พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย
การพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย นั้นเป็น พิธีสองพิธีต่อกัน คือ พิธีตรียัมปวายกับพิธีตรีปวาย พิธีตรียัมปวายเป็นพิธีฝ่ายพระอิศวร ส่วนพิธีตรีปวายเป็นพิธีฝ่ายพระนารายณ์ ซึ่งได้กระทำติดต่อกันไป แบ่งการพระราชพิธีออกเป็นสามขั้นตอน
ตอนแรก เป็นพิธี เปิดประตูศิวาลัยไกรลาส อัญเชิญเทพเจ้าลงสู่มนุษย์โลก เพื่อทรงประทานพร จากนั้นเป็นพิธีโล้ชิงช้าของนาลิวัน เพื่อหยั่งความมั่นคงของโลกว่าจะมีความแข็งแรงทนทานดีอยู่หรือไม่
ตอนที่สอง เป็นกรรมพิธีของพราหมณ์ กล่าวสรรเสริญเทพเจ้า ถวายข้าวตอก ดอกไม้ เครื่องกระยาบวช โภชนาแก่เทพเจ้า สิ่งเหล่านี้เป็นอาหารทิพย์ เมื่อถวายแด่องค์เทพเจ้าแล้ว จะได้นำมาแจกจ่ายแก่มวลมนุษย์เพื่อความสวัสดิมงคลแก่ผู้บริโภค
ตอนที่สาม เป็นกรรมพิธีสรงน้ำเทพเจ้า เสร็จแล้วอัญเชิญสู่หงส์ ซึ่งเป็นพาหนะที่นำองค์เทพเจ้า กลับคืนสู่วิมาน ตอนนี้เรียกว่า “กล่อมหงส์” หรือ “ช้าหงส์”
ประวัติความเป็นมาของพระราชพิธี
ตรียัมปวาย
ชื่อพิธีพราหมณ์ฝ่ายใต้ของอินเดีย กระทำรับพระอิศวร ที่เรียกเป็นสามัญว่า พิธีโล้ชิงช้า กระทำในเดือนยี่ ขึ้น ๗ ค่ำ ตอนเช้า และ ขึ้น ๙ ค่ำ ตอนเย็น คำตรียัมปวายนี้ นัยว่าเป็นคำเลือนมาจากภาษาทมิฬว่า “ติรุเวมปาไว” คำ “ตรียัมปวาย” ตามหลักฐานเท่าที่พบในภาษาไทยเขียนต่าง ๆ กัน เช่น ในหนังสือเรื่องนางนพมาศ เขียนว่า พิธีตรียำปวาย ในกฏมณเฑียรบาล ในกฏหมายตราสามดวงเขียนว่า พิธีตรียำพวาย ในพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเขียนพระราชพิธีตรียัมพวาย ในหนังสือประกาศพระราชพิธีเล่ม ๑ เขียนว่า ตรียัมภวาย ในที่นี้จะเขียนว่าตรียัมปวาย ตามพจนานุกรมฉบับ บัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓
พิธีตรียัมปวาย เท่าที่พบหลักฐาน ปรากฏมีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดั่งปรากฏในหนังสือนางนพมาศว่า “ครั้นล่วงมาถึงเดือนอ้าย การกำหนดพระราชพิธีตรียัมปวายและตรีปวาย เป็นการนักขัตฤกษ์ประชุมหมู่ประชาชนชายหญิงยังหน้าพระเทวสถานหลวง บรรดาชะแม่นางในทั้งหลายก็ตกแต่งกริชกายไปตามเสด็จสมเด็จพระร่วงเจ้า ดูไกวนางกระดานสาดน้ำรำเสนง และทัศนาชีพ่อพราหมณ์ แห่พระอิศวร พระนารายณ์ในเพลาราตรี ณ พระที่นั่งชัยชุมพล เกษมศานต์สำราญใจถ้วนทุกหน้า เป็นธรรมเนียมพระนคร” ถึงกระนั้นก็ดี สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสรุปไว้ตอนท้าย พระอธิบายว่า “หนังสือเรื่องนี้ของเดิมเขาจะมีจริง เพราะลักษณะพิธีของพราหมณ์ที่กล่าวไว้ในหนังสือเรื่องนี้โดยมากเป็นตำราพิธีจริงและเป็นพิธีอย่างเก่า อาจจะใช้เป็นแบบแผนก่อนครั้งกรุงศรีอยุธยา ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ใดจะมาคิดปลอมขึ้นใหม่ได้ทั้งหมด ดีร้ายหนังสือเรื่องนางนพมาศนี้ ของเดิมจะมาในพวกหนังสือตำราพราหมณ์ซึ่งเขียนด้วยตัวหนังสือพราหมณ์เป็นภาษาไทย……..หนังสือเรื่องนางนพมาศ ถ้ามาโดยทางตำราพราหมณ์ฉบับเดิม จะขาด ๆ วิ่น ๆ อยู่อย่างไรจึงมีผู้มาแต่งขึ้นใหม่ เมื่อรัชกาลที่ ๒ หรือ ที่ ๓ ในกรุงรัตนโกสินทร์” มาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏในกฎมณเฑียรบาล ในหนังสือกฎหมายตราสามดวง ซึ่งตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปรากฏว่ามีพิธีตรียัมปวายอยู่ด้วยความว่า “เดือน ๑ ไล่เรือ เถลิงพิธีตรียำพวาย” ซึ่งมีอธิบายว่า “สนานตรียำพวาย พระศรีอรรคราชทูลผ้าพระพลเทพทูลน้ำ พระราชบุโรหิตพระครูอภิรามถวายน้ำสังข์ พระมเหสร พระพิเชด ถวายน้ำกลด พระญาณประกาศถวายโสลก พระอิศวรรักษาถวายพร ขุนวิสุทธโภชถวายข้าวตอกดอกไม้ ข้าวเม่า ข้าวพอง วังรับข้าวเม่าต้น” และในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ปรากฏมีพิธีโล้ชิงช้าอยู่ด้วย มีความว่า “เดือน ๓ พระราชพิธีขันต่อ น่าจะหมายความว่า ธานยะเฑาะห์ คือ พิธีเผาข้าวก็เป็นได้ แต่รายการพิธีที่กล่าวในหนังสือนี้เป็นพระราชพิธีตรียัมปวาย คือ ตั้งเสาสูง ๔๐ ศอก ๒ เสา กว้าง ๘ ศอก มีขื่อ เอาเชือกผูกแขวนแผ่นกระดานแผ่นหนึ่งยาว ๔ ศอก กว้าง ๒ ศอก พราหมณ์ ๔ คน ขึ้นนั่งเหนือกระดานนี้โล้ชิงช้า ข้างหน้าชิงช้ามีเสาสูง ๔๐ ศอก ปักอีกเสาหนึ่งเอาเงิน ๔๐ บาท ใส่ถุงห้อยไว้ที่เสานี้ ให้พราหมณ์โล้ (เรียก นาฬิวัล) ชิงช้าไปคาบเงินที่ห้อยไว้ ถ้าคาบได้ก็ได้เงินนั้น และถ้าคาบมิได้พราหมณ์นั้น ก็ต้องถูกฝังดินเพียงบั้นเอวและไม้กระดานชิงช้านั้น เมื่อเสร็จการพิธีแล้วเอาลงฝังไว้ในแผ่นดิน