Uncategorized

กถกฬิ

กถกฬิ เป็นหนึ่งในการแสดงที่งดงามด้วยศิลปะการร่ายรำแบบเก่าแก่ ดินแดนที่มีการแสดงกถกฬินี้ ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณทางตอนใต้ของคาบสมุทรข่าน บริเวณแคว้นเกรฬ และดินแดนใกล้เคียงของอินเดีย โดยคำว่า “กถกฬิ” หมายถึง การเล่นเรื่องนิยาย มาจากการสมาสของคำสองคำ คือ “กถ” เป็นคำในภาษาสันสกฤต แปลว่า นิยาย และ “กฬิ” เป็นคำในภาษามลยาลัม แปลว่า การเล่น ซึ่งเรื่องที่นิยมนำมาใช้ในการแสดงกถกฬิ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวในรามายณะ , มหาภารตะ และเรื่องสำคัญๆในคัมภีร์ปุราณะ
 
การแสดง “กถกฬิ” ได้รับความนิยมจากคนทุกชนชั้นทั่วประเทศอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบดินแดนอินเดียทางตอนใต้ ซึ่งในสมัยเริ่มแรกกถกฬิจะแสดงแต่เฉพาะในเทวสถาน หรือในราชสำนักเท่านั้น จนกระทั่งต่อมาได้รับอนุญาตให้แสดงนอกเทวสถาน เพื่อให้คนในชนชั้นอื่นๆได้มีโอกาสรับชมอย่างทั่วถึง
 
สำหรับตัวละครสำคัญที่ปรากฏในการแสดงกถกฬิ สามารถแบ่งได้เป็น ๓ จำพวก คือ
 
๑. สัตตวิก เป็นตัวละครที่เป็นเทพเจ้าผู้มีคุณธรรม เช่น พระนารายณ์ พระอินทร์ เป็นต้น
๒. รัชสิก เป็นตัวละครวีรบุรุษที่เป็นมนุษย์ เช่น พระราม พระลักษณ์ เป็นต้น
๓. ตมสิก เป็นตัวละครที่ชั่วร้าย เช่น ทศกัณฐ์ เป็นต้น
 
นอกจากนี้ยังมีตัวละครที่มีบทบาทสำคัญไม่มากนัก เช่น ฤษี เสนา และผู้หญิง เรียกว่า “มินนิกุ”
 
พระราม
 
 
พระลักษณ์
 
 
ทศกัณฐ์
 
 
สำมนักขา
 
 
สีดา
 
 
โดยตัวละครต่างๆของการแสดงกถกฬิ จะมีการแต่งหน้าที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งแต่เดิมตัวละครจะสวมหน้ากาก แต่ด้วยข้อจำกัดของหน้ากากที่ทำให้ตัวละครไม่สามารถสื่ออารมณ์บนใบหน้าได้ดี เท่าที่ควร ในเวลาต่อมาจึงยกเลิกและใช้วิธีการตกแต่งใบหน้าแทน ซึ่งการแต่งหน้าในการแสดงกถกฬินี้ ถือว่ามีความสลับซับซ้อนและมีขั้นตอนมากมาย ในการแต่งหน้าตัวละครในบางตัวจึงใช้เวลานานนับครึ่งค่อนวัน ฉะนั้นในบางครั้งตัวละครถึงขนาดต้องนอนให้ช่างแต่งหน้า และหลับไปเพราะใช้เวลาในการแต่งนานมาก ลักษณะของการแต่งหน้าของกถกฬิ โดยทั่วไปจะใช้แป้งข้าว ที่เรียกว่า จุตตี มาผสมกับน้ำ แล้วปั้นให้ติดเป็นขอบนูนตามวงหน้า ด้านหน้าครึ่งวง ขอบแป้งขาวจะทำให้ส่วนอื่นๆของใบหน้าเห็นได้เด่นชัด เขียนคิ้วและขอบตาสีดำให้ดูยาวกว่าที่เป็นจริง ส่วนปากก็จะทาด้วยสีแดงสด
 
การแต่งหน้าตัวละครประเภทเทพเจ้า หรือกษัตริย์ พวกพระเอกที่เป็นมนุษย์ก็จะแต่งหน้าและแต่งการเหมือนเทวดา เว้นแต่พวกเทวดาจะเพิ่มลักษณะที่กำหนดไว้เป็นขององค์นั้นๆ โดยตัวละครที่เป็นกษัตริย์จะสวมมงกุฏที่มีรัศมีอยู่ด้านหลัง และประดับบ่าด้วยอินทรธนู ส่วนตัวละครประเภทอสูรหรือตัวร้าย จะสวมมงกุฎที่มีรัศมีใหญ่โตกว่าตัวละครประเภทอื่นๆ สีที่ใช้ในการแต่งหน้าก็จะเป็นสีแดงสด มีขอบแป้งข้าวอยู่กลางหน้าอีกชั้นหนึ่ง คล้ายกับหนวดโค้งขั้นไประหว่างคิ้วกับตาและข้างจมูก ทาสีแดงที่หน้าผากและปลายจมูก เอาแป้งข้าวปั้นกลมติดไว้แห่งละลูก และหากต้องการให้ดูดุร้ายมากยิ่งขึ้น ก็จะปั้นก้อนแป้งนำไปติดที่ปลายจมูกให้ใหญ่มากยิ่งขึ้น และทำรูปเขี้ยวติดไว้ที่ข้างนอกปาก เอาหนวดสีแดงไปติดแทนขอบหน้าด้านล่าง เป็นต้น
 
 
 
