แล้วข้าพเจ้าก็ได้พูดคุยกับอาจารย์ 2 ท่านที่เป็นมิตรกันว่า เราสามคนมาเขียนเรื่องอุปราคากันตามความเข้าใจของแต่ละคนเพื่อให้ความรู้แก่สาธารณะชนกันสักหน่อยไหม แล้วก็เป็นไปตามนั้นโดยอาจารย์เก้า (ดร. ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว) นั้นได้เขียนโพสขึ้นก่อนเป็นท่านแรก
อันเรื่องอุปราคาหรือคราสนั้นเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ชนิดหนึ่งที่ผู้คนในโลกจำนวนมากจะสามารถมองเห็นปรากฏการณ์นี้ได้
ถ้าจะว่ากันแบบทางวิทยาศาสตร์หรือดาราศาสตร์ในปัจจุบันแล้ว ปรากฏการณ์อุปราคาของโลกเรานี้ก็จะเกิดขึ้นโดยดาว 3 ดวง คือ ดวงอาทิตย์+โลก+ดวงจันทร์ ที่โคจรมาอยู่ในระนาบองศาเดียวกัน จนทำให้ดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์นั้นเกิดการมืดลงไปชั่วขณะ และจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ
1. สุริยุปราคา ที่ดวงอาทิตย์+ดวงจันทร์+โลก จะเคลื่อนโคจรเข้ามาอยู่ในระนาบองศาเดียวกัน โดยดวงจันทร์นั้นจะเคลื่อนเข้าตัดหน้าบังดวงอาทิตย์ไว้ (ทำให้แสงของดวงอาทิตย์มืดลง) และจะเกิดขึ้นในช่วงวันอมาวัสยาหรือวันอมาวสี (วันแรมสุดท้ายของมาส) เมื่อมองจากโลกเราแล้วก็จะเห็นว่าดวงอาทิตย์นั้นเกิดมืดลงไปชั่วขณะ
2. จันทรุปราคา ที่ดวงอาทิตย์+โลก+ดวงจันทร์ จะเคลื่อนโคจรเข้ามาอยู่ในระนาบองศาเดียวกัน โดยโลกของเรานั้นจะเคลื่อนเข้าตัดหน้าบังดวงอาทิตย์ไว้ (ทำให้แสงของดวงอาทิตย์ไม่ไปตกกระทบดวงจันทร์) และจะเกิดขึ้นในช่วงวันปูรณิมาหรือวันเพ็ญ (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ) เมื่อมองจากโลกของเราแล้วก็จะเห็นว่าดวงจันทร์นั้นมืดลงไปชั่วขณะ
ส่วนปราชญ์ในสมัยโบราณไอ้ครั้นท่านจะอธิบายภูมิความรู้ของท่านแบบนี้ผู้คนทั่วไปก็คงจะไม่ค่อยรู้เรื่องหรืออยากฟังเท่าใดนัก ท่านจึงได้นำปูมความรู้ทางดาราศาสตร์อันถูกต้องนี้ (เชื่อว่าปราชญ์โบราณท่านรู้อย่างถูกต้องอยู่แล้ว แต่เล่าบรรยายออกมาอีกแบบแค่นั้น) มาสร้างเป็นปกรณัมขึ้นเพื่อให้เกิดความสนใจในหมู่ชนมากขึ้น
แล้วท่านรู้เรื่องอะไรบ้าง?
