เทวะตำนาน

มุนีศวรัน – Muneeshwaran

มุนีศวรัน (முனீஸ்வரன்/Muneeshwaran) เป็นหนึ่งในเทพผู้พิทักษ์ชุมชนของชาวตมิฬ นับถือเป็นอีกภาคหนึ่งของพระศิวะในฐานะเจ้าแห่งปราชญ์ทั้งปวง ผู้ให้การคุ้มครองชุมชนและการเดินทางออกนอกชุมชนในยามวิกาล พระองค์ทรงเป็นที่นับถือยิ่งของชาวตมิฬทั้งในอินเดียใต้ และในหมู่ชาวตมิฬผลัดถิ่น เช่นใน มาเลเซีย และสิงคโปร์ พระองค์ทรงเป็น กาวัล เดย์วัม (காவல் தெய்வம்/Kaval deivam) หรือ เทพผู้พิทักษ์ชุมชนที่ได้การเคารพบูชายิ่ง และโดดเด่นกว่า เทพผู้พิทักษ์ชุมชนองค์อื่นของชาวตมิฬ อย่าง กรุปปัน ซามิ,มทุไร วีรัน,กาตตวรายัน และอรวาน เป็นต้น และถือเป็นผู้นำของเทพเหล่านั้นอีกด้วย
ตำนานขององค์มุนีศวรัน เป็นในแบบตำนานพื้นบ้าน มุขปาฐะ โดยกล่าวว่า พระมุนีศวรัน ทรงปรากฏออกมาจากพระนลาฏของพระศิวะ ในคราที่พระศิวะทรงพิโรธพระทักษะที่ได้กล่าวดูหมิ่นพระองค์ในพิธีมหายัชญะ และเป็นเหตุให้พระทากษายณี (พระสตี) ต้องทำการเผาตนเองด้วยเพลิงแห่งตบะเพื่อชำระบาปที่ได้สดับฟังคำดูหมิ่นพระสวามี และพระเจ้าของตนจากโอษฐ์ของบิดาตน โดยพระมุนีศวรันทรงปรากฏออกมาเจ็ดรูปด้วยกัน โดยรับหน้าที่ไปลงโทษผู้เห็นดีเห็นงามกับพระทักษะ และให้การคุ้มครองผู้ไม่มีความผิดในพิธีมหายัชญะของทักษะ ประชาบดี
อีกตำนานกล่าวถึง พระมุนีศวรันทั้งเจ็ดรูป ปรากฏมาเพื่อทำการอารักขา พระอุมา ในขณะที่อันธกาสุระได้มาทำสงครามกับพระศิวะเพื่อชิงตัวพระอุมาไป
พระมุนีศวรันทั้งเจ็ดรูปนี้มักปรากฏประดิษฐานในวัดของ ปัจไจ อัมมัน (பச்சை அம்மன்/Pacchai Amman) และ เทวีท้องถิ่นอื่นๆในบางพื้นที่ของตมิฬ โดยเชื่อว่า พระมุนีศวรัน ทรงมีหน้าที่ให้การคุ้มครองอารักขา พระอุมา หรือ พระศักติในรูปแบบต่างๆ เช่นเดียวกับพระไภรวะ
ในบางแห่งอาจพบเห็นการบูชาพระมุนีศวรัน ในหลายรูป หลายปาง หรือ กล่าวได้ว่า เป็นคณะมุนีเทพก็ว่าได้ โดยมีสองคติด้วยกัน คือ ปัญจมุนี (மச்சமுனி/Panchamuni) หรือ คณะมุนีเทพ5องค์ ได้แก่
1.วาฬมุนิ (வாழ்முனி/Vazhmuni)
2.เซมมุนิ (செம்முனி/Semmuni)
3.กะรุมุนิ (கருமுனி/Karumuni)
4.มุตตุมุนิ (முத்துமுனி/Mutthu Muni)
5.เวทมุนี หรือ เวดะมุนิ (வேதமுனி/Vedamuni)
และ สัปตะมุนี (சப்தமுனி/Saptamuni) หรือ คณะมุนีเทพ7องค์ ได้แก่
1.วาฬมุนิ (வாழ்முனி/Vazhmuni)
2.เซมมุนิ (செம்முனி/Semmuni)
3.มุตตุมุนิ (முத்துமுனி/Mutthu Muni)
4.ชฏามุนี หรือ จะตามุนิ (ஜடாமுனி/Jadamuni
5.ปาลักกาฏฑุ มุนิ (பல்லக்காட்டு முனி/Pallakkattu Muni)
6.เวทมุนี หรือ เวดะมุนิ (வேதமுனி/Vedamuni)
7.อิลาฏะ มุนิ (இலாடமுனி/Ilada Muni)
ซึ่งบางแห่งอาจมีรายนามแตกต่างจากที่ยกไปข้างต้น
ในด้านพระนามโดยรวมเรียกขานมีหลากหลายแตกต่างกันไป เช่น มุนีศวรัน (முனீஸ்வரன்/Muneeshwaran),มุนิยาณฑิ (முனியாண்டி/Muniyandi),มุนิซามิ (முனிசாமி/Munisami) และ มุนิยัปปัน (முனியப்பன்/Muniyappan) เป็นต้น
ในส่วนของรูปเคารพมักปรากฏเป็นแท่งหิน หรือ ปรากฏพบเห็นเป็นเทวปฏิมาในรูปของชายหนุ่มฉกรรจ์ไว้หนวดเครา สองกร นุ่งห่มเครื่องอาภรณ์สีขาว หรือ สีเหลือง ในมาเลเซีย และสิงคโปร์โดยมากมักพบเห็นประดับศิราภรณ์เป็นผ้าโพกสีขาวด้วย หรือ ปล่อยผมสยาย ทรงนุ่งเวษฏิ (โสร่งอินเดีย) อย่างเรียบร้อย ดูเคร่งขรึม ในขณะที่อินเดียมักปรากฏเป็นคณะ และสวมเครื่องศิราภรณ์เป็นมงกุฏ มีเพียงชฏามุนี ที่ไว้ชฏามงกุฏ (ไว้มวยผมสูงเป็นชั้น)หรือ ปล่อยผมสยาย
ในพระกรมักทรงอาวุธเป็นตรีศูล หรือ ดาบ ซึ่งดาบนั้นถือเป็นอาวุธทั่วไปที่พบเห็นได้บ่อยในรูปเคารพของเทพผู้พิทักษ์ชุมชนของทางอินเดียใต้.
เรียบเรียงโดย มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)