“อาฏิมาสัม-เดือนทมิฬตามปฏิทินสูรยคติ!!!”
สำคัญยังไง? ทำไมต้องมู?????
ชัย ศรีมันนารายณะ!… ในปีปัจจุบันนี้ เวลาก็ได้ล่วงเลยมาจนถึงครึ่งปีหลังแล้ว ในครึ่งเดือนแรกของครึ่งปีหลังก็ กาลของเดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์และการอุทิศตน อันมีความสำคัญยิ่งต่อทุกนิกายและสายสัมประทายะ นั่นคือช่วง…”อาฏิมาสัม”… ก็ได้กลับมาเยือนอีกครา..
ในช่วงอาฏิมาสัมนี่ ผู้ศรัทธาทุกหมู่เหล่าทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยของเราก็ต่างเฝ้ารอที่จะได้ทำการบูชาและอุทิศตนต่อพระเป็นเจ้าผู้เป็นที่รักในรูปนามต่าง ๆ ที่ตนศรัทธากัน
แต่แล้วทำไม? เพราะอะไร? เดือน”อาฏิ”ถึงได้สำคัญนัก และเดือนนี้มีความพิเศษยังไง? แล้วมีอะไรต้องทราบบ้างเกี่ยวกับอาฏิมาสัม? ติดตามแต่ละหัวข้อได้ ในบทความนี้เลยยยย!…
○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○
…”อาฏิมาสัม – #Ādi_Māsam“…
ในบรรดาเดือนทั้งสิบสองเดือนตามปฏิทินแบบสูรยคติของชาวทมิฬนั้น เดือน”อาฏิ”นับเป็นเดือนลำดับที่ 4 และหากนับตามปฏิทินสากลแล้ว จะเข้าสู่ช่วงเดือนอาฏิมาสัมประมาณช่วงกลางเดือนกรกฏาคมและจะไปสิ้นสุดลงในช่วงกลางเดือนสิงหาคม
แม้ว่าในคัมภีร์อาคมะและบทประพันธ์ศักดิ์สิทธิ์”ติรุมุไร”ของชาวทมิฬจะไม่ได้กล่าวถึงความโดดเด่น หรือ กำเนิด ความเป็นมาและความสำคัญของเดือนอาฏิไว้โดยตรง ไม่เหมือนเช่นเดือน”จิตติไร”ที่ถูกนับเป็นช่วงปีใหม่ และเดือน”ไท”ที่เป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ยังไงก็ตามชนชาวทมิฬก็ยังเฉลิมฉลองและทำการอุทิศตนเพื่อการบูชาปรนนิบัติพระเป็นเจ้าในเดือนนี้อย่างเสมอมา…
เพราะเดือน อาฏิมาสัม นั้นมีความสำคัญ มีความศักดิ์สิทธิ์และมงคลเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลหลัก ๆ 2 ประการ
ประการแรก เดือนอาฏิมาสัม-และช่วงเวลาที่เรียกว่า”ทักษิณายัน”เป็นช่วงที่ฤดูแล้งสิ้นสุดลงและเริ่มเข้าฤดูฝน-ฤดูมรสุม ในช่วงเวลานี้แหละ ที่พื้นที่ส่วนใหญ่จะถูกปกคลุมไปด้วยมวลน้ำที่เข้าเอ่อท่วมเพราะห่าฝน สัตว์เลื้อยคลานน้อยใหญ่ ตั้งแต่ตัวหนอนกินใบไม้ไปจนถึงแมลงต่าง ๆ ทั้งที่ไม่มีพิษและทั้งที่มีพิษทั้งกัดได้ ต่อยได้ ก็จะออกมาหากินกันชุกชุม จนเรียกได้ว่าเป็นช่วง”ประลัย”หรือ ช่วงแห่งความพินาศ ความหายนะประจำปีบนโลกมนุษย์ กิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมงคลทางโลก(เลากีกะ/โลกียะ)เช่น งานหมั้น งานวิวาห์ การขึ้นบ้านใหม่และการซื้อยานพาหนะคันใหม่ก็ถูกหยุดชะงักไว้ก่อน
ทำให้ชนชาวทมิฬมีเวลาว่างจากการทำงานบ้าง พวกเขาจึงมีเวลาอยู่กับตนเอง อยู่กับครอบครัวและธรรมชาติ มีเวลาขัดเกลาจิตใจตนเองและปฏิบัติตามเส้นทางแห่งจิตวิญญานมากขึ้น พวกเขาจึงใช้เวลาว่างตรงนี้หันมาประพฤติปฏิบัติถือพรตบูชา-สวดมนตร์สดุดีถวายต่อเทพเจ้า/พระเป็นเจ้า เพื่อความเข้าถึงในธรรมและความเป็นธรรมชาติ และเพื่อหวังว่าอานิสงส์จากพรตจะช่วยให้เขามีความอยู่รอดปลอดภัยตลอดช่วงฤดูมรสุม และเพื่อให้เทพเจ้าแห่งสายฝน อย่าง พระนางมาริอัมมัน พึงพอใจในพรตและช่วยดลบันดาลฝนฟ้าให้ตกต้องตามสมควร ให้พืชผลออกรวงอกกดอกผลงดงาม ตามความปรารถนาอีกด้วย
