เกร็ดความรู้ เทวะตำนาน

กามากฺษี นาม รหสฺย

กามากฺษี นาม รหสฺย
(ความลับแห่งนาม กามากษี)

ใช่ครับ กามากษี (อ่านออกเสียงสำเนียงอินเดีย คือ กามากชี) นามสันสกฤตนี้ตีได้หลายความหมาย ผมจึงตั้งชื่อหัวข้อบทความนี้เป็นภาษาสันสกฤตว่า กามากษี นามะ รหัสยะ อันหมายถึง ความลับแห่งนาม กามากษี
กามากษี มีความหมายทั้งในด้านไวยากรณ์ และทางปรัชญา อันว่า เสียง กา คือ พระศรีมหาลักษมี และ เสียง มา คือ พระมหาสรัสวตี ร่วมกับคำว่า อักษี อันหมายถึง ดวงเนตร (นามสตรีลิงค์) จึงได้รูป กามากษี ซึ่งหมายถึง พระนางผู้ทรงมีดวงเนตรทั้งสองคือ พระลักษมี และ พระสรัสวตี ซึ่งพระลักษมี คือ อิจฉาศักติ (พลังอำนาจแห่งความปรารถนา) และพระสรัสวตี คือ ชญานะศักติ (พลังอำนาจแห่งความรู้) มีนัยว่า ดวงเนตรของพระเทวีทรงเป็นดังขุมพลัง ดวงเนตรแรกคือ อิจฉาศักติ ดวงเนตรที่สองคือ ชญานะศักติ และดวงเนตรที่สามอันซ่อนเร้นอยู่บนพระนาลาฏ คือ กริยาศักติ (พลังอำนาจแห่งการกระทำ) ซึ่งพลังอำนาจทั้งสามสามารถประทานมุกติแก่ชนทั้งหลาย ด้วยยังสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายแห่งชีวิต หรือ ปุรุษารถะ ทั้งสี่ได้คือ กามะ (ความปรารถนาในโลกีย์), อรรถะ (โภคทรัพย์),ธรรมะ(มีคุณธรรม) และ โมกษะ (การรู้แจ้ง หรือ หลุดพ้น) และเป็นพลังอำนาจในการดำเนินชีวิตเพื่อทำกิจกรรมต่างๆให้บรรลุซึ่งเป้าหมายในชีวิตทั้งสี่ คือ มีความนึกคิด หรือ เจตนารมณ์ ,มีคามปราถนาที่จักทำตามเจตนารมณ์ และ การกระทำ
และ ดวงตาทั้งสามยังคงแทนคุณะ ทั้งสามด้วย คือ สัตตวะ (การสร้างสรรค ความสงบสันติ แทนด้วยสีขาว เทวีประจำคุณะคือ พระมหาสรัสวตี) รชะ (ความรวดเร็ว ความปรารถนา โทษะ แทนด้วยสีแดง เทวีประจำคุณะคือ พระมหาลักษมี) ตมัส (การหยุดนิ่ง การทำลายล้าง แทนด้วยสีดำ เทวีประจำคุณะคือ พระมหากาลี)
ซึ่งมีปรากฏใน บท เสาน์ทรยะลหรี ของพระอาทิศังกราจารย์ในโศลก ที่ 53 ดังนี้

วิภกฺตไตฺรวรฺณฺย วฺยติกริตลีลาญฺจนตยา วิภาติ ตฺวนฺเนตฺรตฺริตยมิทมีศานทยิเต।
ปุนะ สตฺรษฺฏุ เทวานฺ ทฺรุหิณหริรุทฺรานุปรตานฺ รชะ สฺตฺตวํ วิภฺรตฺตม อิติ คุณานำ ตฺรยมิว॥

ความหมาย

ข้าแต่ พระนางผู้เป็นที่รักยิ่งแห่งพระศิวะ ดวงเนตรทั้งสามของพระองค์ส่องสว่างรุ่งโรจน์และปรากฏสามสีต่างกัน เพราะการแต้มเครื่องสำอางอันงดงามลงบนนั้น ทั้งนี้เป็นไปเพื่อให้กำเนิดมหาเทพทั้งสามคือ พระพรหมา พระวิษณุและพระรุทระอีกครั้งหลังกาลประลัยกัลป์ เพราะสีแห่งดวงเนตรทั้งสามของพระองค์เป็นตัวแทนของคุณะทั้งสามคือ รชะ สัตตวะ และตมัส

กามากษี ในทางไวยากรณ์ ยังหมายถึง พระนางผู้ทรงมีดวงเนตรเปี่ยมด้วยความรัก ความเสน่หา, พระนางผู้ทรงมีดวงเนตรอันน่าหลงใหล (ยังทำให้เกิดความปรารถนา)

