เทวะตำนาน

เทวลักษณะของพระศิวะ

พระศิวะทรงปรากฏองค์เป็นบุรุษ ทรงเป็นโยคีผู้อยู่อย่างสมถะ ประทับบนขุนเขาไกลาศ (ด้วยเหตุนี้จึงทรงมีพระนามว่า ไกลาศวาสิน หมายถึง ผู้ประทับยัง ณ ขุนเขาไกลาศ) พระองค์ทรงมีฉวีวรรณขาวผุดผ่องดั่งการบูร กระจ่างใสเรืองรองดุจดังสผฏิกะ(เคลียร์ควอตซ์) แลด้วยเหตุนี้จึงทรงนามว่า ศุทธวิคระฮะ หมายถึง ผู้ทรงมีพระวรกายอันบริสุทธิ์ บ้างว่า ทรงมีฉวีวรรณสีฟ้าอมแดง (สีม่วง) อันเนื่องมาจากการดื่มพิษของพญาวาสุกีนาคที่พ่นพิษขณะทำพิธีกวนเกษียรสมทุรไว้ จนพระวรกายของพระองค์จากสีขาวดังน้ำนม แปรเปลี่ยนเป็นสีม่วง (ด้วยเหตุนี้จึงทรงพระนามว่า นีลโลหิตะ) อีกทั้งยังให้พระศอของพระองค์เป็นสีฟ้าคราม (ด้วยเหตุนี้จึงทรงนาม นีลกัณฐ์ และ ศิติกัณฐ์) ทรงเปลือยพระวรกาย นุ่งลมห่มฟ้า (ด้วยเหตุนี้จึงทรงมีพระนามว่า ทิคัมพร หมายถึง ผู้มีทิศเป็นเครื่องนุ่งห่ม และจิตัมพร อันหมายถึง ผู้มีจิตเป็นเครื่องนุ่งห่ม) บ้างว่า ทรงหนังสัตว์เป็นอาภรณ์ ทรงมีงูเห่า และงูจงอาง (นาค) เป็นอาภรณ์ แลเครื่องอลงกรณ์ (ด้วนเหตุนี้จึงทรงมีนามว่า นาคภูษณะ) โดยมีพญาวาสุกี นาคราช พระอนุชาของ เศษนาค (อนันตนาคราช) เป็นสร้อยพระศอ พระวรกายชโลมด้วยผงขี้เถ้าศักดิ์สิทธิ์อันได้มาจากพิธีกรรมทางศาสนา ทางวามจาร ตันตระว่าเป็นผงขี้เถ้าจากการฌาปนกิจศพ (ด้วยเหตุนี้จึงทรงมีนามว่า ภัสโมทธูริตะ วิคระฮะ อันหมายถึง ผู้ทรงชโลมขี้เถ้าไว้บนพระวรกาย) อีกทั้งทรงมีเม็ดรุทรากษะ (เม็ดน้ำตาพระศิวะ) เป็นเครื่องอลงกรณ์
พระองค์ทรงมีสามพระเนตร (อันเป็นที่มาของพระนาม ตระยัมพกะ และ ตริโลจนะ หมายถึง ผู้ทรงมีสามเนตร) อันพระเนตรที่สามนั้นปรากฏบนพระนลาฏของพระองค์ (ด้วยเหตุนี้จึงทรงพระนามว่า ลลาฏากษะ หมายถึง พระผู้ทรงมีดวงเนตรบนพระนลาฏ) ซึ่งพระเนตรทั้งสามเปรียบดังดวงตะวัน ดวงเดือน และเปลวเพลิง (ด้วยเหตุนี้จึงมีนามว่า สูรยะจันทราคนี โลจนะ) แลบนพระนลาฏนั้นทรงจุณเจิมซึ่งวิภูติภัสมะเป็นรูปสามขีดในแนวนอน อันเรียกว่า ตริปุณฑระ อันแทนซึ่งตริคุณะทั้งสาม คือ สัตตวะ,รชัส และตมัส อีกทั้งยังแทนด้วย ตริศักติ คือ ชฺญานศักติ (พลังแห่งความรู้),อิจฉาศักติ (พลังแห่งความปรารถนา) และ กริยาศักติ (พลังแห่งการกระทำ)
ทรงมีพระเกศายาวงาม พระเกศานั้นมีสีแดงดังเปลวเพลิง ทรงมุ่นมวยพระเกศาทรงสูง (ชฏามกุฏ) อันมีดวงเดือนหงายเป็นศิราภรณ์ (จึงทรงนามว่า ศศิเศขร และ จันทรเศขร) แลมีพระเทวีคงคาประทับบนมวยพระเกศา เพื่อหยุดยั้งความเกรี้ยวกราดของพระนางที่สามารถทำลายพื้นปฐพีทั้งหมดลงได้ (จึงทรงมีนามว่า คงคาธร)
พระพักตร์ทรงเปี่ยมด้วยความเมตตาการุณย์ ในภาพจิตรกรรมสมัยใหม่ จิตรกรมักรังสรรค์ให้พระองค์ อยู่ในท่าสงบ อ่อนโยน ทรงมีพระเนตรเคลิบเคลิ้ม สื่อถึงพระองค์ทรงแลมองผู้ภักดีของพระองค์อยู่เสมอ ด้วยความรัก และความกรุณา หากแต่พระศิวะยังทรงมีใบหน้าที่ดุร้าย น่าหวาดกลัวอยู่ด้วย พระพักตร์นั้นแลดูดั่งยักษ์ หรือรากษสก็ปาน ด้วยเขี้ยวโค้งแหลมน่าหวาดหวั่น พระเนตรกลมโต แลพระเกศาปล่อยสยายรุงรังแผ่ออกมาดังเป็นเปลวเพลิงแห่งรัศมีของพระองค์ (ชฏามณฑล แลชวาลเกศ) อันเป็นโฆระรูป (รูปดุร้าย น่าเกรงขาม) และอุคระรูป (รูปดุร้าย น่ากลัวสยดสยอง) ของพระองค์ อันเป็นรูปปรากฏแห่งการทำลายล้างอธรรม
