พระราชพิธีตรียัมปวาย

พระราชพิธีตรียัมปวาย

พระราชพิธีตรีปวาย คือชื่อพิธีพราหมณ์ ทำเพื่อรับพระนารายณ์ เรียกกันเป็นสามัญว่าพิธีแห่พระนารายณ์ ทำกันในวันแรม ๑ ค่ำ ถึงแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ คำว่าตรีปวายนี้นัยว่าเป็นคำเลียนมาจากภาษาทมิฬว่า “ติรุปปาไวย”

พราหมณ์ที่นับถือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์นั้น ย่อมแตกต่างตามนิกายความเชื่อของตน บางพวกนับถือพระอิศวรมากกว่าพระนารายณ์ บางพวกนับถือพระนารายณ์มากกว่าพระอิศวร บางพวกก็นับถือพระพรหมธาดา แต่พวกพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กระทำพระราชพิธีตรีปวายนี้เป็นพราหมณ์จัดอยู่ในพวกพราหมณ์โหรดาจารย์ เป็นพราหมณ์พวกที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ อาทิ การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ยกเว้นการพระราชพิธีเกี่ยวกับช้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง เรียกว่าพราหมณ์พฤฒิบาศ

พวกพราหมณ์โหรดาจารย์นี้นับถือพระอิศวรเป็นใหญ่กว่าพระนารายณ์ เพราะถือว่าพระนารายณ์นั้นเป็นพนักงานผู้รับใช้พระอิศวรให้อวตารลงมาปราบปรามสั่งสอนมนุษย์ เพราะฉะนั้นพระนารายณ์จึงเป็นผู้ทำลาย ย่อมไม่ประสิทธิพรอวยสวัสดิมงคลแก่ผู้ใด

ด้วยเหตุนี้ แม้แต่เครื่องบูชาในเวลาพระราชพิธีตรีปวายนี้ ก็ห้ามไม่ให้นำมาถวายด้วยกลัวพิษ และถือกันว่าถ้าวันแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ ซึ่งเป็นวันส่งพระนารายณ์นั้นต้องรับพิษ มักจะเกิดการตีรันฟันแทงกัน พราหมณ์ทั้งปวงต้องระวังกันอย่างกวดขัน

การที่มีพระราชพิธีแห่พระนารายณ์นี้เนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์ก็ถือว่าพระอิศวรเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง เมื่อพระอิศวรเสด็จกลับแล้ว พระนารายณ์ก็เสด็จลงในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ และเสด็จกลับในวันแรม ๕ ค่ำ เดือนเดียวกัน

การพระราชพิธตรีปวายแห่งพระนารายณ์นี้ กระทำกันอย่างเงียบๆ เพราะพระองค์ไม่โปรดการสมาคมที่เป็นการอึกทึกคึกโครม พิธีรับนารายณ์กระทำกันในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ เวลาเช้าตรู่ พราหมณ์ประชุมกันที่สถานพระนารายณ์ พระมหาราชครูอ่านเวทเปิดประตู เวลาเย็นประชุมกันที่สถานพระนารายณ์อีกครั้งหนึ่ง แล้วสวดบูชาตามพิธีของพราหมณ์ เมื่อเสร็จการทำพิธีที่สถานพระนารายณ์แล้ว มาทำที่สถานพระมหาวิฆเนศวร พิธีที่ทำทั้งสองสถานนี้ต้องรีบทำให้เสร็จในเวลาเย็น เพราะจะต้องเตรียมการที่จะทำในสถานพระอิศวรต่อไป

เนื่องด้วยต้องทำพิธีทั้งรับเสด็จพระนารายณ์และส่งพระอิศวร ครั้นเวลาค่ำพอเดือนขึ้น มีการเดินกระบวนแห่ซึ่งเรียกกันตามสามัญว่า แห่พระนเรศวร์ หรือ ที่พูดกันตามสามัญว่า “พระนเรศวร์เดือนหงาย พระนารายณ์เดือนมืด” เพราะพระอิศวรเวลาจะเสด็จกลับสู่เทวโลกโปรดแสงสว่าง จึงให้แห่ในเวลาเดือนขึ้น