ก่อนอื่นก็ต้องบอกเลยว่าปราชญ์ในสมัยโบราณที่เฝ้าสังเกตดวงดาวบนท้องฟ้าท่านก็ต้องรู้ว่า โลกกับดวงอาทิตย์นั้นทำมุมเอียงแก่กันก่อน (โลกของเราทำมุมเอียงกับดวงอาทิตย์ประมาณ 23.5 องศา) ท่านจึงสามารถกำหนดอายันและวิษุวัตในรอบปีทางสุริยคติได้อย่างแม่นยำ
จากนั้นท่านก็ต้องทราบว่าดวงจันทร์นั้นโคจรไปรอบโลกแล้วทำมุมเอียง 5.9 องศากับเส้นสุริยวิถี จนเกิดการคำนวณข้างขึ้น-ข้างแรม (ศุกลปักษ์-กฤษณปักษ์) ขึ้นและเข้าใจซึ่งมุมเอียงของดวงจันทร์ (ตรงจุดที่สว่าง) ว่าจะทำมุมในลักษณะไหน
จากนั้นท่านก็สร้างเส้นวงกลมสมมุตขึ้น 2 เส้นบนท้องฟ้า โดยเอาเส้นวงที่ดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก (เอาโลกเป็นศูนย์กลางในการเฝ้าดู) ขึ้นมาเส้นวงหนึ่ง แล้วเอาเส้นวงที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกขึ้นมาอีกเส้นวงหนึ่ง จากนั้นก็ขยายเส้นทั้ง 2 นี้ให้มีขนาดวงเท่า ๆ กัน (แต่มุมเอียงนั้นไม่เท่ากัน) แล้วใช้ศัพท์ทางโหราศาสตร์ว่า “จันทรปาต (Moon’s Node)”
เมื่อวงกลม 2 วงซึ่งมีมุมเอียงไม่เท่ากันนี้ขยายออกไปเท่ากัน มันก็จะเกิดจุดตัดกันขึ้น 2 จุด ที่ตรงข้ามกัน 180 องศาพอดี ที่จุดหนึ่งเรียกว่า “อุทัยปาต (Ascending Node or North Node)” ซึ่งเป็นจุดตัดที่อยู่ทางด้านเหนือของเส้นสุริยมรรค กับอีกจุดหนึ่งที่เรียกว่า “อัสตปาต (Descending Node or South Node)” ซึ่งเป็นจุดตัดที่อยู่ทางด้านใต้ของเส้นสุริยมรรค
โดยไอ้ 2 จุดตัดนี้เองที่ต่อมาเวลาท่านจะเล่า ท่านก็จะสมมุตหรือสร้างปกรณัมขึ้นโดยเรียกมันว่า ราหุ (राहु – Rahu)กับเกตุ (केतु – Ketu) แล้วยังสมมุตให้มันทั้ง 2 นี้เป็นอุปครหะ (พระเคราะห์สมมุต หรือ พระเคราะห์ฉายา) ด้วย
โดยกล่าวให้ดูง่าย ๆ ว่า ยามหรือเวลาใดก็ตามที่ดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์มาอยู่ในระนาบราศีและองศาเดียวกับองศาของราหูและเกตุแล้วนั้นก็ย่อมจะเกิดอุปราคาขึ้นได้ (สุริยุปราคาอาทิตย์กับจันทร์จะอยู่ในราศีเดียวกัน และ จันทรุปราคาอาทิตย์กับจันทร์จะอยู่ตรงข้ามกัน 180 องศา และถ้าในกรณีเกิดอุปราคาเพียงบางส่วนพระอิตย์กับพระจันทร์ก็อาจจะอยู่ในระยะองศาประชิดราหูและเกตุเท่านั้น)
คราวนี้ก็มาดูการผูกปกรณัมแบบอินเดีย โดยเฉพาะเรื่องเล่าในภาควิชาโหราศาสตร์แบบอินเดียกันว่าเขาสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับอุปราคาในรูปของราหู&เกตุนี้ไว้อย่างไร?
เขาก็เล่าว่าทางบิดาของพระราหูนั้นก็สืบเชื้อสายมาจากพระกัศยปะกับนางทนุ (เป็นสายทานวะ หรือ ทานพ) โดยมีราชาแห่งทานวะที่ชื่อท้าวปุโลมา (पुलोमा – Puloma) ผู้เป็นพ่อตาของพระอินทร์นั้นปกครองพวกทานวะในยุคแรกนี้อยู่ก่อน และท้าวปุโลมานี้ก็มีพระอนุชาตนหนึ่งชื่อ วิประจิตติ (विप्रचित्ति – Viprachitti)
