เกร็ดความรู้ เทวะตำนาน

พระลลิตามพิกา รูปพลังอำนาจแห่งพระวิษณุผู้ตอบสนองซึ่งความสุขในวัตถุ

ในอัธยายแรกของคัมภีร์ ลลิโตปาขยานะ (श्री ललितोपाख्यान/Sri Lalitopakhyana) อันเป็นส่วนหนึ่งจาก พรหมาณฑะ มหาปุราณะ (श्री ब्रह्माण्ड महापुराण/Sri Brahmanda Mahapurana) ได้กล่าวถึงความโทมนัส ของ พระมหรรษิ อคัสตยะ (महर्षि अगस्त्य/Maharshi Agastya) ถึงบาป และความชั่วร้ายในกลียุค พระฤๅษีจึงออกจาริกแสวงบุญไปตามปุณยสถานต่างๆ เพื่อยังความสุขสงบในจิตใจจากความทุกข์นั้น และเมื่อจาริกมาถึง เทวสถาน ศรี วรทราช สามี (श्री वरदराज स्वामी देवस्थानम्/Sri Varadaraja Swami Devasthanam) ในมหานคร กาญจี (काञ्ची महानगर/Kanchi Mahanagara) อันเป็นหนึ่งในเจ็ดมหานครศักดิ์สิทธิ์ พระหยครีวะ (श्री हयग्रीव/Sri Hayagriva) ผู้ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของพระวิษณุเอง ได้ปรากฏองค์แก่ พระมหรรษิ อคัสตยะ

จากนั้น พระมหรรษิ อคัสตยะ ได้ตรัสถามพระหยครีวะ ถึงหนทางหลุดพ้นจากอำนาจมายา โดยพระหยครีพ ได้แสดงวิถีทางสองวิธีด้วยกัน คือ การอุทิศตนเสียสละ และ การบำเพ็ญตนด้วยการทำโยคะในรูปแบบต่างๆ เพื่อเข้าถึงพระวิษณุ กับ การปรนนิบัติบูชาซึ่ง พระปรมามพิกา หรือ ลลิตา ปรเมศวรี อันเป็นรูปพลังอำนาจของพระวิษณุเอง โดยปรากฏองค์เมื่อครั้งโลกเกิดความเดือดร้อนจาก ภัณฑาสุระ ที่คิดทำลายวัฏจักรการเกิดของสรรพชีวิตทั้งปวงในจักรวาลวัตถุ ซึ่งพระนางนั้นให้ผลทางวัตถุ (ทรงประทานซึ่งภุกติ หรือ ความสุขในวัตถุ) และมุกติ (การหลุดพ้นจากผลแห่งกิจกรรมทางวัตถุ) อันเหมาะสมแก่เหล่าโภคิน (นักวัตถุนิยม ผู้หาความสุขสำราญทางวัตถุ) แม้นแต่คนบาปก็สามารถกระทำการบูชาเข้าถึงต่อพระนางผู้ไวษณวีได้ โดยทรงอธิบายว่า พระปรเมศวรีนั้นเป็น รูปของ สัต และจิต (ความจริง และการมีสติรับรู้) ในขณะที่องค์ภควานนั้นทรงเป็น สัจจิทานันทะรูป (ความสัตย์จริง การตื่นรู้ และความสุขอันเป็นนิรันดร์)

ในการที่พระหยครีพ ได้แสดงถึงการบูชาพระมหามายานั้น กล่าวได้ว่า เป็นการยังพระเมตตาของพระนาง ผู้ประกฤติ(ธรรมชาติวัตถุ) มารดาแห่งสรรพชีวิตทั้งปวงในจักรวาลวัตถุ เพื่อให้ประทานซึ่งหนทางแห่งการหลุดพ้นจากกิจกรรมทางวัตถุ
ซึ่งการบูชาพระเทวีนั้นเกี่ยวข้องกับ ตานตริก (หลักการของ ตันตระ) อันตรงข้ามกับ หรือคู่กับ ไวทิก (หลักการพระเวท)

หากแต่ในคัมภีร์ ศรีมัทภาควตะ มหาปุราณะ ได้เผยวิถีทางที่ดีกว่านั้นในกลียุคนี้ คือ #การท่องพระนามศักดิ์สิทธิ์และการร้องเพลงสรรเสริญพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระหริ อันเป็นรูปแบบหนึ่งของภักติโยคะ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของโยคะ (การเข้าถึงพระเป็นเจ้า) เขาผู้นั้นผู้ได้กระทำแล้วซึ่งหนทางนี้อย่างเคร่งครัด ย่อมบรรลุถึงทิพยสถาน อันไร้ซึ่งความวิตกกังวล ความเขลา และความเกียจคร้าน (ไวกุณฐะ) หรือ บรรลุถึงพระบาทบงกชแห่ง ศยามสุนทร ณ โลกทิพย์ (โคโลก) อย่างแน่นอน ซึ่งพระศุกเทวะ โคสวามี ผู้เป็นบุตรของพระอาจารย์ทิพย์ วยาสะเทพ ได้แสดงต่อ ปรีกษิต มหาราช ในช่วงเจ็ดวันสุดท้ายของท้าวปรีกษิต ซึ่งมีความเชื่อถือได้.

ศรี คุรุวายูร กฤษณะ ภักตะ กิตติกร
(กิตติกร อินทรักษา)
16/02/2022

ปูรณิมา มาฆะ มาส วิกรม สมวัต 2078
ศรี ลลิตา ชยันตี