คำว่าบัณฑิต มาจากคำสันสกฤต ว่า ปณฺฑิต (ปัณ ฑิ ตะ) แปลว่า ผู้รู้
ชาวอินเดีย ใช้คำนี้ยกย่อง ผู้รู้ รวมถึงบรรดาพราหมณ์ที่ประกอบพิธีกรรมในวัดด้วย
คือในอินเดีย ถ้าบอกว่า พราหมณ์ เขาจะหมายถึง “ผู้ที่เกิดในวรรณะพราหมณ์” ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ที่เกิดในวรรณพราหมณ์ ดังนั้นคำนี้จึงคล้ายๆเป็นคำบอก สถานภาพของการเกิดทางสังคมมากกว่าตำแหน่งของตัว
และผู้ที่เกิดในวรรณะพราหมณ์ในอินเดีย อาจประกอบอาชีพอื่นๆที่ไม่ใช่ผู้ประกอบพิธีกรรมก็ได้ เช่น สอนหนังสือ ทำงานราชการ หรือ ค้าขาย ฯลฯ
เมื่อเกิดในวรรณะพราหมณ์แล้ว บางคนจึงเข้าเรียนในระบบอาศรม หรือคุรุกุล เพื่อเรียนพระเวท และกัลปะพิธีกรรมต่างๆ เมื่อเรียนจบแล้ว คนก็ยกย่องว่าเป็นผู้รู้ มีความรู้ในพระเวท คัมภีร์สำคัญ และกัลปะพิธีกรรมต่างๆ
ดังนั้นชาวอินเดีย จึงยกย่องเรียกพราหมณ์ที่ประกอบพิธี ซึ่งหมายความว่าได้ผ่านการเล่าเรียนมาแล้ว ว่าบัณฑิต หมายถึงผู้รู้
แต่คำๆนี้อาจหมายถึง ผู้รู้อื่นๆที่ไม่ใช่ผู้ประกอบพิธีกรรมในวัดก็ได้ เป้นศาสนิกชนฮินดูแต่ได้รับการยกย่องจากสังคมว่ามีความรู้ความสามารถ เช่น บัณฑิตยาวหลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีอินเดียที่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์อินเดีย บัณฑิตรวิ ศังกร(ชังการ์) นักดนตรีคลาสสิคอินเดียที่แตกฉาน ฯลฯ
คือในวัฒนธรรมอินเดีย การเรียกบุคคลโดยความยกย่องนั้นเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น การเรียกบุคคลจึงมีความเลื่อนไหลเป็นอย่างมาก ขึ้นอยู่กับความเคารพและสถานการณ์ด้วย
เช่น เราอาจเรียกพราหมณ์ที่ประกอบ พิธีที่วัด ว่า ปูชารี ซึ่งหมายถึง ผู้ทำพิธีบูชาพระ ก็ได้ บางครั้งเคารพมาก เรียก คุรุ หรือครู ว่าเป็นคุรุของตน บางครั้งเรียก มหาราช แปลว่า พระคุณท่าน เรียกบัณฑิตก็ได้ เรียก พราหมณเทวตา หรือเทวดาพราหมณ์ก็ได้
บางครั้งเจอกัน ก็เรียกว่า ปรฺภู โดยศัพท์แปลว่า พระเป็นเจ้า เป็นการยกย่องอย่างสูง และแสดงความเคารพพระเป็นเจ้าที่อยู่ภายในคนๆนั้น
อันนี้คือความแตกต่างทางวัฒนธรรมอินเดียกับไทยครับ
ในประเทศไทยเรียกผู้ประกอบพิธีในศาสนาพราหมณ์ว่าำพรามหณ์ เท่านั้น ต่างกับในอินเดีย
เนื่องด้วยเหตุผล คือ ศาสนาพราหมณ์ในประเทศไทย เข้ามาก่อนยุคภักติของอินเดีย คือ ยุคที่ศาสนาพราหมาณ์ในอินเดียยังไม่ปฏิรูปเป็นฮินดู ที่เน้นความภักดีในพระเป็นเจ้า การประยุกต์ศาสนพิธีและคำสอน ฯลฯ
ดังนั้น จึงเรียกว่าศาสนาพราหมณ์ ตาม ผู้ที่ทำหน้าที่นักบวช คือพราหมณ์ ครับ แม้ในปัจจุบัน ก็เรียกว่าพราหมณ์
พราหมณ์ ในอินเดีย โดยมากถือธรรมเนียมปฏิบัติคล้ายๆกัน มีแตกต่างกันไปบ้างตามถิ่นที่และประเพณีที่สืบกันมา
โดยมากพราหมณ์ในอินเดีย และศาสนิกชนฮินดูราว 70 เปอเซนต์ กินมังสวิรัติ พราหมณ์บางพวกกินปลาบางชนิด เช่นพราหมณ์เบงคอลี บางทีพวกพราหมณ์ ถือเพิ่มไปคือไม่กินกระเทียม สวมยัชโญปวีต ส่วนใหญ่ไว้ ศิกขา หรือมุ่นมวยผมที่ท้ายทอย เล็กบ้างใหญ่บ้าง เวลาไปทำพิธีนุ่งผ้าโธตีหรือโจงกระเบน หรือ เวษฏิ คือผ้านุ่ง เล่าเรียนท่องบ่นพระเวท และคัมภีร์ต่างๆ ถือนิตยกรรมหรือข้อปฏิบัติในศาสนา ประจำวัน เช่นภาวนา สันธยะ ฯลฯ
ส่วนพราหมณ์ไทย ท่านถือ ตามคติปรัมปราไทย คือกินเนื้อสัตว์ได้ เว้นแต่ วัวและปลาไหล หรือบางท่านเช่นท่านพระมหาราชครู ทานมังสวิรัติ มีการถือบวชในช่วงตริปวายตริยัมปวายที่ทานมังสวิรัติ สวมสายยัชโญปวีต ในเวลาทำพิธีโดยสวมนอกเสื้อ เว้นแต่ท่านพระมหาราชครูสวมไว้ตลอดเวลา ไหว้พระสวดมนตร์ และเป็นคฤหัสถ์ คือครองเรือนมีลูกเมีย เช่นเดียวกับพราหมณ์อินเดีย