เกร็ดความรู้ เรื่องทั่วไป

พิธีอุปนยนะ คืออะไร?

(คร่าวๆ ไม่ขอลงลึกนัก)

พิธีอุปนยนะ ถือเป็นหนึ่งในพิธีสังสการสำคัญของชาวฮินดู โดยพิธีนี้ถือเป็นพิธีเริ่มเข้ารับการศึกษาอย่างเป็นทางการของฮินดูชน ไม่ว่าจะศึกษาในพระเวท ปุราณะ และศาสตร์ต่างๆ หากกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ คือ การบวชเรียน การรับเป็นศิษย์-อาจารย์กัน และออกจากบ้านไปสู่สถานศึกษา หรือ คุรุกุล (ซึ่งเป็นอาศรมของคุรุ)
พิธีนี้จะจัดขึ้นกับกุลบุตรของ พราหมณ์,กษัตริย์ และแพศย์ โดยแต่ละคัมภีร์กล่าวถึงช่วงอายุที่ควรประกอบพิธีนี้แตกต่างกันไป ไม่แน่นอนนัก ซึ่งโดยส่วนใหญ่ควรประกอบพิธีขณะยังวัยเยาว์ ไม่เกินอายุยี่สิบสี่ปี และจะทำได้เมื่อบุคคลมีความพร้อมที่จะเรียนรู้คัมภีร์ต่างๆ และผ่านการฝึกท่องโศลกต่างๆ และมีความรู้ในภาษาสันสกฤตมาพอสมควรแล้ว
พิธีอุปนยนะ อาจมีขั้นตอนแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น แต่โดยรวมแล้วยึดหลักพิธีจากคัมภีร์

พิธีนี้เป็นดังการกำเนิดครั้งที่สอง เมื่อได้ทำการปลงผม และเข้าพิธีซึ่งคุรุยอมรับผู้เยาว์เป็นศิษย์ โดยแสดงอาการต่างๆ (ซึ่งเรียกว่า ทีกษา) อันได้แก่ การแตะไปยังเหนือตำแหน่งหัวใจของกุลบุตรนั้น พร้อมกับการกล่าวมนตระ ซึ่งมีใจความว่า เราจะดึงใจเธอไปตามความต้องการของเรา จิตของเธอจะตามจิตของเรา ขอเธอจงคล้อยตามไปกับวจีของเรา ขอพระพฤหัสบดีจงผูกพันเธอไว้กับตัวเรา เปรียบดังการโอบอุ้มกุลบุตรนั้นไว้ในครรภ์ และให้กำเนิดอีกครั้ง และให้สายยัชโญปวีตะ หรือ อุปวีตะ แก่กุลบุตร ซึ่งยัชโญปวีตะนี้คือ องค์แทนแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสถิตอยู่กับกุลบุตรนั้น โดยผาดจากไหล่ซ้าย พาดผ่านช่วงสรีระไปยังช่วงขวาของร่างกาย
อีกทั้งแสดงพรหฺโมปเทศะ (พรหมะ อุปเทศะ) หรือ ความรู้ทิพย์แก่กุลบุตร ด้วยมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์ คือ คายตรี มนตระ โดยกุลบุตรจะท่องมนตร์นั้นตามคุรุ (โดยปกติมักจะเป็นบิดา ผู้ถือเป็นคุรุคนแรก หรือ คุรุที่จะรับเขาเป็นศิษย์) จนจำได้ขึ้นใจ เมื่อประกอบพิธีข้างต้นแล้วกุลบุตรนั้นจะถือว่า เป็นทวิชะ หรือ ผู้เกิดสองครั้ง

อันสายยัชโญปวีตะนั้นเป็นองค์แทนแห่ง พระคายตรี พระสาวิตรี และพระสรัสวตี ถือว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่กับตน ควรให้ความเคารพต่อ ยัชโญปวีตะ ผู้ที่ได้รับการเข้าพิธีอุปนยนะ และไว้ซึ่งยัชโญปวีตะ ควรปฏิบัติตนโดยสุจริต ไม่กระทำการทุจริตใดๆ ไม่ควรพูดจาหยาบคาย ด่าทอ นินทาซึ่งผู้อื่น รู้จักควบคุมอารมณ์ของตน ไม่ตกอยู่ในโทสะ เป็นผู้ไฝ่รู้ เป็นผู้ไฝ่ตนในกิจกรรมแห่งการเจริญทางจิตวิญญาณ คือ การปฏิบัติกิจพิธีทางศาสนา เป็นผู้เจริญในธรรม เป็นผู้เจริญในการให้ทาน (มีเพียงวรรณะพราหมณ์เท่านั้นที่สามารถขอรับทานได้) ควรกระทำซึ่งสนธยาวันทนะ และสวดสาธยายซึ่งคายตรี มนตระ อย่างสม่ำเสมอในทุกๆวัน

ไม่ควรถอดยัชโญปวีตะออกไม่ว่าจะกรณีใดๆ สายยัชโญปวีตะควรจะมีการเปลี่ยนในทุกๆหกเดือน หรือในทุกๆปี ยัชโญปวีตะควรเปลี่ยนเมื่อ มีคนในครอบครัวถึงแก่การม้วยมรณาลง หรือ ได้มลทิน (ต้องกับสิ่งไม่ดี)
ในการปฏิบัติกิจส่วนตัว เช่นการปัสสวะ,การขับถ่าย หรือ การเสพสังวาส จำเป็นต้องนำสายยัชโญปวีตะ ทางด้านขวาขึ้นมาเหน็บกับหูเพื่อไม่ให้ต้องกับเครื่องเพศ หรือ ต้องกับมลทินใดๆ

เรียบเรียงนำเสนอโดย มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)