ครั้นท้าวปุโลมาปกครองเหล่าทานวะไปได้ 7 ปีสวรรค์แล้วก็เกิดผิดใจกับพระอินทร์ผู้เป็นลูกเขยเข้าจนถูกพระอินทร์เอาวัชระฟาดจนแดดิ้นสิ้นชีพไป จากนั้นท้าววิประจิตติก็ขึ้นมาเป็นจอมทานวะแทน
ท้าววิประจิตตินั้นมีความอาฆาตแค้นพระอินทร์และเหล่าเทวดาเป็นอย่างมากที่มาสังหารพี่ชายของตน จึงมองหาแนวร่วมเก่าคือพวกอสูรตระกูลไทตยะหรือแทตย์ (ผู้เกิดมาจากพระกัศยปะกับนางทิติ) มาเป็นพันธมิตร
เมื่อพิจารณาแล้วก็เห็นว่าในกาลนั้นเห็นจะมีแต่ท้าวหิรัณยากศะกับท้าวหิรัณยกศิปุเท่านั้นที่มีฤทธานุภาพสูงสุด ถึงขนาดกล้าประกาศต่อกรเป็นศัตรูกับพระวิษณุเลยทีเดียว
ครั้นคิดได้ดังนั้นท้าววิประจิตติจึงทำการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝ่ายของท้าวหิรัณยกศิปุ ด้วยการไปสู่ขอนางสิงหิกา (सिंहिका- Simhika) ผู้เป็นธิดาตนหนึ่งของท้าวหิรัณยกศิปุมาเป็นชายาของตน อันทำให้ฝ่ายทานวะกับฝ่ายไทตยะนั้นกระชับมิตรแน่นเหนียวกันมากขึ้นกว่าเดิมและเริ่มมีกองทัพที่มากกว่าเหล่าเทวดา
เมื่อท้าววิประจิตติได้วิวาห์กับนางสิงหิกาแล้ว ทั้งคู่ก็เฝ้าบำเพ็ญตบะขอบุตรต่อพระกัศยปเทพบิดรอยู่หลายปี ว่าให้บุตรของจนที่จะกำเนิดขึ้นมานั้นจงมีร่างกายที่ใหญ่โต เป็นผู้มีฤทธิ์มาก และเป็นผู้มีปัญญาเล่ห์เหลี่ยมสูง จนในที่สุดพระกัศยปะก็พอใจและประทานพรนี้ให้พวกเขาทั้ง 2 ได้สมดังที่หวัง
ต่อมานางสิงหิกาก็ได้ให้กำเนิดโอรสที่เป็นลูกครึ่งระหว่างแทตย์และทานพขึ้นมาตนหนึ่งในขณะที่ดวงจันทร์เคลื่อนเข้าสถิตอยู่ในนักษัตรภรณี (भरणी– Bharani) ที่ทางโหราศาสตร์อินเดียกล่าวว่า ผู้ที่เกิดในนักษัตรนี้มักจะทำอะไรไปตามสัญชาตญาณตามธรรมชาติของสัตว์อยู่บ่อยครั้ง, ทำให้เป็นผู้ชอบใช้ชีวิตเพลิดเพลินไปกับโลกวัตถุสูง (แม้รู้ดีว่าจะนำทุกข์มาให้ในภายหลัง) และทำให้เป็นผู้หลงอยู่ในกามสุขได้ง่าย (มีเล่าไว้แล้วในเรื่อง “นักษัตรประวิภาค”)
จากนั้นทารกผู้มีร่างกายใหญ่โตนี้ก็ถูกเรียกว่า “ไสํหิเกย (सैंहिकेय – Sainhikeya)” ซึ่งแปลว่า “ผู้สืบเชื้อสายมาจากนางสิงหิกา” แล้วจึงมาได้นามว่า “ราหู หรือ ราหุ” ในภายหลัง เมื่อทารกผู้นี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่และเริ่มตามจับพระอาทิตย์กับพระจันทร์กิน
แล้วเมื่อเข้าสู่วัยเรียน เจ้าไสํหิเกยผู้นี้ ก็ไปเข้าโรงเรียนประจำที่โรงเรียนพระศุกร์วิทยาคม และได้รับความเมตตาเอ็นดูจากพระศุกราจารย์เป็นอย่างมาก จนพระศุกร์นั้นได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่เจ้าไสํหิเกยผู้นี้จนแทบจะหมดเปลือก ไม่ว่าจะเป็นวิชาทางด้านการรบ ด้านการเมือง ด้านเล่ห์เหลี่ยม (ไม่สอนก็แต่มนตร์ชุบชีวิตที่พระศิวะประทานมาให้พระศุกร์ที่ชื่อว่า “มฤตสัญชีวินี”)
