Uncategorized

ภารตนาฏยัม

ภารตนาฏยัมคืออะไร
ภารตนาฏยัม (भरतनाट्यम्)
ประวัติการแสดงภารตนาฏยัม
 
การแสดงภารตนาฏยัมในสมัยโบราณ
 
การกระโดดโลดเต้น เมื่อประสบกับสิ่งสุข ความทุกข์ ความสนุกสนานและความรักนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่กับจิตวิญญาณของ มนุษย์ และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย แต่การเรียนรู้ที่จะเต็นประกอบจังหวะดนตรี และมีความสามัคคีเต็นพร้อมกันอย่างมีแบบแผนนั้น จึงถือว่าเป็น การเต้นรำ การฟ้อนรำ หรือจับระบำ ของมนุษย์นั้น มีมาเนินนานแต่ครั้งที่มนุษย์พร้อมกับมนุษย์เริ่มรู้จักการประดิษฐ์สัญลักษณ์ และมีอารยธรรมแตกต่างจากสัตว์ มีภาพเขียนโบราณสมัยยุคหิน และรูปปั้นในยุคสำริด ที่มีการบัณทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการเต้นรำเพื่อ เฉลิมฉลอง จากชัยชนะจากสงคราม การบูชาพระเจ้า ตามความเชื่อแต่ละท้องถิ่นทั่วโลก ฉะนั้นการเต้นรำจึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์และมีความเป็นสากลเช่นเดียวกับเพลงต่างๆที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับการเต็นรำเหล่านั้น
 
ศิลปะการร้องเพลงและเต็นรำ เป็นสิ่งที่พัฒนาควบคู่กัน ทั้งในลักษณะที่เป็นปัจเจกชน ในแต่ละชนชาติและลักษณะที่เป็นสากลทั้งหลาย โดยธรรมชาติ และธรรมชาติคือ ครูที่ยิ่งใหญ่และแท้จริงที่สุดของมนุษย์ เป็นผู้สนให้มนุษย์ รู้จักการจังหวะ และความไพเราะ ดังเช่น เสียงของลม เสียงของสายฝน เสียงของน้ำไหล ได้พัฒนาขึ้นกลายเป็นจังหวะดนตรี และดนตรีในที่สุด สัญนิฐานว่า ณ เวลาที่ดนตรีได้ถือกำเนิดขึ้น ในทันทีการเต็นรำก็ถือกำเนิดขึ้นด้วย โดยการเต้นรำที่พัฒนาในแต่ละท้องถิ่น นั้นคือการเต้นรำส่วนการเต็นรำที่ถือได้ว่ามีแบบแผน และเป็นนาฏศิลป์ร่วมสมัย นั้นคือ การเต้นรำร่วมสมัย
 
ลัทธิความเชื่ออันเป็นวัฒนธรรมของอินเดียหลักที่สำคัญ สองอย่างคือ ไศวนิกาย และไวษณวนิกาย ที่เน้นย้ำถึงความภักดีในพระเป็นเจ้า ได้ส่งอิทธิพลต่อ บทเพลงทั้งหลายและการเต้นรำชนิดต่างๆของอินเดีย ดังนั้น การเต้นรำอันศักดิ์สิทธิ์ได้จัดแสดงแล้วในสถานที่บูชาทั้งหลายทั้งปวงมากมายในประเทศอินเดีย โดย ประวัติศาสตร์การศึกษาด้านการเต้นรำของอินเดียนั้นส่วนมาก ได้ถูกบันทึกอยู่ในรูปของตำราสันสกฤตทั้งหลาย และตำราที่เก่าที่สุดคือ ตำราภารตนาฏยศาสตร์ ซึ่งน่าจะแต่งขึ้นราวๆ ก่อนคริสศตวรรษที่ ๓
 