นอกจากนี้ พระปัทมาสนะ กามากษี แห่ง กาญจีปุรัม ยังทรงมีเทวปกรณ์อันเกี่ยวเนื้องถึงพระนามของพระนางด้วย
ในลลิโตปาขยานะ ส่วนหนึ่งของพรหมาณฑะมหาปุราณะ ได้กล่าวถึงเมื่อครั้งพระศิวะทรงเบิกเนตรที่สามเผา กามเทพ จนกลายเป็นเถ้าถ่านไป จากเถ้าถ่านนั้นได้ให้กำเนิดอสูรขึ้นนามว่า ภัณฑะ ภัณฑาสุระได้บำเพ็ญตบะต่อพระศิวะ จนพระศิวะพึงพอพระทัยให้พรตามประสงค์ คือ ตายด้วยสตรีผู้ไม่เกิดจากครรภ์ ต่อมาภัณฑาสุระเหิมหาญ สร้างความเดือดร้อนไปทั่วไตรภพ มีกองอสูรมากมายเป็นบริวาร เหล่าเทวะ และ มุนีนักสิกธิ์ทั้งหลายต่างพากันหวั่นเกรง จึงเข้าเฝ้าตรีเทพเพื่อทรงหาทางแก้ไข พระศัมภูทรงดำริให้จัดพิธีมหายาคะ เพื่ออันเชิญ พระอาทิศักติ (พระผู้เป็นพลังแรกเริ่ม) ปรากฏรูปเพื่อปราบภัณฑาสุระ พร้อมกองทัพอสูร
พระอาทิศักติทรงปรากฏรูปขึ้นจากกองไฟพิธี รูปองค์ดังดรุณีวัยสิบหกปี (จึงมีนามโษฑศี) หามีสตรีใดงดงามเท่าได้ในสามภพ (จึงได้นามตริปุระสุนทรี) ทรงสรรสร้าง กองทัพเทวี โดยมีพระศยามลา เป็นมนตริณี พระวาราฮี เป็นเสนา ทรงสร้างพระนครบนขุนเขาสุเมรุ ท่ามกลางสวนต้นกระทุ่ม ทรงสร้างป้อมปราการต่างๆ รอบขุนเขาสุเมรุ และทรงสรรสร้างเทวีในรูปต่างๆเข้าประจำการ (ด้วยทรงสรรสร้างทุกอย่างด้วยองค์เอง ดังทิพยลีลา จึงมีนามว่า ลลิตา อันหมายถึง พระผู้ทรงการละเล่น) ทรงยกทัพตีกับทัพของภัณฑาสุระ
พระนางทรงคู่กับรูปบรุษ นาม ปรมศิวะ หรือ กาเมศวร และ พระนางคือ กาเมศวรี อันนามของ ทั้งสองพระองค์ หมายถึง ผู้เป็นเจ้าแห่งความปรารถนา ทรง ทรงสรรสร้างเทวีในรูปบาลิกา มีรูปดั่งบาลิกาในวัยเก้าปี เปรียบดังพระธิดา พระบาลามพิกา ทรงเข้ารบสังหารบุตรของภัณฑาสุระทั้งสามสิบสองตน สุดท้ายพระลลิตามพิกาทรงสังหารภัณฑะด้วยศาสตราวุธแห่งองค์กาเมศวร (เรื่องค่อนข้างยาว ผมเลยขอย่อในส่วนนี้นะครับ ) หลังจากภัณฑะได้สิ้นชีพลงแล้ว เหล่าเทวดายังวิตกถึงตารกะ ผู้เป็นปัญหาหลักมานาน จึงพากันเข้าเฝ้าพระศรีมาตา เพื่อทูลถึงปัญหานี้ให้ทรงทราบ ด้วยบัดนี้กามเทพได้ถูกเผาไปเสียแล้ว มิมีผู้ได้ที่จักทำให้พระศังกรออกจากสมาธิ และชีวิตสันโดษแบบสันนยาสี มิมีผู้ได้จักชักนำให้พระศิวศังกร ทรงมีความเสน่หาในพระนางไหมวตี (ซึ่งก็คือ อวตารรูปหนึ่งของพระเทวีเอง เปรียบดังเงาของพระนางที่ตกสะท้อนบนขุนเขาหิมาลัย)เพื่อให้กำเนิดพระโอรสมาปราบตารกาสุระ เมื่อพระกาเมศวรีทรงสดับฟังเช่นนั้น จึงทรงหันพระพักตร์ทอดพระเนตรไปยังพระพักตร์อันเรืองรองของพระกาเมศวรด้วยความเสน่หา บัดนั้นกามเทพ ได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง และทรงตรัสแก่ กามเทพ ว่า บัดนี้ เจ้ามิต้องกลัวสิ่งใดอีก ขอให้เจ้าจงกลับไปอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแผลงปุษปศรทั้งห้าสู่จิตแห่งพระศังกร ทรงประทานพรให้พระอนงค์ (กามเทพผู้ไร้รูป) สามารถเอาชนะได้ทุกผู้ในโลกหล้า แม้แต่พระศิวศังกร ด้วยพรของพระนางกามเทพจักไม่มีวันพ่ายแพ้ และจักมิมีผู้ใดทำอันตรายต่อกามเทพได้อีก และทรงประทาน ปุษปศร (ศรดอกไม้ทั้งห้า อันแทนจิตสัมผัสทั้งห้า) และ คันธนูอ้อยแก่กามเทพ
ซึ่งมีข้อความปรากฏอยู่ใน บท เสาน์ทรยะลหรี รจนาโดย พระอาทิศังกราจารย์ (1-41 โศลกแรก คือ อานันทะลหรี ซึ่งเชื่อว่า ส่วนอานันทะลหรีนี้ พระศิวได้รจนาไว้และมอบหมายให้พระอาทิศังกร รจนาต่อให้ครบร้อยโศลกรวมเป็น เสาน์ทรยะลหรี อันหมายถึง เกลียวคลื่นแห่งความงาม) ในโศลกที่ 5 และ 6 ดังนี้

