เกร็ดความรู้ เทวะตำนาน

ที่มาของพระนาม ขันธกุมาร ในประเทศไทย

อันว่านาม ขันธกุมาร ที่คนไทยนิยมคุ้นเคยกันนั้นมาจากคำว่า ขันธ์ หรือ ขันธะ ในภาษาปาลิ (ภาษาบาลี) ซึ่งคำนี้ในภาษาสันสกฤต คือ สกันธะ หมายถึง กอง,หมวดหมู่
ขันธกุมาร อาจหมายถึง กุมารผู้เป็นนายกอง นายหมู่?

แต่แท้จริงแล้ว นามของพระองค์คือ สกันทะ อันหมายถึง ผู้ทำลาย ในภาษาสันสกฤต
สฺกนฺท ยังหมายถึง การปะทุ,การทะลัก,การหกหล่น,การโจมตี,ผู้โจมตี ได้ด้วย ยังให้ความหมายเป็นนัยได้อีกว่า ผู้เกิดจากการปะทุของพระเดชานุภาพของพระศิวะ (ตามเทวปกรณ์ในปุราณะ พระองค์เกิดจากพีชะของพระศิวะ) และ ผู้โจมตี ยังมีนัยถึง สถานะเทวมหาเสนา ของพระองค์

สกันทะ อันหมายถึง ผู้ทำลายนั้นมีความหมายเช่น เดียวกับ หน้าที่ของพระรุทระผู้บิดรเทพ คือ ทำลายบาป ความเลวทรามชั่วช้าทั้งปวง

ตามตำนานในปุราณะ พระองค์บังเกิดขึ้นเพื่อปราบตารกาสุระ ผู้ได้รับพรจากพระพรหมาว่า ให้ตนตายด้วยโอรสของพระศิวะ หลังจากการวิวาห์ของ พระศิวะ และพระปารวตี พระองค์ทั้งสองได้ใช้เวลาร่วมกัน แต่การร่วมกันของพระองค์ทั้งสองยังทำให้ทั้งจักรวาลสั่นสะเทือน เหล่าเทวะจึงต่างมาเข้าเฝ้าพระองค์ทั้งสอง ซึ่งเป็นเพลาอันไม่สมควร แต่เพลานั้นเองที่พระศิวะปรากฏองค์ขึ้นต่อเหล่าทวยเทพ พระองค์ได้ปล่อยพีชะของพระองค์ พระอัคนีได้แปลงตนเป็นปักษาเข้ารับพีชะนั้นไว้ แต่ด้วยความร้อนแรงแห่งพระเดชานุภาพแห่งองค์พระศิวะ ทำให้อัคนีเทพทนรับไม่ไหว พระอัคนีในรูปปักษาจึงบินไปยัง คงคานที และปล่อยพีชะนั้นลงไปตามกระแสแห่งคงคานที พระคงคาทนต่อพระเดชานุภาพของพระศิวะมิไหว จึงนำพีชะขึ้นฝั่งพระธรณีทรงรับไว้แต่ก็ทนต่อพระเดชไม่ได้ จึงนำพีชะไปไว้ที่กอไม้น้ำ (บ้างว่า ต้นกก บ้างว่ากอบัว) พีชะจึงปฏิสนทิขึ้นเป็นกุมาร มีหกเศียร (ตำนานทางอินเดียใต้ว่า เป็นกุมารหกองค์ ภายหลังพระปารตีนำกุมารทั้งหกเป็นหนึ่งเดียว) เหล่านางกฤติกา (ตัวแทนดาวลูกไก่)ทั้งหก ได้พบเข้าจึงนำไปชุบเลี้ยง ณ ทิพยคงคา บนสรวงสวรรค์ หากทางช้างเผือกของกรีกโรมัน เป็นกระแสน้ำนม ทิพยคงคา ก็เป็นทางช้างเผือกของทางฮินดู
เหล่านางกฤติกาทั้งหกได้อุปการะพระกุมาร และจากการได้รับการอุปการะจากเหล่านางกฤติกา พระกุมารจึงได้พระนามว่า การติเกยะ และ ษัณมุข จากการที่พระองค์ทรงไว้ซึ่งเศียรทั้งหก
พระกรรติเกยะ เจริญวัยถึงสิบพรรษา พระศิวะได้ให้นนทิเป็นทูต ทุญเชิญพระการติเกยะมาสถิตอยู่กับพระองค์ และพระปารวตี ณ ขุนเขาไกลาศ และเปิดเผยสถานะของพระองค์ในฐานะ โอรสของพระศิวะ และแต่งตั้งเป็น เทวเสนาบดี และมอบหน้าที่ในการสังหาร ตารกะ
พระปารวตี ทรงสร้างหอกศักดิ์สิทธิ์จากพระรัศมีบนวรกายของพระองค์ มอบให้แก่พระกุมารสวามี เพื่อปราบเหล่าอสูร และยังทรงได้รับอาวุธทั้งหลายจากเหล่าทวยเทพ
พระองค์ได้ทำลายเกราญจะ ที่อยู่ของเหล่าอสูรในทิศทักษิณ และสังหารตารกะได้สำเร็จ พระอินทร์ทรงประทาน พระนางเทวาเสนา หรือ ที่ชาวตมิฬรู้จักกันในนาม เทวาไน ผู้ธิดาบุญธรรมเป็นชายาของพระองค์.

