เกร็ดความรู้ เรื่องทั่วไป

ศรี คุรุมรุตปุราธีศะ ทศกะ สโตรัม ทวิตียโศลก

(บทสรรเสริญ10บทแห่งพระคุรุมรุตปุราธีศะ บทที่2)

प्रणवमानसं प्राणजीवनं प्रकटकच्छपाकारमीश्वरम्।
अमृतदायकं नित्यनूतनं गुरुमरुत्पुराधीशमाश्रये॥

ปฺรณวมานสํ ปฺราณชีวนํ ปฺรกฏกจฺฉปาการมีศฺวรมฺฯ
อมฤตทายกํ นิตฺยนูตนํ คุรุมรุตฺปุราธีศมาศฺรเยฯ।

คำอ่านไทย
ประณะวะ มานะสัม ปราณะชีวะนัม ประกะฏะ กัจฉะปาการะมีศวะรัม
อมฤตะ ทายะกัม นิตยะนูตะนัม คุรุมะรุตปุราธีศะมาศระเย

อ่านออกเสียงสำเนียงอินเดีย
ประณะวะ มานะซัม ปราณะจีวะนัม ประกะตะ กัจฉะปาการะมีชวะรัม
อะมริตะ ดายะกัม นิตยะนูตะนัม กุรุมะรุตปุราธีชะมาชระเย

คำแปล
พระผู้เป็นเจ้าผู้ซึ่งปรากฏแล้วในรูปของพญากัจฉปะ พระผู้ทรงเป็นหัวใจของปรณวะ พระผู้ทรงเป็นปราณแห่งชีวิต
พระผู้ประทานซึ่งความเป็นนิรันดร์ แลความอ่อนเยาว์อยู่เป็นนิจ ข้าแต่พระคุรุมรุตปุราธีศ ข้าพเจ้าขอถึงพระองค์เป็นที่พึ่งพิง.

หมายเหตุ

ปรณวะ หมายถึง เสียงแห่งจิตวิญญานอันศักดิ์สิทธิ์ของจักรวาล อันเป็นรูปแห่งปรมาตมัน ซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งจักรวาลทั้งปวง คือ โอม การะ

กัจฉปะ หมายถึง เต่า กล่าวถึง เมื่อครั้งเหล่าเทวดา และเหล่าแทตย์ (ทายาทของนางทิติ อันมีวิสัยเป็นมาร) ได้ร่วมกันกวนเกษียรสมุทร ด้วยหวังได้น้ำอมฤต อันเป็นน้ำทิพย์ผู้ใดได้ดื่มเข้าไป จักทำให้ผู้นั้นมีผลกำลัง อ่อนเยาว์อยู่เสมอ และอยู่ยงคงกระพัน โดยนำภูเขามนทระ (मन्दर/Madara) มาเป็นแกนในการกวน และนำพญาวาสุกีนาคราช (नागराज वासुकि/Nagaraja Vasuki) ผู้เป็นสร้อยสังวาลย์แห่งองค์พระศังกร มาเป็นเชือกกวน แต่เมื่อกวนไปนานเข้าภูเขามนทระก็เริ่มจมลงไปในมหาสมุทร พระชคันนาถ (ผู้เป็นเจ้าแห่งแหล่งหล้า นามหนึ่งของ พระกฤษณะ/พระวิษณุ) ทรงทราบเช่นนั้น จึงได้อวตารมาในรูปของพญากัจฉปะ รองรับภูเขามนทระไว้บนพระขนอง (หลัง) ของพระองค์ เพื่อมิให้มนทาระ บรรพตจมลงไปสู่ก้นสมุทร และเพื่อยังให้การกวนเกษียรสมุทรบรรลุผล

คุรุมรุตปุระ หรือ คุรุวายุปุระ หมายถึง เมืองคุรุวายูร ในเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระคุรุวายุปุราธีศ หรือ คุรุวายูรัปปัน เทวรูปพระวิษณุที่พระอุทธวะ ผู้เป็นภารดา และสหายของพระกฤษณะ ได้รับมาจากกฤษณะ ให้รักษาดูแลก่อนในสิ้นยุค ซึ่งคลื่นยักษ์จะเข้าท่วมทวารกา โดยเทวรูปนี้เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจาก วสุเทพ และเทวกี ซึ่งในชาติก่อนๆของทั้งสอง ก็ได้ปรนนิบัติบูชาซึ่งพระปฏิมานี้ซึ่งได้รับประทานมาจากพระพรหมา ต่อมาอุทธวะ ได้อาราธนาถึงพระพฤหัสปติ ผู้เป็นคุรุ ให้นำเทวปฏิมาอันศักดิ์สิทธิ์นี้ไปประดิษฐานยัง ปุณยสถาน อันควรแก่การบูชา โดยมีพระวายุเทพเป็นผู้ช่วย ซึ่งองค์เทวทั้งสองได้ประดิษฐานองค์มูรติ ณ ตอนใต้ของภารตวรรษ ที่ซึ่งพระเทวะทั้งสองได้พบกับพระศิวะ กับ พระไหมวตี ซึ่งกำลังร่ายรำบูชาอยู่ซึ่งพระวิษณุ และได้รับการชี้แนะจากพระมหาเทพให้ประดิษฐาน องค์ภควาน ณ ที่แห่งนั้น โดยทรงประทานนามแด่ ปุณยสถานนั้นว่า คุรุวายุปุระ อันมาจากพระนามของเทวะทั้งสอง.

ปัจฉิมลิขิต
จากในส่วนของหมายเหตุที่ให้ไว้ ได้กล่าวถึง อมฤต อันเป็นน้ำทิพย์ที่ผู้ใดได้ดื่มเข้าไปแล้ว จะมีพลกำลัง ความอ่อนเยาว์ และคงกระพัน แต่ไม่ได้กล่าวถึง ความเป็นอมตะ อย่างที่หลายคนรับรู้กันมา ว่า อมฤต ทำให้เหล่าเทวดาเป็นอมตะ และยังให้พระอินทร์มีอีกนามหนึ่งว่า อมเรนทระ อันหมายถึง พระผู้เป็นใหญ่ผู้ทรงเป็นนิรันดร์ ด้วยเพราะ อมฤตไม่ได้ช่วยไว้จากมหาประลัย ที่ทุกสิ่งในจักรวาลจะถูกทำลาย ดูดกลืนไปเป็นหนึ่งกับพระภควาน แต่ในคำแปลของโศลกในบาทที่สอง ได้ให้ความหมายของ อมฤตะ ทายกะ ไว้ว่า ผู้ทรงประทานความเป็นนิรันดร์ เนื่องด้วย ในบาทแรกของโศลกนั้น ได้กล่าวถึง ความรู้ในทางจิตวิญญาณ ว่า องค์ภควานนั้นคือ โอม การะ และเป็นดังลมปราณของชีวิต ดังนั้น ข้อความในบาทที่สองของโศลก อันกล่าวถึง ความเป็นนิรันดร์ และความอ่อนเยาว์ จึงไม่ได้หมายถึงร่างวัตถุ แต่หมายถึงจิตวิญญาณ พระภควานไม่ได้ให้ควาเป็นนิรันดร์แก่ร่างวัตถุ แต่เป็น จิตวิญญาณอันอยู่ภายในร่างวัตถุทั้งห้า (ปัญจโกศ).

มุรุเกศัน โควรธนธารี ทาส
(กิตติกร อินทรักษา)