เกร็ดความรู้ เทวะตำนาน

กาตตะวะรายัน

กาตตะวะรายัน (காத்தவராயன்/Kathavarayan) ท่านเป็นหนึ่งในเทพผู้พิทักษ์ชุมชนของชาวตมิฬ ซึ่งในภาษาตมิฬเรียกว่า กาวัล เดย์วัม (காவல் தெய்வம்/Kaval deivam) หรือ ครามะ เทวตา (ग्रामदेवता/Grama Devata) ในภาษาสันสกฤต
แต่ท่านเป็นเพียงเทพผู้พิทักษ์ชุมชน ของบางหมู่บ้านเท่านั้น และไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร อย่างมุนีศวรัน และกรุปปัณณะซามิที่สักการะกันอย่างแพร่หลาย (ผมเองไปถามชาวตมิฬบางคนก็ไม่รู้จัก ก็มี)
กาตตะวะรายัน นับถือเป็นบุตรและผู้อารักขาของพระกามากษี (காமாட்சி/Kamakshi) หรือ พระอุมา ในรูปของเจ้าแม่ต่างๆ ที่เรียกโดยรวมๆว่า อัมมัน (அம்மன்/Amman) ซึ่งเชื่อมโยงกับตำนานของตัวท่านเอง

ตำนานของท่าน เป็นเช่นเดียวกับเทพพื้นบ้านองค์อื่นๆ คือ เป็นรูปแบบมุขปาฐะ และถ่ายทอดในรูปแบบการแสดงพื้นบ้าน ตำนานกล่าวว่า ในกาลก่อนท่านเป็นผู้ดูแลอุทยานของพระศิวะ และพระอุมา ซึ่งอุทยานนั้นงดงามเป็นอย่างยิ่ง และในทุกๆวัน เหล่านางอัปสรมักจะมาเยี่ยมชมความงามของอุทยาน และเก็บบุปผชาติอันงดงามจากอุทยาน ในวันหนึ่งเมื่อผู้ดูแลอุทยานทราบความว่า เหตุที่บุปผชาติหายไปทีละนิด ทีละน้อยในทุกๆวันนั้นมาจาก เหล่าอัปสรทั้งเจ็ดนี้ จึงหาทางกลั่นแกล้งอัปสรทั้งเจ็ดนั้น ในขณะที่เหล่าอัปสรต่างพากันสรงสนานในสระน้ำของอุทยาน ผู้ดูแลอุทยานนี้ก็ย่องเข้ามาลักภูษาภรณ์ของเหล่าเทพธิดาไปซ่อน เพื่อหวังให้พวกนางนั้นอับอาย เมื่อเหล่าอัปสรล่วงรู้ว่า เครื่องนุ่งห่มของตนถูกลักไป จึงไปกราบทูลต่อพระศิวะ
เมื่อพระศิวผู้เป็นเจ้าทราบความก็ทรงโกรธกริ้ว สาปให้ผู้ดูแลอุทยานนั้นลงไปเกิดเป็นมนุษย์ (บ้างว่า ไปเกิดถึงสามชาติ) รวมทั้งอัปสรทั้งเจ็ดให้ไปเกิดในโลกมนุษย์ด้วย พระอัมพิกาทรงมีพระเมตตา จึงทรงกราบทูลพระศิวะให้ลดหย่อนโทษแก่บริวาร เมื่อพระศิวะสดับฟังเช่นนั้นก็กริ้ว ลั่นวาจาไล่พระนางให้ไปอยู่ยังโลกมนุษย์เพื่อเลี้ยงดูอุปถัมภ์บริวารนี้
(บ้างว่า พระอัมพิกาทรงเป็นผู้สาปเอง)

ด้วยเหตุนี้ผู้ดูแลอุทยานจึงอุบัติในโลกมนุษย์ โดยได้รับการเลี้ยงดูจากพระอัมพิกา หรือ กามากษี ก่อนที่ครอบครัวพราหมณ์จะมาขอและรับอุปถัมภ์เป็นบุตรบุญธรรม โดยให้นามว่า กาตตะวะรายัน เช่นเดียวกับอัปสรทั้งเจ็ดก็ลงมากำเนิดในโลกมนุษย์ เป็น มานวีทั้งหก ได้แก่

1. อาริยะมาไล หรือ อาริยะมาลา (ஆரியமாலை/ஆரியமாலா-Ariyamalai/Ariyamala)

2.โอนตายิ (ஓந்தாயி/Onthayi)

3.เซาดายิ (சவுதாயி/Sawdayi)

4.กรุปปายิ (கருப்பாயி/Karuppayi)

5.ปูวายิ (பூவாயி/Poovayi)

6.ศรุปปัจจิ (சலுப்பச்சி/Saluppacchi)

7.วัณณาระนัลลิ (வண்ணாரநல்லி/Vannara nalli)

กล่าวถึง นางอาริยะมาลานั้น ถือเป็นรักเดียวของกาตตะวะรายัน ด้วยในขณะเติบโตเป็นหนุ่ม กาตตะวะรายัน ได้ขออนุญาตจากทางครอบครัว และแม่สันยาสี เพื่อไปท่องเที่ยวจาริกหาความรู้ในที่ต่างๆ ซึ่งระหว่างทาง ก็ได้ประลองฝีมือ กับ ของขมังเวทย์ ชินนาน (சின்னான்/Chinnan) จนได้ชินนายเป็นมิตร และบริวาร และในการเดินทาง กาตตะวะรายัน ก็ได้พบกับ อาริยะมาลา ธิดาของกษัตริย์ และตกหลุมรักกัน ขณะเดียวกันเมื่อแม่สันยาสี หรือ พระกามากษี ทราบความก็ให้กาตตะวะรายัน แต่งงานกับหญิงสาวถึงหกนาง ซึ่งก็คือนางอัปสรที่ลงมาเกิด แต่ในใจของกาตตะวะรายัน มีเพียงอาริยะมาลาเท่านั้น เมื่อพระราชาจับได้ว่าทั้งสองแอบคบหากัน จึงสั่งลงโทษประหารกาตตะวรายัน
แต่ในวันประหาร พระศิวะได้ปรากฏขึ้นช่วยเหลือไว้ และปลดปล่อยพวกเขาจากคำสาป และอำนวยพรให้กาจตะวะรายันได้เป็นเทพผู้พิทักษ์ชุมชน.

ในส่วนรูปเคารพ พระกาตตะวะรายัน มักปรากฏเป็นรูปหนุ่มฉกรรจ์ ไว้หนวดงาม ถือดาบ และตะบองเป็นอาวุธเช่นเดียวกับ กาวัล เดย์วัม องค์อื่นๆ ขนาบข้างด้วยชายาสองนาง และบริวาร คือ ชินนาน.

พระกาตตะวะรายัน มักประดิษฐานในวัดของพระกามากษี ในหมู่บ้านชนบทบางแห่ง และในวัดของเจ้าแม่ท้องถิ่นต่างๆ ในบางแห่ง โดยถือว่า ท่านเป็นบริวารผู้ให้การอารักขาพระแม่.

เรียบเรียงนำเสนอโดย กิตติกร อินทรักษา
06/01/2021