(บทสรรเสริญ10บทแห่งพระคุรุมรุตปุราธีศะ บทคาถาแรก)
गरुडवाहनं पुण्यदर्शनं वरझषाकृतं वेदसंग्रहम्।
प्रलयकालजीवात्मतारकं गुरुमरुत्पुराधीशमाश्रये॥
ครุฑวาหนํ ปุณฺยทรฺศนํ วรฌษากฤตํ เวทสํคฺรหมฺฯ
ปฺรลยกาลชีวาตฺมตารกํ คุรุมรุตฺปุราธีศมาศฺรเยฯ।
คำอ่านไทย
คะรุฑะ วาหะนัม ปุณยะทัรศะนัม วะระฌะษากฤตัม เวทะสังคระฮัม
ประละยะกาละ ชีวาตมะ ตาระกัม คุรุมะรุตปุราธีศะมาศระเย
อ่านออกเสียงสำเนียงอินเดีย
กะรุดะ วาฮะนัม ปุณยะดัรชะนัม วะระจะชากริตัม เวดะ ซังคระฮัม
ประละยะกาละ จีวาตมะตาระกัม กุรุมะรุตปุราธีชะมาชระเย
คำแปล
พระผู้ทรงครุฑเป็นพาหนะ ผู้ซึ่งเป็นมงคลแก่สายตาที่ได้พบเห็น พระผู้ทรงรูปแห่งมัจฉาอันเป็นเลิศ ผู้ทรงรวบรวมซึ่งพระเวท
พระผู้ทรงเป็นดังนาวาของชีวาตมันในยามประลัย ข้าแต่พระคุรุมรุตปุราธีศ ข้าพเจ้าขอถึงพระองค์เป็นที่พึ่งพิง.
หมายเหตุ
ชีวาตมัน หมายถึง ตัวตน หรือ วิญญาณของแต่ละบุคคล ที่ต้องอาศัยร่างวัตถุในการดำรงอยู่ ตามกรรมของบุคคลนั้น
ประลัย หมายถึง หนึ่งคืนของพระพรหมา ช่วงเวลาที่จักรวาลวัตถุถูกทำลายลงไปครึ่งหนึ่ง และจะถูกสร้างขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
คุรุมรุตปุระ หรือ คุรุวายุปุระ หมายถึง เมืองคุรุวายูร ในเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระคุรุวายุปุราธีศ หรือ คุรุวายูรัปปัน เทวรูปพระวิษณุที่พระอุทธวะ ผู้เป็นภารดา และสหายของพระกฤษณะ ได้รับมาจากกฤษณะ ให้รักษาดูแลก่อนในสิ้นยุค ซึ่งคลื่นยักษ์จะเข้าท่วมทวารกา โดยเทวรูปนี้เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจาก วสุเทพ และเทวกี ซึ่งในชาติก่อนๆของทั้งสอง ก็ได้ปรนนิบัติบูชาซึ่งพระปฏิมานี้ซึ่งได้รับประทานมาจากพระพรหมา ต่อมาอุทธวะ ได้อาราธนาถึงพระพฤหัสปติ ผู้เป็นคุรุ ให้นำเทวปฏิมาอันศักดิ์สิทธิ์นี้ไปประดิษฐานยัง ปุณยสถาน อันควรแก่การบูชา โดยมีพระวายุเทพเป็นผู้ช่วย ซึ่งองค์เทวทั้งสองได้ประดิษฐานองค์มูรติ ณ ตอนใต้ของภารตวรรษ ที่ซึ่งพระเทวะทั้งสองได้พบกับพระศิวะ กับ พระไหมวตี ซึ่งกำลังร่ายรำบูชาอยู่ซึ่งพระวิษณุ และได้รับการชี้แนะจากพระมหาเทพให้ประดิษฐาน องค์ภควาน ณ ที่แห่งนั้น โดยทรงประทานนามแด่ ปุณยสถานนั้นว่า คุรุวายุปุระ อันมาจากพระนามของเทวะทั้งสอง.
มุรุเกศัน โควรธนธารี ทาส
(กิตติกร อินทรักษา)