เทวะตำนาน

พระแม่กุพชิกา

พระแม่กุพชิกา (कुब्जिका माता/Kubjika Mata) ทรงเป็นรูปปรากฏแห่งพระปราศักติ (पराशक्ति/Parashakti) ผู้เป็นมูลฐานแห่งกิจกรรมทั้งปวงในสกลจักรวาลตามคติตันตระ และ กัศมีร ไศวะ ทรงเป็นพระศักติเองตามที่ระบุในคัมภีร์กุพชิกา ตันตระ อีกทั้งทรงเป็นองค์เดียวกับพระกาเมศวรี (कामेश्वरी/Kameshwari),พระมหากาลี (महाकाली/Mahakali) และ พระกุณฑลินี (कुण्डलिनी/Kundalini)
พระแม่กุพชิกา (कुब्जिका/Kubjika) หรือ วักเรศวรี (वक्रेश्वरी/Vakeshwari) ทรงเป็นไจตันยะ ศักติ (พลังแห่งความรู้แจ้ง หรือ การตื่นรู้) หรือ ตัวตนแห่งพระปราศักติเองตามที่ปรากฏในกุพชิกา ตันตระ ซึ่งการบูชาพระนางปรากฏแพร่หลายทางตอนเหนือของอินเดีย และพื้นที่แถบหิมาลัย ในช่วงศตวรรษที่ 12 แต่เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไปการปฏิบัติบูชาพระนางก็เริ่มจางหายไปจากอินเดีย จากการที่กุพชิกา ตันตระจะถ่ายทอดผ่านระหว่างคุรุ กับ ศิษย์เท่านั้น และจะปฏิบัติกันอย่างลับๆ จนช่วงปี ค.ศ.1980 ได้พบการบูชาพระนางอย่างเข้มข้นในกลุ่มชาวเนวารี (नेवारी/Newari) ในเนปาล ซึ่งยังสืบทอดกุพชิกา ตันตระไว้อย่ายาวนาน

กุพชิกา และ วักริกา หมายถึง นางผู้มีลำตัวโค้งงอ ซึ่งมีอธิบายไว้ว่า เมื่อครั้นพระนางจะเข้าร่วมกับ พระนวาตมน (नवात्मन/Navatman) ซึ่งเป็นพระปุรุษะ (พระศิวะ) พระนางทรงมีความเขินอายต่อพระองค์ จึงก้มพระเศียร และพระวรกายลงด้วยความเขินอาย จนแลดูเหมือนสตรีหลังค่อม ด้วยเหตุนี้พระเทวีจึงได้รับพระนามว่า กุพชิกา,วักริกา และ วักเรศวรี

รูปปรากฏของพระนางถูกระบุไว้ว่า ทรงมีหกพระพักตร์ในแต่ละทิศ สิบสองพระกร ทรงมีรัศมีโชติช่วงดังดวงอาทิตย์ในยามอรุณรุ่ง ทรงประทับอยู่เหนือสิงห์ และพระวรกายของพระศิวะ
โดยแต่ละพระพักตร์ของพระนางมีพระนามขานเรียกแตกต่างกันไป อันพระพักตร์บนสุด คือ พระปรา พระพักตร์หลักคือ พระมาลินี พระพักตร์ด้านทิศตะวันออก คือ สิทธโยเคศวรี พระพักตร์ด้านทิศใต้คือ พระกาลิกา พระพักตร์ด้านทิศเหนือ คือ พระตริปุรสุนทรี และพระพักตร์สุดท้ายคือ พระอุมา แต่ละพระพักตร์มีสามพระเนตร ซึ่งรูปเคารพดังกล่าว ยังเป็นรูปเคารพเดียวกับพระกามาขยาอีกด้วย ซึ่งแน่นอน ว่า พระกามาขยา (कामाख्या/Kamakhya) มิใช่ใครอื่น ทรงเป็นองค์เดียวกับ พระสิทธกุพชิกา (सिद्धकुब्जिका/Siddhakubjika) พระกาเมศวรี (कामेश्वरी/Kameshwari) ในฐานะผู้ควบคุมความปรารถนาทั้งปวง อันก่อเกิดการสร้างสรรค์ในทุกสรรพสิ่ง และ พระมหากาลี (महाकाली/Mahakali) ในฐานะเทวีผู้ทำลายล้าง และทรงเป็นมูลฐานแห่งการปรากฏองค์ของ ทศมหาวิทยา (รูปแบบแห่งความรู้ทั้งสิบของพระเทวี) และในฐานะพระกุณฑาลินี ศักติ ทรงเข้าสถิตภายในร่างกายของทุกสรรพชีวิต ในฐานะสักขีพยานต่อทุกสรรพสิ่ง.

กิตติกร อินทรักษา
27/03/2021