็นเทวีผู้ทรงอำนาจองค์หนึ่ง พระเทวีจึงขจัดโรคด้วยความเย็นจากน้ำในหม้อน้ำบริสุทธิ์.

ในด้านการบูชานั้น พระนางทรงโปรดปรานความเย็น ทรงให้ถวายไนเวทยะ(เครื่องบัดพลี)ที่ทำข้างคืนจนเย็น และ ทรงโปรดปรานความสะอาด
ในวันมงคลสำหรับการบูชาพระนางคือ ศีตลา สัปตมี (แรมเจ็ดค่ำ เดือนผาลคุน *มีนาคม-เมษายน) และ ศีตลา อัษฏมี (แรมแปดค่ำ เดือนผาลคุน)ซึ่งเป็นวันดีต่อการถือพรตถวายพระนาง ให้เหล่าสาวกอาบน้ำในยามเช้า เตรียมไนเวทยะ ที่ทำข้างคืนไว้ ทำความสะอาดบ้าน และสถานที่บูชาให้สะอาด และมิให้จุดไฟ หรือสิ่งที่กอเปลวเพลิงให้ความร้อนในการถือพรตของพระนาง เพราะทรงโปรดปรานความเย็น
กล่าวกันว่า โรคนั้นมาจากความร้อนจนเกินไป และความไม่สะอาด
หลังจากเสร็จพิธีและการบูชาภาวนาต่อพระนางที่มีมาทั้งวันแล้ว ให้พระสาวกแจกจ่ายทานประซาท (ของที่ถวายแล้ว)
แต่การบูชาก็แตกต่างกันตามท้องถิ่น.

ส่วนเทวลักษณะทรงปรากฏรูปเป็นเทวี มีสองถึงสี่พระกร ทรงถือไว้ซึ่งไม้กวาด,บุ้งกี๋ และ หม้อน้ำ ซึ่งเป็นเครื่องมือทำความสะอาด บางว่า ทรงบุ้งกี๋บนพระเศียร ทรงลาเป็นพาหนะ (บ้างว่าเป็น ชวราสุระจำแลง)
ส่วนทางอินเดียตอนใต้มีการบูชาพระนางอยู่บ้าง ทรงพระปฏิมาตามเทวลักษณะ หรือ เทวปฏิมาหลัก ของครามะเทวตาอื่น ดังมาริอัมมัน บ้างก็ผนวกเข้าเป็นองค์เดียวกับ มาริอัมมัน.

ส่วนมนตร์สวดอย่างง่าย คือ

ॐ शीतलादेव्यै नमः

OM Sheetaladevyai Namah

โอํ ศีตลาเทวฺไย นมะ (โอม ศีตะลาเทวไย นะมะห์)

อ่านออกเสียงสำเนียงอินเดีย คือ โอม ชีตะลาเดวไย นะมะฮะ

มีความหมายว่า โอม ความนอบน้อมมีแก่ พระศีตลาเทวี (พระเทวีผู้ทรงความเยือกเย็น)

-อ้างอิง
https://hindumythologysite.wordpress.com/2016/01/01/shitala/

https://www.omashram.com/news/78-the-day-of-shitala-devi

https://m.punjabkesari.in/…/story-of-mata…/594572

https://www.apnisanskriti.com/…/significance-of-maa…

เรียบเรียงนำเสนอโดย มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)