เกร็ดความรู้

บูชาพระแม่กาลีได้ไหม?

คำถามนี้เป็นคำถามยอดนิยมและมักพบได้บ่อยในกลุ่มผู้เริ่มมีจิตศรัทธา เริ่มมาปรนนิบัติบูชาใหม่ๆ พร้อมกับคำถามว่า พระกาลีบูชาในเคหสถานได้หรือไม่? ซึ่งคำตอบที่ออกมาจากกลุ่มผู้ศรัทธานั้นมีหลากหลายมาก บ้างว่าได้ บ้างว่าไม่ได้ บ้างว่า อย่าได้แคร์
ในวันนี้ผมจึงมีความประสงค์จะมาตอบข้อสงสัยในเรื่องนี้

ตรงนี้ผมขอกล่าวว่า พระกาลีเราสามารถบูชาได้ครับ ในส่วนนี้ผมต้องกล่าวไว้เลยว่า อันที่จริงพระกาลีมีสองภาวะ หรือสองรูปแบบ คือ เสามฺยะ กาลี (सौम्य काली/Soumya Kali) และ อุคระ กาลี (उग्रकाली/Ugra Kali)
เสามฺยะ นั้นหมายถึง สง่างาม,อ่อนโยน และ อุคระนั้นหมายถึง ดุร้าย,น่าเกลียดน่ากลัว,น่าสยดสยอง,โกรธแค้น,รุนแรง
ที่เรา(ควร)บูชากันนั้นจึงเป็น เสามฺยะ กาลี หรือ กาลีผู้ทรงความงดงาม อ่อนโยน เปี่ยมด้วยความการุณย์แห่งมารดา ซึ่งเราสามารถปรนนิบัติบูชาได้ดังเช่นเทพ-เทวีองค์อื่นๆ และสามารถทำการปรนนิบัติบูชาได้ในเคหสถาน โดยรูปเคารพของพระเทวีจักต้องแสดงถึง เสามฺยะ หรือ ความงาม แลความอ่อนโยน ความเมตตาการุณย์ ไม่ดุร้ายจนเกินไป หรือ น่าเกลียดน่ากลัวเหมือนนางปีศาจ นางรากษสใดๆ อีกทั้งควรได้รับการปรนนิบัติบูชาด้วยภักติ และอหิงสา ไนเวทยะ หรือ เครื่องบัดพลี ควรเป็นอาหารอันประกอบด้วยสัตตวะคุณ คือ ไม่ประกอบด้วยไข่ หรือเนื้อสัตว์ใดๆ เป็นการขจัดซึ่งรากษสภาวะของเทวะและผู้บูชาเอง
*ในเรื่องไนเวทยะ และอาหารสัตตวะคุณ สามารถอ่านได้ตามลิงก์นี้
https://hindumeeting.com/ไนเวทยะที่ดีควรเป็นย่างไร

ส่วนอุคระกาลี คือ พระกาลีที่ทรงความดุร้าย ความรุนแรง มีรูปเคารพที่น่าเกลียด น่ากลัวเหมือนปีศาจินี ซึ่งรูปแบบนี้ของพระกาลีจะได้รับการประดิษฐานและการบูชาในสุสาน หรือ ป่าเขา เพื่อดูแลสถานที่นั้นๆ อีกทั้งทรงได้รับการบูชาด้วยการบูชายัญด้วยมังสะต่างๆ อีกทั้งพิธีกรรมต่างในวัฒนธรรมท้องถิ่น ร่วมถึงการปรนนิบัติบูชาแบบวามจาระ ตันตระ (ตันตระฝ่ายซ้าย ซึ่งมุ่งเน้นพิธีกรรมที่อาจขัดต่อระบบพระเวท หรือ สนาตนธรรม และมุ่งเน้นที่พีชะมนตระ หรือ เมล็ดแห่งมนตร์ อีกทั้งคุหยมนตระ หรือ มนตร์ลับที่ถ่ายทอดผ่านคุณรุ กับศิษย์ ซึ่งต่างจากทักษิณจาระ ตันตระ)
ซึ่งอุคระ กาลี ไม่ได้รับการอนุญาตบูชาในเคหสถาน และในชุมชนทั่วไป เพราะทรงไว้ซึ่งรากษสภาวะ

ดังนั้น เราสามารถบูชาพระแม่กาลีได้ ในรูปแบบของ เสามฺยะ กาลี หรือ พระกาลีผู้ทรงความสง่างาม ความอ่อนโยน ความสงบ แลความการุณย์แห่งมารดา
ซึ่งภาวะแห่งมารดานี้จะไม่มีโทษใดๆต่อบุตร มีเพียงความกรุณา ความอ่อนโยน แลความห่วงไย เป็นมารดาผู้ให้อย่างแท้จริง.

มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)