เทวะตำนาน

พระศรีเทวี กรุมาริ แห่ง ติรุเวรกาฑุ

พระศรีเทวี กรุมาริ แห่ง ติรุเวรกาฑุ (Shree Devi Karumari of Thiruverkadu)

พระกรุมาริอัมมันถือเป็นเจ้าแม่ท้องถิ่นอีกองค์หนึ่งของชาวตมิฬที่ลือนามในความศักดิ์สิทธิ์ และมีตำนานที่โดดเด่นและเป็นที่สักการะบูชาอย่างแพร่หลาย

โดยตำนานกล่าวว่า พระกรุมาริทรงมีรูปเป็นกาฬะสรรปะ หรือ กรุปปุ นาคัม หมายถึงพญาอสรพิษสีดำ (คำว่า กรุ ก็มาจากคำว่า กรุปปุ อันหมายถึง สีดำ หรือ ผิวดำนี้เอง) ในจอมปลวก ซึ่งเป็นเครพศรัทธาของชาวบ้านจนกระทั่งคืนหนึ่งทรงไปในนิมิตของพระสาวก ทรงตรัสบอกให้พระสาวกสร้างเทวาลัยขึ้นในตำแหน่งของจอมปลวกนั้น วันต่อมาชาวบ้านได้พบองค์สยมภูของพระเทวีปรากฏขึ้นที่จอมปลวกดังกล่าว (กล่าวกันว่าเป็นองค์พระพักตร์) ชาวบ้านจึงได้สร้างเทวสถานขึ้นถวาย และประดิษฐานพระเทวปฏิมาพระเทวีเต็มองค์คู่กับพระพักตร์องค์สยมภู โดยองค์พระพักตร์แสดงถึง โฆระรูป หรือ อุคระรูป (รูปอันน่าสะพรึงกลัว) ส่วนพระพักตร์ขององค์พระปฏิมาทั้งองค์ที่ปฏิสถานเคียงคู่กันทรงแสดงถึง ศานตรูป หรือ ภาวะสงบ
ซึ่งตำนานนี้สอดคล้องกับความเชื่อ นาคะยักษี ของทางเกรละ หากแต่ความเชื่อนี้ของทางเกรละมีความท้องถิ่นสูงมาก ในขณะที่พระกรุมาริ ทรงมีความเชื่อผนวกเป็นอวตารของพระศักติ

อ้างอิง https://temple.dinamalar.com/en/New_en.php?id=17

อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า พระกรุมาริ ทรงเป็นอวตารของพระอัมพิกา ทรงเป็นศิวทูตี (ทูตของพระศิวะ) เพื่อปราบยุคเข็ญ และขจัดผู้ฝักใฝ่ในอธรรมในกลียุค หลังจากได้พระบัญชาและความกรุณาจากพระศิวะแล้ว พระเทวีทรงพบกับ พระฤๅษีอคัสตยะ ทรงตรัสถามว่าสถานที่แห่งใดควรแก่การพำนักของพระนาง บัดนั้นได้มีเสียงทิพย์ขึ้นว่า สถานที่ๆพระองค์ทั้งสองกำลังประทับอยู่ เป็นสถานที่อันควรแล้วแก่การพำนักของพระเทวี พระเทวีจึงทรงพำนัก ณ สถานที่ดังกล่าว คือ เวลกาฑุ หรือ ป่ากระถิ่น (ซึ่งต่อมาเพี้ยนเป็น เวรกาฑุ ติรุเวรกาฑุในปัจจุบัน) ในนาม เวลกัณณิ อัมมัน (เจ้าแม่เทพธิดาแห่งป่ากระถิน) และ กรุมาริ (พระนางผู้ประทานฝน ผู้ทรงฉวีวรรณอันคล้ำ)

อ้างอิง www.hindupedia.com/en/Thiruverkadu_Sri_Karumaari_Amman

นอกจากนี้ยังมีตำนานพิสดารเกี่ยวกับพระกรุมาริอีกว่าด้วย ครั้งหนึ่งพระกรุมาริทรงแสดงทิพยลีลา ทรงเข้าหาพระสูรยเทพด้วยร่างของแม่เฒ่าเสนอจะดูดวงให้แก่พระสูรยเทพ พระสูรยเทพไม่แยแสต่อพระนาง พระนางจึงอันตธานหายไป รัศมีของพระอาทิตย์ก็เลือนหายไปด้วย พระทินกรจึงทรงตระหนักว่า แม่เฒ่าผู้นั้นคือพระอัมพิกา จึงทรงขอประทานอภัยจากพระเทวี ซึ่งพระเทวีก็ทรงประทานอภัยแก่พระสูรยเทพ พระทิวากรจึงตรัสขอพรแก่พระนางให้วันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันในการปกครองของตนเป็นวันมงคลต่อการบูชาสักการะพระเทวีในนามกรุมาริ และขอให้แสงรัศมีของตนแตะต้องพระวิครหะ (พระเทวปฏิมาอันเปรียบดังร่างกาย) ของพระศรีเทวีกรุมาริโดยตรงได้สองวันในหนึ่งปี ซึ่งพระเทวีก็ทรงประทานให้ตามคำขอ

และยังมีตำนานเกี่ยวกับห้องพระนารายณ์ในเทวสถานอีกด้วย โดยกล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระศรีนิวาส ทรงเสด็จมายัง ติรุเวรกาฑุ เพื่อเข้าพบและทอดพระเนตรบารมีของพระขนิษฐา ณ สถานที่แห่งนี้
ซึ่งพระกรุมาริทรงปิติยินดีมากต่อการเสด็จมาของพระเชษฐา จึงทรงทูลขอให้พระวิษณุทรงเสด็จประทับอยู่ ณ ติรุเวรกาฑุ ร่วมกับพระนาง เพื่อคอยช่วยเหลือพระนางปกป้องคุ้มครองเหล่าสาวกผู้ภักดี ซึ่งพระวิษณุก็ยินดีต่อคำทูลเชิญของพระเทวี จึงทรงประทับอยู่ที่ติรุเวรกาฑุด้วยร่วมกับพระกรุมาริ เพื่อปกป้องคุ้มและอำนวยพรแก่เหล่าสาวกผู้ภักดีให้พ้นจากเคราะห์และภัยทั้งปวง

อ้างอิง https://tiruvallur.nic.in/…/devi-karumariamman-temple

ปัจจุบัน ติรุเวรกาฑุ ถือเป็นเมืองในเขตปริมณฑล ของเชนไน เขตเมืองหลวงของรัฐตมิฬนาฑุ อินเดียตอนใต้

เทวลักษณะของพระกรุมาริ มักยึดถือเทวลักษณะหนึ่งของครามะเทวตา ทรงประทับนั่งในท่าสุขาสนะ มีสี่พระกร พระกรขวาล่างทรงพระขรรค์ พนะกรขวาบนทรงกลองอุฑุกไก ส่วนพระกรซ้ายล่างทรงถ้วยทอง พระกรซ้ายบนทรงตรี พระพักตร์งดงาม ทรงสรรปกุณฑล(ต่างหูรูปงู)ในพระกรรณ ทรงชวาลเกศ (พระเกศาอันรุ่งโรจน์ด้วยเปลิวเพลิง) มีนาคห้าเศียรปรก และ ประดิษฐานเคียงคู่กับรูปพระพักตร์ที่ปรากฏในภาวะโกรธกริ้วมีเขี้ยงออกมาคล้ายร่างอันน่าสะพรึงกลัวของยักษี

เรียบเรียงนำเสนอโดย มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)