เกร็ดความรู้ เทวะตำนาน

มหาพเลศวร แห่ง โคกรรณะ

มหาพเลศวร แห่งโคกรรณะ (ಗೋಕರ್ಣ ಮಹಾಬಲೇಶ್ವರ / Mahabaleshwara of Gokarna) เป็นหนึ่งในปุณยสถานของรัฐกรรนาฏกะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย

เทวสถานพระศรีมหาพเลศวร ตั้งอยู่ในเมืองโคกรรณะ เขตอุตตระ กันนฑะ ของรัฐกรรนาฏกะ ถือเป็นหนึ่งในมุกติสถาน ของชาวกันนาฑิคะ (ผู้ใช้ภาษากันนฑะเป็นภาษาแม่ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในกรรนาฏกะ) ซึ่งมุกติสถาน คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าเมื่อไปจาริกแสวงบุญแล้วจะได้รับการหลุดพ้น

โคกรรณะแห่งนี้ยังได้รับการเรียกขานว่า เป็น กาศี แห่งทักษิณด้วย เช่นเดียวกับเทวสถานอันมีชื่อเสียงของพระศิวะอีกหลายแห่งในอินเดียตอนใต้

ตำนานแห่งปุณยสถานแห่งนี้ ย้อนกลับไปครั้งเตรตายุค อันเป็นยุคที่สองของกัลป์นี้ตามความเชื่อของฮินดู เมื่อพระนางไกกษีมารดาของ จอมรากษสราวณะ ผู้เป็นลังเกศวร ได้กระทำการบูชาต่อพระศิวะ ทำให้องค์เทเวนทระ (พระจอมเทพ อันหมายถึงพระอินทร์) ทรงหวาดเกรง พระเทวราชจึงกลั่นแกล้งนางโดยการลักนำศิวลึงค์ที่นางรากษสีไกกษีกระทำสักการะ และภวนาเป็นประจำนำไปซ่อน ซึ่งเป็นเช่นนี้อยู่หลายครา
พระนางไกกษีจึงนำความไปบอกต่อ ลังเกศวร ราวณะผู้โอรส และได้ขอให้ราวณะนำองค์พระศิวะมาสถิตอยู่ ณ สวรรณะนครลังกาให้ได้

ราวณะจึงเดินทางไปยังขุนเขาไกลาศด้วยบุษบกวิมาน ณ ขุนเขาไกลาศ ราวณะได้เข้าสู่รบกับ พระไกลาศนาถ เพื่อนำพระองค์ไปยังลังกานคร แต่ราวณะมิอาจเอาชนะพระองค์ได้ จึงคิดที่จะนำพระองค์ไปพร้อมกับนิวาสถานของพระองค์เสียเลย เช่นนั้นราวณะจึงเนรมิตกายใหญ่โตมหึมาพยาบามจะยกขุนเขาไกลาศ ถึงกระนั้นราวณะก็มิอาจยกขุนเขาไกลาศได้ ได้แค่เขย่าขุนเขาให้สั่นสะเทือนเล่นเฉยๆ ด้วยเพราะองค์พระศิวะทรงใช้เพียงองคุลีบาทกดไปยังพื้นแผ่นดินแห่งขุนเขาไกลาศ และทำให้แขนของราวณะถูกขุนเขาทับลง สร้างความปวดร้าวต่อราวณะอย่างแสนสาหัส

ราวณะสำนึกผิดจึงรจนาบทสรรเสริญถวายต่อพระองค์พระศิวะ และ ขับร้องออกมาด้วยความภักดี เรียกบทนี้ว่า ศิวตาณฑวะ สโตตระ (บทสรรเสริญ พระศิวะผู้ร่ายรำด้วยท่วงท่าอันหนักแน่นและแข็งกร้าว) จนพระศิวะพึงพอพระทัย ทรงปล่อยราวณะ และ แสดงความกรุณาต่อราวณะ โดยให้ราวณะขอในสิ่งที่ปารถนาจากพระองค์ ขณะนั้นเอง พระเทวฤๅษีนารททรงแลเห็นในสิ่งที่เกิดขึ้น จึงนำความไปกราบทูลต่อพระวิษณุ และขอให้พระวิษณุทรงช่วยเหลือเหล่าเทวะและสรรพชีวิตทั้งปวง โดยดลใจให้ราวณาสุระขออย่างอื่นแทนตัวพระศิวะ

พระวิษณุจึงดลใจให้ราวณะแลเห็นความงามของพระหิมคิรีตนยา (พระนางผู้เป็นธิดาแห่งขุนเขาอันปกคลุมด้วยหิมะ) ผู้ประทับนั่งอย่างโสภาเคียงคู่พระนีลกัณฐ์ (พระผู้มีพระศอสีฟ้า) ราวณะจึงขอพระเทวีแทน ซึ่งพระองค์ตรัสไปแล้วว่าจะประทานในสิ่งที่ปรารถนาจึงจำยอมประทานให้

ขณะที่ราวณะกำลังกลับลังกาด้วยบุษบกวิมาน พระนารทมุนี ได้ปรากฏขึ้นต่อหน้าราวณะ และกล่าวว่า พระปารวตีที่เสด็จมาด้วยเป็นองค์ปลอม หาใช่องค์จริงไม่ องค์จริงนั้นทรงประทับอยู่ในบาดาล ราวณะจึงปล่อยองค์พระเทวีกลับไปหาพระศิวะ และมุ่งสู่บาดาล ซึ่งในบาดาลราวณะได้พบกับมนโททรีธิดาของ มายะทานพ ผู้เป็นช่างของเหล่าอสูร จึงได้วิวาห์กับนาง