ในการพระราชพิธีนี้ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาโปรดให้ (ออกยา) ผลเทพ เสนาบดี กรมนาต่างพระองค์ แห่ไปยังที่พราหมณ์โหนชิงช้า นั่งในมณฑป แต่เอาเท้าลงดินได้แต่ข้างเดียว ถ้าเมื่อยเผลอเอาเท้าลงทั้งสองข้างแล้วถูกปรับของที่ได้รับพระราชทาน คือ ส่วยและอากร ซึ่งมาแต่หัวเมืองต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องราชบรรณาการที่เข้ามาในระหว่างพิธีนั้น ต้องตกเป็นของพราหมณ์ทั้งสิ้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในหนังสือนางนพมาศซึ่งแต่งในสมัยสุโขทัยออกชื่อว่า พิธีตรียัมปวาย และ ตรีปวาย แต่ในหนังสือซึ่งแต่งในสมัยอยุธยา ไม่มีชื่อ พิธีตรีปวาย
ในหนังสือคำให้การพราหมณ์ อัจจุตะนันนำ กับคำอธิบายของพราหมณ์ ป.สุพรมปัญย ศาสตรี กล่าวถึงการทำพระราชพิธี ๑๒ เดือน ของพระเจ้าพาราณสีไว้ว่า “เดือน ๓ พระราชพิธี ชื่อ มาฆวิธานำวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เอารูปพระอิศวรขึ้นใส่ชิงช้าแกว่งไกวกระทำสักการะบูชาเทวรูป ๓ วัน “ เรื่องนี้พราหมณ์ป.สุพรมมัณยศาสตรีได้อธิบาย ในหนังสือนางนพมาศ และ กฎมณเฑียรบาลปรากฏว่า พิธีตรียัมปวาย ทำในเดือนอ้าย แต่ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ว่าทำในเดือนยี่ที่เปลี่ยนจากทำในเดือนอ้ายมาทำในเดือนยี่นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่าเปลี่ยนมาแต่กรุงเก่าแล้ว ด้วยเหตุว่าเดือนอ้ายพึงเป็นเวลาน้ำลด ถนนหนทางเป็นน้ำเป็นโคลนทั่วไป ย้ายมาเดือนยี่พอให้ถนนแห้ง การที่พิธีตรียัมปวาย กำหนดทำในเดือนอ้ายแต่เดิมนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า คงจะเป็นเหตุด้วยนับเปลี่ยนปี เพราะพราหมณ์นับเอาต้นฤดูหนาวเป็นปีใหม่ รวมความว่าพิธีตรียัมปวาย และตรีปวายนั้น เป็นพิธีปีใหม่ของพราหมณ์
ตามลัทธิของพราหมณ์ ถือว่า พระอิศวรจะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง ครั้งหนึ่งกำหนด ๑๐ วัน วันขึ้น ๗ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันเสด็จลง แรม ๑ ค่ำ เป็นวันเสด็จกลับ และในระหว่างที่เสด็จอยู่ในโลกนี้ พราหมณ์จึงทำพิธีต้อนรับเรียกว่า พิธีตรียัมปวาย การซึ่งรับรองพระอิศวรนั้น ก็จัดการรับรองให้เป็นการสนุกสนานคึกครื้น ตามเรื่องราวที่กล่าวไว้คือ มีเทพยดาทั้งหลาย เฝ้าประชุมพร้อมกัน เป็นต้นว่า พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระแม่ธรณี พระแม่คงคา ซึ่งพราหมณ์ทำจำลองเป็นแผ่นกระดาน มาฝังไว้หน้าชมรม โลกบาลทั้งสี่ก็มาเล่นโล้ชิงช้าถวาย พญานาคหรือเทพยดาก็มารำเสนงพ่นน้ำหรือสาดน้ำถวาย บรรดาการพระราชพิธีตรียัมปวาย ส่วนพระอิศวรนั้นเป็นการครึกครื้น มีผู้คนไปรับแจกข้าวตอกข้าวเม่า ที่เหลือจากการบวงสรวงสังเวยเพื่อเป็นสวัสดิมงคล
พอสรุปได้ว่าพิธีตรียัมปวายนี้ เป็นพิธีที่กระทำกันตอนต้นปี หรือเป็นพิธีปีใหม่ของพราหมณ์ และเป็นพิธีอัญเชิญเสด็จพระอิศวรลงมาสู่โลกเป็นเวลา ๑๐ วัน ตลอดเวลานั้นมีการอ่านโศลกสรรเสริญ ถวายข้าวตอก ดอกไม้ ผลไม้ต่าง ๆ การถวายของเหล่านี้เป็นทางหนึ่งที่จะพิจารณาว่าเป็นพิธี ซึ่งรับกันกับพิธีแรกนาขวัญ ซึ่งพิธีนั้นมีการขอพรให้พืชพันธุ์ธัญญาหารในประเทศให้อุดมสมบูรณ์เป็นประโยชน์แก่มนุษย์และบ้านเมือง ซึ่งตอนนั้นเป็นต้นฤดูแห่งการหว่านพืช และในพิธีตรียัมปวายนี้ เป็นเวลาที่เก็บเกี่ยวแล้ว เราจึงถวายของเป็นการขอบคุณพระเป็นเจ้าที่ได้ทรงพระกรุณาแก่เรา
รวมความพิธีโล้ชิงช้านั้น เป็นการแสดงตำนานของพระอิศวรตอนหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ว่า เมื่อพระพรหมได้สร้างโลกแล้ว ขอให้พระอิศวรไปรักษา แต่พระอิศวรทรงห่วงใยว่า โลกนี้ดูไม่น่าจะแข็งแรง จึงเสด็จลงมายังโลกเพียงพระบาทข้างเดียว (เกรงว่าถ้าลงมาทั้งสองข้างโลกจะแตก) แล้วให้พญานาคอันทรงฤทธิ์มาโล้ยื้อยุดระหว่างขุนเขาสองฝั่งมหาสมุทร ก็ปรากฏว่า แผ่นดินของโลกยังแข็งแรงดีอยู่ พญานาคทั้งหลายก็โสมนัสเป็นยิ่งนัก ลงสู่สาครใหญ่เล่นน้ำ และเฉลิมฉลองกันเป็นการใหญ่
