เทวะตำนาน

Sharada

พระศารทามพา แห่ง ศฤงเคริ (Shree Sharadamba of Shringeri)

อันนาม ศารทา (शारदा / ಶಾರದಾ / Sharada) นั้นเป็นนามหนึ่งของพระสรัสวตี อันหมายถึง พระนางผู้ทรงสงบเยือกเย็นดังฤดูศารท (ฤดูใบไม้ร่วง) และเมื่อสนทิกับคำว่า อัมพา (अम्बा / ಅಂಬಾ/Amba) และ อัมพิกา (अम्बिका /ಅಂಬಿಕಾ/Ambika) ซึ่งหมายถึงมารดาแล้วนั้นก็จักได้รูปว่า ศารทามพา (शारदाम्बा /ಶಾರದಾಂಬಬಾ/Sharadamba) และ ศารทามพิกา (शारदाम्बिका /ಶಾರದಾಂಬಿಕಾ/Sharadambika)
อันหมายถึง พระมารดาผู้ทรงสงบเยือกเย็นดังฤดูศารท

ณ ศฤงเคริ (ಶೃಂಗೇರಿ/Shringeri) ในเขตจิกกะมคฬูรุ (ಚಿಕ್ಕಮಗಳೂರು/Chikkamagaluru) ของรัฐกรรนาฏกะ (ಕರ್ನಾಟಕ / Karnataka)ในอินเดียตอนใต้ ยังเป็นอีกหนึ่งปุณยสถานของพระนางอันเลื่องชื่อ อันเนื่องด้วยพระอาทิศังกราจารย์ทรงเป็นผู้สถาปนาด้วยตนเอง โดยกล่าวถึงเมื่อครั้ง พระอาทิศังกราจารย์ (आदि शंकराचार्य / ಆದಿ ಶಂಕರಾಚಾರ್ಯ / Adi Shankaracharya) นักปรัชญาอัทไวตะเวทานตะอันลือนาม ได้โต้วาทีทางปรัชญากับ มัณฑนะ มิศระ (मण्डन मिश्र / ಮಣ್ಡನ ಮಿಶ್ರ / Mandana Mishra) นักปรัชญามีมางสา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอวตารของพระพรหมา โดยมีข้อตกลงว่าผู้แพ้จักต้องมาเป็นศิษย์ของผู้ชนะ และมีนางอุภยภารตี (उभयभारती / ಉಭಯಭಾರತೀ / Ubhayabharati) ภรรยาของมัณฑนะ ซึ่งเป็นนักปรัชญาหญิงผู้มีสติปัญญาเป็นเลิศ เชื่อกันว่าเป็นอวตารของพระศารทา เป็นผู้ตัดสิน แต่นางอุภยภารตีนั้นรู้ว่า ศังกราจารย์นั้นมีความรู้ความเก่งกาจเพียงใด และล่วงรู้ว่าศังกระนั้นคืออวตารของพระทักษิณามูรติ และตนก็มิอาจเข้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ จึงนำพวงมาลัยมาคล้องให้ทั้งสองโดยในการโต้วาทีหากพวงมาลัยผู้ใดเหี่ยวเฉาก่อนเป็นผู้แพ้ การโต้วาทีทางปรัชญาระหว่างสันนยาสี ศังกระ และ มัณฑนะ จึงเป็นไปอย่างดุเดือด และจบลงด้วยพวงมาลัยของมัณฑนะนั้นเหี่ยวเฉา มัณฑนะยอมรับในความรู้อันละเอียดอ่อนของศังกราจารย์ และยินดีที่จักบวชเป็นสันนยาสีตามศังกราจารย์ แต่อุภยภารตีได้เข้ามาคัดค้าน โดยกล่าวตนเป็นภรรยาของมัณฑนะ และเป็นอีกครึ่งของมัณฑนะ ศังกราจารย์จะไม่ได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์หากยังมิสามารถชนะนางได้ โดยนางอุภยภารตีได้เสนอให้ศังกราจารย์โต้วาทีกับนาง ในคราแรกพระอาทิศังกราจารย์ทรงปฏิเสธ โดยกล่าวว่า ตนมิปรารถนาจักโต้วาทีกับสตรี หากแต่กลับได้รับคำต่อว่าจากอุภยภารตี ในเรื่องสิทธิสตรี การเหยีดเพศ และทรรศนะต่อสตรี พระอาทิศังกราจารย์จึงรับข้อเสนอที่จะโต้วาทีกับนาง การโต้วาทีระหว่าง ศังกราจารย์ กับ นางอุภยภารตี จึงเป็นไปอย่างดุเดือดและยาวนานเป็นเวลา 17วัน จนกระทั่งนางอุภยภารตีแลเห็นว่า ศังกราจารย์นั้นมีความรู้และสติปัญญาทางด้านความรู้พระเวทเป็นเลิศ และมิอาจสู้ได้ จึงได้ตั้งคำถามในโลกิยศาสตร์ หรือ กามศาสตร์ ต่อศังกราจารย์ ซึ่งศังกราจารย์นั้นได้รับการทีกษาป็นสันนยาสีตั้งแต่อายุเพียง 9พรรษา และมิอาจรู้เรื่องทางโลกิยะได้ จึงเป็นคำถามที่ค่อนข้างยากต่อศังกราจารย์ พระอาทิศังกราจารย์จึงขอเวลานาง 1เดือน ในการหาคำตอบ ซึ่งนางอุภยภารตีได้ยอมรับข้อเสนอ ในช่วงเวลาหนึ่งเดือน พระอาทิศังกราจารย์ ได้ใช้พลังโยคะถอดจิตไปอยู่ในร่างอันไร้วิญญานของกษัตริย์อมรุ แห่งกัศมีระ (แคชเมียร์ในปัจจุบัน) เพื่อเรียนรู้ศาสตร์ของโลกิยะในร่างของกษัตริย์ และนำมาตอบคำถามของนางอุภยภารตี นางอุภยภารตีและมัณฑนะ ได้ยอมรับความรู้อันลึกซึ้งของศังกราจารย์ และกล่าวว่า พระอาทิศังกราจารย์นั้นคือ อวตารแห่งพระสทาศิวะเทพแห่งวิทยาและศาสตร์ต่างๆอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับ อาทิศังกราจารย์ที่ยอมรับภารตี เป็นอวตารแห่งพระศารทา เทวีแห่งวิทยาความรู้ทั้งปวงอย่างแท้จริง และกล่าวกับนางว่าตนจักสร้างสถานที่อันเป็นที่สักการะแด่นาง
มัณฑนะได้รับการทีกษาเป็นสันนยาสีติดตามศังกราจารย์ และได้นามใหม่ว่า สุเรศวร (सुरेश्वर / ಸುರೆಶ್ವರ / Sureshwara)
ถึงกระนั้นนางอุภยภารตีก็ขอติดตามไปในการจาริกด้วย ด้วยเหตุผลทางปรัชญานานับการ พระอาทิศังกราจารย์จึงยินยอมให้นางติดตามคณะในการจาริกด้วย

