ไจตันยะ มหาประภุ (चैतन्य महाप्रभु/Chaitanya Mahaprabhu) หรือ เคาราจารย์ (गौराचार्य/Gauracharya) ท่านนั้นเป็นคุรุในเคาฑียะ ไวษณวะ (गौडीय वैष्णव/Gaudiya Vaishnava) และผู้เผยแพร่ปรัชญา อจินตยะ-เภทาเภทะ (अचिन्त्य-भेदाभेद/Achintaya-Bheda-Abheda) อันมีใจความว่า ชีวาตมันนั้นไม่แตกต่างไปจาก พรหมัน (องค์อภิวิญญาณ คือ กฤษณะ) แต่ในขณะเดียวกันก็แตกต่างกัน
เคาราจารย์ ท่านสมภพเมื่อ 536 ปีที่แล้ว (ค.ศ.1486) ที่นพทวีป (नवद्वीप/नबद्वीप,Navadwip/Nabadwip) ในรัฐสุลต่านเบงกอล (ปัจจุบันอยู่ในรัฐเบงกอลตะวันตก) โดยมีนามแต่เดิมว่า วิศวัมภร มิศระ (विश्वम्भर मिश्र/Vishvambhar Mishra) ถือกำเนิดแด่บิดาชคันนาถ มิศระ และ มารดาศจี เทวี โดยท่านได้ถือกำเนิดในวันผาลคุนี ปูรณิมา (फाल्गुनी पूर्णिमा/Phalguni Purnima) หรือ วันเพ็ญในเดือนผาลคุณี ใต้ต้นสะเดา (निम्बवृक्ष/Nimba Vriksha) ด้วยเหตุนี้ท่านจึงมีฉายา หรือ อีกนามหนึ่งว่า นิมาอี (निमाई/Nimai) อีกทั้งมีฉวีวรรณที่งดงามดังทอง จึงมีอีกนามว่า เคาระ (गौर/Gaura) หรือ เคารางคะ (गौराङ्ग/Gauranga) กล่าวกันว่า เคาราจารย์นั้นมีสติปัญญาเป็นเลิศตั้งแต่วัยเยาว์ รวมทั้งการร้องสวดสรรเสริญพระเป็นเจ้า ศรีกฤษณะแต่วัยเยาว์เช่นกัน
ในช่วงแรกรุ่นหลังจากการละสังขารของบิดา ในพิธีศารทที่เมืองคยา ท่านได้พบกับพระคุรุ อีศวระปุรี (श्रीगुरुईश्वर पुरी/Shri Guru Ishvara Puri) ซึ่งท่านได้รับเคาระเป็นศิษย์ และถ่ายทอดกฤษณะ มหามนตระให้แก่เคาราจารย์ จากนั้นเคาราจารย์ก็เริ่มเผยแพร่กฤษณะ มหามนตระออกไปในชุมชนที่ท่านอาศัยอยู่ และเป็นที่เคารพเลื่อมใส จากนั้นท่านได้ขอสละชีวิตคฤหัสถ์บวชเป็นสันยาสี กับ พระศรีปาท เกศวะ ภารตี (श्रीपाद केशव भारती/Shri Pada Keshava Bharati) โดยได้รับทีกษานาม ว่า ไจตันยะ (चैतन्य/Chaitanya) หมายถึง ผู้ตื่นรู้ หลังจากสละชีวิตคฤหัสถ์แล้ว พระศรีเคาราจารย์จึงจาริกไปยังทุกหนแห่ง เพื่อเผยแพร่กฤษณะ มหามนตระ และการขับร้องนามะ สังกีรตนะ พร้อมทั้งเหล่าศิษย์สาวกผู้ติดตาม หากแต่เมืองปุรีนั้น เป็นปุณยสถานที่ศรีเคาราจารย์พำนักนานที่สุดถึง 24ปีด้วยกัน (เมืองปุรี ปุณยเกษตรแห่งพระศรีชคันนาถ)
พระคชปติกษัตริย์แห่งปุรี และเหล่าสาวกผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ต่างยกย่องสรรเสริญท่านว่า แท้จริงแล้วท่านนั้นเป็นองค์อวตารแห่งพระศรีกฤษณะ พร้อมทั้งทิพยอำนาจแห่งพระองค์ ศรีมตี ราธา รานี เพื่อนำทางปุณยาตมาทั้งหลาย ให้กลับคืนสู่พระภควาน, ศรีเคาราจารย์บรรลุมุกติเมื่อมีพระพรรษาได้ 48 พรรษา (ค.ศ.1534) นับเป็นเวลา 48ปี ที่ทรงพำนักในภูโลก เพื่อถ่ายทอดหลักภักติโยคะ อันเป็นแก่นแท้แห่งการเข้าถึงพระภควาน ศรีกฤษณะ และ พระภควตี ศรีราธา รานี