นอกจากนี้ต้นฉบับหลักฐานที่เก่าที่สุดปรากฏอยู่ในทาง ทมิฬนาดู นั้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับ การศึกษาด้านดนตรี,การเต้นรำ และนาฏกรรมการละครนั้น อยู่ในยุค สังคัม ในยุคนั้นงานเขียนทั้งหลายในภาษาทมิฬที่เกี่ยวกับ การศึกษาด้านดนตรี และการเต้นรำ ปรากฏอยู่มากมาย เช่น ตำรากูถานู้ล, ตำราอินทรกาลิยัม,ตำราสยันถัม,ตำราอีไสนุนุกัม,ตำราอคถิยัม เป็นต้น ซึ่งได้ปรากฏแล้วในยุคทองแห่งศิลปวัฒนธรรม คือ ยุคสังคัม ของอินเดียใต้ โดยเฉพาะในทางทมิฬนาดู มหากาพย์อันเป็นที่รู้จักดี ศิลปธิการัม ได้ถูกประพันธ์แล้วโดยกวีที่ยิ่งใหญ่ชาวพุทธิ ได้ให้ข้อมูลและอ้างอิงถึง ศิลปะนาฏกรรมการแสดง (นาฏกัม) การเล่นเครื่องดนตรีเช่นพิณ(อียาล) และการศึกษาด้านดนตรี(อีไส) ในสมัยที่พุทธศาสนายังประดิษฐานและเป็นที่นับถืออย่างยิ่งในอินเดียใต้สืบต่อจากยุคสังคัมนั้น
 
ในภาษาทมิฬ การเต้นรำ ถูกเรียกว่า กูถุ หรือ อาดัล จากนั้นเมื่อการเต็นรำเพื่อบูชาพระเป็นเจ้า เปลียนมาเป็นการเต็นรำเพื่อความบันเทิงในพระราชวังแล้ว มันจึงถูกเรียกว่า สะดิร ซึ่งปรากฏในยุคเริ่มต้นของ ศตวรรษที่ ๒๐ , และต่อมา สะดิร นี้เอง ได้ถูกอ้างอิงกล่าวถึงในฐานะที่มาของ ภารตนาฏยัม
 
คำว่า ภารตนาฏยัม นั้นมีที่มาจาก ภา หมายถึง ภาวัม(อารมณ์ร่วมที่ได้รับจากการแสดงนาฏกรรม), ร หมายถึง ราคัม (ความสูงต่ำของการเรียงตัวกันของกลุ่มตัวโน๊ต ที่กำกับด้วยบันได้เสียง ที่แตกต่างกันในแต่ละบทเพลง) และ ตะ หมายถึง ตาลัม (จังหวะการตีลงจังหวะของแต่ละเพลง) ฉะนั้นการเต้นรำ คือ นาฏยัม นั้นที่ประกอบไปด้วยองค์รวมของ ภาวะ,ราคะ,ตาลัม ก็คือ ภารตนาฏยัม
 
ภารตนาฏยัม เป็น ศิลปะ นาฏกรรม ที่มีความหลากหลายรูปแบบ และไม่มีขีดจำกัดของการประยุกต์ใช้เอกลักษณ์รูปแบบการเต้นเฉพาะตนที่คิดขึ้นเองของแต่ละสำนักเรียนภารตนาฏยัม ซึ่งมีการมุ่งเน้นเอกลักษณ์และจุดเด็นทางการแสดงที่ต่างกัน ของ นฤตติ (ท้วงท่าในการเต็น), นฤติยา(การแสดงให้อารมณ์ความรู้สึก) และ นาฏยะ(ศิลปะการละคร)
 