พระอาทิศังกราจารย์ พร้อมทั้งคณะ และนางอุภยภารตีได้ดำเนินจาริกไปทุกหนแห่ง จนกระทั่งจาริกมาถึง ศฤงคะ คิรี (शृङ्ग गिरी / ಶೃಂಗ ಗಿರಿ / Shringa Giri) อันเคยเป็นที่ตังอาศรมของ ฤษยศงฤงคะ ซึ่งในรามายณะ ได้กล่าวไว้ว่า ฤษยศงฤงคะ มุนี ได้บำเพ็ญตบะจนทำให้แคว้นอังคะ (บริเวณรัฐเบงกอลในปัจจุบัน) แห้งแล้งไร้ซึ่งฝน จนกระทั้งกษัตริย์แห่งแคว้นอังคะต้องส่งพระธิดาไปทำลายตบะ และยกธิดาให้เป็นชายา ต่อมาพระทศรถกษัตริย์แห่งแคว้นโกศลได้อันเชิญ ฤษยศงฤงคะ มุนี มาประกอบพิธียัชญะเพื่อขอพระโอรส จนสำเร็จสมความปรารถนา
เมื่อถึง ฤษยศงฤงคะ คิรี นางอุภยภารตีได้หยุดการดำเนินลง พระอาทิศังกราจารย์แลเห็นแล้วว่า ภารตีนั้นมิอาจดำเนินได้อีกต่อไป และปรารถนาที่จะพำนักอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นขณะเดียวกันที่อาทิศังกราจารย์ได้แลเห็นทิวทัศน์อันงดงาม และความเป็นปุณยสถานของสถานที่แห่งนี้ ด้วยแลเห็นพญาอสรพิษกำลังแผ่แม่เบี้ยปกป้องแม่กบซึ่งกำลังวางไข่ของตนอยู่ ณ ริมฝั่ง ตุงคภัทรา นที (तुङ्गभद्रा नदी / ತುಂಗಭದ್ರಾ ನದಿ / Tungabhadra Nadi) หรือ ตุงคา นที (तुङ्गा नदी / ತುಂಗಾ ನದಿ / Tunga Nadi) ซึ่งเป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ศังกราจารย์เป็นอย่างยิ่ง ที่สัตว์อันดุร้ายกับมีความเมตตา ณ ที่แห่งนี้ อันบ่งบอกถึงความเป็นปุณยสถาน พระอาทิศังกราจารย์จึงเชื่อว่า พระศาทามพา ทรงประสงค์จักพำนักอยู่ ณ ปุณยสถานแห่งนี้อย่างแน่นอน จึงประดิษฐานเทวปฏิมาพระศารทาทรงประทับยืนแกะสลักจากไม้จันทน์ (กล่าวกันว่า เทวปฏิมานี้มาจากกัศมีระ) บนปีฐะอันก่อจากศิลา และศรียันตระ พร้อมทั้งสถาปนาสำนักใหญ่ของตนประจำทิศใต้ ณ ที่แห่งนี้ และแต่งตั้งให้ สุเรศวร เป็นศังกราจารย์ประจำสำนัก ศฤงเคริ ศารทามพา แห่งนี้
เชื่อกันว่า พระอาทิศังกราจารย์โปรดปรานที่แห่งนี้มากและได้พำนัก ณ ที่แห่งนี้อยู่ถึง 12ปี จากช่วงเวลา 32ปี ของช่วงเวลาชีวิตทั้งหมดของท่าน.

