ปัจไจ อัมมัน (பச்சையம்மன்/Pacchai Amman) หรือ เจ้าแม่เขียว (Green Goddess) ทรงเป็นเทพี หรือ เจ้าแม่ในระดับท้องถิ่นองค์หนึ่งที่ศรัทธากันอย่างแพร่หลายในตมิฬนาฑุ เทวสถานอันมีชื่อเสียงของพระนางตั้งอยู่ในเมืองติรุมุลไลวายัล (திருமுல்லைவாயல்/Thirumullaivayal) เขตปริมณฑลของเชนไน
ตำนานของปัจไจ อัมมัน มักเกี่ยวโยงกับตำนานการเล่นหยอกล้อตามภาษาผู้หญิงของพระปารวตี ซึ่งพระนางได้แอบเข้ามาปิดพระเนตรของพระศิวะจากเบื้องหลัง ทำให้ทั่วสกลพิภพมืดมนไปขณะหนึ่ง เหตุนี้ทำให้พระศิวะทรงกริ้วเป็นอย่างยิ่ง จึงส่งพระนางไปยังพื้นพิภพเพื่อบำเพ็ญตนสำนึกตนและไถ่บาปจากการกระทำผิดนี้
บนพื้นพิภพพระปารวตีทรงบำเพ็ญตน และบำเพ็ญตบะอย่างหนักโดยการยืนบาทเดียวบนเข็ม โดยมีสัปตฤๅษี และ สัปตกัณณิยัร (สัปตมาตฤกา) เป็นผู้คอยพิทักษ์คุ้มครองพระนาง ด้วยเหตุนี้ภายในเทวสถานของพระนางในติรุมุลไลวายัล จึงประดิษฐานสัปตฤๅษี พร้อมทั้ง สัปตกัณณิยัร
ในส่วนของที่มาของพระนาม ปัจไจ อัมมันนั้น ศรี รามนะ มหรรษี ได้เคยอธิบายไว้ว่า มาจากเดชตบะของพระนางเองที่ได้เปลี่ยนแปลงพระฉวีวรรณของพระนางให้คล้ำเขียวดังมรกต
อีกที่หนึ่งกล่าวว่า พระเคาตมะ ฤๅษี ได้อันเชิญพระเทวีประทับบนอาสนะซึ่งทำจากหญ้าศักดิ์สิทธิ์ เมื่อพระนางประทับบนอาสนะนั้น รัศมีจากอาสนะก็ต้องพระวรกายของพระนางเป็นสีเขียวเหลือง จึงทำให้พระนางได้รับนามในภาษาตมิฬว่า ปัจไจ อัมมัน ซึ่งหมายถึง พระแม่เขียว.
เทวปฏิมาของปัจไจยัมมัน มักปรากฏเป็นเทวีซึ่งมีสิริโฉมงดงาม ประทับนั่งบนแท่นพระอาสน์ ทรงสองกร ถึง สี่กร ซึ่งใช้รูปแบบปฏิมาเดียวกันกับ พระมีนากษี,ภุวเนศวรี และ มาริอัมมัน หากเป็นปฏิมาดินปั้น ปูนปั้นจะชัดเจนขึ้นด้วยฉวีวรรณสีเขียว และมักมีนกแก้วปรากฏบนสิ่งของที่พระนางถือในพระหัตถ์หลักด้วย.
เรียบเรียงนำเสนอโดย มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