เกร็ดความรู้ เทวะตำนาน

การอุบัติขึ้นของพระวิฆเนศวร ในลลิโตปาขยานะส่วนหนึ่งของพรหมาณฑะมหาปุราณะ

เทวปกรณ์การอุบัติขึ้นของพระวิฆเนศวร หรือ พระพิฆเนศวร ที่ชาวไทยรู้จักกันนั้นมีมากมายหลายตำนานตามคัมภีร์ปุราณะต่างๆ ทั้งนี้ผมจะขอยกตำนานที่ผู้คนมิค่อยทราบกันเสียเท่าไร และไม่มีกล่าวถึงในประเทศไทยเลย คือ ตำนานการอุบัติขึ้นของพระวิฆเนศวร ในลลิโตปาขยานะ (Lalitopakhyana) ส่วนหนึ่งของพรหมาณฑะมหาปุราณะ (Brahmanda Mahapurana)

ในการนี้จะขอเริ่มกล่าวจาก ในช่วงสงครามของ พระลลิตามพิกา (Lalitambika) และ ภัณฑาสุระ (Bhandasura) หลังจากพระบาลามพิกา (Balambika) พระธิดาของพระลลิตา ตริปุรสุนทรี ทรงสังหารซึ่งโอรสทั้ง 30ตนของภัณฑะลงแล้ว ภัณฑะได้ส่งอสูรนาม วิศุกระ(Vishukra)สู่สนามรบ ภายใต้ความมืดของราตรีกาล วิศุกระได้จัดพิธีลึกลับขึ้นที่สนามรบ ด้วยการสถาปนายันตระลึกลับและการใช้มนตร์ดำ วิศุกระได้ประดิษฐานยันตระลึกลับนั้นใกล้กับอัคนีปราการ (Agniprakara) ของพระเทวี ด้วยอำนาจของมนตร์ดำจากยันตร์ลึกลับทำให้กองทัพพระศักติตกอยู่ในความขี้เกียจ ความสับสน และอวิชชา เหล่าเทวีบางองค์เริ่มตรัสขึ้น ว่าเหตุใดถึงต้องรบเพื่อเหล่าเทวะ?
บางองค์ตรัสขึ้นว่า การทำสงครามนั้นผิด
บางองค์ก็ตรัสขึ้นว่า ผู้ใดคือ ศรี มหาราชญี?
บางองค์ก็ตรัสว่า หากพวกเราไม่รบแล้ว พระลลิตา ปรเมศวรี จักทรงกระทำเยี่ยงไร? ทุกพระนางตกอยู่ในอวิชชา!
หลังยามที่สองวิศุกระ และกองทัพอสูรนับ 30 อักเสาหินี ล้อมรอบอัคนีปราการ เหล่าศักติเสนา(Shaktisena)ต่างตกอยู่ภายใต้อวิชชาจากอิทธิพลของยันตร์เจ้าปัญหา ถึงกระนั้นยันตร์เจ้าปัญหาก็มิสามารถทำอะไร พระมนตริณี (Mantrini)(พระราชศยามลา/ Raja Shyamala) และพระทัณฑินี (Dandini)(พระมหาวราฮี/Mahavarahi)ได้ แต่ทว่าพระนางทั้งสองต่างตกอยู่ในความโศกเศร้า และหดหู่พระทัยเมื่อแลเห็นสถานภาพของกองทัพ พระเทวีทั้งสองมิทราบจักกระทำสิ่งใด จึงเสด็จเข้าเฝ้ากราบทูลสิ่งที่เกิดขึ้นต่อ พระศรีราชะ ราเชศวรี ให้ทรงทราบ
เมื่อพระตริปุรสุนทรีทรงสดับฟังความทั้งหมดจากพระเทวีทั้งสอง พระองค์กาเมศวรีจึงหันเบื้องพระพักตร์สู่พระกาเมศวร และทรงทอดพระเนตรพระพักตร์อันรุ่งโรจน์แห่งพระกาเมศวร และทรงแย้มสรวลอย่างอ่อนโยน บัดนั้นพระคเณศวรจึงปรากฏองค์อุบัติขึ้น และทรงรับโองการจากพระศรีมาตาให้ทรงทำลายซึ่งมนตร์ดำและอวิชชานั้นเสีย

