เกร็ดความรู้ เทวะตำนาน

ศรี ลลิตา สหัสรนามะ สโตตระ โศลกที่ 94

บทโศลกอันกล่าวถึงพระเทวีในฐานะมารดาของพระกุมารสวามี (ขันทกุมาร) และพระพิฆเนศ จาก ศรี ลลิตา สหัสรนาม

กุมาร-คณนาถามฺพา ตุษฺฏิะ ปุษฏิรฺ มติรฺ ธฤติะ।
ศานฺติะ สฺวสฺติมตี กานฺติร นนฺทินี วิฆฺนนาศินี॥

#คำอ่าน
กุมาระ-คะณะนาถามพา ตุษฏิห์ ปุษฏิร มะติร ธฤติห์
ศานติห์ สวัสติมะตี กานติร นันทินี วิฆนะนาศินี

#อ่านออกเสียงสำเนียงอินเดีย
กุมาระ-กห์ะณะนาถามบา ตุชติฮิ ปุชติร มะติร ธริติฮิ
ชานติฮิ สฺวัสติมะตี กานติร นันดินี วิฆนะนาชินี

#คำแปล
พระผู้เป็นมารดาแห่งพระกุมารสวามี แลพระคณนาถ พระผู้ทรงความพึงพอพระทัย พระผู้ทรงไว้ซึ่งความเจริญรุ่งเรือง พระผู้ทรงไว้ซึ่งปรีชาญาน พระผู้ทรงความกล้าหาญ
พระผู้ทรงไว้ซึ่งสันติ (ความสงบ) พระผู้ทรงความสุขสวัสดิ์ พระผู้ทรงเสน่ห์ พระผู้ทรงไว้ซึ่งความสุขสำราญ พระนางผู้ทำลายซึ่งอุปสรรค

-กุมาระคณนาถามพา
พระผู้ทรงเป็นมารดาแห่งพระกุมาร (พระกุมารสวามิน หรือ พระสกันทะ) และพระคณนาถ (พระผู้เป็นนายแห่งคณะ คือ พระคชานน)

-ตุษฏิ
ตุษฏิ หรือ ดุษฏี หมายถึง ความพึงพอใจ,ความน่ายินดี ในที่นี้หมายถึงพระเทวีเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความพึงพอใจ

-ปุษฏิ
ปุษฏิ หมายถึง การทำนุบำรุง,การเจริญเติบโต และความรุ่งเรือง ในที่นี้หมายถึงพระเทวีเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความเจริญรุ่งเรือง หรือ ทรงเป็นผู้ทนุบำรุงดูแลรักษาไว้

-มติ
มติ หมายถึง ความนึกคิด,ความทรงจำ,เจตนารมณ์,ปัญญาญาณ และปรีชาญาน ในที่นี้หมายถึง พระเทพีทรงไว้ซึ่งความนึกคิด/ปัญญาญาณ หรือ ปรีชาญาณ

-ธฤติ
ธฤติ หมายถึง ความกล้า และความมั่นคง ในที่นี้หมายถึง พระเทวีเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความกล้าหาญ และความมั่นคง

-ศานติ
ศานติ หมายถึง ความสงบ ในที่นี้หมายถึง พระเทวีเป็นผู้ทรงความสงบสันติ

-สวัสติมตี
สวัสติ หรือ สวัสดี หมายถึง ความสุขสวัสดิ์ สวัสติมตี ในที่นี้จึงหมายถึง พระเทวีทรงเป็น เทพีแห่งความสุขสวัสดิ์

-กานติ
กานติ หมายถึง ความงาม และความร่าเริง ในที่นี้หมายถึง พระเทวีเป็นผู้ทรงความเสน่หา เป็นที่รักใคร่ของทุกผู้

-นันทินี
นันทะ หมายถึง ความสุข และความยินดี นันทิน จึงหมายถึง ผู้เป็นความสุข ความยินดี เมื่อเป็นนามสตรีเพศจึงเป็น นันทินี หมายถึง นางผู้เป็นความสุข ความยินดี ในที่นี้จึงหมายถึง พระเทวีเป็นผู้ทรงไว้ซึ่ง ความสุข แลความยินดี

-วิฆนะนาศินี
วิฆนะ หมายถึง อุปสรรค และ นาศะ หมายถึง ความพินาศ,การทำลายล้างให้สิ้นไป วิฆนะนาศิน หมายถึงผู้ทำลายอุปสรรคให้สิ้นไป เมื่อเป็นนามอิตถีเพศ จึงเป็น วิฆนนาศินี อันหมายถึง พระเทวีทรงเป็นผู้ขจัดอุปสรรคทั้งปวงให้สิ้นไป

ข้อความจาก ศรี ลลิตา สหัสรนามะ สโตตระ โศลกที่ 94

แปลเรียบเรียงโดย มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(กิตติกร อินทรักษา)