ในส่วนของพระกรทางเทวปฏิมาทรงมีสองพระกร,สี่พระกร และสิบพระกร ในพระหัตถ์ทรงแสดงมุทรา และสิ่งของต่างๆ แตกต่างกันไป แต่มักทรงแสดงซึ่ง
  1. อภยมุทรา (แสดงฝ่าพระหัตถ์หงายขึ้น) สื่อถึงการให้ความคุ้มครอง
  2. วรทะหัสตะมุทรา (แสดงฝ่าพระหัตถ์หงายลง) สื่อถึงการให้และการอำนวยพร
  3. ธยานะมุทรา (ฝ่าพระหัตถ์ขวาทับฝ่าพระหัตถ์ซ้าย ในท่าสมาธิ) เป็นมุทราในการเข้าฌานสมาธิ
  4. วิตรรกะมุทรา (พระอังคุฐ[นิ้วหัวแม่มือ]แตะกับพระดัชนี[นิ้วชี้] ในขณะที่พระองคุลีอื่นตั้งขึ้น)สื่อถึงการแสดงธรรม ให้นึกคิดไตร่ตรองตามพระดำรัส หรือสิ่งที่ทรงแสดง
  5. ญานมุทรา (พระอังคุฐ แตะกับพระดัชนี พระองคุลีอื่นปล่อยเหยีดตรงไป ในท่าหงานขึ้น หรือหงายลงข้างพระวรกาย บนพระเพลา) เป็นท่าโยคะสมาธิหนึ่ง
ในส่วนสิ่งของพระหัตถ์ มักทรงไว้ซึ่ง
  1. ตรีศูล เป็นศาสตราวุธประจำพระองค์ มีปลายแหลมเป็นสามส่วน มีนัยถึงคุณะ และศักติทั้งสาม เช่นเดียวกับ ตริปุณฑระ (ด้วยเหตุนี้จึงทรงพระนามว่า ศูลปาณิ หมายถึงผู้ทรงตรีในหัตถ์)
  2. ฑมรุ (บัณเฑาะว์ มีรูปเป็นกลองสองหน้า มีเชือกผูกลูกตุ้มไว้สองข้าง ตีโดยการแกว่งให้ลูกตุ้มกระทบกับกลองทั้งสองหน้า) กล่าวกันว่า พระศิวะทรงดำเนินกิจกรรมของจักรวาลทั้งปวง ทั้งการสร้าง ทนุบำรุงรักษา และทำลายล้าง ด้วยการสร้างเสียงจากกลองบัณเฑาะก์นี้ ร่วมกับการร่ายรำของพระองค์
  3. ถ้วยปาณะ กปาละ ถ้วยลองเลือดจากส่วนของกระโหลก มักปรากฏในอุคระรูป (รูปดูร้าย รูปอันน่ากลัว สยดสยอง) แลด้วยเหตุนี้จึงทรงพระนามว่า กปาลิน หมายถึง ผู้ทรงกบาลในพระหัตถ์
  4. ปรศุ (ขวาน) อีกหนึ่งอาวุธประจำพระองค์
  5. มฤค (กวาง) เปรียบดังจิตใจที่โลดแล่นไปมาดังกวาง มีนัยถึงพระองค์เป็นผู้ควบคุมซึ่งอายตนะทั้งหมด
  6. ชปะมาลา (สร้อยประคำ) สื่อถึง ทรงเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งญาณสมาธิ
  7. กมณฑลุ (หม้อน้ำแบบหิ้ว) หม้อน้ำซึ่งกักเก็บน้ำศักดิ์สิทธิ์ไว้ สำหรับชำระล้างมือ เท้า และสิ่งของเครื่องใช้ของนักพรต
  8. คันศรปินากิน คันศรประจำพระองค์
  9. ปศุปตะศร ศาสตราวุธประจำพระองค์
อันพระศิวาปริยะนั้น(ผู้เป็นที่รักของพระนางศิวา) ทรงประทับอยู่เบื้องขวาของพระอุมาเสมอ ด้วยทรงเป็นอุมาบดี ทรงได้รับการสักการะบูชาก่อนอยู่เสมอจากผู้ภักดี (มีเพียงที่เมืองมทุไรเท่านั้น ที่พระเทวีในนามมีนากษี ทรงได้รับการบูชาก่อนพระสุนทเรศวร) และพระวรกายเบื้องซ้ายของพระองค์ คือ องค์พระภวานีเอง ด้วยเหตุนี้พระศิวะจึงทรงตกแต่งอลงกรณ์อย่างแปลกๆ คือ พระกรรณข้างขวาทรงกุณฑลรูปมกร อันเป็นกุณฑลของบุรุษ หากแต่ในพระกรรณซ้ายกลับทรงกุณฑลทรงกลม อันเป็นกุณฑลที่นิยมในสตรีเพศ อีกทั้งยังทรงสร้อยรัดพระซงฆ์(สร้อยรัดแข้ง)เพียงข้างเดียวในพระบาทขวา
แลนี้คือ เทวลักษณะแห่งองค์พระศังกรโดยสังเขป
มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)