เกร็ดความรู้

อุปจาระ การปฏิบัติบูชาขั้นพื้นฐาน

อุปจาระ (उपचार/Upachara) คือ การปฏิบัติบูชา รับใช้ต่อเทพเจ้า หรือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยแบ่งเป็นขั้นตอน แบบแผนต่างๆ อย่างเป็นระเบียบ โดยแต่ละสัมประทายะ (จารีตประเพณีที่สืบทอดกันมาในสำนักอาจารย์ต่างๆ) อาจมีรายละเอียดปฏิบัติแตกต่างกัน
อุปจาระแบ่งเป็นขั้นตอนหลักๆ ดังนี้
  • ปัญโจปาจาระ (पंचोपचार/Panchopachara) = การปฏิบัติบูชา 5ขั้นตอน
  • โษฑโศปจาระ (षोडशोपचार/Shodasopachara) = การปฏิบัติบูชา 16ขั้นตอน
  • จตุรษัษฐี อุปจาระ (चतुर्षष्ठी उपचार/Chaturshasthi Upachara) = การปฏิบัติบูชา 64 ขั้นตอน ซึ่งมักทำในเทวสถานใหญ่ๆ
โดย ปัญโจปจาระ และ โษฑโศปจาระ เป็นการทำในเคหสถานได้ โดยการบูชาแบ่งเป็นสองขั้นตอนใหญ่ๆ หรือ สองช่วง คือ ปูรวางคะ (पूर्वाङ्ग/Purvanga) และ อุตตะรางคะ (उत्तराङ्ग/Uttaranga)
โดยปูรวางคะ คือ ขั้นตอนช่วงแรก และอุตตรางคะ คือขั้นตอนหรือช่วงถัดมา ซึ่งในส่วนของอุปจาระ คือ อุตตรางคะ ปูชา
ต่อไปนี้คือ การทำโษฑโศปจาระที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้มา โดยคร่าวๆ เป็นแนวทางการปฏิบัติบูชาอย่างเป็นขั้นตอน แก่ผู้ปฏิบัติบูชาต่พระภควาน/ภควตี ทุกท่าน

 

#ปูรวางคะปูชา
  • ทีปะปูชา (दीप-पूजा/Deepa Pooja)
    จุดประทีป และสวดบูชาต่อประทีป ซึ่งให้แสงสว่างแก่ภายนอก และภายใน (ในจิตวิญญาณ) ซึ่งบทโศลกบูชาประทีปมีมากมาย แตกต่างกันไป แล้วแต่จะนำมาสวดท่อง
  • อาจมนะ (आचमन/Achamana)
    ทำความสะอาดมือทั้งสอง ด้วยน้ำที่บรรจุลงในหม้อปัญจปาตระ (หม้อ หรือ แก้วโลหะขนาดเล็กที่ใช้พร้อมกับช้อนโลหะ) ใช้ช้อนตักด้วยมือซ้าย ลงบนมือขวา แล้วล้างมือทั้งสองนั้น เสร็จแล้วจึงดื่มน้ำล้างปาก ด้วยการทำแบบเดียวกัน โดยตักน้ำลงบนมือขวา แล้วดื่มสามครั้ง พร้อมกับสวดมนตระ กำกับ คือ โอม อัจยุตายะ นะมะห์ (ดื่มหนึ่ง) โอม โควินทายะ นะมะห์ (ดื่มสอง) โอม อนันตายะ นะมะห์ (ดื่มสาม) เสร็จแล้วจึงทำจิตให้สงบ พร้อมทั้งสวดนามเหล่านี้ เพื่อชำระตนให้บริสุทธิ์
    เกศวะ,นารายณะ,มาธวะ,โควินทะ,วิษโณ,มธุสูธนะ,ตริวิกรมะ,วามนะ,ศรีธระ,หฤษีเกศะ,ปัทมนาภะ,ทาโมทระ
  • คุรุวันทนา (गुरु-वन्दन/Guru Vandana) สวดบูชาและน้อมระลึกถึงคุรุ
  • ทำปราณายามะ (प्राणायाम/Pranayama) หรือ กำหนดลมหายใจ พร้อมทั้งกำกับด้วย คายตรี มหามนตระ (गायत्री महामन्त्र/Gayatri Mahamantra)
  • ฆัณฏา ปูชา (घण्टा पूजा/Ghanda Pooja)
    ทำการสวดบูชาต่อฆัณฏา (กระดิ่งบูชา) และถวายบุปผชาติยังฆัณฏานั้น
  • สังกัลปะ (सङ्कल्प/Sankalpa)
    สังกัลปะ เป็นการประกาศแจ้งเจตนารมณ์ จุดมุ่งหมายในการบูชา โดยกล่าวประกาศถึง ถิ่นที่อยู่ในขณะปฏิบัติบูชา ชื่อปีสมวัตสร (ปีตามปฏิทินฮินดู) ฤดู เดือน ปักษ์ ดิถี วาร(วัน) และ นักษัตรที่ปรากฏขึ้นในวันทำพิธี พร้อมทั้ง ชื่อ,ชนมนักษัตร และราศีของผู้ปฏิบัติบูชา และจุดประสงค์ในการทำพิธี พิธีนี้มีแก่เทวะองค์ใด (กล่าวถึงนามเทพองค์นั้น) หรือ จะกล่าวเพียง ทำเพื่อเทวะองค์ใด และจุดประสงค์ในการทำบูชานั้นก็ได้ โดยในการบูชาแรกสุด ก่อนเทพองค์อื่นๆ ให้ทำสังกัลปะถึงพระคณปติ
หลังจากขั้นตอนนี้จะสวดบท ธยานะ มนตระ (ध्यान मन्त्र/Dhyana Mantra)(บทสวดทำการสมาธิระลึกถึงเทพเจ้าองค์นั้นๆ) และ บทกวจะ (कवच/Kavacha)(บทเกราะคุ้มกันภัยของเทพองค์นั้นๆ) ด้วยก็ได้

 

#อุตตรางคะปูชา
  1. อาวาหนะ (आवाहन/Aavahana) กล่าวอันเชิญพระเทวะที่กำลังทำการบูชานั้นมายังมณฑลพิธี โดยกำกับมนตร์ ดังนี้ โอม…(นามเทพองค์นั้น)..นะมะห์ อาวาหะยามิ
    (ผันวิภักติที่สี่ตามระบบไวยากรณ์สันสกฤตด้วยจะดีมาก ง่ายๆคือไม่เติมมั่วๆ) แล้วโปรยข้าวอักษัต ไปยังพระปฏิมา หรือองค์แทนเทพองค์นั้น
  2. อาสนะ (आसन/Aasana) ถวายอาสนะ หรือที่ประทับ ใช้มนตร์กำกับว่า โอม….นะมะห์ อาสะนำ สมรรปยามิ แล้วจึงโปรยข้างอักษัตยังเบื้องบาพระปฏิมา หรือองค์แทนเทวองค์นั้น
  3. ปาทยะ (पाद्य/Padya) ถวายน้ำล้างพระบาท ตักน้ำจากหม้อปัญจปาตรัมด้วยช้อน แล้วจึงกำกับมนตร์ว่า โอม….นะมะห์ ปาทะโยห์ ปาทยำ สมรรปยามิ กล่าวจบจึงรดน้ำไปยังเบื้องบาทเทวปฏิมา หรือถ้วยที่เตรียมรองไว้
  4. อรรฆฺยะ (अर्घ्य/Arghya) ถวายน้ำล้างพระหัตถ์ ตักน้ำจากหม้อปัญจปาตระด้วยช้อน พร้อมกับ กำกับมนตร์ว่า โอม…นะมะห์ อรรฆฺยำ สมรรปยามิ กล่าวจบจึงรดน้ำไปยังเทวรูป หรือถ้วยที่เตรียมรองไว้
  5. อาจะมนียะ (आचमनीय/Achamaniya) ถวายน้ำล้างพระโอษฐ์ ให้ตักน้ำจากหม้อปัญจปาตระ พร้อมกับสาธยายมนตร์ว่า โอม…นะมะห์ อาจจะมนียำ สมรรปยามิ กล่าวเสร็จจึงรดน้ำไปยังเทวมูรติ หรือถ้วยที่เตรียมไว้
  6. สนาน (सनान/Sanana) สรงน้ำ หรือ ย่อการสรงน้ำลงมา ให้ตักน้ำจากในหม้อปัญจปาตระ พร้อมกล่าวกำกับว่า โอม…นะมะห์ สะนานียำ สมรรปยามิ กล่าวจบจึงรดน้ำไปยังเทวรูป
  7. วัสตระ-อลังการะ-อุปวีต/มงคลสูตร ธารณะ (Vastra-Alankara-Upavita/Mangalsutra Dharana)
    ถวายพัสตราภรณ์,เครื่องอลงกรณ์ และอุปวีต(สายธุรำ) หรือ มงคลสูตร (สำหรับพระเทวี) ต่างด้วยข้าวอักษัต ให้นำข้าวอีกษัตไว้ในมือ พร้อมกับสาธยายมนตร์กำกับ ว่า โอม…นะมะห์ วัสตระ-อลังการะ-อุปวีตารถำ/มังคะละสูตรารฺถำ อักษะตาน สมรรปยามิ กล่าวจบจึงโปรยอักษัตลงบนเทวปฏิมา
  8. ศรีคณธะ สมรรปณะ (श्रीगंध समर्पण/Srigandha Samarpana)
    ถวายการจุณเจิมด้วยกระแจะจันทน์ ให้นำผงจันทน์ผสมกับน้ำให้พอแชะ เรียบร้อยแล้วให้สาธยายกำกับมนต์ว่า โอม…นะมะห์ ศรีคัณธำ สมรรปยามิ กล่าวเสร็จเจิมกระแจะจันทน์ด้วยนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วนาง ยังพระนลาฏของพระเทวปฏมา หรือ จะเจิมติลกไว้แต่แรก แล้วโปรยผงจันทน์เพียงเล็กน้อยไปยังเบื้องพระบาทของพระเทวะก็ย่อมได้
  9. กุงกุมะ สมรรปณะ (कुंकुम समर्पण/Kunkuma Samarpana)
    ถวายการจุณเจิมด้วยผงกุงกุมะ ทำอย่างเดียวกับการถวายกระแสจะจันทน์ หากแต่ให้กำกับมนต์ว่า โอม…นะมะห์ หะริทรา-กุงกุมะ สมรรปยามิ
  10. ปุษปะ ปูชา (पुष्प-पूजा/Pushpa Pooja)
    ถวายบุปผชาติ ให้สาธยายมนต์กำกับว่า โอม…นะมะห์ ปุษไปห์ (ปุษไปฮิ) ปูชยามิ เสร็จแล้วจึงโปรยดอกไม้ หรือ ถวายดอกไม้แทบเบืองบาทของเทวปฏิมา

    – อรรจนา (अर्चना/Archana)
    ต่อไปคือ การทำอรรจนา อรรจนา เป็นรูปแบบหนึ่งของการบูชา ด้วยการถวายเครื่องบูชาพร้อมกับ การสวดสาธยายพระนามของพระผู้เป็นเจ้า (ในรูปแบบนามาวลี) ไม่ว่าจะ 16พระนาม,108พระนาม หรือ 1000พระนาม อรรจนามีหลายรูปแบบ เช่น

    ปุษปารจนา (पुष्पार्चना/Pushparchana) คือ การถวายดอกไม้พร้อมสวดท่องพระนาม
    กุงกุมารจนา (कुंकुमारचना/Kunkumarchana) คือ การถวายผงกุงกุมะ พร้อมกับการสวดท่องพระนาม ซึ่งมักทำกุงกุมะ อรรจนานี้กับพระเทวี เช่น พระอุมา และอวตารภาคต่างๆของพระนาง อีกทั้งพระลักษมี
    วิภูติ อรรจนา (विभूति अर्चना/Vibhuti Archana) คือ การถวายผงวิภูติ พร้อมกับสวดท่องพระนาง ซึ่งมักทำการบูชานี้กับพระศิวะ และ พระมุรุเกศัน (ขันทกุมาร)
    นอกจากการท่องสรรเสริญพระนามสันสกฤต (นามาวลี)แล้ว ในตมิฬยังมีการทำอรรจนา ด้วยการท่องพระนามในภาษาตมิฬด้วย (มักลงท้ายพระนามด้วย โปตตริ ซึ่งมีความหมายทำนองเดียวกับ นัม ธาตุ ในสันสกฤต)

  11. .ธูปัม สมรรปณะ (धूपम् समर्पण/Dhoopam Samarpana)
    ถวายควันจากเครื่องหอม เช่น กำยานยางไม้ กับผงไม้หอม หรือ ธูปแท่ง โดยให้จุดถ่านจนร้อนได้ที่แล้วใส่ก้อนกำยาน/ผงกำยาน หรือ ผงไม้หอมลงไปจนเกิดควัน หรือจะจุดธูปไม้(ไม่จำกัดจำนวนที่แน่นอน) แล้ววนเบื้องหน้าเทวรูป สามครั้ง ให้วนตามเข็มนาฬิกา (วนไปทางซ้ายมือผู้บูชา ซึ่งเป็นด้านขวาของเทวรูป) ด้วยมือขวา พร้อมกับสวดกำกับ ว่า โอม…นะมะห์ ธูปำ อาฆราปยามิ/สมรรปยามิ
  12. ทีปัม ทรรศนะ (दीपम् दर्शन/Deepam Darshana)
    ถวายประทีป โดยจุดประทีปด้วยตะเกียงที่มีมือจับ ใช้เชือกฝ้ายเป็นเชื้อเพลิงในการจุด กับ น้ำมันฆี หรือ น้ำมันมะพร้าว (แนะนำให้ใช้น้ำมันทั้งสองนี้ เพราะถือว่า บริสุทธิ์) ซึ่งประทีปนี้จะจุดแต่แรกเริ่มแล้ว ให้วนประทีปนี้เบื้องหน้าเทวรูป เช่นเดียวกับการถวายควันกำยาน/ธูป พร้อมกับสวดกำกับว่า โอม…ทีปำ ทรรศยามิ/สมรรปยามิ
  13. ไนเวทยะ (नैवेद्य/Naivedya)
    ถวายไนเวทยะ หรือ เครื่องบัดพลี (อาหารเจ หรือ ขนมเจ) ให้ตักน้ำจากหม้อปัญจปาตระ แล้ววนรอบไนเวทยะตามเข็มนาฬิกา พร้อมกับสวดกำกับว่า โอม…นะมะห์ ไนเวทยำ นิเวทะยามิ/สมรรปยามิ เมื่อสวดจบจึงรดน้ำไปยังไนเวทยะ หรือ รดไปยังถ้วยรองที่เตรียมไว้
  14. ตามพูละ สมรรปณะ (ताम्बूल समर्पण/Tamboora Samarpana)
    ถวายเครื่องบรรณาการ ต่างด้วยใบพลูและหมากแห้ง นำใบพลูที่เตรียมไว้ อันมีหมากแห้งประดับอยู่บนใบพลูเหล่านั้น ตั้ง หรือชูขึ้นเบื้องหน้าพระเทวะ แล้วตักน้ำจากหม้อปัญจปาตรัม วนตามเข็มนาฬิการอบถาดตามพูละนั้น พร้อมกับท่องว่า โอม…นะมะห์ ตามพูลำ สมรรปยามิ เสร็จแล้วจึงลดน้ำบนใบพลู-หมากแห้งนั้น หรือรดในถ้วยที่เตรียมไว้
  15. กรรปูระ นีราชนะ (कर्पूर नीराजन/Karpoora Neerajana)
    ถวายการอารตี หรือ นีราชนะ ให้จุดการบูร (ให้ใช้การบูรแท้ หรือการบูรสังเคราะห์เกรดดีที่เนื้อเป็นผลึกขาวใส วาวๆ และมีกลิ่นหอม ซึ่งมีคุณสมบัติติดไฟง่าย และขจัดซึ่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ เช่นเดียวกับสิ่งไม่ดีทั้งหลายจะถูกไฟการบูรนี้แผดเผา) บนเครื่องอารตี (ในบ้านคนให้ใช้หลุมเดียว) พร้อมกับสวดกำกับว่า โอม…นะมะห์ กรรปูระ นีราชะนำ สมรรปยามิ แล้วจึงวนตามเข็มนาฬิกา หน้าเบื้องพระพักตร์เทวรูป สามครั้ง เสร็จแล้วจึงตักน้ำจากหม้อปัญจปาตระ แล้ววนตามเข็มนาฬิการอบหลุมอารตี พร้อมกล่าวว่า กรรปูระ นีราชะนานันตะรำ อาจจะมะนียำ สมรรปยามิ แล้วรดไปยังองค์เทพ หรือ ถ้วยที่เตรียมไว้รอง
  16. นมัสการ/ปรารถนา (नमस्कार/प्रार्थना – Namaskara/Prarthana)
    การถวายการนอบน้อมสรรเสริญ ด้วยการสวดสาธยายโศลก มนตระ หรือ สโตตระต่างๆ แก่องค์เทพ
หลังจากทำอุปจาระบูชาแก่พระคณปติแล้ว ให้วางมือลงบนหม้อปัญจปาตรัม ด้วยมือข้างขวาแล้วสวดอัญเชิญแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ด อันได้แก่ คงคา,ยมุนา,โคทาวรี,สรัสวตี,นรรมทา,สินธุ และกาเวรี มาสถิตยังหม้อนั้น แล้วเริ่มทำการบูชาเทพองค์ต่อไปที่ปรารถนาจักบูชา เริ่มจากทำสังกัลปะไป