เป็นธรรมเนียมโบราณ ที่พระเจ้าแผ่นดินเคยเสด็จไปส่งพระเป็นเจ้าถึงเทวสถาน…

แต่พระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชวงศ์ปัจจุบันนี้ไม่ได้มีการเสด็จพระราชดำเนินส่งพระเป็นเจ้าเช่นแต่ก่อนเลย

พึ่งมามีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(พระราชพิธีสิบสองเดือน : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ขั้นตอนพระราชพิธีตรียัมปวายและตรีปวาย

พระราชพิธีสำคัญอีกพิธีหนึ่งที่พราหมณ์ประจำเทวสถานได้ประกอบพิธีขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กรุงรัตนโกสินทร์ คือ การพระราชพิธีตรียัมปวายและตรีปวาย ซึ่งจัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ในเดือนยี่ ตามลัทธิของพราหมณ์ถือว่าพระอิศวรจะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง ครั้งหนึ่งกำหนด ๑๐ วัน วันขึ้น ๗ ค่ำ เดือนยี่ เป็นวันเสด็จลง แรม ๑ ค่ำ เป็นวันเสด็จกลับ และในระหว่างที่เสด็จอยู่บนโลกนี้พราหมณ์จึงทำพิธีต้อนรับเรียกว่าพิธีตรียัมปวาย การรับรองพระอิศวรนั้นก็จัดการรับรองให้เป็ฯการสนุกสนานครึกครื้น

ขึ้น ๖ ค่ำ เดือนยี่ เวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. คณะพราหมณ์มาประชุมกันที่สถานพระอิศวร พราหมณ์ที่จะมาร่วมประกอบพิธีกรรมนี้เรียกว่า “พราหมณ์โหรดาจารย์” ซี่งเป็นพราหมณ์ที่มีหน้าที่ประกอบพระราชพิธีทั่วไปในสยาม ในช่วงเริ่มพิธีถ้ามีพราหมณ์ที่จะบวชใหม่ก็จะทำการบวชในกาลนี้ ซึ่งการบวชนี้ถือกันว่าเป็นการเกิดครั้งที่สอง หรือเป็นทวิชาติ

คณะพราหมณ์จะชำระกายผูกพรต รับประทานอาหารแต่ถั่วงา ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ และประพฤติพรหมจรรย์นับแต่วันขึ้น ๗ ค่ำ จนถึงวันขึ้น ๙ ค่ำ จึงอนุญาตให้ออกพรตได้ เว้นแต่พระมหาราชครูที่จะต้องทำการผูกพรตไปตลอดทั้ง ๑๕ วัน และต้องนอนประจำอยู่ในเทวสถานตลอดช่วงพิธีด้วย

ขึ้น ๗ ค่ำ เดือนยี่ ช่วงเช้า รุ่งเช้าวันขึ้น ๗ ค่ำ พระมหาราชครูจะอ่านพระเวทเปิดประตูไกรลาสศิวาลัยที่สถานพระอิศวร เพื่อเชิญพระอิศวรเสด็จมายังโลกมนุษย์ จากนั้น คณะพราหมณ์จะนำข้าวเปียก (ข้าวสารที่กวนกับกะทิ ใส่นม) ที่เชื่อว่าเป็น “ข้าวทิพย์” ถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า

ปัจจุบันไม่มีการโล้ชิงช้า ข้าวเปียกจึงเลื่อนมาถวายทุกเช้า ตั้งแต่วันขึ้น ๘ ค่ำ จนถึงวันแรม ๕ ค่ำแทน

ขึ้น ๗ ค่ำ เดือนยี่ ช่วงค่ำ เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. พราหมณ์กระทำพระราชพิธีที่เทวสถาน สำหรับพระนคร เริ่มทำที่สถานพระอิศวร โดยพระราชครูทำพิธีอาตมวิสุทธิ์ คือการชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ด้วยพระเวทก่อนบูชาครู

