อัษฏภารยา (अष्टभार्या/Ashtabharya) หรือ พระมเหสีทั้งแปดนางของพระวาสุเทพ กฤษณะ (8 consorts of Vasudeva Krishna) ซึ่งทั้งแปดนางล้วนแต่เป็นขัตติยธิดา จากราชวงศ์ต่างๆ อันทั้งแปดนางนั้นล้วนแต่เป็นผู้ภักดีต่อพระกฤษณะโดยการพัฒนาภักติจากการมีความรักให้แก่พระมาธวะเอง อันพระชคันโมหนะ(ผู้ทรงยังให้ทั้งพิภพหลงใหล)นั้น ทรงเป็นผู้มีความกรุณาดุจสาคร ทรงตอบสนองต่อทุกความปรารถนาของผู้ภักดี ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงรับขัตติยกันยาทั้งแปดเป็นพระมเหสี อันคอยปรนนิบัติรับใช้แทบเบื้องบาทบงกชแห่งองค์พระทวารกาทีศะอยู่เสมอ
อัษฏภารยา กอปรด้วยขัตติยกันยาทั้งแปดเหล่านี้ อันได้แก่
1.พระนางรุกมิณี (रुक्मिणी/Rukmini)
พระนางรุกมิณี ทรงเป็นพระธิดาของ ท้าวภีษมกะ (भीषमक/Bhishmaka) พระมหาราชแห่ง แคว้นวิทรรภ (विदर्भ/Vidarbha) *(ปัจจุบันคือ เขตนาคปูร และ อมราวตีในตอนบนของรัฐมหาราษฏร)
ทรงมีพระเชษฐาพระนามว่า รุกมิณ (रुक्मिण/Rukmin)
พระนางนั้นทรงเป็นอวตาร แห่ง พระศรีมหาลักษมี (श्री महालक्ष्मी/Sri Mahalakshmi)
ทรงหลงรักพระกฤษณะ แม้ได้ยินเพียงแค่พระนาม และ เกียรติยศ ของพระองค์เท่านั้น
แต่ทว่า พระเชษฐารุกมิณทรงไม่เห็นดีเห็นงาม เพราะทรงเป็นพันธมิตร กับ ชราสันธ์ ราชาแห่งแคว้นมคธ ซึ่งเป็นศัตรูร้ายกาจของพระกฤษณะ เหตุจากพระกฤษณะสังหารกังสะผู้มีศักดิ์เป็น พระชามาดา (บุตรเขย) ของ กษัตริย์ชราสันธ์
และจับหมั้นหมายกับ ศิศุปาล (शिशुपाल/Shishupala) กษัตริย์แห่งแคว้นเจที ซึ่งเป็นพันธมิตรองค์โปรดของ ชราสันธ์
พระนางรุกมิณี จึงส่งสาส์นขอความช่วยเหลือไปถึงพระกฤษณะ โดยฝากพราหมณ์ที่เชื่อถือไว้ใจได้นำไปถวายแก่พระทวารกาทีศ กฤษณะ
พระกฤษณะ ทรงยินดีต่อสาสน์ของพระนางรุกมิณี ด้วยเพราะทรงมีความเสน่หาในนางเช่นกัน พระกฤษณะจึงทรงยกทัพไปชิงตัวพระนางรุกมิณี ขณะไปเทวสถานพระทุรคา ก่อนเข้าพิธีวิวาห์กับศิศุปาล
2.พระนางสัตยภามา (सत्यभामा/Satyabhama)
พระนางสัตยภามา ทรงเป็นพระธิดาในองค์สัตราชิต (सत्राजित/Satrajit) หนึ่งในราชนิกุลของวงศ์ยทุ (यदु वंश/Yadu dynasty) เช่นเดียวกับพระกฤษณะ พระนางสัตยภามานั้นทรงเป็นอวตารของ ภูเทวี (भूदेवी/Bhudevi) หรือ ภูลักษมี (भूलक्षमी/Bhulakshmi) เทวีแห่งพื้นปฐพี
พระสัตราชิต พระบิดาของพระนางนั้นทรงมอบพระนางให้กับพระกฤษณะเพื่อไถ่โทษที่เข้าพระทัยในพระองค์ผิด ว่าสังหารประเสนะอนุชาของตน และชิงแก้วมณีสยมันตกะ (स्यमन्तक मणि/Syamantaka Mani) ที่ได้รับมาจากสูรยเทพไป อีกทั้งปล่อยข่าวเท็จนั้นออกไป ทำให้พระยทุนาถ(เจ้าแห่งยทุวงศ์)เสื่อมเสีย
และพระนางสัตยภามา ยังเป็นผู้ออกไปทำสงคราม กับ นรกาสุระ (नरकासुर/Narakasura) เคียงคู่กับพระกฤษณะที่เมืองปราคชโยติษปุระ (प्राग्जयोतिषपुर/Pragjyotish Pura) อีกด้วย.
