คัมภัร์ภควทฺคีตา • กฤษฺณไทฺวปายนวฺยาส [ปริวรรต: เกียรติขจร ชัยเธียร]
คัมภีร์ภควทคีตาฉบับนี้สามารถดาวโหลดได้ที่
http://www.thungyai.org/_jayadhira/Books/BhagavadGita/Bhagavad-Gita.pdf
ทั้งนี้ทั้งนั้นผมต้องขอบพระคุณท่านผู้ทำการแปลและนำมาเผยแพร่ โดยมีข้อแม้ที่ว่า
สงวนลิขสิทธิ์ ๒๕๔๗ สำนวนฉบับแปลโดยผู้แปล ห้ามเผยแพร่ในเชิงพาณิชย์
ขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ครับ
***************************************************
คัมภีร์ “ศรีมทฺภควทฺคีตา” ถือเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวได้ว่าเป็นอุปนิษทฺหนึ่งของฮินดู ที่ปัจจุบันยังไม่อาจได้ข้อยุติว่ารจนามาแต่ครั้งกาลใด. แต่สาระสำคัญนั้นอยู่ที่เนื้อหาที่รจนาไว้เหมือนสูตรที่รวบรวมปรัชญาฮินดู โยคะไว้ทั้งหมด. คนไทยโดยมากได้แต่รับรู้ว่าเป็นคำสนธนาระหว่างศรีกฤษฺณกับศรีอรชุนผ่านการ เล่าเรื่องของสญฺชย (มหาดเล็กของท้าวธฤฺตราษฺฏฺรที่มีพระเนตรบอดจึงมอบดวงตาทิพย์แก่สญฺชยเพื่อ ให้บอกเล่าเหตุการณ์ต่างๆให้ฟัง) ก่อนการเริ่มต้นสงครามมหาภารต ณ ทุ่งกุรุเกฺษตร โดยน้อยคนนักจะได้เคยอ่านโศฺลกต้นฉบับจริงๆว่ามีเนื้อหาอย่างไร. ความจริงแล้วเนื้อหาในคำภีร์ภควทฺคีตาทั้งหมดรจนาขึ้นในเชิงอุปมาอุปมัยทั้งสิ้น (หากเทียบของพุทธก็คงจะเทียบได้กับภาวะของพุทธองค์ขณะบำเพ็ญเพียรเพื่อเอาชนะมาร (มารวิชย) ก่อนที่พุทธองค์จะบรรลุนิพาน). ดังนั้นหากเราตัดความคิดในเชิงปุราณวิทยาที่เคยรับรู้มาเกี่ยวกับคำภีร์นี้ทิ้งไป จะเห็นสัจธรรมของปรัชญาฮินดูว่าลุ่มลึกและกว้างขวางมากมายอย่างเหลือคณา. จึงไม่แปลกเลยว่าทำไมนักคิดนักเขียนของตะวันตกที่มีชื่อเสียงหลายๆคน ต่างได้รับอิทธิพลจากการอ่านคัมภีร์นี้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น Herman Hesse, Friedrich Nietzsche, Leo Tolstoy, ฯลฯ. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากใครได้เคยฟังบทสวดโศฺลกที่เป็นร้อยกรองของคัมภีร์นี้ จะยิ่งซาบซึ้งถึงอิทธิพลของคัมภีร์ที่มีต่อจิตใจของเราอย่างไม่รู้ลืม.
ผมได้แปลโศฺลกของคัมภีร์ศรีมทฺภควทฺคีตาไว้ครบทั้ง ๗๐๐ โศฺลก (ใน ๑๘ บท) โดยยึดถืออรรถาธิบายของปราชญ์หลายท่าน โดยเฉพาะของท่านพลฺ คงฺคาธารฺ ติลกฺ ในหนังสือ Srimad Bhagavadgeetha Rahasya, 2 Vols (Bal Gangadhar Tilak, 1924) เป็นหลัก เนื่องจากผมเห็นว่าเป็นฉบับที่เน้นสารัตถะของปรัชญาฮินดูโยคะไว้อย่างครบ ถ้วนและลุ่มลึกที่สุด และมีการอ้างอิงเรื่องราวทางปุราณวิทยา (mythology) น้อยมากจนแทบกล่าวได้ว่าไม่มีเลย. ความตั้งใจแต่เดิม ผมอยากเขียนอรรถาธิบายแต่ละโศฺลกด้วย เนื่องจากหากอ่านแต่โศฺลกโดยลำพัง อาจยากที่จะเข้าใจได้สำหรับผู้ที่ไม่เคยศึกษาปรัชญาฮินดูมาก่อน แต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จเนื่องจากต้องใช้เวลามาก เพราะหากจะให้ครบถ้วนแล้ว เนื้อหาคงไม่ต่ำว่า ๑,๕๐๐ หน้าเหมือนดังที่ท่านพลฺ คงฺคาธารฺ ติลกฺ ได้เขียนทิ้งไว้ให้อย่างพิศดาร (เขียนช่วงปี 1908-1914) ในขณะถูกอังกฤษจับให้จองจำไว้ในเรือนจำมัณฑเลย์ของพม่า เนื่องจากเป็นแกนนำหลักยุกแรกในการเคลื่อนไหวกอบกู้เอกราชของอินเดีย (ที่เรียกว่า ‘สวราช’) ในสมัย British Raj ก่อนมหาตมะคานธี (หากเป็นสมัยนี้คงถูกกล่าวหาว่า “เป็นผู้ก่อการร้าย”! ในขณะที่การยึดครองอินเดียของอังกฤษคงได้เรียกกันว่าเป็น “ผู้ก่อการดี”!!).