การทำอาตมวิสุทธิ์ เริ่มโดยพระมหาราชครูจุดธูปเทียนบูชาเทวรูป อ่านพระเวทเปิดประตูไกรลาส แกว่งรูปเป่าสังข์บูชาจนจบ แล้วกลับมานั่งที่อาสนะ เหล่าพราหมณ์เข้ามากราบและให้พระมหาราชครประพรมน้ำเทพมนตร์ตามลำดับพรต แล้วเข้าไปเข้าแถวตอนเรียงหนึ่งซ้อนกัน ๔ คน ยกพานข้าวตอกแล้วสวดมุไรยสถานพระอิศวรคนละบท วรรคต้นคนแรกสวดเรียกว่ามหาเวชตึก คนที่สองสวดวรรคที่สองเรียกว่าโกรายะตึก คนที่สามสวดวรรคที่สามเรียกว่าสาราวะตึก วรรคที่สี่คนสุดท้ายสวดเรียกว่าเวชตึก เมื่อสวดจบทั้ง ๔ คน เรียกว่า ลอริบาวาย พร้อมเป่าสังข์คลอไปด้วย ว่าสามจบหยุดแล้วสวดซ้ำอย่างเดิม ถือเป็นลอริบาวายเป่าสังข์ ทำอย่างนี้จนครบ ๑๑ ครั้งเรียกว่าหนึ่งกัณฑ์เป็นอันจบ ทั้งนี้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ว่าต้องสวดจนครบ ๑๓ กัณฑ์จึงนับเป็นหนึ่งกัณฑ์ คงเป็นการรวบรัดพิธีให้กระชับขึ้น

อ่านเวทถวายรายชื่อพระเป็นเจ้าทั้งปวงจบแล้ว พราหมณ์ทั้ง ๓ คนยกอุลุบ (อุลุบ คือ พานใส่ข้าวนอก ผลไม้ แตงกวา ส้ม มันต้ม เผือกต้ม) แล้วว่าเวทถวาย เมื่อเข้าถวายในท้องพระโรงอีกคนละครั้ง เป็นการถวายข้าวตอก จากนั้นเป็นเสร็จพิธี แล้วเอาข้าวตอกนั้นไปแจกคนที่ไปประชุมฟังอยู่ในที่นั้นให้ไปกินเพื่อเป็นสวัสดิมงคล เป็นการเสร็จในสถานพระอิศวร แล้วเลิกไปทำสถานพระมหาวิฆเนศวรต่อไปอีก การทำพิธีที่สถานพระมหาวิฆเนศวรก็เหมือนกับที่สถานใหญ่ การสวดเหมือนกันกับสถานพระอิศวร แต่สวดน้อยลงไปเป็น ๙ จบ จึงจะลงกัณฑ์ จากนั้นพระมหาราชครูลุกจากอาสนาะไปพรมน้ำเทพมนตร์สิ่งของบนโต๊ะข้าวตอกจนทั่ว แกว่งคันประทีป สั่นกระดึง ถวายดอกไม้ แล้วพราหมณ์ ๓ คน ถวายอุลุบเหมือนสถานพระอิศวรเป็นอันเสร็จพิธี ๗ ค่ำ ทำอย่างนี้ตลอด ๑๐ วัน แต่ไม่มีการเปิดประตูศิลาวัยไกรลาศ

ขึ้น ๘ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ช่วงเช้า วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือนยี่เป็นวันเว้นโล้ชิงช้า แต่มีพิธีพราหมณ์ คือเวลาใกล้รุ่ง พระมหาราชครูเชิญกระดาน ๓ แผ่น สลักเป็นรูปพระอาทิตย์กับพระจันทร์แผ่นหนึ่ง เป็นรูปพระแม่ธรณีแผ่นหนึ่ง เป็นรูปพระแม่คงคาแผ่นหนึ่ง สมมติว่า พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระแม่ธรณี พระแม่คงคา มาประชุมเฝ้าพระอิศวร แล้วจึงเชิญออกมาที่หลุมขุดไว้ตรงหน้าชมรม ที่ก้นหลุมปูอิฐวางขลัง (หญ้าคา) แล้วมีราวสำหรับพิงกระดาน ก่อนจะเอาลงหลุมเอาแผ่นกระดานนั้นเวียนทักษิณาวรรตสามรอบ เอากระดานวางลงที่ปากหลุมพิงกับราว พระมหาราชครูเป็นผู้ทำพิธีเชิญลงหลุม