เสาชิงช้าทั้งคู่ ก็คือ ขุนเขาทั้งสองฝั่งมหาสมุทร และ ขันสาคร ก็คือ มหาสาครอันกว้างใหญ่ ซึ่งพญานาคพากันเล่นน้ำ รำเสนงสาดน้ำกันในตอนท้าย ผู้ที่ขึ้นโล้ชิงช้านี้ เรียกว่า นาลิวัน หมายถึง พญานาค และผู้แสดงก็สวมหัวนาคด้วย (ไม่ใช่พราหมณ์ขึ้นไปโล้) มีความหมายแสดงให้รู้ตำนาน และ อีกนัยหนึ่งมีความหมายเป็นกุศโลบายทางการเมืองว่า แผ่นดินที่ได้กระทำพิธีแล้วนั้นจะมีความเจริญรุ่งเรืองแข็งแรง มีความสามัคคี ไม่มีวันจะแตกสลายลงไป บางแห่งก็ว่า เมื่อพระอิศวรผู้เป็นเจ้าได้สร้างโลกกับพระเป็นเจ้าทั้งสอง คือ พระนารายณ์ พระพรหม เสร็จลงแล้ว พระอุมาเทวีก็มีจินตนาไปว่าโลกที่พระอิศวรสร้างขึ้นนี้ มีแผ่นดินน้อยกว่ามหาสมุทรเป็นแน่ อุปมาเหมือนดังดอกจอกน้อยลอยอยู่ในมหาสมุทร ครั้นเมื่อพระองค์มีความคิดอย่างนี้เกิดขึ้น พระองค์ก็มีความสลดพระทัย ที่มนุษย์และสรรพสัตว์ที่พระอิศวรทรงสร้างขึ้นนั้น จะต้องถึงกาลวิบัติ พระองค์จึงไม่ยอมบรรทม ไม่ยอมเสวย จนพระวรกายซูบผอม พระอิศวรทรงทอดพระเนตรเห็นพระอุมาเทวีผิดพระเนตรเช่นนั้น พระอิศวรจึงตรัสถามพระอุมาเทวีว่า โลกทั้งสามเป็นประการใด พระอุมาเทวีเมื่อได้ยินพระอิศวรตรัสถามเช่นนั้น พระนางจึงทูลตอบไปดังความคิดแต่หนหลัง พระอิศวรครั้นได้ทราบเรื่องความปริวิตกของพระอุมาเทวีแล้ว พระองค์ก็ตรัสปลอบพระอุมาเทวี ถึงแม้พระองค์จะตรัสปลอบสักเท่าใดก็ไม่ได้ผล เพราะพระอุมาเทวียังไม่คลายความวิตกนั้นไปได้ ฉะนั้นพระเป็นเจ้าทั้งสองจึงเกิดพนันกันขึ้น แล้วให้พญานาคเอาหางเกี่ยวกับต้นพุทราที่ริมแม่น้ำฟากนี้ เอาหัวเกี่ยวกับพุทราฟากโน้น แล้วให้พญานาคไกวตัว ครั้นแล้วให้พระอิศวรยืนเท้าเดียวในลักษณะไขว่ห้าง ถ้าโลกที่พระอิศวรสร้างขึ้นนั้นไม่มั่นคงแน่นหนาพอแล้ว เมื่อได้รับความกระเทือนจากการแกว่งไกวของพญานาค เท้าพระอิศวรที่ยืนไขว่ห้างอยู่นั้นก็จะตก พระอิศวรก็จะแพ้พนัน แต่ถ้าไม่ตก พระอุมาเทวีก็จะแพ้พนัน แต่ครั้นเมื่อพญานาคแกว่งไกวตัว โลกที่พระอิศวรสร้างขึ้นนั้นก็มั่นคงถาวรดี เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทั้งสองตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ทั้งสองพระองค์ก็เสด็จไปยังริมแม่น้ำ ตรัสให้พญานาคแกว่งไกวตัว ครั้นพญานาคแกว่งไกวตัวแล้ว โลกที่พระอิศวรสร้างขึ้นก็ไม่สะเทือน พญานาคก็ดีใจ จึงลงเล่นน้ำดำผุดดำว่ายเล่นน้ำกันเป็นการใหญ่
ตรีปวาย
ชื่อพิธีพราหมณ์ กระทำรับพระนารายณ์ ที่เรียกกันเป็นสามัญว่า พิธีแห่พระนารายณ์ ทำกันในวันแรม ๑ ค่ำ ถึง แรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ คำตรีปวายนี้ นัยว่าเป็นคำเลียนมาจากภาษาทมิฬว่า “ติรุปปาไวย”
พวกพราหมณ์ที่นับถือพระเป็นเจ้า ในศาสนาพราหมณ์นั้น ย่อมมีต่าง ๆ กันตามความเชื่อของตน บางพวกนับถือพระอิศวรมากกว่าพระนารายณ์ บางพวกนับถือพระนารายณ์มากกว่าพระอิศวร บางพวกก็นับถือพระพรหม แต่พวกพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กระทำพระราชพิธีตรีปวายนี้ เป็นพราหมณ์จัดอยู่ในพวกพราหมณ์โหรดาจารย์ คือ เป็นพราหมณ์พวกที่ใช้ในการทำพระราชพิธีต่าง ๆ โดยทั่วไปตั้งแต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น เว้นการพระราชพิธีเกี่ยวกับช้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง เรียกว่า พราหมณ์พฤฒิบาศ พวกพราหมณ์โหรดาจารย์นี้นับถือพระอิศวรเป็นใหญ่กว่าพระนารายณ์ เพราะถือว่า พระนารายณ์นั้นเป็นพนักงานเฉพาะที่จะอวตารลงมาเกิดในมนุษย์โลก หรืออวตารไปในเทวโลกนั่นเอง และเมื่ออวตารไปแล้วย่อมทำร้ายผู้กระทำผิด พระนารายณ์นี้ทางศาสนาพราหมณ์ ถือว่าเป็นผู้รับใช้พระศิวะ หรือ พระอิศวร ให้อวตารลงมาปราบปรามผู้ที่จะทำอันตรายแก่โลก เนือง ๆ พระนารายณ์อวตารมาปราบปรามสั่งสอนมนุษย์ เพราะฉะนั้น พระนารายณ์ จึงเป็นผู้ทำลาย และพระนารายณ์ย่อมไม่ประสิทธิพรอวยสวัสดิมงคลแม้แต่ครั้งเดียว ด้วยเหตุนี้ แม้แต่เครื่องบูชา ในเวลาพระราชพิธีตรีปวายนี้ก็ห้ามไม่ให้นำมาถวายด้วยกลัวพิษ และถือกันว่าถ้าวันแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ ซึ่งเป็นวันส่งพระนารายณ์นั้นต้องรับพิษ มักจะเกิดตีรันฟันแทงกันชุกชุม พราหมณ์ทั้งปวงต้องระวังกันอย่างกวดขัน เพราะพระนารายณ์เป็นผู้ทำลายเช่นนี้จึงมีนามปรากฏว่า พระเดช
การที่มีพระราชพิธีแห่พระนารายณ์นี้ เนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์ถือว่า พระอิศวรเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง เมื่อพระอิศวรเสด็จกลับแล้ว พระนารายณ์ก็เสด็จลงในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ และเสด็จกลับในวันแรม ๕ ค่ำ เดือนเดียวกัน
