เกร็ดความรู้ เทวะตำนาน

ราหุ…ลูกกำพร้า

ได้รับคำแนะนำจากพี่ที่เคารพ ให้เขียนอะไรเกี่ยวกับเรื่อง “สุริยุปราคา” ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคมที่จะถึงนี้ เนื่องจากตนเองไม่มีความรู้ทางโหราศาสตร์ ครั้นจะเขียนเรื่องนี้ก็กระดากใจ เลยรับปากเขาว่าจะหาเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่าแทน

ดังที่หลายท่านทราบแล้ว คนโบราณท่านเล่าเรื่อง “จันทรคราส” และ “สุริยคราส” แบบปรัมปรานิทาน เป็นลักษณะบุคลาธิษฐาน เล่าปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นเสมือนเป็นตัวเป็นตนอย่างคน

ตั้งแต่สมัยพระเวทแล้ว ใน ฤคเวท มีการกล่าวถึง “สฺวรฺภานุ” (สวรฺ “สวรรค์ ท้องฟ้า” + ภานุ “แสงสว่าง หรือ พระอาทิตย์ หรือ เจ้าผู้เป็นใหญ่”) ว่าเป็นผู้ทำให้เกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคา หรือ คราส

ชื่อของ สฺวรฺภานุ นี้ ไม่รู้จะแปลอย่างไรดีให้เหมาะสม จะว่า เป็นแสงสว่างในสวรรค์ก็ไม่ใช่ เพราะตัวสฺวรฺภานุเป็นอสูรที่ก่อให้เกิดความมืด หรือจะแปลว่า ผู้มี (หมายถึง ผู้จับ) แสงสว่าง/พระอาทิตย์ในสวรรค์ หรือท้องฟ้าก็เป็นได้

ต่อมาตั้งแต่ อาถรรพเวท ลงมา มีปรากฏใช้ชื่อ “ราหุ” ที่เราคุ้นเคยกันด้วย “ราหุ” สันนิษฐานว่า เป็นคำที่สร้างมาจาก “รภฺ” ธาตุ (√rabh) แปลว่า จับ ฉวย ถือเอา แล้วเสียง <bh> ก็กร่อนเหลือแค่ <h> ราหุ หรือ ไทยเรียก ราหู จึงหมายถึงผู้จับ หรือ ผู้ฉวยพระอาทิตย์ พระจันทร์ไว้ แต่ในคัมภีร์ชั้นแรกยังไม่ได้พูดถึงเรื่องการที่ สฺวรฺภานุ หรือ ราหุ ถูกพระวิษณุตัดเศียร ลอยเคว้งคว้าง ไล่จับพระอาทิตย์ พระจันทร์กิน

ในคัมภีร์ชั้นหลัง ๆ อย่างปุราณะ เรื่องปรัมปรานิทานที่แพร่หลายของราหุ ก็คือ คราวที่เทวดาและอสูรร่วมกันกวนเกษียรสมุทร ทำให้เกิดน้ำอมฤต ไม่มีอสูรตนใดได้ดื่ม เพราะอุบายของเหล่าเทวดา มีเพียงราหุเท่านั้นที่จำแลงเป็นเทวดา มาปะปน เข้าคิวดื่มน้ำทิพย์ด้วย พระอาทิตย์กับพระจันทร์ เห็นเข้าก็หมั่นไส้ว่าอสูรนี้ไม่ควรได้สิทธิ์นี้ เลยทูลฟ้องพระวิษณุ ผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงทราบจึงใช้จักรสุทรรศน์ ตัดเศียรราหุขาด เฉพาะส่วนเศียรก็ล่องลอย แต่ไม่ตายเพราะได้อมตภาวะไปแล้ว คอยผูกใจอาฆาตเทวดาปากบอนทั้งสององค์ จับได้ไล่ทันเมื่อไหร่ พ่อก็เขมือบกลืนทุกที แต่อย่างไรเสีย กลืนไปก็เท่านั้น พอเลยคอ พระอาทิตย์พระจันทร์ก็หลุดรอด ส่วนบนนี้แท้จริงแล้วก็คือ ascending node ในทางดาราศาสตร์ และนับเป็นเทวดานพเคราะห์องค์ที่ 8 ในทางโหราศาสตร์

ส่วนล่างตั้งแต่บ่าลงมา ที่เป็นเหมือนงูใหญ่ ก็ล่องลอยโคจรไปเหมือนกัน ที่เรารู้จักกันว่า เกตุ คำนี้แปลว่า ธง ไต้ คบเพลิง ดาวหาง ดาวตก ได้ และหมายถึง descending node และนับเป็นเทวดาพระเคราะห์องค์ที่ 9 ในทางโหราศาสตร์

