เกร็ดความรู้ เรื่องทั่วไป

ศรี คุรุมรุตปุราธีศะ ทศกะ สโตตรัม นวกโศลก

(บทสรรเสริญ10บทแห่งพระคุรุมรุตปุราธีศะ บทที่9)

धृतसुदर्शनं कृष्णमच्युतं विजयसारथिं गीतसारसम्।
पशुपगोपिकानर्तनप्रियं गुरुमरुत्पुराधीशमाश्रये॥

ธฤตสุทรฺศนํ กฤษฺณมจฺยุตํ วิชยสารถิํ คีตสารสมฺฯ
ปศุปโคปิกานรฺตนปฺริยํ คุรุมรุตฺปุราธีศมาศฺรเยฯ।

คำอ่าน
ธฤตะ สุทัรศะนัม กฤษณะมัจยุตัม วิชะยะสาระถิม
คีตาสาระสัม
ปะศุปะ-โคปิกา-นัรตะนะปริยัม คุรุมะรุตปุราธีศะมาศระเย

อ่านออกเสียงอินเดียโดยคร่าว
ทริตะ สุดัรชะนัม กริชณะมัจยุตัม วิจะยะซาระถิม
กีห์ตา ซาระซัม
ปะชุปะ โคปิกา นัรตะนะปริยัม กุรุมะรุตปุราธีชะมาชระเย

คำแปลบทที่เก้า
กฤษณะผู้ซึ่งไม่เสื่อมสูญ พระผู้ทรงจักรสุทรรศนะ
พระผู้เป็นสารถีแก่ท้าววิชัย (อรชุน) พระผู้ทรงเปรียบดั่งทะเลแห่งบทคีต (คำสอนศักดิ์สิทธิ์)
พระผู้ทรงโปรดปรานในการร่ายรำกับเหล่าโคปิกา แลปศุปาลัน ข้าแต่พระคุรุมรุตปุราธีศ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระองค์เป็นที่พึ่ง.

หมายเหตุ
คุรุมรุตปุระ หรือ คุรุวายุปุระ หมายถึง เมืองคุรุวายูร ในเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระคุรุวายุปุราธีศ หรือ คุรุวายูรัปปัน เทวรูปพระวิษณุที่พระอุทธวะ ผู้เป็นภารดา และสหายของพระกฤษณะ ได้รับมาจากกฤษณะ ให้รักษาดูแลก่อนในสิ้นยุค ซึ่งคลื่นยักษ์จะเข้าท่วมทวารกา โดยเทวรูปนี้เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจาก วสุเทพ และเทวกี ซึ่งในชาติก่อนๆของทั้งสอง ก็ได้ปรนนิบัติบูชาซึ่งพระปฏิมานี้ซึ่งได้รับประทานมาจากพระพรหมา ต่อมาอุทธวะ ได้อาราธนาถึงพระพฤหัสปติ ผู้เป็นคุรุ ให้นำเทวปฏิมาอันศักดิ์สิทธิ์นี้ไปประดิษฐานยัง ปุณยสถาน อันควรแก่การบูชา โดยมีพระวายุเทพเป็นผู้ช่วย ซึ่งองค์เทวทั้งสองได้ประดิษฐานองค์มูรติ ณ ตอนใต้ของภารตวรรษ ที่ซึ่งพระเทวะทั้งสองได้พบกับพระศิวะ กับ พระไหมวตี ซึ่งกำลังร่ายรำบูชาอยู่ซึ่งพระวิษณุ และได้รับการชี้แนะจากพระมหาเทพให้ประดิษฐาน องค์ภควาน ณ ที่แห่งนั้น โดยทรงประทานนามแด่ ปุณยสถานนั้นว่า คุรุวายุปุระ อันมาจากพระนามของเทวะทั้งสอง

สุทรรศนะ หมายถึง วิสัยทัศน์ที่ดี สุทรรศนะ จักระ จึงแปลความโดยคร่าวได้ว่า กงล้ออันนำมาซึ่งวิสัยทัศน์ที่ดี

อัจยุตะ หมายถึง ไม่เสื่อมสูญ ไม่แตกดับ

คีตสารส คำนี้มาจาก คำศัพท์ในภาษาสันสกฤตสองคำคือ คีตะ (गीत/Gita) หมายถึง บทเพลง ในที่นี้หมายถึง บทคำสอนขององค์ภควาน ศรีกฤษณะ ที่ได้ถ่ายทอดออกมาเป็นท่วงทำนองดังบทเพลง ต่อท้าวอรชุน ณ ทุ่งกุรุเกษตร และ สารส (सारस/Sarasa) หมายถึง ทะเลสาบ,สระ หรือ บ่อน้ำ,ดอกบัว และดวงจันทร์
คีตสารส (गीतसारस/Gitasarasa) จึงแปลความโดยคร่าวได้ว่า ทะเลแห่งบทคีต (คำสอนศักดิ์สิทธิ์)

ปศุป และ ปศุปาลัน หมายถึง คนเลี้ยงสัตว์ ผู้ให้การอภิบาลแก่สัตว์.

มุรุเกศัน โควรธนธารี ทาส
(กิตติกร อินทรักษา)