3.พระนางชามพวันตี (जाम्बवन्ती/Jambavanti)
พระนางชามพวันตี ทรงเป็นธิดาของชามพวนต์ (जाम्बवन्त/Jambavanta) จอมฤกษ์ (หมี) ซึ่งในเตรตายุค ชามพวนต์นั้นเป็นหนึ่งในหารเอกของพระราม ในการทำสงครามกับเหล่ารากษส ณ สุวรรณนคร ลงกา
ชามพวนต์ ได้มอบธิดาของตนชามพวันตี เพื่อเป็นของขวัญ แลไถ่โทษต่อพระกฤษณะ ที่ได้ต่อสู้กับพระองค์ โดยมิทราบว่า แท้จริงแล้วพระองค์ก็คือ พระศรีรามที่ได้เสด็จมาหาตนในทวาปรยุค ในขณะที่พระกฤษณะออกตามหาแก้วมณีสยมนตกะ เพื่อคืนแก่พระสัตราชิต และพิสูจน์ตนว่า ตนนั้นบริสุทธิ์มิได้เกี่ยวข้องกับการสิ้นชีพิตักษัยของพระประเสน และ ไม่ได้ชิงแก้วมณีไปครอง
4.พระนางกาลินที หรือ ยมุนา (कालिन्दी/यमुना – Kalindi/Yamuna)
พระนางกาลินที หรือ ยมี ยมุนาก็เรียก พระนางทรงเป็นพระธิดาในองค์พระสูรยเทพ และพระกนิษฐาในองค์ยมเทพ
พระนางทรงได้รับการช่วยเหลือจากอรชุน (अर्जुन/Arjuna) พระสหายคนสนิท และพระญาติฝั่งบิดาของกฤษณะ ในการสู่ขอพระกฤษณะเป็นพระสวามี ด้วยพระนางนั้นทรงปรากฏองค์ต่อขัตติยะทั้งสอง ขณะดื่มน้ำพักผ่อนบนตลิ่งริมน้ำยมุนา ขัตติยะทั้งสองสนใจในตัวนาง อรชุนจึงเข้าไปสนทนากับพระนาง จึงทราบว่า พระนางนั้นมีความประสงค์จะเป็นมเหสีของกฤษณะ อีกทั้งทรงอ้อนวอนให้อรชุนนำความไปบอกพระกฤษณะ อรชุนจึงแจ้งให้มาธวะทราบ เมื่อทราบเช่นนั้น พระศรีนาถจึงรับนางเป็นพระมเหสี สมดังใจหมาย
5.พระนางสัตยา หรือ นัคนชิติ (सत्या/नग्नजिति – Satya/Nagnajiti)
พระนางสัตยา ทรงเป็นพระราชธิดาของท้าวนัคนชิต (नग्नजित/Nagnajita) แห่งแคว้นโกศล (कोसल/Kosala) ด้วยเหตุนี้จึงมีอีกนามว่า นัคนชิติ (नग्नजिति/Nagnajiti) และ เกาศัลยา (कौसल्या/Kausalya)
พระนางนัคนชิติ ทรงเป็นอวตารของพระนีลา เทวี (नीला देवी/Neela Devi) พระมเหสีองค์หนึ่งของพระวิษณุ
พระกฤษณะทรงได้รับชัยชนะในพิธีสยุมพรของพระนาง โดยพระองค์ทรงกำราบโคถึกถึงเจ็ดตัวไว้ได้ จึงได้พระนางเป็นพระมเหสี โดยที่พระนางก็แอบมีพระทัยให้กฤษณะมานานแล้วเช่นกัน และในการกำราบโคถึกนั้นเองพระองค์ทรงได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่พระนางสัตยาว่า ถึงแม้นพระองค์จักทรงมีพระมเหสีและสนมมากมาย หากแต่พระองค์ทรงอยู่กับทุกพระนางอย่างเท่าเทียมกัน มิต้องกังวลว่าจะห่างเหิน ด้วยพระองค์ทรงแบ่งตนเอง เป็นเจ็ดองค์เข้ากำราบโคถึก
6.พระนางมิตรวินทา (मित्रविन्दा/Mitravinda)