ในคัมภีร์พุทธศาสนา เรามี ราหุ หรือ อสุรินทราหุ (บ. อสุรินฺท-ราหุ หรือ ส. อสุเรนฺทฺร-ราหุ) เหมือนกัน ราหุ เป็นจอมอสูรที่อาศัยในอสูรพิภพ เป็นมือขวาของท้าวเวปจิตติ (บ. เวปจิตฺติ หรือ ส. วิปฺรจิตฺติ) ราหุของพุทธศาสนาพ้องกับคัมภีร์รุ่นแรก ๆ ของฮินดูที่ว่า มีกายใหญ่โต มีองคาพยพครบถ้วน ไม่ได้เศียรขาดอย่างคัมภีร์รุ่นหลัง แถมภายหลังในคัมภีร์บาลีที่ชื่อ ทสโพธิสัตตุปปัตติกถา หรือ คัมภีร์อนาคตวงส์ ของไทย ยกท่านให้เป็นพระโพธิสัตว์ด้วยซ้ำไป

พูดถึงญาติวงศ์พงศาของราหุ ราหุมีชื่ออีกชื่อ ที่สร้างคำมาจากชื่อมารดา “ไสํหิก” (Sāiṃhika) (อ่านว่า ไสมฺ ส สระไอ แล้วมีเสียง ม ขึ้นจมูก – หิ – กะ) ดังนั้นชื่อมารดาจึงชื่อว่า สิํหิกา (Siṃhikā สิมฺ-หิ-กา)

พูดถึงญาติ ในทางฮินดู ราหุ นั้นมีลุงชื่อ หิรัณยักษิปุ โอรสของฤษีกัศยปะกับนางทิติ ซึ่งถูกพระวิษณุสังหารในครั้งอวตารมาเป็น พระนรสิงห์ (ครึ่งคนครึ่งสิงโต) หิรัณยักษิปุ โอรสที่สำคัญคือ ปหลาท ซึ่งเป็นสาวกคนสำคัญของพระวิษณุ อันเป็นเหตุให้บิดาของตนถูกสังหาร ส่วนจอมทานพ วิประจิตติ เป็นพ่อ ซึ่งมีพี่ชายฝาแฝดชื่อ ปุโลมัน จึงนับได้ว่าเป็นลุง ตาลุงนี่ มีลูกสาว ซึ่งไม่ใช่ใครอื่น ก็คือ เทวีศจี อินทราณี ชายาของพระอินทร์ ในเมื่อเทวีศจีเป็นลูกพี่ลูกน้องกับราหุ พระอินทร์ก็นับได้เป็นพี่เขยไปด้วย อีนุงตุงนังดีแท้ ใครงงก็ไปนั่งลำดับญาติกันเอาเอง (ถ้าไปอ่านในที่ต่างๆ ข้อมูลมากมาย สับสนทีเดียว)

คราวนี้มาพูดถึงเรื่อง “ลูกกำพร้า” ตามชื่อบทความครั้งนี้ สืบเนื่องจากโขนพระราชทานตอน “สืบมรรคา” ในรามเกียรติ์ไทย หนุมานไปเจอนางผีเสื้อสมุทร ที่รักษาหน้าด่านเมืองลงกา ที่บางฉบับให้ชื่อว่า อากาศตะไลบ้าง อังกาศตะไลบ้าง ในรามายณะของวาลมีกิ หนุมาน ไม่ได้พบกับนางผีเสื้อสมุทร แต่ถูกเทวีสุรสา มารดาของเหล่านาค (นาคมาตา) ทดสอบ ตอนนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ร้าย แต่เป็นการทดสอบความสามารถ เพื่อเป็นประกาศเกียรติคุณของหนุมาน

