เทวะตำนาน

สุภัทรา ปูรวชนมะ รหัสยะ

ในครั้งนี้เราจะมากล่าวถึง บูรพชนม์ (ปูรวชนมะ) หรือ อดีตชาติ ของ พระนางสุภัทรา (सुभद्रा/Subhadra) พระชายาในท้าวกิรีฏิน (किरीटिन्/Kiritin)(ผู้สวมใส่กิรีฏมงกุฏ ฉายาหนึ่งของพระอินทร์ และท้าวอรชุน) และพระขนิษฐาอันเป็นที่รักของพระศรีกฤษณะกัน
อันพระนางสุภัทรานั้นเป็นพระธิดาในองค์วสุเทวะ (वसुदेव/Vasudeva) กับ พระนางโรหิณี (रोहिणी/Rohini) ทรงกำเนิดภายหลังพระวสุเทพได้รับการปล่อยตัวจากการถูกจองจำ หลังจากการสิ้นชีพของกังสะผู้ทรราช ซึ่งนั้นแปลว่า พระนางทรงถือกำเนิดขึ้นในขณะที่พระกฤษณะ และ พระพลเทพย่างเข้าสู่วัยหนุ่มแล้ว ในตำนานสมัยใหม่อันเป็นที่แพร่หลาย และเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้างนั้น กล่าวว่า พระนางนั้นทรงเป็นอวตารแห่ง พระโยคมายา (योगमाया/Yogamaya) หรือ พระทุรเทวี (श्री दुर्गा देवी/Sri Durga Devi) ผู้เป็นรูปปรากฏแห่งพลังมายา หรือ พลังอำนาจเบื้องต่ำของพระพิษณุ และได้รับการบูชาร่วมกับ พระชคันนาถ (ปุรุโษตตมะ ศรีกฤษณะ) และ พระพลเทวะ (เศษะนาค/พระสังกรรษณะ) ในฐานะพระขนิษฐา และอวตารของพระโยคมายา ณ เมืองปุรี อันเป็นปุณยเกษตร หากแต่ตามคัมภีร์ปุราณะทั้งหลายนั้น มิได้ระบุอย่างชัดเจนว่า พระนางสุภัทรานั้นเป็นรูปอวตารของพระไวษณวี หากแต่กล่าวถึง เพียงการกำเนิดพระเทวีเอกานังศา (एकानंशा/Ekanamsha) ผู้มาเป็นตัวตายตัวแทนพระวาสุเทพ หรือ องค์นารายณ์อวตารเท่านั้น

ซึ่งตามปุราณะต่างๆจะกล่าวถึง เมื่อครั้นพระจักรีเจ้าจักทรงเสด็จอวตารลงมายัง ภูโลก (พื้นพิภพนี้ซึ่งเราอาศัยอยู่ เป็นหนึ่งในสิบสี่ภพภูมิในคติฮินดู) พระองค์ทรงอาราธนาถึง พระนางโยคมายา ซึ่งเป็นรูปแห่งพลังอำนาจของพระองค์เองให้ปรากฏขึ้นต่อเบื้องพระพักตร์ และมีโองการให้พระนางผู้ไวษณวี (ทรงไว้ซึ่งพลังอำนาจแห่งพระวิษณุ) ไปสลับทารกในครรภ์ของนางเทวกี ซึ่งเป็นอวตารของ พระสังกรรษณะ (รูปหนึ่งของพระพิษณุเจ้า ซึ่งพญาเศษนาคก็ถือเป็นภาคหนึ่งของพระองค์เอง) สู่ครรภ์ของพระนางโรหิณี ผู้แท้จริงแล้วคือ นางกัทรู มารดาแห่งเหล่านาคด้วยอำนาจแห่งพระนาง และครั้นพระองค์อวตารสู่ครรภ์พระนางเทวกี ให้พระนางอุบัติแก่ครรภ์นางยโศทา พระนางทรงน้อมรับพระโองการแห่งพระภควาน และปฏิบัติตามพระบัญชา