การพระราชพิธีตรีปวายแห่พระนารายณ์นี้ กระทำกันอย่างเงียบ ๆ เพราะ พระองค์ไม่โปรดการสมาคมที่เป็นการอึกทึกครึกโครม พิธีรับพระนารายณ์ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ นั้น เวลาเช้าตรู่ พราหมณ์ประชุมกันที่สถานพระนารายณ์ พระมหาราชครู หรือ ประธานครูพราหมณ์ อ่านเวทเปิดประตู เวลาเย็นประชุมกันที่สถานพระนารายณ์อีกครั้งหนึ่ง แล้วสวดบูชาตามพิธีของพราหมณ์ เมื่อเสร็จการทำพิธีที่สถานพระนารายณ์แล้ว มาทำที่สถานพระพิฆเนศวร พิธีที่ทำทั้งสองสถานนี้ต้องรีบทำให้เสร็จในเวลาเย็น เพราะจะต้องเตรียมการที่จะทำในสถานโบสถ์ใหญ่ต่อไป เนื่องด้วยต้องทำพิธีทั้งรับเสด็จพระนารายณ์ และ ส่งพระอิศวร ครั้นเวลาค่ำ พอเดือนขึ้น เดินกระบวนแห่ซึ่งเรียกกันตามสามัญว่า แห่พระนเรศวร์ หรือ ที่พูดกันว่า พระนเรศวร์เดือนหงาย พระนารายณ์เดือนมืด แห่พระนเรศวร์นั้น คือ แห่พระอิศวรเวลาจะเสด็จกลับจากโลกนี้สู่เทวโลกนั้น โปรดแสงสว่าง จึงให้แห่ในเวลาเดือนขึ้น
**********************************************
ขั้นตอนพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย
ในวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือนยี่ เวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. คณะพราหมณ์จะประชุมพร้อมกันที่สถานพระอิศวร ถ้ามีพราหมณ์บวชใหม่ก็จะทำการบวชให้ จากนั้นก็ผูกพรต แล้วถวายเครื่องกระยาบวช การบวชเป็นพราหมณ์นั้นถือกันว่าเป็นการเกิดครั้งที่สอง การเกิดครั้งแรกนั้นเป็นการเกิดจากบิดามารดา ต่อมาเมื่ออายุครบบวชก็จะทำการบวชพราหมณ์ เป็นการเกิดครั้งที่สอง คือ เป็นทวิชาติ
บุคคลทั่วไปก็สามารถจะประพฤติเยี่ยงพราหมณ์ได้ โดยจะต้องยึดถือศีลห้า กับ พรหมวิหารสี่ ไว้ให้มั่นก็จะได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์โดยการประพฤติ เมื่อบวชเป็นพราหมณ์แล้ว คณะพราหมณ์ทั้งหมดก็จะทำการผูกพรต คือ เป็นการประกาศสัจจาธิฐานว่าจะถือมังสวิรัต โดยจะไม่กินเนื้อสัตว์ และ ไม่อยู่ด้วยภรรยาตลอด ๑๕ วัน คือ ตั้งแต่วันขึ้น ๖ ค่ำ เดือนยี่ ถึง วันแรม ๖ ค่ำ เดือนยี่ พรตนั้นทำด้วยด้ายสายสิญจน์ ตรงกลางด้ายผูกดอกบานไม่รู้โรยขาวโดยคาดสายสิญจน์ไว้ทางต้นแขนขวา เมื่อธูปที่บูชาเครื่องกระยาบวชถวายแด่เทพหมด ก็ลาเครื่องกระยาบวชทั้งหมด ของใคร ๆ ก็ลา พระราชครูฯ ผู้เป็นประธานลาแล้ว พราหมณ์อื่น ๆ จึงลากันตามลำดับ เมื่อลาเสร็จแล้วจะต้องเอาของที่ลาแล้วนั้นมาถวายพระราชครูฯ ก่อน คือ หยิบของ ๆ ตนวางในโตกของพระราชครูฯ ท่านจะหยิบเอาของ ๆ ท่านให้เช่นกัน จากนั้นก็มาบริโภคกันกว่าจะเสร็จก็ประมาณ ๐๕.๐๐ น. เป็นอันเสร็จพิธีวัน ๖ ค่ำ (ถืออรุณรุ่งแล้วจึงเปลี่ยนวันใหม่)
วันขึ้น ๗ ค่ำ เดือนยี่ เวลารุ่งเช้า จะนำข้าวเปียกมาถวายยังสถานพระอิศวร ข้าวเปียก แต่เดิมมานั้นจะมีชื่อเรียกว่าอย่างใดไม่ทราบแน่ แต่เรียกกันจนติดปากว่า ข้าวเปียก มีลักษณะเป็นข้าว ซึ่งกวนกับกะทิใส่นม กวนจนไม่เหลวมากเกินไป ข้าวเปียกนั้นเชื่อว่า เป็นข้าวทิพย์ ซึ่งจะทำถวายแด่ เทพเจ้าในพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย เท่านั้น
การถวายข้าวเปียกนั้น แต่ก่อนจะถวายแต่เช้าวันขึ้น ๗ ค่ำ คือ ทำพิธีเปิดประตูศิวาลัยแล้ว มาปัจจุบันไม่มีโล้ชิงช้าจึงมาถวายเช้าวันรุ่งขึ้น ๘ ค่ำ เป็นต้นไป จนถึงแรม ๕ ค่ำ จึงไม่ถวาย ข้าวเปียกนี้มีเครื่องประกอบวางอยู่รอบ ๆ จานใส่ข้าวเปียกมีดังนี้
๑) กล้วย
๒) อ้อย
๓) น้ำตาลงบ
๔) เผือกต้ม
๕) ข้าวต้มน้ำวุ้น
๖) แตงกวา
๗) ส้ม
๘) มันต้ม
จะนำไปถวายตอนเช้ายังสถานพระศิวะ มีทั้งหมด ๓ จาน วางบนตะลุ่ม ตั้งบนโต๊ะที่ใช้ใส่ข้าวตอกถวายตอนเย็น เมื่อธูปเทียนที่จุดถวายดับหมดก็ลาแล้วนำมารับทาน ถือกันว่าเป็นสิริมงคลยิ่งนัก
เวลาค่ำ ประมาณ ๒๐.๐๐ น. พราหมณ์กระทำพระราชพิธีที่เทวสถาน เริ่มทำที่สถานพระอิศวร โดยพระราชครูทำพิธีอาตมะอวิสูทธิ์ คือ การชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ด้วยพระเวทก่อนบูชาครู พระราชครูจุดเทียนหนัก ๑ บาท ๙ เล่ม ธูป ๓ ดอก ดอกไม้ ๓ ดอก พระราชครูแยกเทียนออก โดยพระราชครูเก็บไว้ ๔ เล่ม ที่เหลือส่งธูปเทียนดอกไม้ให้พราหมณ์นำไปบูชาที่เทวรูป ๓ เล่ม บนโต๊ะข้าวตอก ๒ เล่ม พระราชครูติดเทียนบนกาคะเยีย (ที่วางคัมภีร์) ๒ เล่ม ติดที่ถาดบาตรแก้ว ๒ เล่ม สิ่งของบูชาครูก็เหมือนที่บูชากระดานครู และเครื่องประกอบในการทำอาตมะวิสูทธิ์ มี บาตรแก้ว (รูปร่างคล้ายคนโฑหล่อด้วยทองเหลือง) บรรจุน้ำมีถาดรอง คันประทีป (หล่อด้วยทองเหลืองมีลักษณะเป็นกิ่ง ๕ กิ่ง ปักเทียน ๗ เล่ม) กระดึง ขลัง ดอกไม้ ธูปเทียน เทียนที่ใช้ในการอาตมะวิสูทธิ์ มีเทียนหนัก ๒ สลึง ๗ เล่ม ติดที่คนประทีป เริ่มทำพิธีการอตมะวิสูทธิ์ไปจนจบกระทั้งตัดน้ำ จากนั้นลุกจากอาสนะไปหน้าโต๊ะข้าวตอกยืนอ่านเวทเปิดประตูศิวาลัยไกรลาศ จากนั้นพระราชครูมานั่งที่อาสนะ พราหมณ์เข้ามากราบตามพรตแก่พรตอ่อน เพื่อให้พระราชครูประพรมน้ำเทพมนต์ แล้วไปยืนเข้าแถวตอนเรียงหนึ่ง สวดมูไรยสถานพระอิศวร โดยสวดกันคนละบท วรรคต้นชื่อมหาเวชตึก วรรคสองคนที่ ๒ สวดโกรายะตึก วรรคสามคนที่ ๓ สวดสาระวะตึก วรรคที่สี่คนที่ ๔ สวดเวชตึก เมื่อจบ ๔ จบแล้ว จึงว่ากันพร้อมกันทั้ง ๔ คน เรียกลอริปาวาย ในเวลาที่ว่าลอริปาวายนั้น เป่าสังข์ ว่า ๓ จบ หยุดเป่าสังข์ แล้วสวดอย่างเดิมอีกจนถึงลอริปาวายสังข์เป่าอีก อย่างนี้จนครบ ๑๑ ครั้ง เรียกกัณฑ์หนึ่งเป็นจบ พระราชครูลุกไปที่หน้าโต๊ะข้าวตอกประน้ำเทพมนต์สิ่งของที่บูชาจนทั่ว แกว่งคันประทีป สั่นกระดึง ถวายดอกไม้อ่านเวทถวายดอกไม้รายชื่อเทพเจ้าทั้งปวง แล้วกลับมานั่งที่อาสนะอย่างเดิม พราหมณ์ ๓ คนไปยกอุลุบ ( คือ พานใส่ข้าวตอกผลไม้ มีแตงกวา ส้ม มันต้ม เผือกต้ม) แล้วว่าเวทถวายอย่างเช่นเมื่อเข้าถวายในท้องพระโรงอีกคนละครั้ง เป็นการถวายข้าวตอก จากนั้นเป็นเสร็จพิธี แล้วเอาข้าวตอกนั้นแจกคนที่ไปประชุมฟังอยู่ในที่นั้นให้ไปกินเพื่อเป็นสวัสดิมงคลกันเสนียดจัญไร เป็นการเสร็จในสถานพระอิศวร แล้วเลิกไปทำสถานพระพิฆเนศวรต่อไปอีก พระราชครูบูชาพระเทวรูปโดยจุดเทียน (ธูป ๓ เทียน ๗ ดอกไม้ ๓) พระราชครูแยกเทียนไว้ ๒ เล่ม ติดที่พานครู (มีสิ่งของเหมือนที่บูชากระดานครู) ที่เหลือให้พราหมณ์ไปติดที่หน้าเทวรูป ๓ เล่ม บนโต๊ะข้าวตอก ๒ เล่ม พระราชครูประพรมน้ำเทพมนต์ที่พานครูแล้วแกว่งคันประทีป พราหมณ์เลื่อนพานครูออก พระราชครูเอาเทียนมาจากพานครูมาติดที่กาคะเยีย พราหมณ์นำกาคะเยียไปไว้ที่โต๊ะข้าวตอกพระราชครูประพรมน้ำเทพมนต์ พราหมณ์คู่สวดที่จะสวดมูไรทั้ง ๔ คน การทำพิธีที่สถานพระพิฆเณศวรนั้นก็เหมือนกับที่สถานใหญ่ การสวดเหมือนกับสถานพระอิศวร แต่สวดน้อยลงไปเป็น ๙ จบ จึงจะลงกัณฑ์ จากนั้นพระราชครูลุกจากอาสนะไปพรมน้ำเทพมนต์สิ่งของบนโต๊ะสิ่งของบนโต๊ะข้าวตอกจนทั่ว แกว่งคันประทีป สั่นกระดึง ถวายดอกไม้ แล้วพราหมณ์ ๓ คน ถวายอุลุบเหมือนสถานพระอิศวรเป็นอันเสร็จพิธี ๗ ค่ำ ทำอย่างนี้ตลอด ๑๐ คืน ยกเว้นไม่มีเปิดประตูศิวาลัยไกรลาศ
ปัจจุบัน (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕) การพิธีโล้ชิงช้าได้เลิกไปแล้ว ยังเหลืออยู่แต่พิธีพราหมณ์ ซึ่งเช้ามืดท้ายวันขึ้น ๖ ค่ำ หลังจากทำพิธีผูกพรต ถวายเครื่องกระยาบวชเสร็จแล้ว ไปทำพิธีที่เกยหน้าวัดสุทัศน์ แล้วกลับมาทำที่เสาชิงช้าด้านทิศเหนือก่อน คือ บูชาด้วยธูปเทียนดอกไม้ รดน้ำกลศสังข์จุณเจิมจึงกลับมาทำที่กระดานครู ที่หัวกระดานครูมีตะลุมไม้ บรรจุข้าวตอก ข้าวเม่า ส้มเขียวหวาน เผือกต้ม มันต้ม งบน้ำอ้อย ข้าวต้มน้ำวุ้น กล้วยไข่ ข้างตะลุ่มมีมะพร้าวอ่อนหนึ่งผลแก่หนึ่งผล อ้อยสองลำ พระราชครูบูชาด้วยธูปเทียน ดอกไม้ ถวายน้ำเทพมนต์ ด้วยกลศ สังข์ จุณเจิม พรมน้ำเทพมนต์ด้วยขลัง แกว่งคันทีป สั่นกระดึง ต่อจากนั้นลาเครื่องกระยาบวชที่ถวายอยู่หน้าพระเทวรูปของพระราชครูสามที่ พราหมณ์นอกนั้นคนละที่ จากนั้นพราหมณ์ทั้งหมดแลกเปลี่ยนสิ่งของที่มีอยู่ในโตกกับ
พระราชครูจนครบ หมดทุกคนแล้วจึงนำมาร่วมรับประทานอาหารกัน เป็นอันเสร็จพิธีในวันขึ้น ๖ ค่ำ
วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือนยี่ เป็นวันเว้นโล้ชิงช้า แต่มีพิธีพราหมณ์ คือ เวลาใกล้รุ่งพระราชครูเชิญกระดาน ๓ แผ่น แผ่นหนึ่งยาว ๔ ศอก กว้าง ๑ ศอก สลักเป็นรูปพระอาทิตย์กับพระจันทร์แผ่นหนึ่ง เป็นรูปนางพระธรณีแผ่นหนึ่ง เป็นรูปพระคงคาแผ่นหนึ่ง สมมติว่าพระอาทิพย์ พระจันทร์ พระธรณี พระคงคา มาประชุมเฝ้าพระอิศวร แล้วจึงเชิญออกมาที่หลุมขุดไว้ตรงหน้าชมรม หลุมนั้นยาวหนึ่งศอก กว้าง ๑ คืบ ลึก ๔ นิ้ว ที่ก้นหลุมปูอิฐวางขลัง (หญ้าคา) แล้วมีราวสำหรับพิงกระดานก่อนจะเอาลงหลุม เอาแผ่นกระดานนั้นเวียนทักษิณาวัฎสามรอบ เอากระดานนั้นวางลงที่ปากหลุมพิงกับราว พระราชครูเป็นผู้ทำพิธีเชิญลงหลุม หน้ากระดานมีตะลุ้มไม้ใส่ข้าวตอก เผือกต้ม มันต้ม กล้วย ส้ม น้ำอ้อยงบ ข้าวต้มน้ำวุ้น แตงกวา หมากพลู ข้างพานมี มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน อ้อยทั้งลำ ๒ ลำ พระราชครูฯ รดน้ำกลศ สังข์ ถวายใบมะตูม แกว่งคันประทีป สั่นกระดึง บูชาถวายน้ำกลศ สังข์ จุณเจิม วางขลัง แล้วยกกระดานลงหลุม จากนั้นดาดเพดานกั้นม่านรายรอบล้อมด้วยราชวัตรสี่มุมราชวัตรผู้ด้วยกระดาย พระอาทิตย์พระจันทร์นั้นลงหลุมที่หนึ่ง ทางทิศตะวันออก พระนางธรณีลงหลุมกลาง นางพระคงคาลงหลุมสุดท้าย ทางทิศตะวันตก หน้ากระดานหันมาทางทิศใต้ ตรงกับชมรมที่พระยานั่งนี้กว่าจะเสร็จพิธีเวลาใกล้รุ่ง วันขึ้น ๙ ค่ำ เป็นวันแห่พระยายืนชิงช้าเวลาเย็น
