เกร็ดความรู้ เรื่องทั่วไป

กุงกุมะ และ ซินดูร

กุงกุมัม หรือ กุมกุมะ และ ซินดูร เป็นผงสีแดงที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และมีสีแดงเช่นเดียวกัน จนบางท่านอาจใช้ปนกัน หรือผู้ขายบางท่านอาจไม่รู้จักถึงความแตกต่าง ก็อาจมีการขายซินดูรในชื่อของกุมกุมอยู่บ่อยครั้ง ถึงผงกุงกุมัม และซินดูรจะมีสีแดงคล้ายๆกัน แต่ทั้งสองมีความแตกต่างกัน และจุดประสงค์ที่แตกต่างกันในบางประการ

กุงกุมัม Kungumam
กุงกุมะ (कुंकुम/Kunkuma) หรือ กุมกุม (कुमकुम/Kumkum) ในสำเนียงเสียงภาษาฮินดี และ กุงกุมัม (குங்குமம்/കുങ്കുമം/Kungumam) ในภาษาตมิฬและมลยาลำ เป็นผงสีแดง ค่อนข้างมีสีที่เข้ม จนถึงสีแดงเลือดหมู กุงกุมะในสมัยก่อนมักนำมาจากเกสรของดอกหญ้าฝรั่น (saffron) แต่ด้วยมีราคาค่อนข้างสูง ในปัจจุบันจึงใช้ ผงขมิ้น (Turmeric powder) กับ ผงปูนขาว (Slaked lime) ในการทำกุงกุมะ
กุงกุมะ เป็นผงศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู กุงกุมะเป็นตัวแทนของพลังชีวิต โดยสีแดงของกุงกุมะนั้นเปรียบกับ เลือด ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในร่ายกายสิ่งมีชีวิต กุงกุมะนั้นมักเป็นเครื่องถวายต่อพระศักติ กล่าวว่า การทำอรรจนาด้วยกุงกุมะ หรือ กุงกุมารจนา ต่อพระเทวี (พระอุมา,พระลักษมี)จะให้ผลที่ดีมาก เชื่อว่าพระเทวีทรงโปรดปรานการทำกุงกุมารจนา
กุงกุมะ มักเจิมที่กลางหน้าผากระหว่างคิ้วทั้งสองของคน และพระนลาฏของเทวปฏิมา เชื่อว่า ในจุดที่เจิมนั้นเป็นศูนย์รวมของพลังอำนาจ หรือ จักระ ที่เรียกว่า อาชญา จักระ (आज्ञा चक्र/Ajna Chakra) ซึ่งเป็นจักระที่หกใน สูกษมะ เทหะ (सूक्ष्मदेह/Sukshma Deha) หรือ กายละเอียด (Subtle body) อันอาชญา จักนะนี้ เป็นจักระแห่งพุทธิปัญญา และความรู้ทิพย์ เป็นดังดวงตาที่สาม การเจิมจุดบนตำแหน่งอาชญา เชื่อว่าสามารถสร้างความตื่นตัวหรือปลุกจักระนี้ได้ และนำทิพยอำนาจ หรือ ทิพยญานในสรรพสิ่งมาสู่จุดนี้ได้ และเพื่อสิริมงคล และความสวยงาม

ซินดูร Sindoor
ซินดูร (सिन्दूर/Sindoor) เป็นผงสีแสด ใช้เป็นเครื่องหมายและมงคลของสตรีที่แต่งงานแล้วบนตำแหน่งต้นรอยแสกผม ซินดูรในสมัยก่อนนั้นทำมาจากเมล็ดของคำแสด (Achiote) แต่ในปัจจุบันซินดูรมักนิยมทำมาจากแร่ซินนาบาร์ หรือ ชาด (Cinnabar) ซึ่งมีส่วนผสมของปรอท และอาจทำให้เกิดอาการแพ้ หรือ คันแดงขึ้นมาได้ในบางราย ซินดูรจึงมีสีที่ฉูดฉาดกว่า และมีกลิ่นที่ไม่น่าพิศมัยกว่า กุงกุมะที่ทำมาจากพืช ซึ่งซินดูรมักจำหน่ายในรูปของตลับสีแดง
ซินดูร เป็นผงทางศาสนาที่นิยมในอินเดียตอนเหนือ (North India) โดยใช้ในหมู่หญิงสาวที่แต่งงานแล้ว หรือ ที่เรียกว่า สุวาสินี (सुवासिनी/Suvasini) ในภาษาสันสกฤต และ สุฮากิน (सुहागिन/Suhagin) ในภาษาฮินดี โดยพวกเธอจะเจิมซินดูรบนตำแหน่งรอยแสกของผม เหนือหน้าผาก เพื่อเป็นสิริมงคลต่อชีวิตสมรส และอายุที่ยืนยาวของสามี (ในอินเดียใต้ เหล่าสุวาสินี มักใช้กุงกุมัมมากกว่า)
นอกจากนี้ในรัฐมหาราษฏระ (महाराष्ट्र/Maharashtra) ยังใช้ซินดูรที่มีสีส้ม ในการบูชาพระหนุมาน (हनुमान/Hanuman) และ พระคเณศ (श्री गणेश/Shri Ganesh) อีกด้วย.

เรียบเรียงนำเสนอโดย มุรุเกศัน โควรธนธารี ทาส
(กิตติกร อินทรักษา)