เทวะตำนาน

กุเวร

ท้าวกุเวร หรือที่เรียกนามอีกด้วยว่า “เวสวัน” หรือ “ไพษรพน์” มีกำเนิดเป็นยักษ์และมีบริวารเป็นยักษ์ แต่เหตุใดจึงเข้าข้างฝ่ายเทวดาทุก ๆ คราวที่เทวดารบกับยักษ์? ข้อนี้ย่อมเป็นข้อฉงนของคนโดยมากแท้จริงในเรื่องรามเกียรติ์ก็มีแถลงประวัติของท้าวกุเวรแต่ในที่นั้นเรียกว่า “ท้าวกุเปรัน” จึงไม่มีใครสำเหนียกว่าเป็นตัวเดียวกันกับท้าวกุเวรรั้นเอง มีนามกลายเป็น “กุเปรัน” ไปนั้น ข้าพเจ้าสันนิฐานว่าคงเป็นไปโดยทางเดียวกับ “เซอร์ เจมส์ บรุก” กลายเป็น “ชีจำปลุ๊ก” เช่นที่กล่าวมาแล้วในคำอธิบายที่ ๑๔ กล่าวคือ พราหมณ์ผู้เป็นครูคงได้ออกนามว่า “กุเพร” ซึ่งตามสำเนียงสันสกฤตก็คล้าย “กุเบรัน” ผู้จดจึงจดลดลงตามที่ตนได้ยินแล้วเมื่อคัดลอกต่อกันมา หางตัว บ ยาวออกจึงกลายไปเป็นเป ส่วนประวัติในต้นรามเกียรติ์กล่าวได้ถูกต้องดีพอประมาณแต่เพราะเหตุที่ “ท้าวกุเปรัน” นับตั้งแต่ถูกทศกัณฑ์แย่งบุษบกแล้วก็มิได้กล่าวถึงอีกคนไทยโดยมากจึงมิใคร่ได้ใฝ่ใจถึง ฉะนั้นที่นี้ข้าพเจ้าขอแถลงประวัติของท้าวกุเวรโดยย่อ ตามที่มีในอุตตรกัณฑ์แห่งรามายณะและเก็บจากที่อื่นประกอบบ้างพอสมควร ในกฤตยุค พระปุลัสตยะประชาบดี ผู้เป็นมานะสาบุตรของพระพรหมบำเพ็ญฌานอยู่ในป่าหิมพานต์ ให้รับความรำคาญเป็นอันมาก เพราะมีสตรีหลายคนชอบไปขับลำทำเพลงและจับระบำเล่นที่ข้างอาศรม พระปุลัสตยะจึงประกาศคำสาปไว้ว่า ถ้าหญิงใดเข้าไปใกล้อาศรมของเธออีกให้เกิดมีครรภ์ มีนางกษัตริย์องค์ ๑ ซึ่งเป็นบุตรีของท้าวตฤณะวินทุ  มิได้ทราบคำสาปนี้เดินเข้าไปใกล้อาศรม จึงเกิดมีครรภ์ ครั้นท้าวตฤณะวินทุทราบ ดังนั้นก็เลยยกธิดาให้แก่พระปุลัสตยะ และนางมีโอรสชื่อวัสวิศระ หรือ เรียกตามกำเนิดว่า “เปาลัสตยะ” […]