ลักษณะเฉพาะของภารตนาฏยัม คือการยืนเต้นย่อเข่า ลงต่ำกว่าส่วนสูงของตนเองครึ่งหนึ่ง ที่มวยจีนเรียกว่า การนั่งท่านั่งม้า แต่ในภารตนาฏยัม เรียกว่า อรถะมันฑี และท่าเต็นพื้นฐานต่างๆอันสอดคล้องกับจังหวะการตี ตาลัม ทั้งหลายที่เรียกว่า อะดาวู้ และเมื่อนำอะดาวู้ทั้งหลายมาประดิษฐ์เต้นเรียงร้อยเป็นลำดับหนึ่งชุดลำดับการเต้นนั้นเรียกว่า โกรไว ซึ่งอาจารย์ หรือผู้ให้จังหวะ ที่เรียกว่า นาฏฏุวะนัร จะเป็นผู้ตีฉิ่ง และเป็นผู้ขับบทกำกับจังหวะของนักเต้นภารตนาฏยัม ซึ่งการกำกับจังหวะอย่างนี้เรียกว่า นาฏฏุวังคัม โดยผู้กำกับจังหวะนั้นอาจจะร้องสัญลักษณ์ทางเสียงของ โกรไว ทั้งหลายไปด้วยที่เรียกว่า โสลลุกัตตุ แต่ถ้า โกรไว เหล่านี้มีการเล่นจังหวะช้าเร็วแตกต่างกันด้วย (มีถึงสี่ระดับคือ ช้า, เริ่มเร็วขึ้น,เร็วมาก และ เร็วที่สุด)ลำดับชุดการเต้น โกรไว ที่มีการเต็นช้าเร็วสี่ หรือสามระดับ ในหนึ่ง โกรไว นั้นจะเรียกว่า ชาตี และในแต่ละชาตี จะมีการจบด้วยชุดการเต้นเล็กชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ธีรมานัม ในหนึ่งเพลง อาจจะมี สี่ หรือ ห้า ชาตี หรือมากว่านั้นตามแต่ความยาวของเพลง แต่ทุกชาตี หรือโกรไว จะต้องจบด้วยชุดการเต้นที่เรียกว่า ธีรมานัม
 
ในส่วนของการแสดงสีหน้าอารมณ์ประกอบเพลง ของภารตนาฏยัมนั้น ถูกเรียกว่า อภินะยา ซึ่งต้องอาศัย การใช้ภาษาร่างกาย เช่น การเคลื่อนไหวของหัว (ศิระ เบธา), การเคลื่อนไหวของตา (ทฤษฏิ เบธา) ,การหมุ่นตัว (พรหมรี เบธา) และการใช้มือทำเป็นสัญลักษณ์ต่างๆประกอบที่เรียกว่า หัสถะ เป็นต้น เพื่อดึงอารมณ์และความรู้สึก ทางนาฏศาสตร์ ที่เรียกว่า นวรสะ ออกมาจากผู้แสดงไหลผ่านควบคู่ไปกับความหมายของบทเพลง
 
โดยปกติทางขนบธรรมเนียมแล้ว การศึกษาภารตนาฏยัม จนจบ มารคัม (ชนิดการแสดงทั้งหมด) นั้นจะต้องใช้เวลาประมาณ ๖ ถึง ๗ ปี โดยในระบบการศึกษาแต่โบราณ ผู้ปกครองจะต้อง พานักเรียน ไปมอบตัวเป็นศิษย์ของอาจารย์ในสำนักเรียนภารตนาฏยัม จากนั้นนักเรียนจะต้องเคารพแล้วรับใช้อาจารย์ของตน พร้อมไปกับการเรียนพื้นฐานของภารตนาฏยัม ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว อาจารย์ผู้สอนภารตนาฏยัมแต่ละท่านนั้นมีเอกลักษณ์ และวิธีการเต็นพื้นฐานที่เรียกว่า อะดาวู้ เป็นของตนเอง ฉะนั้นอาจารย์ผู้สอนจะไม่รู้สึกพอใจหากศิษย์ของตนจะไปเรียนที่สำนักของอาจารย์ภารตนาฏยัมท่านอื่นควบคู่ไปด้วย นอกจากท่านเองจะเป็นผู้เห็นควรว่าศิษย์ของท่านจะต้องเรียนสิ่งใดเพิ่มเติม ที่ท่านไม่ถนัดหรือไม่รู้ ท่านอาจารย์ก็จะเป็นคนพาเราไปฝากยังสำนักของเพื่อนของท่านที่ท่านรู้จักดีให้เอง ฉะนั้นศิษย์จึงไม่สามารถทำสิ่งใดอันเป็นสิ่งที่ข้ามหน้าข้ามตาท่านได้
 
