เทวะตำนาน

พระคายตรี

พระคายตรีนั้นทรงเป็นบุคลาธิษฐานของมนตระ 24พยางค์ในฤคเวท (คายตรี มหามนตระ) ทรงได้รับการนับถือเป็นเทวีแห่งพระเวท,กวีศิลป์,ฉันทลักษณ์ และปัญญาญาณ อีกทั้งทรงเป็นเทวีแห่งยามสนทยา (ช่วงคาบเกี่ยวต่อของวัน คือ รุ่งอรุณ,เที่ยงวัน และยามเย็น) ทรงเป็นเทวีผู้ให้การคุ้มครองแก่เหล่าทวิชะ (ผู้เกิดสองครั้ง คือ ผู้ที่ได้รับการอุปนยนะ คล้องสายยัชโญปวีต อันได้แก่ พราหมณ์,กษัตริย์ และแพศย์)
นอกจากนี้พระคายตรี ยังทรงได้รับการนับถือในฐานะพระศักติ หรือ พระชายาของพระวิราฏวิศวกรรม (พรหมา/สทาศิวะ) อีกด้วย

พระคายตรี ในยุคพระเวทนั้นถือเป็นองค์เดียว กับ พระสาวิตฤ (พระอาทิตย์องค์หนึ่ง) ซึ่งบทมนต์คายตรี อันรจนาโดยพระฤๅษีวิศวามิตรก็มีเพื่อสักการะแด่เทพสาวิตฤนี้ ต่อมาในยุคปุราณะ พระคายตรี หรือ สาวิตรี ได้รับการกล่าวถึง ในฐานะรูป และนามหนึ่งของพระสรัสวดี ในฐานะมารดาแห่งพระเวท
ในปัทมปุราณะ และ ในตำนานท้องถิ่นของราชสถาน ในอินเดียเหนือ กล่าวว่า พระคายตรี ทรงเป็นพระชายาอีกองค์หนึ่งของพระพรหมา เพื่อช่วยพระพรหมาประกอบพิธียัชญะให้เสร็จสมบูรณ์ ที่เมืองปุษกร
ในพรหมไววรรตะ มหาปุราณะ พระคายตรี ทรงถือเป็นหนึ่งในรูปปรากฏทั้งห้าของพระประกฤติ คือ ราธา,ลักษมี,สรัสวตี,ทุรคา และคายตรี หรือ สาวิตรี

ในคัมภีร์ทางไศวะนิกาย พระคายตรี หรือ มโนนมนี (ผู้อยู่เหนือจิตใจ) ทรงเป็นรูปแห่งพระศักติ ทรงเป็นพระมเหสีของพระสทาศิวะ ทรงมีห้าพระพักตร์ (ปัญจมุขี) พร้อมด้วยพระกรทั้งสิบ ซึ่งรูปแบบของพระคายตรีในคติไศวะนี้เองที่ยึดถือกันอย่างแพร่หลาย

อันพระพักตร์ทั้งห้าของพระคายตรีนั้นเป็นองค์แทนแห่ง ปัญจโกศะ หรือ เปลือกทั้งห้าของร่างวัตถุที่ปกคลุมอาตมันอยู่ อันได้แก่

1.อันนามยะ โกศะ คือ เปลือกนอกสุด คือ ร่างกาย หรือ ร่างวัตถุที่ต้องการอาหารเพื่อความอยู่รอด

2.ปราณมยะ โกศะ คือ ร่างกายที่ขับเคลื่อนด้วยปราณ หรือ พลังชีวิต อันเป็นกายภายใน

3.มโนมยะ โกศะ คือ กายแห่งประสาทสัมผัสต่างๆ

4.วิญานโกศะ คือ กายแห่งสติปัญญา ความนึกคิด ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี

5.อานันทมยะ โกศะ คือ กายแห่งความสุขสงบจากภายใน อยู่ลึกกว่ากายภาพและอารมณ์ความรู้สึกทั้งปวง เป็นกายที่เปี่ยมไปด้วยความรักที่ไร้เงื่อนไข ไร้ตัวตน ไร้การแบ่งแยก และเป็นหนึ่งเดียวกับทุกสรรพชีวิต เป็นชั้นที่จะเข้าถึงได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถขจัดภาพลวงต่าง ๆ ของกายภาพ อารมณ์ ความรู้สึกต่าง ๆ ออกไปได้ เป็นกายที่ต้องอาศัยความเพียรในการฝึกฝนโยคะอย่างต่อเนื่องยาวนานเพื่อให้บรรลุสู่ชั้นสุดท้ายนี้ได้

อีกทั้งพระพักตร์ทั้งห้ายังเป็นองค์แทนแห่ง ปัญจปราณะ วายุ (ลมปราณทั้งห้าในร่างกาย) อันได้แก่

1.ปราณะ คือ พลังปราณในทรวงอก และคอ ซึ่งการทำงานของอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ และระบบไหลเวียนโลหิต ถูกควบคุมโดยปราณะนี้

2.อปานะ คือ พลังปราณในช่องท้องซึ่งควบคุมระบบขับถ่าย และระบบสืบพันธุ์

3.สมานะ คือ พลังปราณในระหว่างช่องทอง และทรวงอก ซึ่งควบคุมระบบย่อยอาหาร

4.อุทานะ คือ พลังปราณระหว่างคอ,ใบหน้า และศรีษะ อันควบคุมซึ่งระบบประสาท

5.วยานะ คือ พลังปราณที่แพร่ซ่านไปทั่วทั้งร่างกาย ควบคุมการทำงานทั้งหมดของร่างกาย

นอกจากนี้พระพักตร์ทั้งห้าของพระนางยังเป็นองค์แทนแห่งปัญจมหาภูตะ หรือ ธาตุทั้งห้า อันได้แก่ ดิน,น้ำ,ลม,ไฟ, และอากาศธาตุ อีกทั้งพระพักตร์ทั้งห้านั้นยังแทนซึ่งองค์ประกอบทั้งห้าของ วรรณกรรม หรือ กวี อันได้แก่

1.ฉันท์ คือ รูปแบบของบทกวีที่กำหนดเสียงสัมผัสของบทกวีนั้น

2.คุณะ คือ คุณสมบัติของกวี หรือ รูปแบบของกวี

3.มารคะ คือ รูปแบบการแสดงของกวี

4.อลังการ คือ รูปแบบของไวยากรณ์ หรือ การใช้สำนวนของบทกวี

5.รส หรือ ภาวะ คือ การแสดงอารมณ์ หรือ ความรู้สึกของบทกวี

พระคายตรี เทวี ทรงได้รับการบูชาในฐานะเทวีแห่งแสงสว่าง,พุทธิปัญญาที่เปรียบดังแสงสว่างที่ขจัดความมืด คือ อวิชชา และยังทรงเป็นเทวีแห่งสนธยา (ช่วงคาบเกี่ยวของวัน โดยการโคจรของพระอาทิตย์บนฟ้า) โดยทรงปรากฏเป็นสามรูปในแต่ละสนทยา คือ พระพราหมี ในยามรุ่งอรุณ พระมาเหศวรี ในยามเที่ยงวัน และ พระไวษณวี ในยามสายัณห์
พระนางทรงได้รับการบูชาในทุกสนธยาม โดยเหล่าทวิชะ ด้วยทวิชาติเหล่านั้นต่างกระทำซึ่งสนธยาวันนะ และกล่าวอาราธนาถึงพระนาง พระคายตรี เทวีผู้เป็นแสงสว่าง เป็นพลังอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ผู้ขับเคลื่อนทุกสรรพสิ่ง.

กิตติกร อินทรักษา
06/06/2021