ในช่วงพันกว่าปีที่ผ่านมาเทวสถานได้รับการบูรณะอยู่หลายยุคหลายสมัย และได้รับการสร้างในหลายศิลปะ เช่น แบบเกรละ โจฬะ จาลุกยะ จนถึงช่วงวิชยนคร
ในช่วงวิชยนครนั้นกองทัพมุสลิมได้เข้าโจมตีสถานที่แห่งนี้จนได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก และเทวปฏิมาไม้จันทน์อันเก่าแก่ก็ได้ถูกทำลายลง กษัตริย์แห่งวิชยนครจึงจัดสร้างเทวปฏิมาพระศารทามพาองค์ใหม่ขึ้นจากทองคำ ในท่าประทับนั่งปัทมาสนะ (ขัดสมาธิเพชร) ทรงแสดงชินนมุทรา ในพระกรขวาล่าง อันหมายถึง การแสดงความรู้ และทรงนกแก้วคอแหวนสีกุหลาบ หรือ นกแก้วโม่ง พร้อมอักษะมาลา ในพระกรขวาบน อันหมายถึง การตั้งสมาธิอยู่ในมนตระ การท่องมนตระ หรือวาจา
ทรงถือคัมภีร์ในพระกรซ้ายล่าง และทรงหม้อน้ำอมฤตในพระกรซ้ายบนอันหมายถึง ความรู้อันเป็นอมตะ
เชื่อกันว่า ผู้ได้สักการะบูชา และทรรศนะพระเทวี ณ ศงเคริ ปีฐะ เทียบเท่ากับได้บูชา และทรรศนะพระศารทา พระวิษณุปริยา และ พระหิมคิรีตนยา พร้อมกัน และจักได้รับพรอันประเสริฐจากพระศักติ.

โอํ ศฺรีศฺฤงเคริปีฐนิวาสินี ศฺรีศารทามฺพาไย นมะ

คำอ่าน
โอม ศรีศฤงเคริปีฐะนิวาสินี ศรีศาระทามพาไย นะมะห์

อ่านออกเสียงสำเนียงอินเดีย
โอม ชรีชริงเห์ริ ปีฐะนิวาสินี ชรีชาระดามบาไย นะมะฮะ

ความหมาย

โอม ความนอบน้อมมีแก่ พระมารดาศารทาผู้ทรงศรี พระผู้ประทับ ณ ศฤงเคริปีฐะอันทรงสิริ

อ้างอิง
https://www.karnataka.com/sringeri/sharadamba-temple/

https://www.sringeri.net/…/abridged-madhaviya…/part-3

Adi Sankara An Illustrated Story Page 29-33 Marathon debate with Mandana Misra – Sharada Peetham at Sringeri

เรียบเรียงนำเสนอโดย กิตติกร อินทรักษา