แต่ด่านที่ 2 หนุมานถูกนางสิมหิกา ยุดเงาเอาไว้ นางสิมหิกานี้ ได้รับพรสำคัญ ว่าสามารถจับ “เงา” ของใครก็ได้ และหากถูกนางจับแล้ว นางสามารถกินผู้นั้นเป็นอาหาร นางได้จับเงาของหนุมานไว้ และจะกินเป็นอาหาร ก่อนหน้า นางเคยจับเงาของพระอินทร์ และของหนุมานในวัยเยาว์มาแล้ว แต่พ่ายฤทธานุภาพของทั้งคู่ จึงต้องปล่อย หนุมานคาดโทษนางไว้ว่า อย่าให้เจอเป็นครั้งที่ 2 อีกจะสังหารเสีย ความซวยของนางสิมหิกา ดันไปจับเงาคนเดิมเข้า หนุมานแกล้งให้นางอ้าปากกลืนตนเองเข้าไป แล้วหนุมานก็เหาะตัดอวัยวะภายในของนาง ด้วยเล็บอันแหลมคม และออกมาก่อนนางจะทันหุบปาก เป็นอันว่าจบตำนานมารดาของราหุ ตามรามายณะ ก็ต้องถือว่า ราหุ เป็นลูกกำพร้าแต่นั้นมา แต่ทว่า ท่านไม่ต้องประหลาดใจ ในที่อื่น ๆ เรายังเห็นนางสิมหิกา โผล่ที่โน่นที่นี่ มีบทบาท ถูกเอ่ยถึงอยู่ สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติของเทพปกรณัมอินเดีย ที่เรื่อง “เวลา” เป็นสิ่งที่กำหนดยาก จะมาลำดับอย่างประวัติศาสตร์คงยาก

เรามาดูโศลกที่หนุมานสังหารนางสิมหิกาตอนนี้กันสักนิด:

อาสฺเย ตสฺยา นิมชฺชนฺตํ ททฤศุะ สิทฺธจารณาะ |
คฺรสฺยมานํ ยถา จนฺทฺรํ ปูรฺณํ ปรฺวณิ ราหุณา ||5.1.193||
ตตสฺตสฺยา นไขสฺตีกฺษไณรฺมรฺมาณฺยุตฺกฤตฺย วานาระ |
อุตฺปปาตาถ เวเคน มนะสมฺปาตวิกฺรมะ ||5.1.194||
ตำ ตุ ทฤษฺฏฺวา จ ธฤตฺยา จ ทากฺษิณฺเยน นิปาตฺย จ |
ส กปิปฺรวโร เวคาทฺววฤเธ ปุนราตฺมวานฺ ||5.1.195||
หฤตหฤตฺสา หนุมตาปปาต วิธุรามภสิ |
ตำ หตำ วานเรณาศุ ปติตำ วีกฺษฺย สิํหิกามฺ ||5.1.196||
ภูตานฺยากาศจารีณิ ตมูจุะ ปฺวโคตฺตมํ …

“เหล่านักสิทธิ์และจารณะ ได้เห็น(หนุมาน) กำลังจมลงในปากของนาง(สิมหิกา) ประดุจ เห็นพระจันทร์เพ็ญ ข้างขึ้นที่กำลังถูกราหุกลืนกิน จากนั้น วานร เมื่อได้ตัดจุดตาย (หมายถึงอวัยวะที่เป็นจุดอ่อนที่ทำให้ถึงความตายได้) ด้วยเล็บอันแหลมคม หนุมานผู้มีการเคลื่อนไหวสำเร็จด้วยใจ ก็เหาะขึ้นด้วยความเร็ว แลพญาวานรผู้ประเสริฐ ผู้ควบคุมตนได้ เมื่อเห็นและทุ่มนางให้ล้มลงด้วยความมั่นคงและความชำนาญแล้ว ก็ได้ขยายตนให้ใหญ่โตอีกครั้งอย่างรวดเร็ว นางผู้เคราะห์ร้าย มีหัวใจซึ่งถูกหนุมานทำลายแล้ว ได้ล้มลงในทะเล เมื่อจ้องมองนางสิมหิกาผู้นั้น ซึ่งถูกพญาวานรสังหารและล้มลงอย่างรวดเร็วแล้ว เหล่าภูต ผู้จรไปในนภากาศได้กล่าวกับวานรผู้ประเสริฐว่า …”

ขอเล่านิทานอธิบายเหตุ สุริยคราส จันทรคราส ของอินเดีย และเรื่องที่เกี่ยวข้องประมาณนี้ก่อน รอท่านอื่น ๆ มาเล่าเสริม

ช่วงเวลาขายของ: ขณะนี้ ศูนย์บริการวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังเปิดรับสมัครอบรมภาษาต่างประเทศรอบใหม่ สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ของเรามี ภาษาสันสกฤต ภาษาบาลี ภาษาฮินดี ภาษาทิเบต และภาษาพม่าบริการทุกท่าน อย่ารอรา รีบมาสมัคร 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว
สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

cr. ภาพจาก Pinterest

บทความโดย อาจารย์เก้า (ดร. ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว)