เกร็ดความรู้

ที่มาของพระนาม พิฆเนศ และ พิฆเนศวร ในไทย

อันว่า พระนามพระพิฆเนศ และ พิฆเนศวร ซึ่งนิยมกล่าวขานกันโดยชาวไทยนั้น มาจากนามสันสกฤตว่า วิฆเนศ และ วิฆเนศวร อันหมายถึง พระผู้เป็นเจ้าแห่งอุปสรรค
โดยมาจากคำสันสกฤตสองคำคือ วิฆนะ (อุปสรรค,การกีดขวาง) สนธิกับ อีศะ/อีศวร (ผู้เป็นเจ้า) จึงได้รูป วิฆเนศ และ วิฆเนศวร และด้วยไทยนั้นได้รับรูปแบบการเขียน การอ่านแบบภาษาบังคละ และเหล่าภาษาในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงปาลิภาษา (ภาษาบาลี) ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของภาษาบังคละก็ว่าได้ ซึ่ง ว สามารถเป็น พ ได้ จึงเป็น พิฆเนศ และ พิฆเนศวร ซึ่งทางภาษาไทยได้รับคำทั้งสองรูปแบบมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งพบได้บ่อย แค่ขึ้นรถออกจากบ้านเห็นป้ายร้านค้าต่างๆก็จะพบ คำทั้งสองรูปแบบ ทั้ง ว และ พ เช่น วิทยา และ พิทยา หมายถึง วิชา ความรู้
วัฒนะ และ พัฒนะ หมายถึง ความเจริญ
วิทยาลัย และ พิทยาลัย อันหมายถึง สถานที่แห่งวิชาความรู้ เป็นต้น

นอกจากนี้พระองค์ยังมีอีกหลายพระนาม เช่น

คเณศ และ คเณศวร หมายถึง พระผู้เป็นเจ้าแห่งคณะ
มาจากคำสันสกฤตสองคำ คือ คณะ (ในที่นี้หมายถึง เหล่าบริวารของพระศิวะ อันมี ยักษ์,เปรต,ปีศาจ และไกลาศวาสีทั้งหลาย เป็นอาทิ) สนธิกับ อีศะ,อีศวร (ผู้เป็นเจ้า) จึงได้รูป คเณศ และ คเณศวร

คณปติ หมายถึง ผู้เป็นบดีของคณะ
มาจากคำสันสกฤตสองคำ คือ คณะ(เหล่าบริวารในองค์พระศิว) สมาสกับ ปติ (บดี) จึงได้รูป คณปติ

คณาธิปติ หมายถึง พระผู้เป็นบดีอันทรงความยิ่งใหญ่แห่งคณะ
มาจากคำสันสกฤตสามคำ คือ คณะ(เหล่าบริวารในองค์พระศิว) สนธิกับ อธิ (ยิ่งใหญ่) เป็น คณาธิ และสมาสกับ ปติ (บดี) จึงได้รูป คณาธิปติ

คณาธีศวร หมายถึง พระผู้เป็นเจ้าอันทรงความยิ่งใหญ่แห่งคณะ
มาจากคำสันสกฤตสามคำเช่นกัน คือ คณะ สนธิ อธิ เป็น คณาธิ และ สนธิกับ อีศวร จึงได้รูป คณาธีศวร

คชานน หมายถึง พระผู้มีพระพักตร์เป็นคชสาร
มาจากคำสันสกฤตสองคำ คือ คช (ช้าง) สนธิกับ อานน (ใบหน้า) จึงได้รูป คชานน (คะชานะนะ หรือออกเสียงแบบภาษาฮินดี ที่เสียงสระอะ ท้ายคำแทบจะไม่ออกเสียงเลย หรือเสียงเบามาก จึงเป็น คะชานัน)

สุมุขะ หมายถึง พระผู้ทรงมีพระพักตร์งดงาม
มาจากคำสันสกฤตสองคำ คือ สุ (ดีงาม) สมาสกับ มุขะ (ใบหน้า) จึงได้รูป สุมุขะ

ลัมโพทระ หมายถึง พระผู้ทรงมีอุทรย้อย
มาจากคำสันสกฤตสองคำ คือ ลัมพะ (ย้อย,ห้อย) สนธิกับ อุทระ (อุทร,ท้อง) จึงได้รูป ลัมโพทระ

วิฆนราชะ หมายถึง พระผู้ทรงเป็นราชาแห่งอุปสรรค
มาจากคำสันสกฤตสองคำ คือ วิฆนะ (อุปสรรค) สมาสกับ ราชะ (พระราชา) จึงได้รูป วิฆนราชะ

สกันทะปูรวชะ หมายถึง พระผู้เป็นพระเชษฐาแห่งพระสกันทะ หรือ อุบัติก่อนพระสกันทะ
มาจากคำสันสกฤตสองคำ คือ สกันทะ อันเป็นพระนามของ พระกุมารสวามี สมาสกับ ปูรวชะ (ผู้เกิดก่อน,มีวุฒกว่า) จึงได้รูป สกันทปูรวช

เอกทันตะ หมายถึง พระผู้ทรงมีงาเดียว
มาจากคำสันสกฤตสองคำ คือ เอกะ (หนึ่ง) สมาสกับ ทันตะ (ฟัน หรือ งาของช้าง) จึงได้รูป เอกทันตะ

วามนรูปะ หมายถึง พระผู้ทรงมีรูปร่างเตี้ยแคระ
มาจากคำสันสกฤตสองคำ คือ วามนะ (เตี้ยแคระ) สมาสกับ รูปะ (รูปร่าง)

ปิลไลยาร หมายถึง พระกุมาร
เป็นคำภาษาตมิฬ คือ ปิลไล หมายถึง บุตรชาย หรือ เด็กชาย ลงท้ายเสียง อาร เพื่อบ่งบอกว่า ผู้นั้นมียศศักดิ์สูงกว่า ตามภาษาตมิฬ จึงได้รูป ปิลไลยาร

ปิลไลยารัปปา แปลความง่ายๆ เหมือนการเยินยอ ที่คนไทยชอบใช้วิธีนี้ในเวลาเข้าหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ ผู้มียศศักดิ์สูงกว่า คือ พ่อพระกุมาร พ่อกุมารเทพ
มาจากคำตมิฬสองคำ คือ ปิลไลยาร หมายถึงกุมารผู้มียศศักดิ์ สนธิกับ อัปปา (พ่อ,พ่อคุณ) จึงได้รูป ปิลไลยารัปปา

มีหลากหลายพระนาม แต่หากหมายถึงเทวะองค์เดียวกัน

ผู้สนใจหลักการสนทิและสมาส สามารถค้นหาต่อในในอินเทอร์เน็ต หรือตามลิงก์ https://th.m.wikipedia.org/wiki/คำสมาส

http://www.thaigoodview.com/…/thai04/34/workgroup/p23.htm

https://www.gotoknow.org/posts/287153

เรียบเรียงนำเสนอโดย มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)