เกร็ดความรู้

ลิงคะ (लिङ्ग/Linga) หรือ ลิงกัม (லிங்கம்/Lingam)

ลิงคะ รูปเคารพของพระเจ้าในฐานะต้นกำเนิดแห่งทุกสรรพสิ่ง

ลิงคะ (लिङ्ग/Linga) หรือ ลิงกัม (லிங்கம்/Lingam) ถือ เป็นหนึ่งในรูปเคารพที่เก่าแก่ที่สุดของพระศิวะ เป็นที่เคารพบูชาเป็นอย่างยิ่งในทุกสาขาของไศวะนิกาย
ลิงคะ หมายถึง เพศ หรือ เครื่องเพศ โดยมีความหมายเจาะจงไปที่เครื่องเพศชาย ทำไมพระเป็นเจ้าถึงได้รับการบูชาในรูปเครื่องเพศ?
นั้นเพราะ เครื่องเพศนั้นเป็นรูปแบบแห่งการกำเนิดขึ้นของทุกสรรพชีวิต สรรพชีวิตชั้นสูงนั้นล้วนต้องใช้เครื่องเพศเพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ จากคติความเชื่อนี้ ยังนำมาซึ่งความเชื่อเรื่องสัญลักษณ์ หรือ เครื่องรางแทนความอุดมสมบูรณ์ คติเช่นนี้มักพบในลัทธิ หรือ ศาสนาโบราณต่างๆ

ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น ลิงคะ คือ รูปแบบแห่งการกำเนิด ด้วยลิงคะนั้นเป็นผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต และเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ เพราะการสืบเผ่าพันธุ์ หรือ การสืบวงศ์วาน คือ หนึ่งในความสมบูรณ์อย่างหนึ่ง ต่อมาลิงคะถือว่า เป็นรูปเคารพ หรือ องค์แทนของพระศิวะ ในฐานะบิดาแห่งทุกสรรพชีวิต โดยมีตำนานเกี่ยวโยงในคัมภีร์ศิวปุราณะ ว่า พระศิวะนั้นทรงสรรค์สร้างซึ่งทุกสรรพสิ่ง รวมถึงพระพรหมา และพระวิษณุ อีกทั้งทรงปรากฏรูปเป็นแท่งไฟ(ชโยติลิงค์)แก่พระพรหมมา แลพระวิษณุให้ประจักษ์เห็น พระพรหมา กับ พระนารายณ์ต่างพยายามหาที่สิ้นสุดของแท่งไฟนี้ แต่ก็ไม่พบที่สิ้นสุด หรือ แหล่งที่มาของแท่งไฟนี้ จึงยอมศิโรราบต่อพระศิวะในรูปของชโยติ ลิงค์นั้น ลิงคะจึงถือเป็นรูปแรกของพระศิวะที่ทรงปรากฏขึ้น และมีอีกหลายส่วนในคัมภีร์ปุราณะที่กล่าวถึงพระศิวะ กับ ลิงคะ

ลิงคะที่สมบูรณ์นั้นมีด้วยกันสี่ส่วน คือ

  1. รุทระภาค (रुद्रभाग/Rudra Bhaga) คือ ส่วนของลิงค์ที่ประดิษฐานอยู่ด้านบนสุด แทนองค์พระรุทระ ซึ่งเป็นรูปแห่งพระสทาศิวะในฐานะ เทพแห่งการทำลายล้าง ผู้ควบคุมตโมคุณะ (ตมัส)
  2. โยนิปีฐะ (योनिपीठ/Yoni Peetha) คือ ส่วนของฐานโยนิ สัญลักษณ์เครื่องเพศหญิง หรือ ช่องคลอด มีนัยความหมาย เช่นเดียวกันกับ ลิงคะ เป็นองค์แทนของ พระอาทิปราศักติ (आदि पराशक्ति/Aadi Parashakti) หรือ ประกฤติ (प्रकृति/Prakriti) ธรรมชาติในฐานะมารดาผู้ให้กำเนิดทุกสรรพชีวิต
  3. วิษณุภาค (विष्णुभाग/Vishnu Bhaga) คือ ส่วนของฐานต่อจากแท่นโยนิ แทนองค์พระวิษณุ ซึ่งเป็นรูปแห่งพระสทาศิวะในฐานะ เทพผู้ปกปักษ์รักษา เทพผู้ควบคุมรโชคุณะ (รชัส)
  4. พรหมภาค (ब्रह्मभाग/Brahma Bhaga) คือ ส่วนของฐานใต้สุด แทนองค์พระพรหมา ซึ่งเป็นรูปแห่งพระสทาศิวะในฐานะ เทพผู้สรรค์สร้าง เทพผู้ควบคุมสัตตะวะคุณ

ด้วยเหตุนี้การบูชาลิงคะ จึงเท่ากับการบูชาซึ่งพระปรศิวะ หรือ สทาศิวะ และ พระอาทิปราศักติ อีกทั้งตริมูรติ และ ตริศักติ หรือ ตริเทวี อันเป็นรูปคุณทั้งสามของทั้งสอง

ลิงคะนั้นสามารถได้จากวัสตุต่างๆจากธรรมชาติ เช่น

ไศลชะ ลิงค์ คือ ลิงคะอันมาจากหิน

รัตนชะ ลิงค์ คือ ลิงคะอันมาจากอัญมณี เช่น หินควอตซ์ หรือ หินอเวนเจอรีน เป็นต้น

โลหชะ ลิงค์ คือ ลิงคะอันมาจากโลหะ เช่น ทอง,ทองแดง,ทองเหลือง และปรอท

ทารุชะ ลิงค์ คือ ลิงคะอันแกะมาจากไม้

ในส่วนของการบูชาพระศังกรในรูปของลิงคะนั้น บูชาเฉกเช่นรูปเคารพเทพอื่นๆ คือ ถวายการอุปจาระบูชา และ อรรจนา (ถวายบุปผชาติ หรือ ผงวิภูติ พร้อมสวดพระนาม 16/108/1000 พระนาม แก่ลิงคะ) ในการทำพิธีอภิเษกสรงสนานนั้นมักกระทำในฤกษ์อันเป็นมงคลต่อการบูชาพระศิวะ เช่น โสมวาร (วันจันทร์),ประโทษะ (ช่วงเย็นถึงช่วงค่ำ ของตระโยทศี หรือ 13ค่ำ) และ ศิวราตรี (ทุกกฤษณปักษ์ จตุรทศี หรือ แรม14ค่ำ ของทุกเดือน) ด้วยน้ำนมโค,นมส้ม (โยเกิร์ต),ฆี (เนยจากนมโค),น้ำผึ้ง,น้ำอ้อย หรือ น้ำตาล,ผลไม้ห้าอย่างบด,น้ำผสมผงจันทน์,ผงวิภูติ,น้ำผสมผงขมิ้น,น้ำกุหลาบ และ น้ำบริสุทธิ์ อีกทั้งการถวายบทสโตตระต่างๆ และ การสวดชปะมนตระ (การสวดนับประคำ) แก่ พระศิวะ หรือ ลิงคะนั้น.

มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)