จากนั้นเมื่อเหล่าไทตยะและเหล่าทานวะยกทัพขึ้นไปทวงคืนสวรรค์นั้นไอ้เจ้าไสํหิเกยก็เป็นแม่ทัพที่สำคัญคนหนึ่งอยู่บ่อยครั้ง จนรบชนะบ้าง รบแพ้บ้าง หรือ ตายลงบ้าง แต่ด้วยเป็นศิษย์รักพระศุกร์ก็ช่วยชุบชีวิตให้มันมาตลอดทุกครั้งที่มันตายไป
คราวนี้เมื่อพระศุกร์คอยชุบชีวิตให้เจ้าไสํหิเกยและเหล่าไทตยะกับเหล่าทานวะเช่นนี้อยู่บ่อยครั้งแล้ว ก็ทำให้ฝ่ายของเทวดานั้นอ่อนแรงลง (บ้างก็ว่าพระอินทร์นั้นถูกฤษีทุรวาสสาปด้วย) เหล่าเทวดาก็เลยต้องไปของพึ่งบุญของพระวิษณุ
พระวิษณุจึงออกอุบายว่าให้เหล่าเทวดาไปเจรจาพักรบกับเหล่าไทตยะ&เหล่าทานวะก่อน แล้วมาช่วยกันกวนทะเลน้ำนมเพื่อให้ทุกฝ่ายนั้นกลายเป็นอมตะ (มีเล่าไว้ในอาทิบรรพของมหาภารตะด้วย)
ครั้นเมื่อพระธันวันตริเทิดหม้อน้ำอมฤตขึ้นมาแล้วฝ่ายไทตยะกับฝ่ายทานวะก็กรูกันเข้าไปชิงเอาน้ำอมฤตนั้นมาครอง จนพระวิษณุต้องรีบแบ่งภาคไปปรากฏเป็นนางโมหินีมาขออาสาทำหน้าที่แจกจ่ายน้ำอมฤตนี้ให้ ซึ่งฝ่ายอสูรที่หลงมนตร์เสน่ห์ของนางก็ยอมทำตามที่นางบอก
แต่ในหมู่อสูรนั้นก็มีเพียงแต่เจ้าไสํหิเกยนี้เพียงแต่ผู้เดียวที่รู้ทันกลของพวกเทวดา มันจึงรีบแปลงร่างของมันให้เปลี่ยนไปเป็นเทวดาแล้วแฝงตัวเข้าไปปะปนในหมู่เทวดา จนได้ดื่มน้ำอมฤตนั้น
แล้วในเวลาเดียวกันนั้นเองที่นางโมหินีกำลังหลั่งน้ำอมฤตให้เจ้าไสํหิเกยได้ดื่ม พระอาทิตย์กับพระจันทร์ก็เกิดผิดสังเกตเข้า (บางตำนานเล่าว่าแม้แปลงร่างแต่เงาของมันปรากฏเป็นรูปเดิมอยู่) จึงรีบฟ้องนางโรหินีให้ยับยั้งการดื่มกินน้ำอมฤตนี้
ในทันทีทันใดนางโมหินีก็เรียกจักรออกมาแล้วปล่อยจักรนั้นไปบั่นเศียรของเจ้าไสํหิเกยนั้นในทันที แต่นั้นก็ไม่ทันเวลาเสียแล้วเพราะเจ้าไสํหิเกยนั้นได้เอาน้ำอมฤตเข้าปากของมันแล้วกลืนลงคอไปแล้วในระดับหนึ่ง (น้ำอมฤตเคลื่อนเข้าไปได้แค่ช่วงต้นคอ) นี่จึงทำให้เศียรของมันที่ขาดลงนั้นเป็นอมตะไป แล้วคืนร่างเดิมลอยขึ้นไปสู่ท้องฟ้า พร้อมคำรามเสียงดังออกมา
จากนั้นมันก็ได้ลั่นวาจาด้วยความโกรธแค้นพระอาทิตย์กับพระจันทร์ว่า อย่าให้มันมีโอกาสนะ ถ้ามีโอกาสเมื่อใดมันจะจับเอาพระอาทิตย์กับพระจันทร์มากลืนกินให้หายแค้น (โดยไม่มีเทพตนใดจะสามารถช่วยพระอาทิตย์กับพระจันทร์ได้เลย)
แต่ทว่า เมื่อมันถูกตัดคอขาเช่นนั้น เวลามันทำการจับฉวยเอาพระอาทิตย์กับพระจันทรมากลืนกินเข้าไปแล้ว พระอาทิตย์กับพระจันทร์จึงหลุดออกมาได้ทุกคราไป และการจับฉวยของมันเช่นนี้นี่เองมันจึงได้ฉายาว่า “ราหุ” มานับแต่นั้น