หริสฺตวามาราธฺย ปฺรณตชนเสาภาคฺยชนนี ปุรา นารี ภูตฺวา ปุรริปุมปิ โกฺษภมนยตฺ।
สฺมโร(อ)ปิ ตฺวำ นตฺวา รตินยนเลหฺเยน วปุษา มุนีนามปฺยนฺตะ ปฺรภวติ หิ โมหาย มหตามฺ॥

ธนุะ เปาษฺปํ เมารฺวี มธุกรมยี ปญฺจวิศิขาะ วสนฺตะ สามนฺโต มลยมรุทาโยธนรถะ।
ตถาปฺเยกะ สรฺวํ หิมคิริสุเต กามปิ กฺฤปามฺ อปางฺคาตฺเต ลพฺธฺวา ชคทิท-มนงฺโค วิชยเต॥

ความหมาย

พระหริ หลังจากได้บูชาพระองค์ พระมารดาผู้ประทานเสาภาคย์แก่ชนผู้บูชากราบไหว้ สามารถกลายร่างเป็นนารีและยังจิตใจของพระศิวะหวั่นไหวได้ กามเทพหลังจากน้อมไหว้พระองค์แล้ว ด้วยร่างกายอันดึงดูดวงเนตรของพระนางรติ จึงสามารถยังให้ความลุ่มหลงพิสมัยเกิดขึ้นภายในหัวใจของมนุษย์ แม้กับพระมุนีผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายได้

ข้าแต่ พระผู้เป็นธิดาแห่งขุนเขาหิมะ พระกามเทพผู้มีคันศรทำจากดอกไม้ สายศรเป็นภมร ลูกศรเพียงห้าดอก ฤดูใบไม้ผลิเป็นสหาย สายลมทิศใต้เป็นรถศึก ทั้งโดดเดี่ยวและปราศจากร่างกาย ยังสามารถเอาชนะโลกทั้งหมดนี้ได้ หลังจากได้รับความกรุณาจากการชำเลืองมองเพียงครู่เดียวของพระองค์

(คำแปลจาก เสาน์ทรยะลหรี แปลไทยของอาจารย์ปู ไนร์มเลยะ )

ด้วยเหตุนี้พระเทวีจึงทรงมีนามว่า กามากษี ต่อมาพระมหาฤๅษีทุรวาสะได้อันเชิญ พระเทวีมาประทับบนพื้นพิภพ พระเทวีได้แบ่งพระจิตอันยิ่งใหญ่ของพระนางมาประทับ ณ มหานครกาญจี ทรงปรากฏ สี่กร ทรงปุษปศรทั้งห้า อันมีศุกะ (นกแก้วคอแหวนสีกุหลาบ อันเป็นพาหนะของกามเทพ)เกาะอยู่ คันศรอ้อย อังกุศะ(อาวุธบังคับคชสาร) และ ปาศะ (บ่วงบาศ) ทรงประทับนั่งในท่า ปัทมาสนะ (ขัดสมาธิเพชร)

อ้างอิง
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Kamakshi
ลลิโตปาขยานะ ฉบับย่อเพื่อการเทศในช่วงนวราตรี ของ อวธูตะ ทัตตะ ปีฐัม ในเมืองไมซอร์

เรียบเรียงนำเสนอโดย มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)