เทวลักษณะของพระสกันทะ เทวปฏิมาของพระองค์ส่วนมากมักปรากฏในอินเดียตอนใต้ มีตั้งแต่สองพระกร สีพระกร จนมีหลายพระกร มีเศียรเดียวบ้าง หกเศียรบ้าง บ้างคู่กับชายาทั้งสองคือ เทวาเสนา และ วัลลี
เทวปฏิมาที่แพร่หลายคือ ทรงปรากฏเป็นหนุ่มรุ่น ทรงสี่กร พระกรขวาบนทรงศักติยายุทะ (อาวุทศักติ) พระกรขวาล่างทรงแสดงอภยหัสตะ (การคุ้มครอง) พระกรซ้ายบนทรง วัชระ (ลักษณะคล้ายตรี) พระกรซ้ายล่างทรง วรทะหัสตะ (แสดงการให้ การให้พร) หรือ กฏิหัสตะ (เท้าเอว) บ้างสองกรล่างทรงคันศร และลูกศร
ทรงมกรกุณฑล หรือ ปัตระกุณฑล ทรงกรัณฑะมงกุฏ (มงกุฏทรงยอดดังหม้อเป็นชั้นๆขึ้นไป เป็นมงกุฏของเทพชั้นลอง หรือ พระเทวี) หรือ กิรีฏะมงกุฏ (มงกุฏทรงยองสูงของกษัตริย์)

อีกเทวลักษณะคือ ปรากฏเป็นหนุ่มรุ่น หรือ กุมารน้อย สองกร พระกรแสดง อภยหัสตะ (การคุ้มครอง) และ กฏิหัสตะ (เท้าเอว)

บางปฏิมา เมื่องคู่กับ พระศิวะ และ พระปารวตี ผู้บิดา-มารดา ทรงปรากฏเป็นกุมารน้อย สองกร ทั้งสองกรทรงไว้ซึ่งปทุมชาติ ซึ่งเรียกปฏิมานี้ว่า โสมาสกันทะ

อีกเทวลักษณะที่นิยมคือ ทรงปรากฏรูปเป็นสันนยาสี เปลือยองค์มีแค่ผ้าชิ้นเดียวปิดเครื่องเพศ ทรงปลงพระเกศา เหลือแค่พระศิขา (ปลอยผม) ทรงสองพระกร ทรงถือไม้เท้า และแสดง กฏิหัสตะ (เท้าเอว) เรียกว่า ทัณฑายุทปาณิ (ผู้ทรงไม้เป็นอาวุธ)

ทางเบงกอล มักปั้นเป็น รูปกุมารหนุ่ม บ้างทรงมีพระมัสสุ (หนวด) ทรงสองกร ถือคันศร และลูกศร เคียงข้าง พระมหิษาสุรมรรทินี และ พระวิฆเนศวร ในช่วงเทศกาลนวราตรี และ วิชยทศมี

เรียบเรียงนำเสนอโดย มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)