และเหตุผลประการถัดมา… ก็ด้วยมีความเชื่อที่เชื่อมโยงไปยังเรื่องของ”ความแตกต่างระหว่างเวลาในโลกมนุษย์และเวลาในเทวโลก”… เพราะในหนึ่งปีของโลกมนุษย์เทียบเป็นเวลา 1 วันบนเทวโลกเท่านั้น!
ซึ่งเราจะสามารถสังเกตุการเข้าสู่ช่วงเวลา”กลางคืน”ของเทวโลกได้จาก”การเคลื่อนโคจรของพระอาทิตย์”
ในช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เริ่มโคจรปัดลงไปทางขั้วโลกใต้ เราจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า”ทักษิณายนะ” พระอาทิตย์จะใช้ระยะเวลาหกเดือนโคจรผ่านเรือนราศี ทั้ง 6 ราศีคือ ราศีกรกฏ ราศีสิงห์ ราศีกันย์ ราศีตุลย์ ราศีพิจิก และ ราศีธนู ตามลำดับ โดยจุดที่เรียกว่า”ทักษิณายนะ”นี้ เริ่มต้นในวันที่เรียกว่า”ทักษิณายนะ ปุณยกาละ หรือ กฏก สันกรานติ” คือ วันที่พระอาทิตย์ยกข้ามจากราศีมิถุนาเข้าสู่ราศีกฏก/กรกฏ ในประมาณวันที่ 16-17 เดือน กรกฏาคมของทุกปี ซึ่งในทางโหราศาสตร์แบบสูรยคติแบบทมิฬจะเป็นวันแรกของเดือน”อาฏิ”พอดิบพอดี
ซึ่งในช่วง”ทักษิณายัณ”นี้นี่แหละ ที่ช่วงระยะเวลาในเวลากลางวันจะสั้นลง แต่ช่วงระยะเวลาในเวลากลางคืนจะยาวนานขึ้น ทำให้มีความเชื่อว่า ทักษิณายัณ เป็นช่วงเวลาที่”เทวโลก”เริ่มเข้าสู่เวลาพลบค่ำ - ราตรีกาล…
○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○
เมื่อบนเทวโลกเริ่มเข้าสู่ช่วงเวลากลางคืนแล้ว… ช่วงเวลานั้นเป็นอันรู้กันว่า… “พระวิษณุเจ้า”พระผู้ทรงทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองโลกและจักรวาล ก็จะเสด็จเข้าสู่นิทรารมณ์
พระองค์ทรงหลับใหลเหนือพญาอนันตนาคกลางทะเลน้ำนมเป็นเวลาสี่เดือน(นับตามเวลาของโลกมนุษย์) พระองค์เข้าบรรทมในดิถีที่รู้จักในชื่อว่า วัน”เทวศยนี เอกาทศิ, ปรถมะ เอกาทศิ, มหา เอกาทศิ, อาษาฒี เอกาทศิ, ปัทมะ เอกาทศิ หรือ เทวโปธิ เอกาทศิ”… พระองค์ทรงเริ่มบรรทมตั้งแต่ฤกษ์ ศุกลปักษ์, เอกาทศิ ดิถี, อาษาฒ มาศ
ดิถี ขึ้น 11 ค่ำ เดือนอาษาฒ และจะตื่นบบรรทมอีกทีในวัน”ประโพธินี เอกาทศิ”(ดิถี ขึ้น 11 ค่ำ เดือนการติกะ)
ซึ่งนับว่าเป็นวันสำคัญทางศาสนาที่มีความสำคัญต่อศาสนิกชนชาวไวษวสัมประทายะและศาสนิกชนชาวฮินดูของสัมประทายะอื่น ๆ โดยทั่วไปเช่นกัน ซึ่งเราต่างเรียกช่วงเวลาสี่เดือนนี้ว่า…”จตุรมาสยะ/จตุรมาส”***…
○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○
อีกคำถามสำคัญที่ทุกคนอาจสงสัยก็คือ… แล้วทำไมเดือนอาฏิมาสัมถึงถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมาก ๆ ต่อการบูชาพระเทวีศักติ??? #อาฏิมาสัมมูพระเทวีศักติทำไม???