หน้ากระดานมีตะลุ้มไม้ใส่ข้าวตอก เผือก มันต้ม กล้วย ส้ม น้ำอ้อยงบ ข้ามต้มน้ำวุ้น แตงกวา หมากพลู ข้างพานมีมะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน อ้อยทั้งลำ ๒ ลำ พระมหาราชครูรดน้ำกลศ สังข์ ถวายใบมะตูม แกว่งคันประทีป สั่นกระดึง บูชาถวายน้ำกลศ สังข์ จุณเจิม วางขลัง แล้วยกกระดานลงหลุม จากนั้นดาดเพดานกั้นม่านรายรอบล้อมด้วยราชวัตร สี่มุมราชวัตรผูกด้วยกระดานพระอาทิตย์ พระจันทร์นั้นลงหลุมที่หนึ่งทางทิศตะวันออก พระแม่ธรณีลงหลุมกลาง พระแม่คงคาลงหลุมสุดท้ายทางทิศตะวันตก หน้ากระดานหันมาทางทิศใต้ตรงกับชมรมที่พระยายืนชิงช้านั่งนี้ กว่าจะเสร็จพิธีเวลาใกล้รุ่ง

วันขึ้น ๙ ค่ำ เป็นวันแห่พระยายืนชิงช้าเวลาเย็น วันขึ้น ๑๐ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำเดือนยี่ กระทำพิธีเหมือนคืนวันขึ้น ๗ ค่ำ

ในวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เวลาย่ำรุ่ง เชิญกระดานขึ้นจากหลุมไปเก็บในเทวสถาน สำหรับพระนครตามเดิม

แรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ เป็นพิธีตรียัมปวายและตรีปวายต่อกัน เวลาเช้าตรู่ พราหมณ์ประชุมกันที่สถานพระนารายณ์ พระมหาราชครูอ่านเวทเปิดประตูศิวาลัยไกรลาสเหมือนอย่างเช่นเปิดถวายพระอิศวร สวดบูชาอย่างเช่นที่ทำในสองสถานก่อนนั้น เป็นแต่เปลี่ยนชื่อเป็นพระนารายญ์ คงสวดมหาเวชตึก ต่อไปก็สวดโกรายะตึก สาระวะตึก เวชตึก แล้วสวดขัตตุโนลมพาวาย พร้อมกัน ๔ คน เป่าสังข์ สวด ๕ จบ เป็นกัณฑ์หนึ่งตามที่บังคับไว้ แต่เวลาสวดพราหมณ์คู่สวดยืนเรียงแถวเป็นหน้ากระดานเป็นตับเสมอหน้ากันทั้ง ๔ ท่าน จากนั้นก็ไปทำเหมือนที่กล่าวมาแล้ว เป็นการเสร็จที่สถานพระนารายณ์