ครั้นเมื่อพระองค์ทั้งสองอุบัติขึ้น พระวสุเทพได้แหกคุกสลับพระโอรส (องค์นารายณ์อวตาร) กับ ธิดาของนันทะ โคบาล (เทวีอวตาร) ตามโองการแห่งพระนารายณ์ ด้วยการช่วยเหลือจากพระนารายณีผู้ภัทรานั้นเอง ครั้นพญากังสะทราบเรื่องการกำเนิดของพระธิดา ก็รีบรุดไปยังคุกหลวงคว้ากุมารีน้อยผู้โกมลางคี(มีร่างกายบอบบาง)นั้นไว้ หมายจะทุบกับศิลาให้แหลกลาญ หากแต่พระกุมารีน้อยนั้นกลับหลุดลอยไปจากมือสู่ท้องนภากาศ พลันปรากฏเป็นเทพีผู้มีแปดกร น่าเกรงขาม มีรัศมีส่องอำไพเจิดจรัสไปทั่วนภากาศนั้น พระเทวีทรงลั่นวาจา เตือนอสูรด้วยพระสุรเสียงอันกึกก้องว่า “เจ้าผู้โชดชั่วเอ๋ย เจ้ามิสามารถสังหารเราได้หรอก บัดนี้ผู้ที่จะมาสังหารเจ้านั้นได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว” เมื่อพญากังสะผู้มีวิสัยเยี่ยงอสูรได้แลเห็น และได้สดับฟังเช่นนั้นแล้วก็ตกใจเป็นยิ่งนัก เมื่อทรงกล่าวเตือนมารแล้ว ก็ทรงอันตธานหายไป เหล่าทวยเทพต่างพากันสรรเสริญพระนาง และอาราธนาให้พระนางเสด็จมาสู่พื้นพิภพ เพื่อปกป้องพื้นพิภพนี้ พระนางทรงตอบรับคำอาราธนาของเหล่าทวยเทพ และฤๅษีมุนีทั้งหลาย ทรงปรากฏองค์ประทับในพื้นพิภพนี้ บนขุนเขาวินธยะเพื่อคุ้มครองผู้ประพฤติในธรรม และขจัดเหล่ามารในโลกหล้า จึงทรงพระนามวินธยวาสินี (विन्ध्यवासिनी/Vindhyavasini) อันหมายถึง พระนางผู้ทรงประทับสถิตในเขาวินธยะ ในการอวตาร(ในระยะสั้นๆ)ครั้งนี้ของพระนางได้รับการกล่าวขานว่า เอกานังศา (एकानंशा/Ekanamsha) อันหมายถึง พระนางเจ้าผู้เป็นหนึ่ง ผู้ไร้ซึ่งการสืบทอด (อนังศะ หมายถึง ไม่มีส่วนร่วม หรือ ไม่ได้รับการสืบทอดมรดก) และมิได้กล่าวถึงอวตารของพระนางอีกเลย

แต่ก็มิได้แปลว่า พระนางสุภัทรา จะเกิดแบบไม่มีที่มาที่ไปนะครับ จากการค้นขว้าของผม ก็พบข้อมูลจากหลายแหล่งว่า ในคัมภีร์มหาภารตะ ตาตฺปรยะ นิรณยะ (महाभारततात्पर्यनिर्णय/Mahabharata Tatparya Nirnaya) กล่าวถึง พระนางสุภัทรา ในอดีตชาติคือ นางรากษสี ตริชฎา (त्रिजटा/Trijata) ในเตรตายุค นางได้ถือกำเนิดในวงศ์รากษสของนครลงกา เป็นธิดาของท้าววิภีษณะ (विभीषण/Vibhishana)(ไทยเรารู้จักในนามพิเภก) นางเป็นผู้ดูแลสวนอโศก ของพญาราพณาสูร หรือ ทศกัณฐ์ ครั้นพระภควดี สีดา ได้ถูกลักพาตัวมากักขั้งไว้ในสวนอโศก ก็มีนางตริชฎานี้แลเป็นผู้ดูแล และเป็นผู้เดียวที่ปฏิบัติต่อพระนางอย่างดี ในขณะประทับในกรุงลงกาดงรากษส อันเนื่องมาจากนิมิตของนางตริชฎาเอง ที่นิมิตถึงองค์ราม พร้อมกองทัพยกมาตีลงกาให้พังพินาศ นางตริชฎาจึงตระหนักว่า พระราม ผู้เป็นภัสดาของเทวีสีดานี้หาใช่มนุษย์สามัญอย่างแน่นอน จึงปฏิบัติต่อเทวีสีดาอย่างดีเยี่ยมงบุตรี และกล่าวเตือนนางรากษสีตนอื่นๆในปกครอง มิให้บังคับขืนใจนางด้วยมายา หรือ กระทำไม่ดีต่อพระนางอีก พร้อมเล่านิมิตของตนให้ฟัง เหล่านางรากษสีต่างก็พากันเชื่อตามนิมิต ด้วยผลกุศลกรรมในส่วนนี้เอง จึงส่งผลทำให้ในยุคต่อมา นางตริชฎาได้มากำเนิดเป็นพระขนิษฐา ขององค์กฤษณาวตาร ผู้นารายณ์อวตาร

