เกร็ดความรู้ เทวะตำนาน

ปัญจพาณะ รหัสยะ (ความลับของลูกศรทั้งห้า)

มโนรูเปกฺษุโกทณฺฑา ปญฺจตนฺมาตฺรศายกา।
( มโนรูเปกษุโกทัณฑา ปัญจะตันมาตระ ศายะกา)

ข้อความข้างต้นคือ บาทแรกของ ศรีลลิตา สหัสรนามะ โศลกที่3 ซึ่งมีความหมายดังนี้

พระนางผู้ทรงเกาทัณฑ์อ้อยอันเป็นรูปของจิตใจ พระนางผู้ทรงลูกกุทัณฑ์อันเป็นองค์ประกอบอันลึกซึ้งละเอียดอ่อนทั้งห้า

อันปัญจตันมาตระ พาณะ หรือ ลูกศรอันเป็นองค์ประกอบอันลึกซึ้งละเอียดอ่อนทั้งห้า ของพระลลิตา ปรเมศวรี คัมภีร์ตันตระหลายเล่มก็ตีความแตกต่างกันไป บ้างกล่าวว่า ลูกศรทั้งห้าเป็นองค์แทนของจิตสัมผัสทั้งห้าได้แก่
สปรรศะ (สัมผัส)
รูป
รส
คัณธะ(กลิ่น)
และศัพทะ (เสียง)


บ้างว่า ลูกเกาทัณฑ์ทั้งห้าเป็นองค์แทนของมหาปัญจภูต หรือ ธาตุทั้งห้า อันได้แก่
ปฤถวี (ดิน),ชล(น้ำ),วายุ(ลม),อัคนี(ไฟ) และอากาศ

ส่วนคัมภีร์ชญานารนวะ ตันตระ กล่าวว่า ลูกกุทัณฑ์ทั้งห้านั้นเป็นองค์แทนของ

กโษภณะ (การเร้าอารมณ์)
ทราวณะ (ความเวทนา)
อากรรษณะ (การจูงใจ)
วาสยะ (การอ่อนน้อมถ่อมตน,การเชื่อฟัง)
และ อุนมธะ (ความลุ่มหลงมัวเมา)

ทางด้านคัมภีร์ตันตระ ราชะ กล่าวว่า ลูกศรทั้งห้าเป็นองค์แทนของ
มทนะ(ความลุ่มหลงในกิเลส)
อุนมธะ(ความมัวเมา)
โมหนะ(ความหลงใหล)
ทีปนะ(ความโกรธ) และโศษณะ(การทำลาย)

ท่านภาสกรรายะ ผู้เป็นปราชญ์ของศากตะนิกาย และเป็นผู้ดำเนินตามเกาลาจาระ/ เกาละตันตระ หรือ กุละมารคะ (หนทางของตระกูล *ซึ่งศากตะแบ่งสองตระกูล คือ ศรีกุละ อันเป็นตระกูลของพระศรีวิทยา หรือ ลลิตา ตริปุระสุนทรี และ กาลีกุละ ตระกูลของพระกาลี ) ได้ตีความลูกเกาทัณฑ์บุปผชาติทั้งห้าของ พระลลิตามพิกา เป็นบุปผาทั้งห้า ได้แก่

1.กมล (ดอกบัวหลวง)

2.รักตะ ไกรวะ (ดอกบัวเผื่อนขาวอมแดง หรือ ชมพูอ่อน)

3.กาห์ลาระ (ดอกบัวเผื่อนสีขาว)

4.อินทีวระ (ดอกบัวเผื่อนสีฟ้าคราม หรือ นิโลบล)

5.สหการะ (ดอกมะม่วง)

ซึ่งเป็นที่ยอมรับกล่าวถึงเป็นกว้างขวาง หากกล่าวถึงปัญจะพาณะ ในรูปธรรม.

อ้างอิง: https://www.indiadivine.org/…/1571200-flower-in-the…/

https://krishnaseshadri.wordpress.com/…/thousand-names…/

เรียบเรียงโดย มุรุเกศัน เทวี อุปาสกะ
(นายกิตติกร อินทรักษา)