ก็เพราะในทางโหราศาสตร์ทมิฬได้ระบุไว้ว่าเดือนอาฏินี้เป็นเดือนแห่ง”ศักติ”เป็นเดือนแห่ง”พลังงาน”… โดยปกติแล้วจักรวาลจะมีพลังงานที่เป็นสภาวะคู่ที่เรียกว่า”ปุรุษะ-ประกฤติ/ศิวะ-ศักติ หมุนเวียนสลับกันไปให้เกิดการสร้างสรรค์ต่าง ๆ แต่ในช่วงอาฏิมาสัมมีพลังงานของ”ศักติ” พลังงานแห่งผู้เป็น”แม่”หมุนเวียนอยู่มากกว่า… “ศักติ”เป็นทั้งพลัง และเป็นทั้งความเมตตากรุณาแห่งองค์พระเป็นเจ้าเอง ฉะนั้นศาสนิกชนจึงได้อุทิศตนบูชาต่อ”พลังแห่งความเป็นมารดา”ในเดือนนี้
ในทางความเชื่อ… ช่วงเวลาของอาฏิมาสัม-ทักษิณายนะนี้ พระวิษณุเจ้าผู้ทำหน้าที่ปกปักษ์รักษาโลกได้เข้าสู่ห้วงนิทรารมณ์ โลกก็จะถูกละไว้ให้อยู่ในการคุ้มครองของ*”พระเทวี-ศักติ”*และอวตารต่าง ๆ ขององค์พระวิษณุเอง จึงเป็นที่มาให้ชนชาวทมิฬ”นิยมถือพรตและถวายการบูชาต่อพระเทวีศักติและเทวีในความเชื่อพื้นถิ่น เช่น พระแม่มาริอัมมัน พระแม่ทุรคา พระแม่ศรีมหาลักษมี พระแม่กาลี ต่าง ๆ เป็นต้น”เพื่อให้พระเทวีต่าง ๆ พึงพอพระทัย อำนวยอวยพรให้มีศิริมงคลในชีวิต มีความอุดมสมบูรณ์ในครัวเรือน สุขภาพแข็งแรง และ ที่สำคัญ คือ มอบความคุ้มครองให้พวกเขาอยู่เสมอ
○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○○
นอกจากนี้ ในเดือนอาฏิมาสัมเองก็ยังมีฤกษ์-ดิถี-วันพิเศษที่มีความสำคัญซ่อนอยู่อีกหลายวัน เริ่มตั้งแต่…
“#อาฏิ_ปิรัปปุ/อาฏิ_ปัณฑิไก”
อาฏิป์ปิรัปปุ/ปัณฑิไก แลว่า วันเริ่มต้น/วันแรกแห่งการเข้าสู่เดือนอาฏิมาสัม ในวันนี้ถือว่ามีความมงคลมากต่อการบูชาและการทำกิจกรรมเพื่อการกุศลต่าง ๆ ในวันนี้คนส่วนใหญ่ในครอบครัวจะมารวมตัวกันแล้วเริ่มทำอาหารประจำฤดูกาลบูชาต่อเทพเจ้า จากนั้นแจกจ่ายกันกินในครัวเรือนและวงศ์ญาติ อาหารชนิดนั้นก็คือ เมนู”อาฏิกูฬ”(โจ๊กข้าวฟ่าง) และ โกฬุกกัตไต(แป้งข้าวจ้าวผสมถั่วบดต้ม ใส่มะพร้าวขูดกับน้ำตาลทรายแดง)
“#อาฏิป์ปูรัม-ติรุวาฏิป์ปูรัม”
เป็นวันที่”นักษัตร ปูรัม หรือ ปูรวะ ผาลคุนะ”ปรากฏขึ้นในเดือนนี้ ใน”ศรีไวษณวะ สัมประทายะ” ท่านนักบุญเปริยาฬวาร์ได้พบเข้ากับทารกหญิงนอนอยู่ใกล้ ๆ กระถางต้นกะเพรา ในวันเสาร์ ดิถีขึ้น 14 ค่ำ ปรากฏนักษัตร”ปูรัม”ในวันนั้น… ซึ่งต่อมา เด็กหญิงคนนั้นเติบโตขึ้นมาเป็น 1 ใน 12 ปุณยกวีแห่งศรีไวษณวะสัมประทายะ ซึ่งท่ามกลางปุณยกวี 12 ท่าน มีเพียงแค่พระนางเท่านั้นที่เป็นสตรีเพศ ต่อมาพระนางเป็นที่รู้จักกันในนามว่า”ศรี อาณฑาล/โคทา นาจจิยาร์” และเชื่อกันอีกว่าท่านเป็นอวตารแห่ง”พระภูมิเทวี” จึงได้ยกให้วันที่ท่านเปริยาฬวาร์พบเข้ากับพระนางอาณฑาล เป็นวันชยันตี/ติรุนักษัตร(วันเทวสมภพ)ของพระนาง