ศุภมัสดุ
โอม ตตฺ สตฺ
ข้าฯ ขอน้อมอภิวันท์แด่องค์พระปรเมศวร พระผู้ทรงแผ่ซ่านไปทั่วทั้งจักรวาล ด้วยรูปนามอันหาปรากฏหารับรู้ได้ของพระองค์. ทรงเป็นพระประธานผู้ค้ำชูจักรวาลทั้งมวล อีกพระองค์คือปรมัตถสัจของสัจฺจทั้งปวงในการรังสฤษฏ์ ผดุง อีกบรรลัย ในอัตถิภาวะของจักรวาล กาละ ภาวะ นิยติ ยทฤจฺฉา ภูตา โยนี อีกปุรุษ อันเป็นประถมเหนือการณ์ทุกสิ่ง ด้วยความปรากฏทั้งหลายนั้นต่างล้วนคือวิวรรธน์จากตรัยคุณของปฺรกฺฤติด้วยเดช แห่งมายาของพระองค์โดยแท้. อีกทรงเป็นผู้ให้การจุติซึ่งกมลโยนิ อันคือศรัณย์แห่งภพก่อนบรรลุซึ่งไกวลฺย. ข้าฯขอกฤตัญชลีน้อมเศียรคำรพแด่องค์พระวาสุเทวะ ที่ทรงโปรดประทานกถาสังวาทของพระองค์อันมีแด่กษัตริย์อรชุนต่อมหาฤๅษีวฺยาส กอปรทั้งพระคเณศผู้ทรงโปรดลิขิตอัธยายทั้ง ๑๘ ของคีตาศาสตร์ อันประดุจดั่งตโมนุทตโมหรที่จรัสแสงส่องทางแห่งธรรมะ ให้ข้าฯได้ทรรศนาสัตฺตวภาวะของอาตมันของตน สู่ห้วงอมฤตแห่งอไทฺวทศฺรทฺธา ด้วยพุทธิอันสิ้นแล้วซึ่งศังกา อีกจักดำเนิรให้สิ้นซึ่งการนิวัติสู่ตยุติอีก ด้วยพุทธิธรรมในกรรมโยคะอันจักบังเกิดเหนือปฺรกฺฤติและกาละ สู่ปรมสถานแห่งองค์พระอีศวรอันเป็นคติที่ควรถือปฏิบัติด้วยภักดียิ่ง ด้วยเพราะญาณแลภักตินั้นหาอาจแบ่งแยกได้ไม่.
ขอนมัสการพระองค์ พระผู้ทรงบัญชาให้ได้มาซึ่งอมฤตในกาลครั้งกวนเกษียรสมุทรนับพันครั้งโกฏิ ครั้ง. ขอนมัสการ-นมัสการพระองค์นับร้อยล้านครั้ง. ชนทั้งหลายต่างร้องเครงครำด้วยเสียงคฤโฆษดั่งกุญจยาท ด้วยสรรเสริญในความเมตตาของพระองค์อันหามีสิ้นสุดไม่ ดั่งกระแสชลธารอันพรั่งพรูไม่มีจบสิ้นลงสู่ชโรทรอันเปรียบได้ดั่งน้ำพระทัย ของพระองค์.
ขอพระองค์ทรงคุปต์ อำนวยพรให้ข้าฯปลดเปลื้องจากศฤงขละแห่งอารมณ์ อันมีแต่อินทรีย์ทั้งปวงเพียงกษัย. ให้นิฏฐาสู่โมฆษะ พ้นเหนือสังสารวัฏแห่งความทุกข์ในความจำกัดอันน่าสังเวชของศรีระ ในความเป็นสัตตที่ข้าฯสถิตย์อยู่ ให้สถาพรอยู่ในบรมสถานแห่งพรหมัน ชัวนิตย์นิรันดร์ ด้วยเทอญ.
โอม ศานติ ศานติ ศานติ โอม…
กีรฺติขจร ชยธีร
กรกฏาคม ม.ศ. ๑๙๒๕
***********************************
จำนวนหน้า: ๒๒๐ หน้า
ขนาดรูปเล่ม: ๔.๒๕”x๕.๗๕”
ปีที่พิมพ์: เผยแพร่ครั้งแรก กรกฏาคม ๒๕๔๕, ปรับปรุงครั้งที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๗
สารบาญ อัธยาย
*********************
ศุภมัสดุ – สารบาญโศฺลก
(๑) ประถม อรฺชุนวิษาทโยค
(๒) ทวิติย สำขฺยโยค
(๓) ตฤตีย กรฺมโยค
(๔) จตุรถ ชฺญานกรฺมสํนฺยาสโยค
(๕) ปญฺจม กรฺมสํนฺยาสโยค
(๖) ษษฺฏ ธฺยานโยค
(๗) สปฺตม ชฺญานวิฌานโยค
(๘) อษฺฏม อกฺษรพฺรหฺมโยค
(๙) นวม ราชวิทฺยาราชคุหฺยโยค
(๑๐) ทศม วิภูติโยค
(๑๑) เอกาทศ วิศฺวรูปทรฺศนโยค
(๑๒) ทวาทศ ภกฺติโยค
(๑๓ ) ไตรทศ กฺเษตฺรกฺเษตฺรชฺญวิภาคโยค
(๑๔ ) จตุรทศ คุณตฺรยวิภาคโยค
(๑๕ ) ปญฺจทศ ปุรุโษตฺตมโยค
(๑๖ ) โษทศ ไทวาสุรสมฺปทวิภาคโยค
(๑๗ ) สปฺตทศ ศฺรทฺธาตฺรยวิภาคโยค
(๑๘ ) อษฺฏาทศ โมกฺษสนฺยาสโยค
สงวนลิขสิทธิ์ ๒๕๔๗ สำนวนฉบับแปลโดยผู้แปล ห้ามเผยแพร่ในเชิงพาณิชย์