ดังปรากฏในบท ศรี ลลิตา สหัสรนามะ สโตตระ ในบาทที่ 2 ของโศลกที่ 30 ว่า

कामेश्वर-मुखालोक-कल्पित-श्रीगणेश्वरा।

Kameshwara-Mukhaloka-Kalpita-Shreeganeshwara

กาเมศฺวร-มุขาโลก-กลฺปิต-ศฺรีคเณศฺวรา।

คำอ่าน
กาเมศวะระ มุขาโลกะ กัลปิตะ ศรีคะเณศวะรา

หมายถึง พระผู้ทรงสร้างพระศรีคเณศวร (พระผู้เป็นเจ้าแห่งคณะผู้ทรงศรี) ด้วยการแลมองพระพักตร์แห่งพระกาเมศวร

She who make Shree Ganeshwara ( Who isThe Lord of Devotees Group and Auspicious) by her view to Kameshwara face.

หลังจากรับโองการจากพระมารดาผู้ทรงศรีแล้ว พระมหาคเณศทรงมุ่งหน้าสู่อัคนีปราการ และทรงแลเห็นศิลาซึ่งประดิษฐานยันตร์แห่งอุปสรรค์นั้นอยู่ จึงทรงเข้าไปทุบทำลายยันตร์นั้นเสียและบดขยี้ด้วยพระทนต์ของพระองค์
หลังจากการทำลายยันตร์เจ้าปัญหา ศักติเสนาทั้งปวงต่างถูกปลุกขึ้นจากอวิชชา และเตรียมพร้อมจักกระทำสงครามต่อไป

ดังในบท ศรีลลิตา สหัสรนามะ สโตตระ บาทแรกของโศลกที่ 31 ว่า

महागनेश-निर्भिन्न-विघ्नयन्त्र-प्रहर्षिता।

Mahaganesha-Nirbhinna-Vighnayantra-Praharshita

มหาคเณศ-นิรฺภินฺน-วิฆฺนยนฺตฺร-ปฺรหรฺษิตา।

คำอ่าน
มะหาคะเณศะ นิรภินนะ วิฆนะยันตระ ประหัรษิตา

หมายถึง พระนางผู้ทรงยินดียิ่งด้วยการบดขยี้ยันตร์แห่งอุปสรรค์โดยพระมหาคเณศ (พระผู้เป็นเจ้าอันยิ่งใหญ่ของเหล่าคณะ)

She who happy from broken to The barrier Yantra by Mahaganesha (Who is The Great Lord of Devotees Group)

ต่อมา พระคณปติ พร้อม เหล่าศักติเสนาได้ยกทัพออกมาจากอัคนีปราการ และเข้ารบพุ่งกับกองทัพของภัณฑาสุระ ซึ่งนำด้วยวิศุกระ และ วิศังคะ (Vishanga) ผู้เป็นสโหทร (พี่ชาย,น้องชาย) พร้อมด้วยเหล่าชามาดา (ลูกเขย)
พระทัณฑินี ทรงประทับบนราชรถกิรีจักระ (Kirichakra Ratha) พร้อมคันไถอาวุธคู่พระวรการเข้าโจมตีวิศังคะ พระมนตริณีประทับบนราชรถเคยะจักระ(Geyachakra Ratha)เข้าต่อสู้กับวิศุกระ พระอัศวรูฒา (Ashwaroodha) และ สมปัตกรี (Sampatkari) เข้ารบกับเหล่าชามาดาของอสูร
ในที่สุดเหล่าชามาดา และกองทัพอสูรถูกสังหารหมด พระศยามลาทรงสังหารวิศุกระด้วยลูกศรศักดิ์สิทธิ์ ส่วนพระทัณฑนาถา(วราฮี)ทรงสังหารวิศังคะด้วยศาสตราวุธและสาก.

อ้างอิง Lalitopakhyana (The Story of Goddess Lalita) ลลิโตปาขยาน ฉบับย่อสำหรับเทศนาช่วงนวราตรี โดย ศรี อวธูตะ ทัตตะ ปีฐัม (Avadhoota Datta Peetham) เมืองไมซูรุ (Mysuru)

ภาพประกอบ พระศรีวัลลภคณปติ (Shree Vallabha Ganapati)

บทโศลกสันสกฤตแปลโดย มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ (กิตติกร อินทรักษา)

Sanskrit Slokas Translated by Murugesan Devi Upasaka (Kittikorn Intharaksa)

เรียบเรียงนำเสนอโดย มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)