ในทาง”ไศวะ-ศากตะ”เชื่อว่าในวันนี้เป็นวันที่พระนางเคารีเริ่มโตเป็นสาววัยเจริญพันธุ์ อีกทั้งยังถือเป็นฤกษ์วิวาห์ของพระนางปารวตีและพระศิวะ แถมยังมีเรื่องเล่าอีกว่าพระแม่ปารวตีได้ลงมาเยี่ยมเยือนสาวกในวันนี้ และได้จำแลงรูปเป็นหมอตำแยไปช่วยทำคลอดหญิงท้องแก่ อีกด้วย ทำให้ในวันนี้จะมีการทำพิธีกรรมที่เรียกว่า”วไลกาปปุ”คือการสวมกำไลรับขวัญให้แก่หญิงท้องแก่ ที่มีอายุครรภ์ราว 7 เดือน เพื่ออวยพรให้เธอมีชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์… ด้วยเหตุการณ์นี้ทำให้ในแต่ละเทวสถานมีการจำลองเหตุการณ์-แต่งองค์ให้พระเทวีในเทวสถานอยู่ในอิริยาบถของหญิงท้องแก่ และจะนำกำไลข้อมือไปถวายต่อพระเทวีเพื่อขอพรให้ครอบครัวตนมีความอุดมสมบูรณ์ และอีกนัยหนึ่งเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อพระเทวี ผู้เป็นมารดาแห่งจักรวาล ผู้เป็นนายหญิงแห่งความมงคลทั้งปวง…
“#อาฏิอัมมาวไส-คืนเดือนดับในเดือนอาฏิ”
ในทางพิธีกรรมแล้ว ในทุก ๆ คืนเดือนดับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะกระทำ”พิธีปิตฤ-ตรรปณะ หรือ ศราทธะ”เพื่อ อุทิศผลปุณย์ไปยังพ่อแม่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และในฤกษ์คืนเดือนดับแรกในช่วงทักษิณายัน-เดือนอาฏินี้จะถือว่าอานิสงส์จะส่งถึงผู้ล่วงลับได้ไวสุด ด้วยเหตุผลที่ว่า”ปิตฤโลก/ยมโลก”โลกแห่งผู้ล่วงลับนั้นอยู่ทางทิศใต้ และตัวพระอาทิตย์เอง ในทางโหราศาสตร์พระเวทพระอาทิตย์สื่อถึง”จิตวิญญาณ/อาตมัน” การที่พระอาทิตย์โคจรไปสู่ทักษิณายัน(ปัดใต้-ขั้วใต้)ทำให้ภพของมนุษย์เข้าใกล้กับภพโลกของคนตายมากขึ้น ทำให้อานิสงส์ส่งถึงผู้ล่วงลับได้ไวขึ้นกว่าเดิม
“#อาฏิเศววาย วันอังคาในเดือนอาฏิ”
ว่ากันตามตำนานท้องถิ่นของชาวทมิฬ คราวหนึ่งพระศิวะทรงอยู่ในสมาธิ และได้มีเหงื่อจากพระเนตรที่สามหยดลงมาต้องพื้นดิน เหงื่อนั้นได้กลายมาเป็นพระกุมารองค์หนึ่ง มีผิวกายสีแดง ซึ่งต่อมาถูกชุบเลี้ยงโดยพระแม่ภูมิเทวี ต่อมากุมารองค์นั้นได้นามว่า”เศววาย” พระกุมารเศววายกระทำตบะถวายต่อพระศิวะจนพระองค์พอใจจึงอำนวยพรให้ได้เป็นดาวพระเคราะห์ดวงนึง (ในตรงนี้ก็ค่อนข้างสอดคล้องกับฝั่งวรรณกรรมสันสกฤตที่ระบุไว้ว่าพระมังคละ หรือ พระอังคาร เป็นบุตรแห่งพระแม่ภูมีเทวี/พระธรณี) เมื่อองค์พระเคราะห์เศววายถือเป็นบุตรแห่งพระศิวะ ก็ถือว่าพระองค์เป็นบุตรพระนางปารวตีเช่นกัน ฉะนั้นการถือพรตกระทำบูชาในวันอังคาร อันมีพระเศววายเป็นใหญ่อยู่ ก็จะทำให้พระเทวีผู้เป็นมารดาแห่งพระเศววายพึงพอใจได้รวดเร็วขึ้น
“#อาฏิเวลลิ วันศุกร์ในเดือนอาฏิ”
อย่างที่ทราบกันว่าเดือนอาฏิ เป็นเดือนแห่งสตรี เป็นเดือนอันเปี่ยมไปด้วยพลังของผู้หญิงแล้ว นอกจากนี้”วันศุกร์”ก็ยังเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับสตรีอีกด้วย
วันศุกร์ หรือ เทพพระเคราะห์พระศุกร์”ในทางโหราศาสตร์นั้น นับเป็นตัวแทนของ,ความสุกสว่าง,ความสดใส,ความสวยความงาม,สตรีเพศ,ความมั่งคั่งและความหรูหราศิวิไลซ์เป็นต้น(หากมองในทางความเชื่อตะวันตกดาวศุกร์ก็เป็นตัวแทนของเทพสตรีวีนัส ผู้เป็ตัวแทนของความงามความมีเสน่ห์) และในชีวิตของคนเรา อำนาจอิทธิพลของดาวพระเคราะห์พระศุกร์นั้นก็ส่งผลต่อสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ดังที่กล่าวไว้แล้วในความตอนต้นด้วย ฉะนั้นการบูชาซึ่งพระเทวีในรูป-นามต่าง ๆ ทั้งหลายนั้น เป็นที่ทราบกันอย่างดีว่า ก็เพื่อให้ได้รับอานิสงส์ในทางของการมีโชค การออกเรือน มีชีวิตคู่ที่ดี มีคู่ครองที่ดี ครอบครัวมีความร่มเย็นเป็นสุข ดังนี้เป็นต้น
การถวายการบูชา-การสวดมนตร์ก็ดี หรือการถือพรตต่อพระเทวีก็ดี ที่ได้กระทำในวันศุกร์อันเป็นวันที่มีอิทธิพลและพลังของสตรีเพศมาเกี่ยวเนื่อง ย่อมทำให้เกิดอานิสงส์หรือได้รับการตอบสนองจากพระเทวีในสิ่งที่ตนปรารถนาได้อย่างรวดเร็วขึ้น ฉะนั้นแล้ว… การเข้าหาหรือบูชา สวดมนตร์ ถือพรตภวายต่อพระเทวีในรูป-นามทั้งหลายใด ๆ ก็ตามแต่ เช่น พระศรีมหาลักษมีเทวี พระศรีทุรคาเทวี และพระศรีสรัสตีเทวี ในฤกษ์วันศุกร์จึงถือเป็นมงคลและเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง
“#อาฏิป์เปรุกกุ“
แน่นอนว่าเดือนอาฏิมาพร้อมกับฤดูฝน ฉะนั้นแม่น้ำลำคลองก็เอ่อนองไปด้วยมวลน้ำ น้ำเป็นอีกปัจจัยสำคัญต่อชีวิตและต่ออาชีพเกษตรกรรม ฉะนั้น”น้ำ”จึงได้รับการสรรเสริญว่าเป็น”แม่” เชื่อกันว่าในทุก ๆ วันที่ 18 ของเดือนอาฏิ กระแสน้ำแรกจะไหลหลากมา เกษตรกรและชาวนาก็จะต่างพากันมาถวายการเคารพสักการะต่อแม่น้ำ ลำคลอง แอ่งน้ำ หรือแม้แต่บ่อน้ำที่ใช้ทำกิน และในรัฐทมิฬนาฑู แม่น้ำสายสำคัญโดยเฉพาะ แม่น้ำกาเวรี จะได้รับการบูชาอย่างละเอียดปรานีตที่สุด