ส่วนบทเพลงที่ใช้ประกอบการเต้นรำ ภารตนาฏยัมนั้น คือ เพลงกรรณาติก ซึ่งแพร่หลายอยู่ในอินเดียใต้มีการใช้ตาลัม ที่รัดกุมในการร้องเพลง และตีกลองสองหน้าที่เรียกว่า มฤคตังคัม มีการใช้เครื่องดนตรี สรัสวดี วีณา(จะเข้ อินเดีย) , ไวโอลิน , และฉิ่ง ต่อหางถือยาว ที่เรียกว่า นาฏฏุวังคัม ฯลฯ ซึ่งโดยมากเป็นการร้องและแสดงสด ซึ่งบทเพลงกรรณาติกที่ไพเราะนั้นจะถูกถ่ายทอดอย่างวิจิตรไพเราะเป็นมหัสจรรย์ด้วย มธุระ ภักติ คือความจงรักภักดีต่อพระเป็นเจ้า ทั้งหลายในศาสนาฮินดู ที่ถูกถ่ายทอดมาเป็นบทเพลงอันศักดิ์สิทธิ์
 
ซึ่งการแสดงภารตนาฏยัม เริ่มนิยมเป็น การระบำ ประกอบการแสดงละคร เพื่อแสดงพระเกียรติหรือสรรเสริญ พระเจ้า ที่เรียกว่านาฏกรรม ด้วยเทวทาสี ทั้งหลายนั้นสามารถนับย้อนหลังไปได้ถึงยุคโจฬะ ที่ยิ่งใหญ่ของอินเดียใต้
 
การแสดงเต้นภารตนาฏยัมในสมัยโบราณมักแสดงโดย เทวทาสี สาวนักเต้นบูชาพระเจ้า ที่อาศัยอยู่ตามวัดศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในอินเดีย โดยที่ผู้ทำหน้าที่คุมจังหวะที่เรียกว่า นาฏฏุวนัร นั้นจะเป็นชาย ผู้เป็นเกจิอาจารย์ ด้านการดนตรีกรรณาติก ซึ่งมีวัฒนธรรมการสืบทอดจากพ่อสู่ลูกเป็นลำดับไป ซึ่งเอกลักษณ์และรูปแบบ ของสำนักดนตรีกรรณาติก นั้นบ้างตระกูลก็มีการรู้จักกันมาในนามของชื่อของสถานที่หมู่บ้าน ท้องถิ่นเดิม ที่บรรพบุรุษของเขาได้เคยอาศัย เช่น ปะนิส ซึ่งแตกแขนงมากมายเป็น ตระกูลของนักดนตรีกรรณาติกต่างๆที่มีชื่อเสียงเช่น ปัณฑะนัลลุร ปะนิส, ตัณจาวุร ปะนิส, วาฬุวัร ปะนิส, กาญจี ปะนิส ฯลฯ จนถึงยุคเริ่มต้นของ คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ วงดนตรี ที่เคยยืนๆนั่งๆอยู่เบื่องหลังของ นักแสดงภารตนาฏยัม ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปสู่มุมซ้ายมือบนเวทีแสดง และนั่งลงอย่างเป็นระเบียบ พร้อมกับฉากหลังการแสดงที่สวยงาม ด้วยการปฏิวัติทางศิลปะนาฏกรรมการแสดงในสมัยยุคฟื้นฟูภารตนาฏยัมถึงยุคปัจจุบัน
 