เมื่อกลับมายัง กรุงลังกา พระนางไกกษีได้ทราบความทุกอย่างจึงตำหนิติเตียนราวณะ และให้ราวณะไปบำเพ็ญตบะต่อพระศิวมหาเทพ เฉกเช่นเดียวกับเมื่อครั้งบำเพ็ญตบะต่อพระบรมบิดาพรหมา และเมื่อพระมหาเทพปรากฏองค์ขึ้นให้ขอ ศิวลึงค์อันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเรียกว่า ปราณะลิงคะ หรือ อาตมะลิงคะ อันหมายถึง ลิงคะที่มีพลังอำนาจแห่งจิตวิญญานของพระองค์ มาประดิษฐานยังลังกาสวรรณะนคร
ราวณะทำตามคำสั่งของพระมารดา ราวณะมุ่งหน้าสู้ไกลาศแต่มิได้เข้าพบพระไกลาศนาถ แต่หากกลับนั่งบำเพ็ญตบะเพื่อให้พระองค์ลงมาอำนวยพรด้วยองค์เอง การบำเพ็ญตบะดำเนินไปเป็นเวลายาวนานหากแต่พระตริโลจนะยังมิมาปรากฏองค์ ราวณะจึงกระทำการตัดเศียรทั้งสิบของตนพลีถวาย ด้วยความภักดีนี้ทำให้พระกาตยายนีปริยะ (พระผู้เป็นที่รักของธิดาแห่งฤๅษีกาตยายนะ) ทรงพึงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่งจึงปรากฏองค์และให้ในสิ่งที่ปรารถนา ราวณะจึงกล่าวขอ อาตมะลิงคะจากพระองค์ พระอุมาปติ จึงประทานอาตมะลิงคะอันเป็นตัวแทนแห่งพระองค์ไป แต่มีข้อแม้ว่าก่อนถึงลังกาอย่าให้อาตมะลิงคะนี้สัมผัสกับพื้นปฐพี เพราะอาตมะลิงคะจะสถิตอยู ณ ที่นั้นตลอดไป

เหล่าเทวดาทราบความจึงไปเข้าเฝ้าพระวิษณุ เพื่อหาทางหยุดราวณะ พระวิษณุจึงชี้แนะให้เหล่าเทวดาอ้อนวอนต่อพระคณปติให้ช่วยเหลือ

เหล่าเทวดาจึงไปเข้าเฝ้าพระคณปติ พร้อมกับพระไหมวตี (ธิดาแห่งหิมวัต) เพื่อหาทางหยุดราวณะ

พระวินายกผู้ทรงกรุณาจึงช่วยเหลือเหล่าเทวดาด้วยมายาของพระองค์ ขณะที่ราวณะกำลังเหาะอยู่บนอากาศทางทิศใต้ของภารตวรรษ พระอาทิตย์เหมือนได้เคลื่อนตัวสู่ยามสนทยา ราวณะจำเป็นที่จะต้องทำพิธีสนทยา วันทนา จึงลงมาเพื่อหาผู้ฝากองค์อาตมะลิงคะ และกระทำสนทยา วันทนา

พระวิฆเนศวรจึงปรากฏองค์ขึ้นในฐานะ โคบาล และ โค ราวณะแลเห็นจึงเรียกให้โคบาลช่วยรับอาตมะลิงคะไว้ขณะตนทำสนทยา วันทนา โดยกำชับว่าห้ามวางกับพื้นเป็นอันขาด ซึ่งโคบาลให้สัญญาว่า จะเรียกราวณะให้กลับมาสามครั้งด้วยกัน หากราวณะไม่มาตนจะวางอาตมะลิงคะลงและจากไป

ราวณะ สรงสนานเพื่อทำให้ร่างกายให้บริสุทธิ์ก่อนกระทำสนทยา วันทนา ณ ทะเลในทิศทักษิณทางตะวันตก ขณะโคบาลรออยู่บนชายหาด โคบาลได้พยายามเรียก ราวณะเป็นระยะ เมื่อครบสามครั้งจึงวางอาตมะลิงคะลง ราวณะแลเห็นเช่นนั้นจึงรีบขึ้นมาจากทะเล และไล่จับโคบาล โคบาลอันตธานไปพร้อมกับโค ขณะโคกำลังจะอันตธานหายไปนั้นราวณะได้ขว้าหูของโคไว้ได้ ราวณะจึงได้แค่หูของโค ซึ่งเป็นที่มาของชื่อปุณยสถานแห่งนี้ว่า โคกรรณะ อันหมายถึง หูโค

ราวณะพยายามจะยกย้ายอาตมะลิงคะ แต่ก็ทำไม่ได้ จึงจากไปมือเปล่า แต่ด้วยแรงของราวณะก็ทำให้ศิวลึงค์ได้รับความเสียหายแยกเป็นชิ้นส่วนกระจัดจายทั่วโคกรรณะ ซึ่งต่อมาทั้งหมดได้กลายเป็นเทวสถานพระศิวะรอบโคกรรณะ ซึ่งมหาพเลศวรก็เป็นหนึ่งในนั้น

ต่อมาเทวสถานได้ถูกจัดสร้างขึ้นโดย พระมยุระศรมา หรือ มยุระวรมา กษัตรย์แห่งราชวงศ์กทัมพะ ซึ่งเป็นราชวงศ์เก่าแก่ที่ปกครองกรรนาฏกะ ในช่วงต้น

โดยถวายพระนามแก่พระศิวะว่า มหาพเลศวร อันหมายถึง เจ้าแห่งพลังอันยิ่งใหญ่

อ้างอิง: https://en.m.wikipedia.org/…/Mahabaleshwar_Temple,_Gokarna

เรียบเรียงนำเสนอโดย มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)