เกร็ดความรู้ เรื่องทั่วไป

ศรี คุรุมรุตปุราธีศะ ทศกะ สโตตรัม จตุรถโศลก

(บทสรรเสริญ10บทแห่งพระคุรุมรุตปุราธีศะ บทที่4)

वरदमीश्वरं नरसिंहकं वपुषि भीकरं पुण्यपूरकम्।
सुरगणावृतं भक्तवत्सलं गुरुमरुत्पुराधीशमाश्रये॥

วรทมีศฺวรํ นรสิํหกํ วปุษิ ภีกรํ ปุณยปูรกมฺฯ
สุรคณาวฤตํ ภกฺตวตฺสลํ คุรุมรุตฺปุราธีศมาศฺรเยฯ।

คำอ่านไทย
วะระทะมีศวะรัม นะระสิงหะกัม วะปุษิ ภีกะรัม ปุณยะปูระกัม
สุระคะณาวฤตัม ภักตะวัตสะลัม คุรุมะรุตปุราธีศะมาศระเย

อ่านออกเสียงสำเนียงอินเดีย
วะระดะมีชวะรัม นะระซิงฮะกัม วะปุชิห์ ภีกะรัม (บีห์กะรัม) ปุณยะปูระกัม
สุระกห์ะณาวฺริตัม ภักตะวัตสะลัม กุรุมะรุตปุราธีศะมาชระเย

คำแปล
พระนรสิงห์ พระผู้ทรงเป็นเจ้าแห่งการตอบสนองซึ่งความปรารถนาของสาวก พระผู้ทรงความสง่างาม อย่างน่าอัศจรรย์ แลยังให้เกิดซึ่งความหวาดกลัว พระผู้ทรงเปี่ยมด้วยความศักดิ์สิทธิ์
พระผู้ทรงเป็นที่รักของผู้อุทิศตนเสียสละด้วยความภักดี ผู้ห้อมล้อมแล้วด้วยเหล่าทวยเทพ ข้าแต่พระคุรุมรุตปุราธีศ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระองค์เป็นที่พึ่ง.

หมายเหตุ
คุรุมรุตปุระ หรือ คุรุวายุปุระ หมายถึง เมืองคุรุวายูร ในเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระคุรุวายุปุราธีศ หรือ คุรุวายูรัปปัน เทวรูปพระวิษณุที่พระอุทธวะ ผู้เป็นภารดา และสหายของพระกฤษณะ ได้รับมาจากกฤษณะ ให้รักษาดูแลก่อนในสิ้นยุค ซึ่งคลื่นยักษ์จะเข้าท่วมทวารกา โดยเทวรูปนี้เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจาก วสุเทพ และเทวกี ซึ่งในชาติก่อนๆของทั้งสอง ก็ได้ปรนนิบัติบูชาซึ่งพระปฏิมานี้ซึ่งได้รับประทานมาจากพระพรหมา ต่อมาอุทธวะ ได้อาราธนาถึงพระพฤหัสปติ ผู้เป็นคุรุ ให้นำเทวปฏิมาอันศักดิ์สิทธิ์นี้ไปประดิษฐานยัง ปุณยสถาน อันควรแก่การบูชา โดยมีพระวายุเทพเป็นผู้ช่วย ซึ่งองค์เทวทั้งสองได้ประดิษฐานองค์มูรติ ณ ตอนใต้ของภารตวรรษ ที่ซึ่งพระเทวะทั้งสองได้พบกับพระศิวะ กับ พระไหมวตี ซึ่งกำลังร่ายรำบูชาอยู่ซึ่งพระวิษณุ และได้รับการชี้แนะจากพระมหาเทพให้ประดิษฐาน องค์ภควาน ณ ที่แห่งนั้น โดยทรงประทานนามแด่ ปุณยสถานนั้นว่า คุรุวายุปุระ อันมาจากพระนามของเทวะทั้งสอง.

มุรุเกศัน โควรธนธารี ทาส
(กิตติกร อินทรักษา)