“#อาฏิก์กฤตติไก“
เป็นวันที่”กลุ่มดาวนักษัตร กฤติกา”ปรากฏขึ้นในเดือนนี้ และตามเทวปกรณัมแล้ว”พระมุรุกัน”ทรงมีเทวสมภพจากพีชะแห่งพระศิวะในเดือนนี้ พระองค์ทรงกำเนิดในสระที่เต็มไปด้วยต้นกก และทรงได้รับการชุบเลี้ยงจากสตรีหกนาง และเมื่อถึงเวลาที่พระศิวะและพระนางเคารีมารับพระโอรสคืนสู่ไกลาส พระองค์ทรงได้ประทานพรให้สตรีทั้งหกนางได้เป็น กลุ่มดาวนักษัตรที่มีนามว่า”กฤติกา” พระมุรุกันผู้ที่เปรียบเสมือนบุตรแห่งนางกฤติกาทั้งหก เลยได้ฉายาว่า”การติเกยะ อันแปลว่า บุตรแห่งนางกฤติกา”ไปด้วย ศาสนิกชนจึงจัดการบูชาอย่างยิ่งใหญ่เพื่อระลึกถึงพระองค์ในฤกษ์นี้ด้วย
“#อาฏิเปารณิมา/อาษาฒ เปารณิมา”
คืนเดือนเพ็ญในเดือนอาฏิ ก็เป็นอีกฤกษ์มงคล นอกจากนี้ยังมีความสำคัญเพราะเป็นวัน”#คุรุปุรณิมา“แล้ว ก็ยังเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อว่าวัน”วยาสะ เปารณิมา”อีกด้วย… ฤๅษีกฤษณะ ทไวปายนะ ได้กำเนิดในวันนี้ และภายหลังท่านได้เป็นที่รู้จักในฉายานามใหม่ว่า”เวทะ วยาสะ”อันมาจากการที่ท่านได้รวบรวมพระเวทขึ้นมาใหม่และจำแนกออกเป็นสี่เล่ม อีกทั้งท่านยังมีความสำคัญต่อวรรณกรรมในศาสนาเป็นอย่างมาก เพราะท่านเป็นคนรจนามหากาพย์ภารตะ, 18 ปุราณะ – อุปปุราณะ, ภาควตะปุราณะ และ พรัหมสูตระ
นอกจากนี้ อาฏิ เปารณิมา ยังเป็นวันที่พระศิวะผู้เป็นอาทิโยคีถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับโยคะศาสตร์ให้แก่มหาฤๅษี 7 ตนเป็นครั้งแรก ณ สระกันติสโรวระ ในยุคต่อ ๆ มา เหล่าโยคี ฤๅษี สันยาสี ดาบสผู้สละเรือน จึงยึดถือเอาวันนี้เป็นวันแห่งคุรุ อีกทั้งยังเริ่มปฏิบัติ”จตุรมาสยะ พรต”(เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาเข้าพรรษาในศาสนาฮินดู)ในวันนี้อีกด้วย
เหล่าสันยาสีผู้สละเรือนแล้ว ผู้ที่มีวัตรปฏิบัติด้วยการไม่อาศัยอยู่ใต้ชายคาเดิมมากกว่า 1 วัน ก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยอยู่ในสถานที่เดิมได้ตลอดระยะเวลา 4 เดือน(จำพรรษา) เพราะการมาของฤดูฝนทำให้การเดินทางเป็นเรื่องลำบาก อีกทั้งต้นอ่อนของพืชต่าง ๆ ก็เริ่มแตกหน่อขึ้นมา พวกสัตว์และหนอนแมลงก็ออกมาหากิน สันยาสีผู้มีวัตรปฏิบัติด้วยความเมตตาจึงหลีกเลี่ยงการเดินทางเพื่อมิให้ต้องไปเหยียบย่ำต้นพืชหรือพรากชีวิตแมลงเล็ก ๆ ให้ต้องเสียหายล้มตาย
