เกร็ดความรู้ เทวะตำนาน

พระราหู และพระเกตุ

พระราหู และพระเกตุนั้นมิใช่พระเคราะห์แท้ แต่เป็นบุคลาธิษฐานของเงาที่ทับซ้อนกันระหว่าง โลก,พระอาทิตย์ และพระจันทร์ ซึ่งก่อให้เกิดคราส จัดเป็นอุปเคราะห์

ราหูนั้นทรงเป็นพระเคราะห์แห่ง โรคภัย ความเฉื่อยชา และความเกียจคร้าน ถือเป็นบาปเคราะห์ มีกำลังในเวลากลางคืน ใช้เวลาในการโคจรครบทุกราศี เป็นเวลา 18 ปี และโคจรต่างจากพระเคราะห์อื่นๆ โดย ราหู และเกตุจะโคจรตามเข็มนาฬิกา ในขณะที่พระเคราะห์อื่นโคจรทวนเข็มนาฬิกา

ราหูนั้นเป็นมิตรกับ เสาร์,พุธ และศุกร์ เป็นศัตรูกับ อาทิตย์,จันทร์ และอังคาร เป็นกลางกับ พฤหัสบดี

สีประจำพระเคราะห์ คือ สีเข้ม เช่น สีน้ำเงิน,สีกรมท่า,สีดำ และสีหมอก อัญมณีประจำพระเคราะห์ คือ โกเมนสีส้ม หรือ พลอยสีส้ม
การทำให้พระราหูโปรดปรานจึงต้องถวาย ภูษาภรณ์สีเข้ม เช่น น้ำเงิน ดำ เทาดำ และสีหมอก พลอยสีส้ม อีกทั้งในตำราของทางอินเดียใต้ยังได้กล่าวถึง การถวายดอกมนทาระ (เสี้ยวดอกขาว ในสกุลชงโค) อีกด้วย เสริมด้วยการสวมชุดสีเข้ม เช่น สีดำ และสีกรมท่า สวมประดับโกเมน และพลอยสีส้มต่างๆ เป็นต้น

ในส่วนรูปเคารพของพระราหูมักปรากฏเป็น จอมอสูร ที่มีแต่เศียร หรือ มีท่อนล่างเป็นงู มีพาหนะเป็นสิงห์ หรือ พยัคฆ์ ในอินเดียใต้ รูปเคารพของพระราหู มักมีใบหน้าที่งดงาม หรือมีใบหน้าเหมือนสิงโต มีท่อนล่างเป็นงู รูปเคารพที่พบบ่อยในอินเดียใต้คือ รูปเคารพที่มีพระพักตร์ที่งดงาม มีท่อนล่างเป็นงู ยืนพนมกรคู่กับ พระเกตุ

ส่วนพระเกตุนั้นถือเป็นหางของราหู เป็นพระเคราะห์แห่ง การพลัดพราก ความสูญเสีย ความสับสน ความยุ่งเหยิงในชีวิต แต่ให้ผลดีในทางจิตวิญญาณ มีกำลังในเวลากลางคืน ใช้เวลาในการโคจรรอบจักรราศีเป็นเวลา 18ปี
เกตุนั้นเป็นมิตรกับ เสาร์,พุธ และศุกร์ เป็นศัตรูกับ อาทิตย์,จันทร์ และอังคาร เป็นกลางกับ พฤหัสบดี

สีประจำพระเคราะห์ คือ สีหมอง หรือ สีเข้ม เช่น สีควันบุหรี่ และสีน้ำตาล อัญมณีประจำพระเคราะห์ คือ พลอยตาแมว
การทำให้พระเกตุโปรดปราน จึงต้องถวายภูษาสีหมอง หรือ สีเข้มดังที่กล่าวไว้แล้ว (ในขณะที่ตำราของทางอินเดียใต้ สีของพระเกตุ คือ วิวิธ วรรณะ หรือ หลากหลายสี ไม่เจาะจง) หินตาแมว และในตำราของทางอินเดียใต้ ยังกล่าวถึงการถวายอุบลชาติสีแดงด้วย

ในส่วนรูปเคารพของพระเกตุมักปรากฏ เป็นบุรุษที่มีแต่ร่าง ไม่มีศีรษะ หรือ มีเศียรเป็นพญางู มีพาหนะเป็นพญาแร้ง หรือ พญาครุฑ ในอินเดียใต้รูปเคารพของพระราหู มักเป็นบุรุษยืนพนมกร มีเศียรเป็นงู หรือ มีนาคปรก