พระนางมิตรวินทา ทรงเป็นพระธิดาของท้าวชัยเสน (जयसेन/Jayasena) กษัตริย์แห่งแคว้นอวันตี (अवन्ती/Avanti) ทรงมีพระเชษฐาสองพระองค์นามว่า วินทยะ (विन्द/Vinda) และ อนุวินทยะ (अनुविन्द/Anuvinda) ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ ทุรโยธน์
พระนางมิตรวินทา ทรงหมายมั่นกฤษณะเป็นคู่ครอง หากแต่พระเชษฐามิเห็นด้วย และปรารถนาให้นางได้ครองคู่กับทุรโยธน์มากกว่า ในพิธีสยุมพรพระนางจึงแอบส่งสาสน์ให้กฤษณะช่วย พระกฤษณะจึงลักพาตัวนางในพิธีสยุมพร
7.พระนางภัทรา (भद्रा/Bhadra)
พระนางภัทรา ทรงเป็นพระธิดาของท้าวธฤษฏเกตุ (धृष्टकेतु/Drishtaketu) กษัตริย์แห่งไกเกยะ (कैकेय/Kaikeya) ด้วยเหตุนี้จึงมีอีกนามหนึ่งว่า ไกเกยี (कैकेयी/Kaikeyi)
พระนางภัทราเองนั้นก็แอบหมายมั่นในกฤษณะเช่นกัน และพระนางก็เลือกกฤษณะในพิธีสยุมพร
8.พระนางลักษมณา (लक्ष्मणा/Lakshmana)
พระนางลักษมณา ทรงเป็นพระธิดาของกษัตริย์แห่งแคว้นมัทระ ในศรีมัทภาควตะปุราณะกล่าวว่า พระกฤษณะทรงลักพาตัวนางจากพิธีสยุมพร
อีกตำนานกล่าวว่า ทรงได้รับชัยชนะในพิธีสยุมพร.
นอกจากนี้พระกฤษณะยังมีพระสนมอีก 16,100นาง ซึ่งนางเหล่านั้นมาจากการที่พระองค์มีชัยเหนือ นรกาสุระ (नरकासुर/Narakasura) อสูรนรกะได้ลักพาตัวพวกนางมากักขังไว้ เมื่อพระกฤษณะทรงปราบอสูรร้ายลง พวกนางได้รับอิสระ แต่พวกนางไม่มีที่พึ่งพิง อีกทั้งเสน่หาในองค์กฤษณะ จึงอาราธนาถึงกฤษณะให้รับพวกนางไว้ พระกฤษณะจึงรับพวกนางไว้เป็นสนม จะเห็นได้ว่าพระองค์ไม่ได้วิวาห์กับพวกนางด้วยราคะ แต่ทรงรับพวกนางไว้ด้วยความกรุณา และทรงตอบสนองต่อทุกความปรารถนาต่อผู้ที่มีความรัก ความภักดีต่อพระองค์ มิใช่เป็นไปอย่างที่บางคนเอาไปพูดกล่าวถึงในทำนองว่า กฤษณะเป็นคาสโนว่า โชกโชนเรื่องรักไคร่ วิวาห์นับครั้งไม่ท้วนเหมือนบุรุษทั่วไปในโลกวัตถุ ซึ่งเป็นความคิดของปุถุชนทั่วไป ในความเป็นจริงแล้ว เหล่าพระมเหสี และสนมทั้งหลายต่างเป็นผู้ภักดีต่อพระองค์ และบำเพ็ญเพื่อให้เขาถึงพระองค์มานานหลายชาติ หลายยุค หลายสมัยแล้ว ด้วยการบำเพ็ญนั้นจึงส่งให้พวกเขาเหล่านั้นได้มาใกล้ชิดรับใช้พระองค์ในสถานะต่างๆกันไป เช่นเดียวกัน วสุเทพ,เทวกี,นันทะ และยโศทา อีกทั้งเหล่าโคบาล และโคปิกา พวกเขาเหล่านั้นต่างผ่านการบำเพ็ญมาแล้วหลายชาติ หลายยุค หลายกัลป์ เพื่อเข้าถึงกฤษณะ และพระปุรุโษตตมะก็ทรงตอบสนองต่อพวกเขาเหล่านั้น.
มุรุเกศัน โควรทนธารี ทาส
(กิตติกร อินทรักษา)