ตลอดระยะเวลา 4 เดือนนี้ได้ถูกกำหนดให้มีวัตรปฏิบัติในเรื่องการบริโภคเคร่งครัดกว่าเดิมเพื่อเป็นการรักษาสุขภาพของตนเอง และจะใช้เวลาในช่วงนี้ไปกับการสวดภาวนาทบทวนพระเวท พรัหมสูตร ไวยากรณ์ และ ปรัชญา พระคัมภีร์ต่าง ๆ จากนั้นก็จะตีความและนำมาถ่ายทอดต่อศิษย์ต่อไป…
#สรุปโดยรวมแล้ว… เดือนอาฏิเป็นเดือนที่อุดมไปด้วยความมงคล เพราะตลอดทั้งเดือนจะมีดิถีที่แฝงไว้ด้วยกุศโลบายและกุศลกรรมให้”คฤหัสถ์ ผู้ครองเรือน”ได้อุทิศตนกระทำภาระหน้าที่อันสำคัญ อันพึงกระทำในชีวิต 5 ประการ อันเรียกว่า”ปัญจะ มหายัชญะ” อันมี 1.พรัหมะยัชญะ หรือ ฤษียัชญะ, 2.เทวะ ยัชญะ, 3.ปิตฤ ยัชญะ, 4.ภูตะ ยัชญะ และ 5.มานุษยะ ยัชญะ
ยาคะกรรมทั้ง 5 สามารสำเร็จสมบูรณ์ได้ก็ผ่านการกระทำหน้าที่ ดังนี้… ด้วยการทบทวน อ่านท่อง พระเวทและคัมภีร์ต่าง ๆ ก็ถือว่าได้สำเร็จใน พรัหมะ ยาคะ แล้ว
การถวายสักการะบูชา ถือพรตบริสุทธิ์ รวมไปถึงการโหมกูณฑ์บูชาต่อเทพไท้เทวา ก็ถือว่าได้สำเร็จใน เทวะ ยาคะ แล้ว
ด้วยการประกอบพิธีตรรปณะ หรือ ศราทธะ อุทิศแก่ บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ปิตฤ ยัชญะ ก็สำเร็จแล้ว
เมื่อเราได้เอื้อเฟื้อ แบ่งปันอาหาร-ผลไม้อะไรก็ตาม ให้แก่เหล่าสัตว์-สิ่งมีชีวิตใด ๆ ได้กิน เช่นการโยนก้อนข้าวให้นกกากิน การกระทำนั้นก็ถือว่าเราได้ทำภูตะ ยัชญะสำเร็จไปแล้ว
และท้ายที่สุด เมื่อเราได้แสดงน้ำใจช่วยเหลือ รับใช้ อุทิศตนต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง การกระทำ มานุษยะ ยัชญะ ของเราก็ถือว่าสมบูรณ์ครบถ้วนแล้วด้วย
การฝึกฝนปฏิบัติแบบนี้ทุก ๆ ไม่จำกัดว่าจะต้องทำอยู่แค่ในเดือนอาฏิเท่านั้น แต่สามารถทำได้ทุกวัน และทุกครั้งเมื่อมีโอกาส เพราะจะเป็นการฝึกฝนตัวเราเองให้มีความเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อทุก ๆ สิ่งมีชีวิต ลดอัตตา ลดความเกลียดชัง ลดความอิจฉาริษยา ลดความเห็นแก่ตัวออกไป และจะทำให้ตัวเรารู้จักที่จะมีความสุขได้จากการเห็นผู้อื่นมีสุขเช่นกัน…
และทั้งหมดนี้ คือสิ่งน่ารู้เกี่ยวกับ”อาฏิ มาสัม”
ติดตามบทความเรื่องงงง “อาฏิมาสัมในวรรณกรรมทมิฬ”และ”ความสำคัญของอาฏิมาสัมกับไวษณวะสัมประทายะ”ได้ ในเร็ว ๆ นี้