เคาระ(गौर/Gaura)มิได้แปลว่า ขาว (White) เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึง สีทอง (Golden) หรือ เหลืองสว่าง แบบ หมิงฮวง (明黃/míng huáng)(Bright yellow) ของจีนได้อีกด้วย
นอกจากนี้เคาระ ยังหมายถึง สีเหลืองขมิ้น (Turmeric yellow colour) หรือ สีเหลืองหญ้าฝรั่น (Saffron yellow colour)
ฉะนั้น เคารี (गौरी/Gauri) อาจมิได้หมายถึง นางผู้มีฉวีวรรณขาวเพียงอย่างเดียว ยังคงหมายถึง นางผู้มีฉวีวรรณดังทอง หรือ เหลืองอาร่ามจากการชโลมผงขมิ้น ได้อีกด้วย ซึ่งนามเคารีนี้เป็นนาม หรือฉายาหนึ่งของพระปารวตี ซึ่งสอดคล้องกับพระนาม อุมา (उमा/Uma) ที่แปลว่า ส่องสว่าง (Light/Bright) หรือ เหลืองขมิ้น (Turmeric yellow) อีกด้วย
เข่นเดียวกับนาม เคาระ (गौर/Gaura) หรือ เคารางคะ (गौराङ्ग/Gauranga) ของพระวิศวัมภร มิศระ (विश्वम्भर मिश्र/Vishvambhar Mishra) หรือที่ได้รู้จักกันต่อมาในนาม ศรี ไจตันยะ มหาประภู (श्री चैतन्य महाप्रभू/Shri Chaitanya Mahaprabhu) องค์ปรมาจารย์แห่ง เคาฑียะ ไวษณพ (गौडिय वैष्णव/Gaudiya Vaishnava) ที่แพร่หลายในภูมิภาคเบงกอล และอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยเหตุที่ท่านมีฉวีวรรณส่องสว่าง เปล่งปลั่งดังทอง จึงได้ฉายาว่า เคารางคะ (गौराङ्ग/Gauranga) ซึ่งมาจากคำสันสกฤต สองคำ คือ เคาระ (गौर/Gaura) อันหมายถึง ทอง และ อังคะ (अङ्ग/Anga) ซึ่งหมายถึง ร่างกาย เมื่อนำมาสนธิกันจึงได้รูป เคารางคะ ที่แปลว่า ผู้มีร่างกายดังทอง
เพราะฉะนั้น พระเคารี อาจมิจำเป็นต้องมีฉวีวรรณ ขาวดั่งน้ำนม ขาวส่องสว่าง ขาวเผือก จนแลดูเหมือนชาวยุโรปไปเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึง ผู้ขาวสว่างดังทองได้อีกด้วย บางทีพระนางอาจมีฉวีวรรณเหลืองจากการชโลมผิวด้วยขมิ้น อันเป็นค่านิยม หรือ วัฒนธรรมของสตรีผู้มีฐานะในสมัยก่อน ที่นิยมทาตัวด้วยขมิ้นให้มีผิวเหลืองสว่างแลดูเหมือนทอง เช่นเดียวกับที่เคยกล่าวถึงเรื่อง พระปารวตีทางอินเดียใต้ทำไถึงมีฉวีวรรณเขียว ก็เนื่องด้วยเหตุปัจจัยเดียวกัน (แต่คนทางอินเดียใต้มีผิวคล้ำ ทาผิวด้วยขมิ้นจึงกลายเป็นเขียวไป แต่ก็ถูกเปรียบเทียบกับ มรกต) และมิจำเป็นต้องฉลององค์ด้วยภูษาสีขาวอย่าง พรหมจาริณี หรือ ภาษาชาวบ้านว่า แม่ชีเสมอไป หากยึดตามบทโศลกต่างๆแล้วนั้น มักพรรณนาถึงพระเทวีไว้ว่า ทรงฉลององค์ด้วย ภูษาสีแดง หรือ สีเหลือง
เรียบเรียงนำเสนอโดย มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)