 
ลักษณะการแต่งหน้าของพระรามและพระลักษณ์
 
 
ลักษณะการแต่งหน้าของสุครีพ
 
 
ลักษณะการแต่งหน้าของหนุมาน
 
 
สำหรับ การแต่งกายของตัวละคร ส่วนใหญ่จะสวมเสื้อสีต่างๆตามความเหมาะสมกับลักษณะของตัวละคร ที่หน้าอกจะมีเครื่องประดับแบนๆปิดทอง และประดับอีกชั้นหนึ่งด้วยสร้อยคอหลายสาย มีผ้าหอยบ่าทำนองพวงมาลัย ผ้านุ่งมีขอบสีต่างๆหลายชั้น โดยจะนุ่งให้มีลักษณะบานเป็นวงกลมรอบตัวละคร นอกจากตัวละครเด่นๆแล้ว ยังมีตัวละครที่มีบทบาทไม่มาก เช่น ฤษี เสนา และผู้หญิง ซึ่งตัวละครเหล่านี้จะแต่งหน้าธรรมดา มีลักษณะโดยทั่วไปเหมือนมนุษย์ เรียกว่า มินนิกุ
 
( หมายเหตุ : หากสังเกตการแต่งกายของตัวละครในการแสดงกถกฬิให้ดีแล้ว ก็จะพบว่ามีการผสมผสานการแต่งกายที่ได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตกมาไม่น้อย ดังเห็นได้จากการนุ่งผ้าที่บานคล้ายกับกระโปรงสุ่มไก่้ของชาวตะวันตก หรือลักษณะการสวมผ้าโพกศรีษะ (หรือหมวก) ของตัวละครที่เป็นผู้หญิง ก็คล้ายกับหมวกของสตรีชาวตะวันตก เป็นต้น )
 
 
ลักษณะการแต่งกายของพระลักษณ์
 
 
ลักษณะการแต่งกายของพระรามและนางสีดา
 
 
ลักษณะการแต่งกายของหนุมาน
 
 
ลักษณะการแต่งกายของสุครีพ
 
 
ลักษณะการแต่งกายของตัวละครผู้หญิง
 
เครื่องดนตรีที่ใช้ในการแสดงกถกฬิ ได้แก่ กลอง ซึ่งใช้กลอง ๒ ประเภท คือ กลองเจนได มีลักษณะเป็นกลองสองหน้า มีสายแขวนไว้รอบคอ เวลาตีจะมีเสียงดังมาก และกลองมัททลัม มีลักษณะเป็นกลองยาวที่ตีได้ทั้งสองหน้า หน้าหนึ่งใช้มือตี ส่วนอีกหน้าใช้ไม้ตี นอกจากนี้ยังมี ฆ้องและฉิ่งที่ใช้ในการบรรเลงประกอบการแสดงกถกฬิด้วย
 
 
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงกถกฬิ
 
 
ภาพการแสดงกถกฬิ ในงานมหกรรมรามายณะนานาชาติ เิฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ณ โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ แสดงโดยคณะนักแสดงกลามัณฑลัม รามัน คุตตี กถกฬิ นำโดยศิลปินกถกฬิชื่อดังของอินเดีย นายกลามัณฑลัม รามัน คุตตี กถกฬิ ผู้จบการศึกษาและร่วมงานแสดงกับมหาวิทยาลัยศิลปะกลามัณฑลัมแห่งเมืองเกรฬ ทั้งในอินเดียและในต่างประเทศ มีประสบการณ์การแสดงในต่างประเทศทั่วโลก แสดงรามายณะในตอน “พิธียกศรและอภิเษกสมรสพระรามกับนางสีัดา”
 
 
 
 
 
 
 
 
การแสดงกถกฬิ เรื่องรามายณะ ตอน พิธียกศรและอภิเษกสมรสพระรามกับนางสีดา
 
 
ภาพ การแสดงกถกฬิ ในงานมหกรรมรามายณะนานาชาติ เิฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ณ โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ แสดงโดยคณะนักแสดงจากสถาบันศิลปะบาสการ์ส อันเป็นสถาบันสอนศิลปะการแสดงที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๕ และถือเป็นสถาบันสอนนาฏศิลป์อินเดียชั้นนำในสิงค์โปร์ คณะนักแสดงกถกฬิ ของสถาบันแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๕ ประกอบด้วยนักแสดงหลักที่ได้รับการศึกษาและฝึกฝนนาฏศิลป์จากประเทศอินเดีย และเป็นคณะนักแสดงกถกฬิเพียงคณะเดียวที่ตั้งอยู่นอกประเทศอินเดีย แสดงรามายณะในตอน “นางสำมนักขาหึง”
 
 
การแสดงกถกฬิ เรื่องรามายณะ ตอน นางสำมนักขาหึง
 
ภาพ การแสดงกถกฬิ ในงานมหกรรมรามายณะนานาชาติ เิฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ณ โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ แสดงโดยคณะนักแสดงกลามัณฑลัม รามัน คุตตี กถกฬิ จากประเทศอินเดีย แสดงรามายณะในตอน “นกสดายุและหนุมานถวายตัว”
 
การแสดงกถกฬิ เรื่องรามายณะ ตอน นกสดายุและหนุมานถวายตัว
 
 
หมายเหตุ : ขอขอบพระคุณที่มาของเอกสารอ้างอิง ซึ่งนายอักษรชนนีได้นำมาใช้ในการเรียบเรียงบทความเรื่อง ” “กถกฬิ” หนึ่งในการแสดงเก่าแก่ของดินแดนภารตะ ” อันประกอบด้วย
 
– นิยะดา สาริกภูติ. ” ความสัมพันธ์ระหว่างละครไทยและละครภารตะ ” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ภาษาไทย) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๑๔.
 
– สูจิบัตรงานมหกรรม รามายณะนานาชาติ เิฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ณ โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ ๕ – ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