เกร็ดความรู้ เทวะตำนาน

พระฉินนมัสตา

พระฉินนมัสตา (छिन्नमस्ता/chinnamasta) หรือ ฉินนมัสติกา (छिन्नमस्तिका/Chinnamastika) และ ประจัณฑะ จัณฑิกา (प्रचण्ड चण्डिका/Prachanda Chandika) ทรงเป็นหนึ่งในทศมหาวิทยา เทวี ซึ่งเป็นคณะเทวีที่ได้รับการบูชาในคติตันตระ ทรงเป็นเทวีแห่งปัญญาญาน อันอยู่เหนือกามารมณ์ และการตะหนักรู้ในตนเอง
พระนามของพระนางนั้นมาจากศัพท์ภาษาสันสกฤตสองคำ คือ
ฉินนะ (छिन्न/Chinna) ซึ่งหมายถึง การตัด,การฉีก,ฉีกขาด และการแบ่ง สมาสกับ มัสตะ (मस्त/Masta) หรือ มัสตกะ (मस्तक/Mastaka) อันหมายถึง ศีรษะ เมื่อนำมาเป็นนามสตรี จึงมีการลงเสียงเพื่อบอกเพศ จึงได้รูป ฉินนมัสตา (छिन्नमस्ता/Chinnamasta) และ ฉินนมัสติกา (छिन्नमस्तिका/Chinnamastika) อันหมายถึง นางผู้ตัดเศียร,นางผู้มีพระเศียรที่ฉีกขาด
ส่วนนาม ประจัณฑะ จัณฑิกานั้น มาจากคำว่า ประจัณฑะ (प्रचण्ड/Prachanda) ซึ่งหมายถึง ดุร้าย,รุนแรง,ร้อนแรง และความน่าเกรงขาม สมาสกับ จัณฑิกา (चण्डिका/Chandika) นามหนึ่งของพระเทวี อันมีความหมายในทำนองเดียวกัน
ประจัณฑะ จัณฑิกา จึงหมายถึง พระนางจัณฑิกา ผู้ทรงความดุร้าย น่าเกรงขาม
ในส่วนของตำนานนั้น ในคัมภีร์ปราณะโตษิณิ ตันตระ (प्राणतोषिणि तन्त्र/Pranatoshini Tantra) ได้กล่าวถึงการปรากฏรูปแห่งพระฉินนมัสตะ ถึงสองตำนานด้วยกัน
โดยตำนานแรกกล่าวว่า เมื่อครั้งพระปารวตี (पार्वती/Parvati) ทรงเสด็จสรงสนานอยู่ ณ แม่น้ำมันทากินีนั้น ทรงตกอยู่ภายใต้ความร้อนแรงจนพระวรกายคล้ำแดง ในขณะนั้นเอง พระบริวารทั้งสององค์คือ ฑากิณี (डाकिणी/Dakini) และ วรรณินี (वर्णिनी/Varnini) ได้รู้สึกหิวกระหายขึ้นมา จึงทูลกล่าวแก่พระบรรพตี พระมาเตศวรี จึงทรงตัดพระเศียรของตนด้วยพระนขา (เล็บ) บังเกิดโลหิตพวยพุ่งประทานแก่นางบริวารทั้งสอง ให้ได้ดื่มกิน
อีกตำนานหนึ่งจาก ปราณะโตษิณิ ตันตระ (प्राणतोषिणि तन्त्र/Pranatoshini Tantra) และ คัมภีร์สวตันตระ ตันตระ (स्वतन्त्र तन्त्र/Swatantra Tantra) กล่าวถึง พระศิวะ และพระจัณฑิกา ทรงเสพสังวาสร่วมกันในท่าขี่ม้า ด้วยความร้อนแรง แลความเสน่หา พระนางจัณฑิกาผู้ทรงอภิรมย์ในกามกรีฑานั้นอย่างร้อนแรงทรงตัดพระเศียรของพระองค์เอง บังเกิดโลหิตพวยพุ่งออกมา บัดนั้น นางบริวารทั้งสอง อันได้แก่ ฑากิณี และ วรรณินี จึงปรากฏกายขึ้นเข้ารองรับพระโลหิตจากพระมหาเทวี
ในส่วนคัมภีร์ พฤหัทธรรมะ ปุราณะ (बृहद्धर्म पुराण/Brihaddharma Purana) อันเป็นหนึ่งในปุราณะย่อย ได้กล่าวถึงการปรากฏขึ้นของทศมหาวิทยา ทั้งสิบองค์ไว้ว่า เมื่อครั้งพระทักษะ ประชาปติ (दक्ष प्रजापति/Daksha Prajapati) ได้จัดพิธีมหายัชญะขึ้น ทรงเชิญเหล่าทวยเทพไปร่วมพิธี หากแต่มิได้เชิญพระทากษายณี หรือ พระนางสตี (दाक्षायणी/सती – Dakshayani/Sati) ผู้เป็นพระธิดา และพระศิวะ โยเคศวร ผู้พระชามาดา (ลูกเขย)ไปร่วมพิธีด้วย ด้วยทรงมิยอมรับในองค์พระโยเคศวร อีกทั้งดูแคลนในพระองค์ เมื่อพระนางทากษายณี ทราบความดังนั้น ก็ ร้อนรุ่มพระทัย ทรงเข้ากราบทูลพระภูเตศวร ศิวะเจ้า ให้ทรงประทานอนุญาตให้พระนางเสด็จไปยังพิธี เพื่อทวงถามศักดิ์ศรีของพระองค์ แลพระนางเอง หากแต่พระไกลาศบดี ทรงปฏิเสธคำขอของพระนาง พระนางทูลขออยู่หลายครา หากแต่ทรงตรัสตอบปฏิเสธพระเทวีอยู่ทุกครั้งไป ด้วยเหตุนี้พระนางทากษายณีจึงโกรธกริ้ว ปรากฏรูปแห่งพระเทวี ทั้งสิบรูป คือ ทศมหาวิทยา เข้าล้อมรอบพระศิวะอยู่ทั้งสิบทิศ โดยพระฉินนมัสตา ทรงอยู่ทางทิศตะวันตก ด้านหลังของพระศิวะ.
ในส่วนเทวลักษณะ พระฉินนมัสตะ ทรงปรากฏรูปเป็นพระเทวี ผู้ทรงดูร้าย รุนแรง มีพระวรกายคล้ำเป็นสีแดง น้ำเงิน หรือ ดำ ทรงประทับยืนหรือนั่งบนสรีระ ของชาย-หญิงที่กำลังเสพสังวาสกันอยู่ คือ กามเทพ กับ นางรติ บ้างว่า เป็นพระศิวะ และพระนางจัณฑิกาเอง อันหมายถึงทรงอยู่เหนือกามารมณ์ โดยทรงถือไว้ซึ่งอาวุธ คือ พระขรรค์ หรือ กรรไกร และพระเศียรที่ถูกตัดไว้ในพระกร อีกทั้งทรงสวมพวงมาลัยเป็นหัวมนุษย์ เคียงข้างด้วยบริวาร คือ ฑากิณี และ วรรณินี คอยรองรับและดื่มกินซึ่งโลหิต จากพระศอของพระนางอยู่.
มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)