 

#เครื่องบูชา
เครื่องบูชาในการทำบูชา ได้แก่
  • รูปเคารพ
  • หม้อปัญจปาตรัม พร้อมช้อน
  • ถ้วยรองน้ำ
  • ตะเกียงจุดประทีปมีมือจับ
  • ตะเกียงจุดถวายกำยานมีมือจับ (ถ้าใช้ธูปไม้ก็ไม่จำเป็น)
    ตะเกียงอารตีหนึ่งหลุม
  • กระดิ่งบูชา
  • น้ำบริสุทธิ์
  • อักษัต (ข้าวสารย้อมขมิ้น)
  • ผงเจิม อันได้แก่ จันทน์ และกุงกุมัม
  • ฆี(น้ำมันเนยจากนมโค) หรือ น้ำมันมะพร้าว
  • กำยานยางไม้ก้อน/ผงไม้จันทน์ หรือกฤษณา และถ่าน หรือ กำยานถ้วย หรือจะเป็นธูปไม้ก็ได้
  • ก้อนการบูรแท้ หรือ การบูรสังเคราะห์เกรดดี
  • ถาดใส่ไนเวทยะ และใบพลู-หมากแห้ง
  • บุปผา
  • อาหาร หรือ ขนมเจ เป็นไนเวทยะ
  • ใบพลู-หมากแห้ง
ปล.การบูชาทั้งหมดทำด้วยมือขวา ยกเว้นล้างมือ ล้างปากของผู้บูชาเอง
เรียบเรียงโดย มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)