เกร็ดความรู้ เทวะตำนาน

ทุรคาษฏมี

ทุรคาษฏมี (दुर्गाष्टमी/Durgashtami) ถือเป็นอีกฤกษ์มงคลหนึ่งในการบูชาพระเทวี โดย ทุรคาษฏมี (ทุรคา+อัษฏมี) มีอยู่ในทุกเดือน โดยถือ ศุกลปักษ์ อัษฏมี (शुक्लपक्ष अष्टमी/Shuklapaksha Ashtami) หรือ ขึ้น8ค่ำ ของทุกเดือนตามปฏิทินจันทรคติฮินดู เป็นวัน ทุรคาษฏมี อันเป็นมงคลฤกษ์สำหรับการสักการะบูชาพระศรีอัมพิกา (พระศักติและรูปปรากฏต่างๆของพระนาง) ในดิถีนี้ยังถือเป็นดิถีกำเนิดปรากฏองค์ของ พระศรีภัทรกาลี (श्री भद्रकाली/Shree Bhadrakali) เมื่อครั้งทำลายพิธียัชญะของพระทักษะประชาบดี (दक्ष प्रजापति/Daksha Prajapati) พร้อมด้วยเหล่าโยคินีอีกด้วย
ยิ่งเฉพาะ ทุรคาษฏมี ในอัศวิน มาส (अश्विन मास/Ashwin Masa) หรือ มหาทุรคาษฏมี (महादुर्गाष्टमी/Maha Durgashtami) ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง โดยเป็นอันศักดิ์สิทธิ์ในช่วงศารทนวราตรี (शारद नवरात्री/Sharada Navaratri) โดยเริ่มเตรียมการตั้งแต่ ศุกลปักษ์ ษัษฐี อัศวิน มาส (ขึ้นหกค่ำ เดือนเจ็ด ตามปฏิทินจันทรคติฮินดู) จนถึง ศุกลปักษ์ อัษฏมี อันเป็น มหาทุรคาษฏมี.

ในวันทุรคาษฏมีนี้ ผู้ศรัทธาหลายท่านมักกระทำซึ่ง ทุรคาษฏมี วรต (दुर्गाष्टमी व्रत/Durgashtami Vrat) หรือ การถือพรตในวันทุรคาษฏมี โดยผู้ถือพรต จะอดอาหารตลอดทั้งวัน ดืมเพียงน้ำและนม (อนุโลมให้ทานผลไม้ได้) ตั้งแต่รุ่งอรุณจนพระอาทิตย์อัสดง
ในรุ่งอรุณควรชำระร่างกาย เตรียมเครื่องสักการะ จัดเตรียมสถานที่บูชาต่อพระศรีชคทัมพา ให้พร้อม และกระทำการบูชารับใช้ พร้อมทั้งถวายการ อรรจนาแก่พระเทวี โดยเฉพาะ กุงกุมารจนา (การถวายผงกุงกุมัมลงเบื้องพระบาทรูปเครพ พร้อมสวดพระนาม) ถือว่า เป็นมงคลยิ่งต่อการทำพิธี อรรจนา แก่พระเทวีทั้งปวง (ถวายเสร็จแล้วสามารถนำมาเก็บมาเจิมเป็นสิริมงคลได้) โดยควรกระทำการบูชานี้ในเช้า และเย็น หลังจากการบํชาในช่วงเย็นเมื่พระอาทิตย์ลับไปแล้ว สามารถลาไนเวทยะ (เครื่องบัดพลี) มารับประทานได้ ในการถือพรตควรละเว้นจากอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ และสิ่งเสพติด เหล้าสุราใดๆ และงดเว้นจากกิจกรรมทางเพศ ไม่นอนในที่สูง ไม่ตกแต่งและใช้สิ่งของอันหรูหราจนเกินไป
บางแห่งมีการเชิญพราหมณ์มาประกอบพิธีในช่วงเช้า เช่น กลศ บูชา และ พิธีโฮมัมด้วย อีกทั้งบางที่ก็มีการจัดพิธี กันยา บูชา (การบูชากุมารีเป็นองค์แทนพระเทวี) และ สุหาสินี บูชา (การบูชาหญิงที่แต่งงานแล้ว และมิได้เป็นหม้ายยังคงอยู่กินกับสามี เป็นองค์แทนพระเทวีเพื่ออำนวยพรด้านชีวิตคู่แก่แม่บ้าน หรือ สะไภ้ของบ้านเจ้าพิธี)อีกด้วย.

เรียบเรียงนำเสนอโดย มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)