เกร็ดความรู้

ศรี พุทธาวตาร สตุติ

(บทสดุดีอวตารรูปแห่งปราชญ์ผู้ตื่นรู้)

निन्दसि यज्ञविधेरहह श्रुतिजातं सदयहृदय-दर्शित-पशुघातम्।
केशव धृतबुद्धशरीर जय जगदीश हरे॥

นินฺทสิ ยชฺญวิเธรหห ศฺรุติชาตํ สทยหฤทย-ทรฺศิต-ปศุฆาตมฺฯ
เกศว ธฤตพุทฺธศรีร ชย ชคทีศ หเรฯ।

คำอ่าน
นินทะสิ ยัชญะวิเธระหะหะ ศฺรุติชาตัม สะทะยะ หฤทะยะ ทรรศิตะ ปะศุฆาตัม
เกศะวะ ธฤตะพุทธะ ศะรีระ ชะยะ ชะคะทีศะ หะเร

อ่านออกเสียงสำเนียงอินเดีย
นินดะสิ ยัจญะ วิเธระฮะฮะ ชฺรุติจาตัม สะดะยะ ฮริดะยะ ดัรชิตะ ปะชุ คาตัม
เกชะวะ ธริตะบุดดห์ะ ชะรีระ จะยะ จะกะดีชะ ฮะเร

คำแปล
ชัยชนะพึงมีแด่ พระหริ ผู้ชคทีศ (พระผู้ทรงเป็นเจ้าแห่งแหล่งหล้า) พระเกศวะ พระผู้ทรงดำรงอยู่ในร่างแห่งปราชญ์ผู้ตื่นรู้
พระผู้ทรงประณาม วิธีการทำบูชายัญอันเกิดจากการฟังต่อๆกันมา ด้วยทรงมีพระหทัยเมตตาต่อสัตว์ที่ถูกฆ่าไป.

ข้อความจาก ทศาวตาร สฺตวะ ในวรรณกรรม คีตโควินทะ อันประพันธ์โดย กวีชยเทวะ

หมายเหตุ

หริ หมายถึง พระผู้ทรงทำลายบาปและความชั่วร้ายทั้งปวง,พระผู้ขโมยดวงใจของเหล่าผู้ภักดี

เกศวะ หมายถึง พระผู้ทรงมีพระเกศอันงดงาม

ศรุติ แปลว่า การได้ยิน และยังหมายถึง พระเวทได้อีกด้วย พระเวท คือ การที่ฤๅษีได้ยินคำสอนอันศักดิ์สิทธิ์จากเทพเจ้า และจดจำกันต่อๆกันมา ทีนี้จำกันไป จำกันมาแน่นอนว่า ต้องมีผิดเพี้ยน เพี้ยนจนเกิดการตีแตกแยกสำนักมาเยอะแยะมากมาย ด้วยประการฉะนี้ในคติความเชื่อของสนาตนธรรม (เป็นชื่อที่ฮินดู เรียกศาสนาของตน) พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ผู้ทนุบำรุงโลก จึงต้องอวตารลงมา จัดการกับความผิดเพี้ยนนี้ และประทานคำสอน และธรรม (กฏเกณฑ์,หลักประพฤติ) แก่หมู่ชนทั้งหลายใหม่.

มุรุเกศัน โควรธนธารี ทาส
(กิตติกร อินทรักษา)