การที่มีคนพอใจพูดกันชุม ๆ ว่า กระดานลงหลุม หลุมเป็นเครื่องสำหรับทำให้หนาว หรือเขตของความหนาวอย่างไรก็ไม่เข้าใจชัด เห็นแต่ร้องว่ากระดานลงหลุมแล้วหนาวจัด บางทีก็พูดกันเล่นโก้ ๆ ไม่รู้เขาหมายเอาเหตุการอันใด คือในเดือนยี่หนาวจัดแล้วก็มีคนบ่นขึ้นว่าหนาว มักจะมีคนผู้ใหญ่ว่า นี่ยังกระดานลงหลุมเดือน ๓ จะยิ่งหนาวกว่านี้ พูดเป็นจริงเป็นจังไป ไม่รู้กระดานอะไรลงหลุมในเดือน ๓
วันขึ้น ๑๐ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ กระทำพิธีเหมือนคืนวันขึ้น ๗ ค่ำ ในวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เวลาย่ำรุ่ง เชิญกระดานขึ้นจากหลุมไปเก็บในเทวสถานตามเดิม
วันแรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ เป็นพิธีตรียัมปวายและตรีปวายต่อกัน เวลาเช้าตรู่ พราหมณ์ประชุมกันที่สถานพระนารายณ์ พระราชครูอ่านเวทเปิดประตูศิวาลัยไกรลาศเหมือนอย่างเช่นเปิดถวายพระอิศวร สวดบูชาอย่างเช่นที่ทำในสองสถานก่อนนั้น เป็นแต่เปลี่ยนชื่อเป็นพระนารายณ์ คงสวดมหาเวทตึก แปลกกันแต่ว่า ศิวาสุเทวะ ต่อไปก็สวดฌกรายะตึก สาระวะตึก เวชตึก แล้วสวดขัตตุโนลมพาวาย พร้อมกัน ๔ คน เป่าสังข์ สวด ๕ จบ เป็นกัณฑ์หนึ่งตามที่บังคับไว้ แต่เวลาสวดพราหมณ์คู่สวดยืนเรียงแถวเป็นหน้ากระดานเป็นตับเสมอหน้ากันทั้ง ๔ ท่าน ต่อนั้นไปก็ทำเหมือนที่กล่าวมาแล้ว เสร็จการที่สถานพระนารายณ์
พระที่นำมามี พระอิศวร พระอุมา พระมหาวิฆเนศวร ที่ทรงสุหร่าย ทรงเจิม เมื่อวันวาน มาเข้าพิธี ประดิษฐานอยู่ในบุษบกเหนือพานประดับดอกไม้ แล้วจุดเทียนนมัสการ ๑ คู่ ของหลวง ดอกไม้ ๑ กระทง ธูป ๓ ดอก (ปัจจุบันพนักงานภูษามาลาเชิญพระมาโดยรถยนต์พระประเทียบ มาส่งที่หน้าเทวสถาน พระราชครูออกไปเชิญเข้ามาในเทวสถาน พราหมณ์เป่าสังข์จนมาประดิษฐานบนโต๊ะมุก หน้าพระเทวรูปประจำเทวสถาน) เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น. พระราชครูแต่งตัวอย่างทำพิธีทั้งปวง คือ นุ่งโจงกระเบนผ้าขาวคาดเอว สวมเสื้อแขนยาวโดยลดไหล่ข้างขวา อัญเชิญเทวรูปจากโต๊ะหมู่มาวางไว้บนโต๊ะเบญจคัภย์ (เบญจคัภย์ คือ ถ้วย ๖ ใบ ประกอบไปด้วย แก้ว ทอง นาค เงิน สำฤทธิ์ เหล็ก โดยหมายถึง ปัญจมหานที แล้วรวมอากาศธาตุ คือ ใช้แก้วแทน แต่ไม่เติมน้ำ จะตั้งบนโต๊ะ ๒ ชั้น ลดหลั่นลงมา ชั้นบนทอดภัทรปิฐ ชั้นล่างทองเบญจคัพ ภัทรบิฐ คือ การทอดแป้งแล้วโรยด้วยข้าวสาลี เหมือนอย่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก) แล้วสังข์ตั้งข้างขวา กลศตั้งข้างซ้าย ที่ตรงกลางเทวสถานตรงที่ตั้งหงส์ตั้งศิลาบดอันหนึ่ง เรียกว่า บัพพโต คือ ต่างว่าภูเขา พระราชครูทำ อาตมะอวิสุทธิ์ เจิมจันทร์ อ่านเวทจบแล้ว พราหมณ์คู่สวด ๔ คน เข้ามากราบตามพรตแก่พรตอ่อน พระราชครูเอาขลังจุ่มน้ำเทพมนต์ประพรมศีรษะ พราหมณ์คู่สวดทั้ง ๔ มายืนเข้าแถวเรียงหนึ่งหน้าโต๊ะข้าวตอก เริ่มสวดเรียกว่า สวดมูไรย (สวดโบสถ์) เหมือนอย่างเช่นสวดมาทุกคืน จบแล้วกลับมานั่ง พระราชครูลุกจากอาสนะไปที่หน้าไปที่หน้าพระเทวรูป ประพรมน้ำมนต์ที่โต๊ะข้าวตอก เผือกมัน งบน้ำอ้อย ข้าวต้มน้ำวุ้น กล้วยหักมุก ส้ม แตงกวา มะพร้าวอ่อน ฯลฯ แล้วประพรมของที่จะถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีของดังนี้ คือ ข้าวตอกใส่ขันทองวางบนพานแว่นฟ้า ๑ คู่ ข้าวตอกใส่ถุงขาว ๑ คู่ ราชสีห์น้ำตาล ๒ ที่ ที่ละ ๒ ตัว สิงโตน้ำตาล ๒ ที่ ที่ละ ๒ ตัว ผลไม่ใส่ขวดโหล ๔ ขวด ๑ ที่ ขนมใส่ขวดโหล ๔ ขวด มะพร้าวอ่อนที่ฟอนแล้ว ๒ ที่ ที่ละ ๕ ผล ส้มแสงทอง ๒ ที่ กล้วยหักมุก ๒ ที่ อ้อยที่เกลาแล้วตัดเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณท่อนละ ๑ ศอก มัดติดกันเป็นแพสองชั้น ๒ ที่ ของทั้งหมดนี้จัดวางที่ละตะลุ่ม เมื่อประพรมน้ำมนต์เสร็จแล้วกลับมายืนที่โต๊ะข้าวตอกแกว่งคันประทีป สั่นกระดึงถวายกระทงดอกไม้พระผู้เป็นเจ้าแล้วพราหมณ์คู่สวด ๓ คน มายกอุลุบเช่นทุกวัน (แต่วันนี้ไม่แจกข้าวตอกแก่คนทั้งปวงที่ไป ยกไว้เป็นของถวายหลวง) แล้วไปทำต่อที่สถานพระพิฆเณศวรกระทำเหมือนอย่างทุกวัน เสร็จแล้วกลับมาทำที่สถานพระอิศวร พระราชครูอ่านเวทบูชา ๘ ทิศ บูชาขลัง บูชาเบญจคัพ บูชาสังข์ บูชากลศ บูชากุมภ์ ถวายข้าวเวท (ประกอบด้วยมะพร้าวแก่ที่กะเทาะเปลือกออกแล้ว นำมาฝานเจียนให้กลม ใบตองม้วนเป็นกรวยบรรจุข้าววางตรงกลางมะพร้าวที่เจียนให้กลม ส้มสามกลีบวางรอบกรวยใส่เผือกต้ม มันต้ม ข้าวต้มน้ำวุ้น อ้อย งบน้ำอ้อย แตงกวา ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ วางรอบกรวย ทำที่กล่าวมานี้เหมือนกัน ๓ ที่ วางไว้ในจาน ๆ วางบนพานแว่นฟ้า) เชิญพระอิศวร พระอุมา พระมหาพิฆเณศวรสรงน้ำด้วยกลศ พราหมณ์เป่าสังข์เป็นเสียงหวี่ แล้วสรงด้วยสังข์ พราหมณ์จะเป่าสังข์เป็นเสียงหวู่ แล้วเชิญขึ้นภัทรบิฐถวายสังวาร ระหว่างนั้นพราหมณ์เป่าสังข์ พระราชครูไปที่หน้าหงส์รดน้ำด้วยกลศ สังข์จุณเจิม แล้วทำศาสตร์บูชา อ่านเวท ชื่อสารเหลืองจบแล้ว ที่สองชื่อมาลัย ที่สามชื่อสังวาล แล้วจึงเชิญเทวรูปตั้งบนพานทองขาว เดินชูประทักษิณไปรอบที่ตั้งหงส์ เมื่อถึงศิลาบดเรียก บัพโต นั้นยกเท้าขวาก้าวเหยียบขึ้นบนศิลาครั้งหนึ่ง แล้วเดินเวียนต่อไปเมื่อมาถึงศิลาก็เหยียบอีกจนครบสามครั้ง จึงเชิญเทวรูปขึ้นบนบุษบกหงส์ แล้วส่งสาร ในระหว่างนั้นเป่าสังข์ตลอดจนพระขึ้นหงส์แล้วจึงหยุดพระราชครูกลับมาอ่านเวทบูชาหงส์อีกจนจบพิธี ครูพราหมณ์ ๒ คน อ่านพระเวทช้าหงส์
พระราชครูฯ ไปที่หน้าหงส์ รดน้ำด้วยกลศ สังข์ จุณเจิม พระครูพราหมณ์อีกคนหนึ่งไกวเปลหงส์ ช้า ๆ เป็นจังหวะ เสมือนหนึ่งพญาหงส์โบยบินไปรอบ ๆ จักรวาลครรไลสู่สวรรค์ จากการอ่านพระเวทเป็นทำนองฉันท์พร้อมกับการแกว่งไกวของเปล ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “กล่อมหงส์” ทำนองฉันท์กล่อมหงส์มีอยู่ ๔ ทำนอง แต่ละทำนองก็มีลีลาผิดกันเฉพาะแต่ละอย่าง มีความไพเราะเพราะพริ้งต่าง ๆ กันคนละแบบ ซึ่งผู้ที่เคยได้ฟังมักกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นลีลาของเสียงอันไพเราะนุ่มนวลยากที่จะหาฟังจากที่อื่น ๆ ได้ยาก
ฉันท์กล่อมหงส์ดังกล่าวได้รจนาไว้เวลาล่วงมาแล้วนับเป็นพัน ๆ ปี ก่อนพุทธกาล และท่วงทำนองนี้ก็ยังคงรักษาไว้ทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งการออกเสียงของอักขระและพยัญชนะ (เป็นอักษรคฤนถ์) ถ้าท่านได้ฟังแล้วจะรู้สึกว่า โบราณจารย์ได้ร้อยกรองด้วยเสียงของวรรณคดี มีสัมผัสหนักเบาไพเราะอย่างน่าอัศจรรย์
ตามตำนานปุราณะ ได้กล่าวว่า ฉันท์กล่อมหงส์นี้เป็นจินตนาการอันเกิดจากดวงจิตของมหาฤษีวยาสะ โดยสดับเสียงนกกะเรียนคู่ผัวเมียคู่หนึ่ง นกกะเรียนผู้ผัวถูกนายพรานยิงตาย นกกะเรียนผู้เมียจึงส่งเสียงร้องคร่ำครวญหาโหยหวนวิเวก อันนกกะเรียนนั้นมีเสียงไพเราะกังวานโดยธรรมชาติอยู่แล้ว มหาฤษีจึงเกิดจินตนาการ เรียบเรียงเสียงร้อยกรองเข้า บังเกิดเป็นโศลกและฉันท์ต่าง ๆ พระเวท ช้าหงส์ จึงมีท่วงทำนองเป็นอมตะ ที่วงการวรรณคดียกย่อง
โดยกาลเวลาที่ผ่านมาหลายสิบศตรวรรษ ทำนองการกล่อมในพิธีช้าหงส์ดังกล่าวย่อมผิดเพี้ยนไปบ้างด้วยกฏของการวิวัฒน์ แต่อย่างไรก็ตาม พราหมณ์ผู้รักษาพระเวทยังคงดำรงรักษาหลักการใหญ่ ๆ ของลีลาและท่วงทำนองไว้ทั้งหมด
พิธีช้าหงส์ นอกจากมีความสัมพันธ์กันกับวรรณคดีอันเก่าแก่ของมหาฤษีแล้ว ยังมีปรากฏการณ์ทางปาฏิหาริย์แปลก ๆ เพราะที่ปากหงส์อันเทพพาหนะของพระผู้เป็นเจ้านี้ จะมีเทียนติดตามไฟอยู่ตลอดพิธี น้ำตาเทียนปากหงส์ ปรากฏว่า เป็นที่ปรารถนาของขุนนางข้าราชการและประชาชนที่เข้าฟังพระเวท ต่างพากันแก่งแย่งขอกันเป็นชุลมุน เพราะถือว่าเป็นของศักดิสิทธิ์ มีผลทางบันดาลได้ต่าง ๆ ที่เรียกกันติดปากว่า “สีผึ้งปากหงส์”
การช้าหงส์ที่เป็นผลงานชิ้นสำคัญของพระโบราณจารย์แต่อดีตสมัยนั้น มีเนื้อหาเต็มไปด้วยศิลปทางวรรณคดีเป็นมหามงคลด้วยเทวฤทธิ์บันดาล เป็นที่นิยมของมหาชนทุกชั้นทุกสมัย ดังนั้น ในโบราณสมัยจึงถือเอาพิธีนี้เป็นราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์จะเสด็จไปส่งเทพเจ้าขึ้นหงส์ (คือ ส่งองค์ศิวเทพ องค์อุมาเหมวดีเทพี และ องค์เณศเทพ) ถึงเทวสถานด้วยพระองค์เอง โดยกระบวนช้างต้นอันเป็นราชพิธีแบบเฉพาะ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรรยายไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือนว่า “เสด็จนั้นทรงช้างพระที่นั่งละคอ นายสารใหญ่เป็นควาญพระที่นั่ง ทรงพระแสงของ้าว เครื่องพระที่นั่งใช้เครื่องแกบกลม เพราะเป็นเวลากลางคืน มีเจ้านายและขุนนางขี่ช้างพลายพังตามเสด็จด้วยหลายช้าง”
ในรัชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็เคยมีครั้งหนึ่งในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จกระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนช้างต้นตามอย่างแต่ก่อน แต่เนื่องด้วยกาลสมัยได้เปลี่ยนไป ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพระราชยาน และได้ทรงนำพระลูกยาเธอไปทอดพระเนตรเนือง ๆ เกือบจะแทบทุกปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปยังเทวสถาน เพื่อทอดพระเนตรและฟังการช้าหงส์นี้ เมื่อครั้งยังเป็นพระเจ้าลูกเธอทั้งสิ้น
