จัณเฑศะ หรือ จัณเฑศวร (சண்டேச/சண்டேசுவரர் – Chandesha/Chandeshwara) เป็นหนึ่งในสาวก และบริวารสำคัญองค์หนึ่งของพระศิวะ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งใน 63 นายันมาร หรือ 63 นักบุญสาวกที่ได้รับการเคารพนับถือศรัทธาในไศวะนิกาย ฝ่ายไศวะสิทธานตะ (சைவ சித்தாந்த/Shaiva Siddhanta) ที่ได้รับความเคารพนับถือในตมิฬนาฑุด้วย
ตามตำนานแล้ว จัณเฑศะ กำเนิดในตระกูลพราหมณ์ ท่านได้รับการศึกษาในศาสตร์ต่างๆ ตั้งแต่ขณะมีอายุเจ็ดปี และเป็นผู้ชำนาญในพระเวท และอาคม ท่านเป็นผู้มีความศรัทธาในพระศิวะเป็นอย่างมาก ในทุกๆวัน ท่านจะพาโคออกไปกินหญ้า และจะก่อศิวลึงค์จากดินและทรายเพื่อทำการบูชา อีกทั้งนำน้ำนมจากแม่โคเพื่อมาสรงศิวลึงค์ กิจวัตรนี่ดำเนินไปอย่างปกติในทุกๆวัน จนวันหนึ่งมีผู้สังเกตพฤติกรรมนี้ และแอบตามไปดู จนพบเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น และนำความไปแจ้งแก่บิดาของจัณเฑศะ บิดาของจัณเฑศเมื่อได้ฟังความเช่นนั้น ก็โกรธที่ลูกชายกระทำเรื่องไร้สาระ ขลาดเขลาด้วยการนำน้ำนมที่มีค่าไปเทลงพื้นดิน พื้นทรายเสียเปล่า จึงตามไปดูด้วยตนเอง เมื่อพบเห็นจัณเฑศผู้บุตรกระทำเข่นนั้นจริงก็โกรธจัด เข้าไปเตะศิวลึงค์ของจัณเฑศะ จัณเฑศะเมื่อเห็นบิดากระทำการดูถูกต่อพระเจ้าเช่นนั้น ก็กระทำการลงทัณฑ์บิดาด้วยการนำไม้ที่อยู่ข้างๆ หมายมั่นมาตีขาบิดาตน แต่ไม้นั้นกลับกลายเป็นขวานจามลงไปยังขาบิดาของเขาขาดเป็นสองท่อน เจ็บปวดจนสิ้นลม
พระศิวะทรงพึงพอพระทัยในความภักดีของจัณเฑศะ ที่ลงทัณฑ์ศิวโทฺรหิน (ผู้กระทำตนเป็นปรปักษ์กับพระศิวะ) โดยมิเกรงกลัวต่อบาปที่ตนจะได้รับ พระองค์จึงทรงปรากฏองค์เบื้องหน้าจัณเฑศะ พร้อมพระอุมาผู้พระกานดา ทรงรับจัณเฑศะเป็นบุตรผู้หนึ่ง ทรงแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลทรัพย์แลบริวารของพระองค์ อีกทั้งฟื้นคืนชีพแก่บิดาของจัณเฑศะและอำนวยพรให้ทั้งคู่ได้บรรลุถึงไกลาศ อันเป็นทิพยสถานของพระองค์
ดังนั้นในเทวสถานของพระศิวะในอินเดียตอนใต้จึงสามารถพบเห็น รูปเคารพของบุรุษซึ่งยืนพนมกรถือขวานระหว่างอุระ หรือ นั่งถือขวานในมือซ้าย อีกข้างเท้าเอวได้ทั่วไป นั้นแลคือ พระจัณเฑศวร หรือ จัณฑิเกศวร ผู้ดูแลทรัพย์และบริวารของพระศิวะ
อีกทั้งรูปเคารพของพระศิวะที่เรียกว่า จัณเฑศะ อนุคระหะ มูรติ (Chandesha Anugraha Murti) ซึ่งเป็นปางโปรดจันเทศะก็สามารถพบเห็นได้ไม่น้อย
เชื่อว่า ก่อนออกจากเทวสถานควรไปสักการะต่อพระจันเทศะ และตบมือเพื่อเป็นการบ่งบอกว่า ในมือเราไม่ได้นำทรัพย์สมบัติใดของพระเป็นเจ้าออกไปจากเทวสถาน
มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)