ตามตำนานกล่าวว่า พระราหู ทรงเป็นโอรสของท้าววิประจิตติ (विप्रचित्ति/Viprachitti) จอมทานพ กับ นางสิงหิกา (सिंहिका/Simhika) หรือ โหลิกา (होलिका/Holika) ผู้ขนิษฐาของจอมแทตย์หิรัณยกศิปุ มีนามว่า สฺวรภานุ (स्वरभानु/Svarabhanu) อันมีความหมายว่า ผู้ส่องประกายอย่างงดงาม
ในครั้งที่เหล่าเทวดา เชิญท้าวมหาพลี จอมแทตย์ พร้อมด้วยเหล่าอสูรทั้งหลายให้มาร่วมกวนเกษียรสมุทร เพื่อหวังน้ำอมฤต ท้าวสฺวรภานุ ก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้เข้าร่วมในการกวนเกษียรสมุทรด้วย เมื่อการกวนเกษียรสมุทรบรรลุผล ปรากฏน้ำอมฤตออกมาดังหมายแล้ว เหล่าสุระ และอสุระต่างก็พากันยื้อแย่งหม้อน้ำอมฤตนั้น ร้อนถึงพระชคันโมหนะ ต้องเสด็จมา จำแลงองค์เป็นนางอัปสร นาม โมหินี เพื่อหลอกล่อ เหล่าแทตย์ ทานพ อสุระทั้งหลาย ให้ออกห่างจากอมฤต ด้วยเดชอำนาจแห่งมายา ยังให้เหล่าเทวดาได้รับซึ่งอมฤตนั้น หากแต่ ท้าวสฺวรภานุนั้นรู้เท่าทัน กลลวงของพระมธุสูทนะ (พระผู้ทำลายอสูรมธุ คือ พระวิษณุ) จึงจำแลงตนเป็นเทวดา ไปเข้าร่วมกับเหล่าทวยเทพรับน้ำอมฤตนั้น หากแต่พระภานุ กับ พระอินทุ เห็นเข้า จึงแจ้งต่อพระพิษณุ พระจักรีเจ้าทราบเช่นนั้น จึงใช้สุทรรศน จักร เข้าตัดจอมทานพ สฺวรภานุ เป็นส่องส่วน หากแต่ท้าวเธอก็ได้กลืนซึ่งน้ำอมฤตลงไปแล้ว จึงเป็นอมตะ และปฏิญาณว่า จะจองเวร กับ พระสูรยะ และพระจันทร์ ตลอดไป ดังนั้นเมื่อใดที่ จอมอสูรพบกับ พระอาทิตย์ กับ พระจันทร์ก็จะจับทั้งสองกลืนกินลงไป แต่ด้วยร่างที่ถูกตัดเป็นสองท่อน พระอาทิตย์ กับ พระจันทร์ก็จะหลุดลอดออกมาเสมอ

เมื่อ สฺวรภานุถูกตัดออกเป็นสองท่อน ท่อนบนที่ไร้ร่าง ก็ได้นำร่างของนาคมาต่อ เรียกว่า ราหุ (राहु/Rahu) อันหมายถึง ผู้เข้าครอบงำ ส่วนร่างที่ไร้หัวนั้นก็ได้นำหัวนาคมาต่อแทน เรียกว่า เกตุ (केतु/Ketu) ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ส่องสว่าง เปล่งประกาย
ในส่วนที่มาของนาคที่นำมาต่อนั้น มีตำนานกล่าวถึง พญาวาสุกี นาคราช ได้แอบดื่มน้ำอมฤตไป พระนารายณ์ทรงทราบเข้าจึงใช้จักรตัดร่างเป็นสองส่วนให้กับ สฺวรภานุ
เชื่อกันว่า พระราหูเป็นผู้ยังให้เกิด สุริยคราส แลพระเกตุเป็นเหตุให้เกิดจันทรคราส

นอกจากนี้ ในอินเดียใต้ยังนิยมบูชาพระราหู และพระเกตุ ในรูปของนาค หรือ พญาอสรพิษ บ้างเป็นรูปบุรุษยืนพนมกรคู่กัน ผู้หนึ่งมีร่างเป็นนาค และอีกผู้หนึ่งมีเศียรเป็นพญาอสรพิษ หรือ มีใบหน้างดงามหากแต่มีนาคปรก บ้างก็เป็นรูปงูเกี่ยวกัน ซึ่งมักประดิษฐานที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ แยกจากมณฑปพระนพเคราะห์ ด้วยชาวอินเดียใต้นั้นซีเรียสมากในเรื่อง นาค โทษะ หรือ สรรปะ โทษะ (เคราะห์อันเกิดจากอสรพิษ หรือ เคราะห์ร้ายที่มีผลเจ็บแสบเหมือนถูกงูกัด) อันเกิดจากพระราหู และพระเกตุ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อพระเคราะห์ทั้งเจ็ดดวงสถิตอยู่ระหว่างแกนของ พระราหู กับ พระเกตุ
สรรปะ โทษ หรือ กาละ สรรปโยค ถือว่าเป็นหนึ่งในโยค(โชค)ที่อันตรายมากที่สุดในช่วงชีวิตของทุกคน อันจะส่งผลทำลายอาชีพ หน้าที่การงาน บุคลิกภาพ สุขภาพ ความมั่งคั่งและชื่อเสียงของเจ้าชาตา เชื่อว่า โยคนี้เกิดจากกรรมเก่า และกรรมจากการทำร้าย หรือ ฆ่างู และสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ ด้วยเหตุนี้ การแก้เคราะห์นี้ในอินเดียใต้ คือ การบูชาอ้อนวอนต่อ ราหู-เกตุ ในรูปของพญาอสรพิษ ไม่ฆ่างู หรือ สัตว์เลื้อยคลานใดๆทั้งปวง สวมไพฑูรย์ หรือ หินตาแมว เพื่อบรรเทาโทษจากเคราะห์ ทำพิธีบูชาต่ออิษฏเทวตา (เทพเจ้าที่ตนเคารพรัก) และทำพิธีอุทิศกุศลแก่บรรพบุรุษ เพื่อขอให้ช่วยปัดเป่าบรรเทาเคราะห์ร้าย อีกทั้งการทำทานแก่ผู้ยากไร้

กิตติกร อินทรักษา

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://www.heerejawharat.com/…/planets…/rahu.php

https://www.heerejawharat.com/…/planets…/ketu.php

http://jovanalg-astrology.com/kera2.html

https://www.astroneemo.net/…/1501-2013-09-03-02-43-18.html