จากนั้นพระราชครูฯ มานั่งที่หน้าหงส์ อ่านเวทบูชาหงส์ บูชาพระสุเมรุ แล้วอ่านเวท ส่งพระอุมา จบแล้วอ่านสดุดี จุดเทียน ๘ เล่ม อ่านเวทเวียนไปตามทักษิณาวรรตทั้ง ๘ ทิศ เรียกว่า โตรทวาร ต่อไปพราหมณ์ ๒ ท่าน จึงว่าช้าหงส์อย่างเดียวกันกับกล่อมขึ้นพระอู่เจ้านาย ๓ บท เป่าสังข์ ๓ ลา แล้วอ่านเวทส่งสารส่งพระเป็นเจ้า ๒ บาท จากนั้นพระราชครูอ่านเวทปิดทวารศิวาลัยอีกจบหนึ่ง จึงเป็นเสร็จการในวันค่ำนั้น กว่าจะแล้วเสร็จคงอยู่ใน ๗ ทุ่ม ๘ ทุ่ม ทุกปีไม่ต่ำกว่านั้น พิธีนี้เจ้านายตลอดจนชาวบ้านมักจะไปขอเทียนปากหงส์ ถือกันว่าเป็นเสน่ห์มหานิยม เสร็จพิธีในวันแรมค่ำแต่เท่านี้
รุ่งขึ้นในวันแรม ๒ ค่ำเดือนยี่ เตรียมตัวนำของพิธีดังกล่าวแล้ว เข้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จลงให้คณะพราหมณ์เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระพรชัย และพิธีตรียัมปวาย พระราชครูถวายน้ำเทพมนต์ด้วยพระมหาสังข์ถวายใบพรหมจรรย์ ทรงรับด้วยพระหัตถ์แล้วทรงลูบพระพักตร์ ทรงรับใบพรหมจรรย์ทัดพระกรรณขวา ต่อจากนั้นพราหมณ์ถวายพระพรชัยมงคลเป็นลำดับกัน ในระหว่างถวายน้ำพระมหาสังข์นั้น พราหมณ์เป่าสังข์ ต่อจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินช่วยในพิธีตรียัมปวาย แล้วเสด็จขึ้น เป็นเสร็จพิธีถวายของ ตั้งแต่วันแรม ๒ ค่ำ ๓ ค่ำ ๔ ค่ำ เป็นต้นไป คณะพราหมณ์จะนำของพิธีดังที่กล่าวนี้ ไปถวายตามบ้านเจ้านาย
วันแรม ๓ ค่ำเดือนยี่ เป็นวันเว้นจากการช้าหงส์ มีแต่พิธีปกติ คือ ในตอนค่ำทำพิธีที่สถานพระนารายณ์จนมาถึงปัจจุบัน พระราชครูวามเทพมุนี (สมจิตต์ รังสิพราหมณ์กุล) ได้สร้างเทวรูปพระมหาพรหมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระองค์ทรงโปรดให้นำเทวรูปนั้นเข้าในพระราชพิธีตรียัมปวายด้วย พระราชครูจึงได้กำหนดวันแรม ๓ ค่ำ เป็นวันกระทำพิธีของพระพรหม โดยจะทำต่อจากสถานพระนารายณ์ และทำที่สถานพระอิศวร มีพิธีกรรมเหมือนอย่างแรม ๑ ค่ำ แต่ยกไว้ไม่ได้กระทำ คือ เปิดทวารศิวาลัย เพราะถือได้กระทำที่สถานพระนารายณ์ไว้แล้ว เริ่มทำพิธีในเวลา ๑๘.๐๐ น. รถยนต์หลวงนำพระพรหมมายังเทวสถาน ที่สถานพระนารายณ์โดยทำอวิสูทธิ์ บูชาข้าวตอกดอกไม้ พราหมณ์สวดโลขันตุโลเหมือนวันแรม ๑ ค่ำ ยกอุลุป จากนั้นไปทำที่สถานพระอิศวร เครื่องของในพิธีไม่ได้แจกใคร เว้นแต่เจ้านายขุนนางจะนำไปให้ในวันแรม ๔ ค่ำ
วันแรม ๔ ค่ำ เดือนยี่ เวลาสาย พราหมณ์จะนำเครื่องพิธีที่ถวายแด่เทพเจ้าแล้วในวันแรม ๓ ค่ำ ไปให้ตามบ้านของเจ้านายขุนนางต่าง ๆ เวลาค่ำจะทำพิธีที่สถานพระนารายณ์แห่งเดียว จะทำเหมือนกันกับวันแรม ๑ ค่ำ ทำเฉพาะสถานพระนารายณ์
วันแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ พระราชครู นิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณะศักดิ์ ๙ รูป เจริญพระพุทธมนต์เย็น กระทำที่สถานพระอิศวร เด็กที่จะมาตัดจุกจะเข้ารับมงคล แล้วมานั่งฟังพระเจริญพระพุทธมนต์กระทำที่สถานพระอิศวร เด็กที่จะมาตัดจุกจะเข้ารับมงคลแล้วมานั่งฟังพระสวดมนต์ เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์แล้วพระสงฆ์กลับวัด เวลา ๑๘.๐๐ น. มีกระบวนแห่พระจัดมาเหมือนวันแรมค่ำ แต่เชิญพระนารายณ์มา (ปัจจุบันรถพระประเทียบเชิญพระนารายณ์มายังเทวสถานพระราชครูออกไปรับ) นำมาไว้ที่โต๊ะหมู่หน้าพระอิศวรเวลาค่ำ พระราชครูฯ จุดเทียนนำเชิญพระนารายณ์จากโต๊ะหมู่ไปยังสถานพระนารายณ์ไปวางบนโต๊ะเบญจคัพ แล้วกระทำพิธีเหมือนอย่างในวันแรม ๑ ค่ำ ทุกประการ แต่กระทำที่สถานพระนารายณ์เท่านั้น เมื่อเสร็จพิธีข้าวของในพิธีจะทำการแจกให้แก่ผู้มาร่วมในพิธี
วันแรม ๖ ค่ำ เดือนยี่ เวลาเช้ามืดพระสงฆ์มาพร้อมกันที่เทวสถาน เด็กตัดจุกจะมานั่งพร้อมกัน เพื่อรับศีลถวายพรพระ พระสวดมนต์ ได้เวลาอรุณได้ฤกษ์ตัดจุก พราหมณ์ลั่นฆ้อง พระสวดชะยันโต พราหมณ์ทำการตัดจุก การตัดจุกนั้นจะแบ่งผมเด็กออกเป็น ๓ ปอย แล้วตัดผมให้ผมนั้นแก่เด็กถือไว้ แล้วไปโกนข้างนอกสถานให้เก็บผมนั้นไว้เพื่อให้นำไปลอยน้ำไหลหรือไปไว้ที่ต้นไม้ก็ได้ แล้วเด็กคอยอยู่ข้างนอก พราหมณ์ถวายภัตตาหารบิณฑบาตร์แด่พระสงฆ์ ฉันท์เสร็จให้เด็กเข้ามาในเทวสถาน ฟังคำให้โอวาทจากพระสมเด็จ แล้วถวายเครื่องไทยทานพระโมทนาก็ให้พระราชครูกรวดน้ำ แล้วส่งพระกลับ จากนั้นพราหมณ์ทำพิธีสมโภชเวียนเทียน แล้วดับเทียนเจิมพระเทวรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และของโบสถ์ แล้วจึงเจิมเด็ก แจกเหรียญพระราชทาน พราหมณ์ลาพรต แล้วร่วมกันรับประทานอาหาร จากนั้นเชิญเทวรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับ เป็นเสร็จพิธี
บรรณานุกรม
- พระราชพิธี ๑๒ เดือน
- สารานุกรม
- ประเพณีไทย ฉบับพระราชครูวามเทพมุนี