สำหรับการแต่งการนั้นเป็นประเพณีนิยมที่สืบทอดมาจาก เทวทาสี ทั้งหลายแต่ครั้งโบราณ มีการใส่เสื้อแขนกระบอกเปิดพุง และนุ่ง สารี ที่เป็นผ้าไหมหรือฝ้ายทับ พันรอบตัวและจับจีบมาผูกที่เอว มีการนุ่งผ้าปิดท้าย แล้วคาดเข็มขัดทอง หรือโลหะเคลือบสีท้องทับ จากนั้นนักแสดงภารตนาฏยัมจะต้อง ประดับตนเองด้วยเครื่องประดับทั้งหลาย เช่น บนศรีษะ(ตะไลสะมัน) จะต้องติดเข็มกลัดเพชรพลอย ประดิษฐ์เป็นรูปพระจันทร และพระอาทิตย์ ซ้ายขวา ตรงกอบหน้า มีการสวมเครื่องประดับเป็นสร้อยมีตุ้มห้อยย้อยไปด้านหลัง ถึงหางเปี้ย และมีตุ้มห้อยตรงกลางเรียกว่า ระโกดี จากนั้นจะต้องมวยผมหรือใช้ผมปลอมประดิษฐ์เป็นมวย และติดเข็มกลัดตรงยอดมวยที่เรียกว่า กันจะลัม แล้วจึงนำมาลัยดอกมะลิ หรือดอกไม้ประดิษฐ์มาพันรอบมวยผม ต่อจากมวยผมจะต้องถึกเปี้ย หรือใช้เปี้ยปลอม ที่ติดด้วยเข็มกลัด เป็นปล้องๆของเปี้ยไป ประมาณเจ็ดเข็มกลัด ใหญ่เล็กไปตามลำดับ ซึ่งเข็มกลัดที่ติดบนเปี้ยทั้งเจ็ดนี้ นักวิชาการบางท่านอธิบายว่า เป็นตัวแทนของ สัปตจักร ฐานแห่งพลังทั้งหลายในลัทธิโยคะ จากนั้นจึงมีการสวมต่างหูตุ้มเป้นรูประฆัง สวมกำไลมือ และสร้อยคอแบบสั้นรัดคอ กับสร้อยคอยาวห้อยมาที่อก จากนั้นจึงใส่กำไลข้อมือ พาหุรัด รัดแขน แหวน ฯลฯ จากนั้นจึงไปกราบอาจารย์ผู้สอนก่อนที่จะขึ้นแสดง หลังจากอาจารย์ให้พรแล้วจึงสวม สะลังไก คือกระพรวน ที่เย็นเป็นแผงสี่ ถึงหกแถว ติดกับหนังตัดเป็นเข็มขัดใหญ่ใช้รัดเท้าทั้งสองข้างเพื่อทำให้เกิดเสียงดังเวลาเต้น สำหรับผู้ที่เริ่มแสดงเป็นครั้งแรก จะต้องมอบ สะลังไกให้อาจารย์ผู้สอนกลับไปสวดบูชาที่บ้านของอาจารย์เองที่บ้านอาจารย์ หลังจากนั้นเมื่อวันแสดงจึงมากราบอาจารย์รับสะลังไก ไปใส่พร้อมกับพรที่อาจารย์ให้ก่อนขึ้นแสดง
สำหรับการแสดงภารตนาฏยัมนั้น มีการแสดงอารมณ์ เรียกว่า นวรส คือรสทั้ง ๙ คือ
 
๑. วีระ หมายถึง รสแห่งความกล้าหาญ
๒. กรุณา หมายถึง รสแห่งความสงสาร เห็นใจ
๓. ศฤงคาร หมายถึง รสแห่งอารมณ์รักความพึงใจ
๔. อัทภูตะ หมายถึง รสแห่งความแปลกประหลาดใจ
๕. หาสยะ หมายถึง รสแห่งความตลกขบขัน
๖. ภยานกะ หมายถึง รสแห่งความตกใจกลัว
๗. รุทระ หมายถึง รสแห่งความโกรธ
๘. พีภัตสะ หมายถึง รสแห่งความเกลียดชัง น่ารังเกียจ
๙. ศานตะ หมายถึง รสแห่งความสงบใจ
โดย ดร.วรเดช มีแสงรุทรกุล
 (อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก ศูนย์สันสกฤต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)