จากนั้นกลับมาทำพิธีที่สถานพระอิศวร อัญเชิญเทวรูปหลวงจากโต๊ะหมู่มาวางไว้บนโต๊ะเบญจคัพภ์ ตรงกลางเทวสถานตรงที่ตั้งหงส์ตั้งศิลาบดเรียกว่าบัพพโต พระมหาราชครูกระทำอาตมวิสุทธิ์ พร้อมคู่สวดยืนเข้าแถวเรียงหนึ่งหน้าโต๊ะข้าวตอกสวดมุไรย พระมหาราชครูประพรมน้ำเทพมนตร์ที่โต๊ะข้าวตอกและที่สิ่งของก่อนที่จะถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แกว่งคันประทีป สั่นกระดึง ถวายกระทงดอกไม้ แล้วพราหมณ์คู่สวดยกอุลุบไปทำต่อที่สถานพระมหาวิฆเนศวร แล้วกลับมาทำที่สถานพระอิศวร พระมหาราชครูอ่านเวทบูชาทิศทั้ง ๘ บูชาเบญจคัพภ์ สังข์ กลศ และบูชากุมภ์ ถวายข้าวเวท เชิญพระอิศวร พระอุมา พระมหาวิฆเนศวร สรงน้ำด้วยกลศ พราหมณ์เป่าสังข์แล้วเชิญขึ้นภัทรบิฐ พระมหาราชครูไปที่หน้าหงส์รดน้ำด้วยกลศ สังข์ จุณเจิม อ่านเวทบูชา แล้วเชิญเทวรูปตั้งบนพานทองขาว เดินประทักษิณไปรอบที่ตั้งหงส์ เมื่อถึงศิลาบด (บัพพโต) ยกเท้าขวาก้าวเหยียบขึ้นบนศิลา เดินเวียนจนครบสามครั้ง เชิญเทวรูปขึ้นบนบุษบกหงส์ พราหมณ์เป่าแตรสังข์ จนเทวรูปขึ้นหงส์ พระมหาราชครูกับมาอ่านเวทบูชาหงส์จนจบ พราหมณ์ ๒ คน อ่านพระเวทช้าหงส์ พราหมณ์อีกคนหนี่งไกวเปลหงส์เป็นจังหวะ พระมหาราชครูมานั่งที่หน้าหงส์อ่านเวทบูชาหงส์ บูชาพระสุเมรุ แล้อ่านเวทส่งพระอุมา อ่านเวทปิดทวารศิวาลัย จึงเป็นการเสร็จการในค่ำวันนั้น

วันแรม ๒ ค่ำ ถึงวันแรม ๕ ค่ำเดือนยี่ รุ่งขึ้นวันแรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ นำของพิธีเข้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันแรม ๓ ค่ำ เดือนยี่ มีพิธีปกติคือในตอนค่ำทำพิธีที่สถานพระนารายณ์ วันแรม ๔ ค่ำ เดือนยี่ พราหมณ์นำเครื่องพิธีที่ถวายแด่เทพเจ้าแล้วในวันแรม ๓ ค่ำ ไปให้ตามบ้านของเจ้านาย ขุนนางต่างๆ เวลาค่ำทำพิธีที่สถานพระนารายณ์ตามปกติ วันแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ พระราชครูนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพุทธมนต์เย็นที่สถานพระอิศวร เด็กที่จะมาตัดจุกเข้ารับมงคลแล้วมานั่งฟังพระเจริญพุทธมนต์จนจบ พระสงฆ์กลับวัด ในพิธีตอนค่ำทำพิธีที่สานพระนารายณ์ตามปกติ

วันแรม ๖ ค่ำ เดือนยี่ ตอนเช้ามืดพระสงฆ์เข้ามาพร้อมกันที่เทวสถาน เด็กที่จะตัดจุกนั่งพร้อมกันเพื่อรับศีลจากพระสงฆ์ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา พอได้ฤกษ์พราหมณ์ลั่นฆ้องชัย พระสงฆ์สวดชยันโต พราหมณ์ทำการตัดจุก เสร็จแล้วพราหมณ์ถวายภัตตาหารบิณฑบาตแด่พระสงฆ์ ฉันเสร็จแล้วถวายเครื่องไทยทาน พระมหาราชครูกรวดน้ำแล้วส่งพระสงฆ์กลับ จากนั้นพราหมณ์ทำพิธีสมโภชเวียนเทียน เจิมเทวรูปหลวงและเทวรูปประจำโบสถ์แล้วจึงเจิมเด็ก แจกเหรียญพระราชทานแก่เด็ก พราหมณ์ลาพรต แล้วร่วมกันรับประทานอาหาร จากนั้นเชิญเทวรูปหลวงกลับ เป็นเสร็จพิธี

ที่มา: เทวสถาน มรดกวัฒนธรรมบนแผ่นดินไทย หนังสือที่ระลึกโครงการบูรณปฏิสังขรณ์เทวสถาน สำหรับพระนคร. (๒๕๕๖). กรุงเทพมหานคร: สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์