ในขณะที่คัมภีร์ พรหมไววรรตะ มหาปุราณะ (ब्रह्मवैवर्त महापुराण/Brahmavaivarta Mahapurana) ในขันฑ์ที่สี่ กฤษณชนมะ ขัณฑะ (कृष्णजन्म खण्ड/Krishna Janma Khanda) กล่าวว่า พระนางสุภัทรานั้นเป็นส่วนหนึ่งจาก พระนางศตรูปา (शतरूपा/Satarupa) ชายาของพระสวยัมภุวะ มนุ (स्वयंभुव मनु/Swayambhuva Manu) หรือผู้หญิงคนแรกของโลกในปกรณัมฮินดู ขณะที่พระนางเทราปที ถูกระบุว่า เป็นส่วนหนึ่งจากพระนางกมลา (พระลักษมี) ซึ่งสอดคล้องกับข้อความใน ครรคะ สังหิตา (गर्ग संहिता/Garga Samhita) อันกล่าวว่า พระวายุผู้ทรงพลกำลังเสด็จลงมาเป็น ภีมะ พระสวยัมภุวะ มนุเสด็จมาเป็น อรชุน พระนางศตรูปา เสด็จมาอุบัติเป็น สุภัทรา และ สวิตา (พระอาทิตย์) มาอุบัติเป็น กรรณะ

ส่วนคัมภีร์สกันทะ มหาปุราณะ (स्कन्द महापुराण/Skanda Mahapurana) ในนคร ขัณฑะ (नगर खण्ड/Nagara Khanda) กล่าวว่า ในอดีตชาติของพระนางสุภัทรา เป็นธิดาฤๅษีมีนามว่า มาธวี บำเพ็ญตบะเพื่อให้พระพิษณุเจ้ารับนางเป็นพระชายา ความทราบถึง พระศรีลักษมี พระมเหสีแห่งองค์ไวกุณฐนาถ พระเทวีก็กริ้วสาปแช่งนางให้มีใบหน้าอัปลักษณ์เป็นม้า หากแต่ด้วยพระกรุณาแห่งพระศรีปติ พระองค์ทรงอำนวยพรแก่นาง ให้พระนางกำเนิดเป็นพระกนิษฐาของพระองค์ และพระองค์จะเสียสละเพื่อนำใบหน้าอันงดงามกลับคืนมาแก่นาง ซึ่งในทวาปรยุค นางก็ได้มากำเนิดเป็นธิดาของท้าววสุเทพ กับ พระนางสุประภา (พระชายาอีกพระองค์ของวสุเทพ) แต่มีพระพักตร์เป็นม้ายังให้บิดา มารดาโทมนัสเป็นยิ่งนัก พระกฤษณะเห็นเช่นนั้น จึงทรงนำพระธิดาน้อยไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และทรงกระทำซึ่งพิธียัชญะ,การถือพรต และการให้ทาน ณ ที่แห่งนั้น จนในสิ้นปีนั้น พระพรหมา ได้ปรากฏองค์อำนวยพรให้พระนางมีใบหน้าที่สวยงาม ทรงเสน่ห์

ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เป็นเนื้อหาอันว่าด้วย ชาติกำเนิดก่อนของพระนางสุภัทรา พระขนิษฐาอันเป็นที่รักของ พระยาทเวนทร์ (พระผู้เป็นใหญ่ในวงศ์ยทุ) พระชายาผู้ทรงเป็นยอดหฤทัยในองค์กปิธวช (ผู้มีธงเป็นรูปพญาวานร คือ ท้าวอรชุน) และพระมารดาของ อภิมันยุ ยุพกษัตริย์ผู้กล้าหาญ ซึ่งหลายๆคนยังไม่ทราบ ในวันนี้ผมจึงขอเรียบเรียงนำมาเผยแพร่ให้ได้ทราบกัน.

แหล่งข้อมูล อ้างอิง
https://www.quora.com/Whose-incarnation-was-Subhadra

https://www.quora.com/Was-Subhadra-an-incarnation-of-Devi…

“List of avatars in Mahabharata – Bhagavan Bhakthi (Hinduism)” https://bhagavanbhakthi.com/2018/09/avatars-in-mahabharata/

เรียบเรียงนำเสนอโดย มุรุเกศัน โควรธนธารี ทาส
(กิตติกร อินทรักษา)