เกร็ดความรู้ เรื่องทั่วไป

ศรี คุรุมรุตปุราธีศ ทศกะ สโตตรัม ตฤตียโศลก

(บทสรรเสริญ10บทแห่งพระคุรุมรุตปุราธีศะ บทที่3)

सुकृतकल्पकं सामतोषितं सकलवैष्णवाकारसूकरम्।
भुवनभूषणालंकृतं विभुं गुरुमरुत्पुराधीशमाश्रये॥

สุกฤตกลฺปกํ สามโตษิตํ สกลไวษฺณวาการสูกรมฺฯ
ภุวนภูษณาลํกฤตํ วิภุํ คุรุมรุตฺปุราธีศมาศฺรเยฯ।

คำอ่านไทย
สุกฤตะ กัลปะกัม สามะโตษิตัม สะกะละไวษณวาการะ สูกะรัม
ภุวะนะ ภูษะณาลังกฤตัม วิภุม คุรุมะรุตปัราธีศะมาศระเย

อ่านออกเสียงสำเนียงอินเดีย
สุกริตะ กัลปะกัม ซามะโตชิตัม สะกะละ แวชณะวาการะ ซูกะรัม
ภุวะนะ (บุห์วะนะ) ภูชห์ะณาลังกริตัม วิภุม กุรุมะรุตปุราธีชะมาชระเย

คำแปล
พระผู้ทรงรูปแห่งหมูป่า ผู้ทรงพลังอำนาจทั้งหมดแห่งพระวิษณุ พระผู้ทรงโปรดปรานการขับสวดทำนองแห่งสามเวท แลทรงตอบสนองต่อทุกความปรารถนาของผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบดังต้นกัลปพฤกษ์
พระผู้ทรงแผ่ซ่านไปทุกหนแห่ง พระผู้ทรงได้รับการตกแต่งแล้วด้วยพื้นปฐพี ข้าแต่พระคุรุมรุตปุราธีศ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระองค์เป็นที่พึ่ง.

หมายเหตุ
กัลปพฤกษ์ คือ ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ในสรวงสวรรค์ อันเกิดขึ้นเมื่อครั้งกวนเกษียรสมุทร เชื่อว่า สามารถดลบันดาลทุกสิ่งอย่างได้ตามปรารถนา

สามเวท เป็นคัมภีร์พระเวทอันดับที่สอง ในบรรดาพระเวททั้งสี่ นับเป็นคัมภีร์ฮินดูที่สำคัญและเก่าแก่มาก เนื้อหาส่วนที่เก่าแก่ที่สุด มีอายุราว 1,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยมีความสำคัญและความเก่าแก่รองจากคัมภีร์ฤคเวท เนื้อหาประกอบด้วยรวมบทสวด (สังหิตา) และร้อยกรองอื่น ๆ โดยนำมาจากฤคเวท เพื่อใช้เป็นบทร้องสวดเป็นทำนองตามพิธีกรรม เรียกว่า “สามคาน” สวดโดยนักบวชที่เรียกว่า “อุทคาตา” ขณะทำพิธีคั้น กรอง และผสมน้ำโสม เพื่อถวายเทพเจ้า (อ้างอิงข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

คุรุมรุตปุระ หรือ คุรุวายุปุระ หมายถึง เมืองคุรุวายูร ในเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระคุรุวายุปุราธีศ หรือ คุรุวายูรัปปัน เทวรูปพระวิษณุที่พระอุทธวะ ผู้เป็นภารดา และสหายของพระกฤษณะ ได้รับมาจากกฤษณะ ให้รักษาดูแลก่อนในสิ้นยุค ซึ่งคลื่นยักษ์จะเข้าท่วมทวารกา โดยเทวรูปนี้เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจาก วสุเทพ และเทวกี ซึ่งในชาติก่อนๆของทั้งสอง ก็ได้ปรนนิบัติบูชาซึ่งพระปฏิมานี้ซึ่งได้รับประทานมาจากพระพรหมา ต่อมาอุทธวะ ได้อาราธนาถึงพระพฤหัสปติ ผู้เป็นคุรุ ให้นำเทวปฏิมาอันศักดิ์สิทธิ์นี้ไปประดิษฐานยัง ปุณยสถาน อันควรแก่การบูชา โดยมีพระวายุเทพเป็นผู้ช่วย ซึ่งองค์เทวทั้งสองได้ประดิษฐานองค์มูรติ ณ ตอนใต้ของภารตวรรษ ที่ซึ่งพระเทวะทั้งสองได้พบกับพระศิวะ กับ พระไหมวตี ซึ่งกำลังร่ายรำบูชาอยู่ซึ่งพระวิษณุ และได้รับการชี้แนะจากพระมหาเทพให้ประดิษฐาน องค์ภควาน ณ ที่แห่งนั้น โดยทรงประทานนามแด่ ปุณยสถานนั้นว่า คุรุวายุปุระ อันมาจากพระนามของเทวะทั้งสอง.

มุรุเกศัน โควรธนธารี ทาส
(กิตติกร อินทรักษา)